Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

19 มีนาคม 2558 (เกาะติดประมูล4G) แหล่งข่าวระบุ !! ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับปากว่าจะไปเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 จาก MCOT มาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz

ประเด็นหลัก


   อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมมีการเสนอให้ประมูลคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น ดังนั้นที่ประชุมจึงเกรงว่าคลื่นที่ได้จะไม่ได้ความเร็วแบบ 4G จริง สิ่งนี้จะเป็นของขวัญชิ้นโบว์แดงที่มอบให้กับประชาชน
     
       ส่วนปัญหาที่ว่าคลื่น 2600 MHz ที่ยังค้างอยู่ที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังมีปัญหาไม่คืนคลื่นมาให้กสทช.จัดสรรนั้น ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับปากว่าจะไปเรียกคืนคลื่นความถี่มาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์


_____________________________________________________













คณะกก.ดิจิตอลไฟเขียวประมูล 4G คลื่น 2600 MHz ส.ค.นี้



        ประชุมบอร์ดดีอีนัดแรกไฟเขียวประมูล 4G ส.ค.นี้ แต่ไม่ฟันธงว่าต้องประมูลในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ตามที่กสทช.สอบถามคสช.เหตุแบนด์วิธน้อย หวั่นความเร็วเป็นเต่าคลาน ชี้เตรียมนำคลื่น 2600 MHz จากอสทม.มาประมูลแทน เพราะมีเทคโนโลยีและแบนด์วิธที่ดีกว่า คาดรู้ผลภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้
     
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้กสทช.เตรียมดำเนินการประมูล 4G ได้ทันที เพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ทันภายในเดือนส.ค.นี้ แต่ทั้งนี้คลื่นที่นำมาประมูลไม่ได้จำกัดแค่คลื่น 900 MHz หรือ 1800 MHz เท่านั้น เนื่องจากกสทช.มีคลื่นความถี่มากกว่านั้น ดังนั้นจึงให้กสทช.กลับไปดูว่ามีคลื่นไหนที่จะนำมาประมูลได้บ้าง ซึ่งกสทช.สามารถนำคลื่นตั้งแต่ 900 MHz -2600 MHz มาจัดประมูลได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม
     
       ดังนั้นหากกสทช.บอกว่าต้องใช้เวลาในการเตรียมการประมูล 5-6 เดือน การจัดการประมูลก็จะเกิดขึ้นได้ในเดือนส.ค.นี้ จึงไม่ต้องแก้ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)ที่ให้ชะลอการประมูลออกไปถึง 17 ก.ค.นี้เพราะเป็นเวลาที่ครบกำหนดพอดี ส่วนรูปแบบการประมูลเป็นเรื่องของ กสทช. เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. ตามกฎหมายเดิม แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการดีอีทราบก่อนว่าจะประมูลคลื่นย่านความถี่ไหน
     
       อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมมีการเสนอให้ประมูลคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น ดังนั้นที่ประชุมจึงเกรงว่าคลื่นที่ได้จะไม่ได้ความเร็วแบบ 4G จริง สิ่งนี้จะเป็นของขวัญชิ้นโบว์แดงที่มอบให้กับประชาชน
     
       ส่วนปัญหาที่ว่าคลื่น 2600 MHz ที่ยังค้างอยู่ที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังมีปัญหาไม่คืนคลื่นมาให้กสทช.จัดสรรนั้น ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับปากว่าจะไปเรียกคืนคลื่นความถี่มาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์
     
       ***กสทช.เพิ่มคลื่น 900 MHz เตรียมประมูล
     
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ได้อนุมัติให้ปรับลดการ์ดแบนด์ของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จาก 3.5 MHz เหลือ เพียง 1 MHz ดังนั้นคลื่นความถี่ที่เหลือ 2.5 MHz จะนำไปรวมกับคลื่นความถี่เดิมซึ่งปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ใช้อยู่และจะหมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเดือน ก.ย.58 นี้ จาก 17.5 MHz เป็น 20 MHz ทำให้การประมูลที่จะเกิดขึ้น 2 ใบอนุญาตในคลื่นความถี่ดังกล่าวจะมีคลื่นเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ใบอนุญาต คือ 10 MHz และอีก 1ใบอนุญาต 7.5 MHz เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตละ 10 Mhz
     
