Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

25 กุมภาพันธ์ 2558 Samsung ซื้อกิจการบริษัท สตาร์ทอัพ ด้านโมบายเพย์เมนต์ ลูปเพย์ (LoopPay) ความมุ่งหมายของซัมซุงคือการเปิดให้บริการเสริมที่นอกเหนือไปกว่าเพียงแค่การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าสตางค์

ประเด็นหลัก


    อินจง รี ผู้บริหารของซัมซุงที่ดูแลโปรเจ็กต์บริการเพย์เมนต์ กล่าวว่า ซัมซุงจะเปิดเผยรายละเอียดของบริการในเร็วๆ นี้ โดยความมุ่งหมายของซัมซุงคือการเปิดให้บริการเสริมที่นอกเหนือไปกว่าเพียงแค่การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าสตางค์ อาทิ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่าย เป็นต้น


_____________________________________________________














ซัมซุงซื้อกิจการโมบายเพย์เมนต์

 ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซื้อกิจการบริษัท สตาร์ทอัพ ด้านโมบายเพย์เมนต์ ลูปเพย์ (LoopPay) นับเป็นการส่งสัญญาณว่าเตรียมเปิดศึกแข่งขันกับแอปเปิลในบริการชำระเงินซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน
alt    สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า โมบายเพย์เมนต์ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคไม่มากเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันจากบริษัทเทคโนโลยีและการเงินรายใหญ่ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้ง แอปเปิล กูเกิล และเพย์พาลในเครืออีเบย์ ต่างเปิดให้บริการที่ผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ทโฟนชำระเงินซื้อสินค้าตามร้านค้าปลีก
    ผู้บริหารซัมซุงกล่าวว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้บริการโมบายเพย์เมนต์ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากร้านค้าปลีกหลายรายลังเลที่จะติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่รองรับบริการดังกล่าว นอกจากนี้บริการในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เพิ่มความสะดวกกว่าการรูดบัตรเครดิตมากนัก
    อย่างไรก็ดี ลูปเพย์กล่าวว่า เทคโนโลยีของลูปเพย์มีความแตกต่างตรงที่สามารถใช้งานกับเครื่องรูดบัตรเครดิตแบบอ่านแถบแม่เหล็กที่ร้านค้าต่างๆ มีอยู่แล้วได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องอ่านแบบใหม่
    บริการโมบายเพย์เมนต์ของซัมซุง ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวพร้อมกับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนแฟล็กชิพรุ่นใหม่ของซัมซุงในเดือนมีนาคม จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคลงทะเบียนบัตรเครดิต บัตรเดบิต กิฟต์การ์ด และลอยัลตีการ์ด เข้าไปในสมาร์ทโฟนของซัมซุง และใช้สมาร์ทโฟนเพื่อซื้อสินค้าตามร้านค้า แทนที่จะต้องพกบัตรต่างๆ ติดตัว
    เดวิด อึน หัวหน้าศูนย์โกลบอล อินโนเวชัน ของซัมซุง ผู้นำในการเจรจาข้อตกลงซื้อกิจการของลูปเพย์ กล่าวว่า "เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับซอฟต์แวร์และบริการในเจเนอเรชันต่อไป" โดยลูปเพย์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโมบายของซัมซุง
    นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้จะมีหลายจุดที่ยังต้องพัฒนา แต่ถ้าเทคโนโลยีสามารถทำได้อย่างที่กล่าวอ้าง อาจจะทำให้ซัมซุงมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ประสบปัญหาในการโน้มน้าวร้านค้าให้เปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีเอ็นเอฟซี (near field communication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโมบายเพย์เมนต์ที่กูเกิลและแอปเปิลใช้
    แอปเปิลนำบริการโมบายเพย์เมนต์ แอปเปิล เพย์ มาเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน และกล่าวเมื่อเดือนก่อนว่าเวลานี้บริการแอปเปิลเพย์สามารถใช้งานได้กับร้านค้ากว่า 220,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจุดชำระเงินที่มีประมาณ 12 ล้านจุดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันผู้บริหารของลูปเพย์กล่าวว่า เครื่องอ่านแถบแม่เหล็กมีอยู่แล้วประมาณ 90% ของจุดชำระเงินทั้งหมดทั่วสหรัฐฯ
    อย่างไรก็ดี ไบรอัน เยเกอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย อีมาร์เก็ตเตอร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีของลูปเพย์อาจเป็นได้แค่เพียงเทคโนโลยีคั่นเวลาชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร้านค้าเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่รองรับระบบเอ็นเอฟซีในที่สุด ขณะที่คริสตอฟ อูซูโร รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า คำถามสำคัญคือซัมซุงมีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะสร้างแพลตฟอร์มโมบายเพย์เมนต์เต็มรูปแบบที่ไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตอบโต้แอปเปิล เพย์ หรือไม่
    อินจง รี ผู้บริหารของซัมซุงที่ดูแลโปรเจ็กต์บริการเพย์เมนต์ กล่าวว่า ซัมซุงจะเปิดเผยรายละเอียดของบริการในเร็วๆ นี้ โดยความมุ่งหมายของซัมซุงคือการเปิดให้บริการเสริมที่นอกเหนือไปกว่าเพียงแค่การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าสตางค์ อาทิ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่าย เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,029  วันที่  22 - 25  กุมถาพันธ์  พ.ศ. 2558




http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=266102:2015-02-20-03-24-18&catid=109:2009-02-08-11-36-01&Itemid=460#.VO1QkUJAeuw

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.