Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

06 มีนาคม 2558 (บทความ) ปริศนาประมูลคลื่น 4G ทำให้ช้าก็ถือเป็นคอร์รัปชันได้? // คนที่เสียประโยชน์ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นประเทศชาติและประชาชนคนไทยโดยส่วนรวม การอยู่นิ่งๆ ไม่กระทำการใดๆ ก็ถือว่าทุจริตคอร์รัปชัน

ประเด็นหลัก

คนที่เสียประโยชน์ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นประเทศชาติและประชาชนคนไทยโดยส่วนรวม เพราะในปัจจุบัน ความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านความรวดเร็วและคุณภาพของสัญญาณมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ความช้าหรือเร็วในการเกิดขึ้นของบริการโทรคมนาคมบนเครือข่าย 4G จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการประมูลที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เสรีและเป็นธรรมในหมู่ผู้ประกอบการ เนื่องจากในขณะนี้ มีผู้ประกอบการบางรายได้รับสิทธิในการให้บริการระบบ 4G แล้วบางส่วน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ยังคงได้รับเพียงสิทธิในการทดลองการให้บริการ ซึ่งทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบในทางธุรกิจ ที่ผลกระทบสุดท้ายจะมาตกที่ผู้บริโภคที่ไม่มีสิทธิเลือกใช้บริการที่เหมาะสมและไม่ได้ประโยชน์จากกลไกราคาที่เอกชนบางรายไม่สามารถแข่งขันได้

ดังนั้น การที่ คสช.หรือรัฐบาลทำเป็นนิ่ง หรือทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับชะตากรรมของการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ในระบบ 4G ย่อมไม่เพียงจะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเองแล้ว อาจถูกมองได้ว่า คนใน คสช.บางคน มีส่วนได้เสียกับผู้ที่ได้ประโยชน์จากความล่าช้าของการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G หรือไม่

เพราะการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการแลกเปลี่ยนเสมอไป การอยู่นิ่งๆ ไม่กระทำการใดๆ เลย ก็อาจเป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการไม่มีการกระทำนั้นได้เช่นเดียวกัน...



_____________________________________________________















ปริศนาประมูลคลื่น 4G ทำให้ช้าก็ถือเป็นคอร์รัปชันได้?


ในขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในงาน “ขับเคลื่อน SMEs ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล” เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ว่า จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยมั่นใจว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือน ก.ย.ปีนี้

แต่กระแสข่าวอีกทางหนึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับสิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวไว้ โดยมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาเป็นระยะว่า การประมูลคลื่น 4G ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเคยกล่าวไว้ว่า จะมีการประมูลในปีนี้ ซึ่งกระแสข่าวนี้ สอดรับกับข่าวที่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในส่วนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกทั้งหมดในข้อหาไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้อย่างชัดเจน จนอยู่ในขั้นทรงกับทรุดเท่านั้น

การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G จะมีขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ และหากการประมูลล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมคือประมาณเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.ปีนี้ จะมีผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง และใครเป็นฝ่ายเสียหรือได้ประโยชน์กันแน่ ต้องไปดูความเป็นมาเป็นไปในเรื่องนี้กัน

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการพูดถึงการนำคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ค. 2556 มาเปิดประมูลในปี 2557 เป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2556 ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในระบบ 3G เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ต.ค.2555


หลังจากนั้นเป็นต้นมา กสทช. โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาเตรียมการประมูล จนกระทั่งได้กำหนดช่วงระยะเวลาในการประมูลไว้ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค.2557 จากนั้นในเดือน ส.ค.2556 กทค.ได้ว่าจ้างให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ไปศึกษาความเป็นไปได้และเสนอรูปแบบการประมูลว่าควรทำอย่างไร เนื่องจากมีคลื่นความถี่อื่นที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.2558 มาเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องศึกษาว่าควรจะนำมาประมูลพร้อมกันหรือไม่ หรือจะต้องแยกการประมูลกันอย่างไร

ต้นปี 2557 ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงวุ่นวายและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กทค.ได้ประกาศเดินหน้าให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ก่อนในเดือน ส.ค.2557 และประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน

เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2557 แล้ว กทค.ก็ยังยืนยันว่าจะยังจัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G ต่อไป จนกระทั่ง คสช.ได้ออกประกาศที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 ก.ค.2557 สั่งให้ชะลอการประมูลออกไปก่อนเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างว่า เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลว่าจะไม่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ให้มีการจัดการประมูลด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติและประโยชน์สาธารณะ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กสทช.ก็ได้มีหนังสือไปหารือ คสช.หลายฉบับ เพื่อสอบถามให้เกิดความชัดเจนว่า กสทช.สามารถดำเนินการอะไรได้บ้างในช่วง 1 ปี ที่ถูกสั่งชะลอการประมูล อีกทั้งจะสามารถเตรียมการประมูลไปได้ก่อนหรือไม่ เพื่อที่เมื่อครบกำหนด 1 ปี กสทช.จะได้จัดการประมูลได้ทันที

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ ในเรื่องนี้ จาก คสช.เลย จนทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นห่วงว่า การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2558 นี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในช่วงปลายเดือน ธ.ค.2557 ผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชน 3 รายได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ได้แถลงข่าวร่วมกันเพื่อขอให้รัฐเร่งจัดการจัดสรรคลื่นความถี่ในระบบ 4G โดยเร็ว แต่มีความเห็นแตกต่างกันในวิธีการจัดสรรคลื่นของ กสทช. โดย 2 ค่ายแรกเห็นด้วยกับวิธีการประมูลแบบเดิมที่ใช้ในการประมูลคลื่น 3G ส่วนค่ายหลังสุด เห็นว่าควรใช้ระบบการพิจารณาให้ใบอนุญาตตามความเหมาะสม (บิวตี้ คอนเทสต์)

และเมื่อจนถึงวันนี้แล้ว ยังไม่มีความชัดเจนจาก คสช.ว่า กสทช.จะสามารถเดินหน้าเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G ไปพลางก่อนเลยหรือไม่ กสทช.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีในเดือน ก.ค.2558 ค่อยมารอ คสช.ตัดสินใจอีกที ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ กสทช.ก็ต้องมาเสียเวลาในการเตรียมการประมูลอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ซึ่งแน่นอนว่า กสทช.จะไม่สามารถจัดการประมูลคลื่น 4G ได้ในปีนี้


ทีนี้ ก็มาถึงคำถามที่ว่า เมื่อประมูลคลื่น 4G ต้องล่าช้าออกไป ใครบ้างที่เสีย หรือได้ประโยชน์อย่างไร...

คนที่เสียประโยชน์ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นประเทศชาติและประชาชนคนไทยโดยส่วนรวม เพราะในปัจจุบัน ความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านความรวดเร็วและคุณภาพของสัญญาณมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ความช้าหรือเร็วในการเกิดขึ้นของบริการโทรคมนาคมบนเครือข่าย 4G จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการประมูลที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เสรีและเป็นธรรมในหมู่ผู้ประกอบการ เนื่องจากในขณะนี้ มีผู้ประกอบการบางรายได้รับสิทธิในการให้บริการระบบ 4G แล้วบางส่วน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ยังคงได้รับเพียงสิทธิในการทดลองการให้บริการ ซึ่งทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบในทางธุรกิจ ที่ผลกระทบสุดท้ายจะมาตกที่ผู้บริโภคที่ไม่มีสิทธิเลือกใช้บริการที่เหมาะสมและไม่ได้ประโยชน์จากกลไกราคาที่เอกชนบางรายไม่สามารถแข่งขันได้

ดังนั้น การที่ คสช.หรือรัฐบาลทำเป็นนิ่ง หรือทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับชะตากรรมของการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ในระบบ 4G ย่อมไม่เพียงจะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเองแล้ว อาจถูกมองได้ว่า คนใน คสช.บางคน มีส่วนได้เสียกับผู้ที่ได้ประโยชน์จากความล่าช้าของการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G หรือไม่

เพราะการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการแลกเปลี่ยนเสมอไป การอยู่นิ่งๆ ไม่กระทำการใดๆ เลย ก็อาจเป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการไม่มีการกระทำนั้นได้เช่นเดียวกัน...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
Twitter: @chavarong
chavarong@thairath.co.th



http://www.thairath.co.th/content/483962

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.