       การอนุมัติดังกล่าวได้พิจารณาจากข้อเสนอการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ พ.ศ.2555 และนโยบายการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ และเห็นชอบให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติครั้งนี้ จะส่งผลให้การใช้งานคลื่นความถี่ของไทยสอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่าง ประเทศ ในหลาย ๆ ย่านความถี่ เช่น 50-54 MHz 146-147 MHz และ 510-790 MHz อีกด้วย
     
       นอกจากนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ กิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz (E-band) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ โดยคลื่นความถี่ในย่าน E-band นี้ จะรองรับการใช้งานแบบจุดต่อจุดที่ต้องการความจุสูง (High Capacity Point-to-Point) เช่น การใช้งานในโครงข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีฐานและโครงข่ายหลัก (Mobile Backhaul) ในโครงข่าย 4G หรือการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายการสื่อสารภายในองค์กรที่ทันสมัย รองรับปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
     
       ***เอไอเอส-ดีแทคยิ้มรับประมูล4G
       นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร อินทัช กรุ๊ป กล่าวว่า หลังจากที่มีความชัดเจนจากรัฐบาลแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเอกชนจะได้วางแผนการดำเนินการได้ถูกต้อง สำหรับความพร้อมในการเข้าประมูลเอไอเอส มีความพร้อมเกิน 100% ทั้งด้านเงินลงทุนสำหรับใช้ในการประมูลใบอนุญาต และขยายโครงข่าย โดยใช้แหล่งเงินลงทุนจากกระแสเงินสดในมือ รายได้จาการบริหารงาน และเครดิตเงินกู้
     
       ขณะที่นายชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคขอสนับสนุนการประมูลโดยเชื่อว่าถ้ามีจำนวนคลื่นความถี่ที่มากพอต่อความต้องการใช้งานมาประมูลร่วมกัน ผนวกกับการนำเทคโนโลยี 4G ที่ทันสมัยที่สุดมาสู่ประเทศและผู้บริโภค จะสามารถเพิ่มการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและผู้ใช้งาน รวมถึงสามารถสร้างโอกาสต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาลเพื่อผู้ใช้งานทั่วประเทศ

http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031874


_________________________________________

ลุ้น รบ.ไฟเขียว เดินหน้าประมูล 4 จี



ลุ้นที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล นัดแรก หารือตัดสินใจเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4G ด้าน "ฐากร" ยันพร้อมเปิดประมูลทันทีที่ คสช. มีหนังสืออนุมัติอย่างเป็นทางการ คาดใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ...

วันที่ 18 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการด้านเตรียมความพร้อมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นัดแรก จะหารือเพื่อตัดสินใจ ว่า จะเปิดประมูล คลื่นความถี่ 4G หรือไม่ หลังคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ให้ชะลอการประมูลจะสิ้นสุดลงเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ประชุมจะหารือด้วยว่า จะนำคลื่นความถี่ย่านใดมาเปิดประมูล เนื่องจากมีเสียงคัดค้านว่า คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง และไม่สามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ให้อนุมัติเปิดประมูลภายในปีนี้ด้วย

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กสทช. พร้อมเปิดประมูลทันทีที่ คสช. มีหนังสืออนุมัติอย่างเป็นการ คาดว่าจะใช้เวลา 4 ถึง 6 เดือน ยกตัวอย่างเช่น หากอนุมัติในเดือนมีนาคม ถึงเมษายน เปิดประมูลได้ช้าสุดไม่เกินเดือนตุลาคม

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมปรับราคาใบอนุญาตขั้นต่ำ จากเดิม 11,600 ล้านบาท โดยให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ศึกษารายละเอียด และมั่นใจว่าจะมีผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต แต่หากมีผู้เข้าประมูลน้อยกว่า หรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต จะไม่เปิดประมูลแน่นอน

ขณะที่วานนี้ (17 มี.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลจะเดินหน้าเปิดประมูล 4G ให้ได้ภายในปีนี้ หากจัดตั้งและปรับรูปแบบกระทรวงดิจิตอลเรียบร้อย จะเดินหน้าประมูล พร้อมทั้งยืนยันจะไม่มีผลประโยชน์กับบริษัทใดทั้งสิ้น และยังไม่ทราบว่าจะมีกี่บริษัทเข้าประมูล


http://www.thairath.co.th/content/487615


________________________




 ‘กสทช.’เอาแน่ เปิดประมูล4จี เสร็จเดือนสค.

เคาะประมูล 4 จีเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมลุยเชื่อมไฟเบอร์ออพติกหน่วยงานราชการ แถมเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ ภาครัฐทำงาน 24 ชั่วโมง ด้าน กสทช.เด้งรับจ่อเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 ใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบ คาดได้เงินจากการประมูล 40,000 ล้านบาท และทำให้มีเงินหมุนเวียนกว่า 200,000 ล้าน พร้อมอนุมัติงบประชาสัมพันธ์ลงทะเบียนซิม 40 ล้านบาท พร้อมเตือนอย่าหลงเชื่อลงทะเบียนซิมฟรีเท่านั้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมครั้งที่ 1/2558 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า รัฐบาลจะรวบรวมเส้นใยแก้วนำแสง หรือไฟเบอร์ออพติก ของเอกชนและหน่วยงานราชการเพื่อสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ โดยใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นจะจ้างผู้เชี่ยวชาญในการวางแผน และตั้งบริษัทใน 6-7 เดือน และสร้างเน็ตเวิร์กใน 10 เดือน จากนั้นเชื่อว่าภายใน 1 ปีหรือปี 2560 อินเทอร์เน็ตจะครอบคลุมไปทั่วถึงทุกหมู่บ้าน โดยตนจะเป็นประธานในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายมือถือหลายค่ายเพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกัน มีการเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นใหม่ สำหรับเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้าน ซึ่งศูนย์นี้จะทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานไม่หยุดตลอดชีวิต โดยเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และรัฐจะเปิดให้เอกชนมาประมูล โดยจะให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน และเปิดใช้งานให้ได้ภายใน 10 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะเปิดให้รัฐและเอกชนรายอื่นไปเช่า
นอกจากนี้ ยังมีการลดสำเนากระดาษเพื่อบริการประชาชน โดยจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงต่างๆ เพื่อออกกฎระเบียบในการให้บริการใหม่ โดยเฉพาะ 7กระทรวงนำร่าง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงการขออนุญาตต่างๆ ก็จะลดการใช้สำเนาลง รวมถึงยังมีโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเครือข่ายการเรียนรู้ทางไกล โดยจะต้องมีการจัดแผนและนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเริ่มเดินหน้าประมูล 4 จี ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม โดยให้ กสทช.กำหนดรูปแบบการประมูล ซึ่งรัฐจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและข้องเกี่ยวกับวงเงินประมูลในเรื่องนี้ เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. ขณะที่การประมูลคลื่นความถี่จะไม่มีการล็อกว่าจะให้ใช้คลื่น 900 MHz หรือ 1800 MHz แต่จะเปิดกว้างเพื่อให้ได้เคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ยืนยันไม่กระทบประกาศเดิมที่ให้เลื่อนการประมูลออกไปภายหลังเดือนกรกฎาคม
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.58 ที่ผ่านมา มีมติให้ลดขนาดคลื่นในส่วนของการ์ดแบนด์ลง จากเดิมที่จะต้องมี 3.5 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 1 เมกะเฮิรตซ์ และนำ 2.5 เมกะเฮิรตซ์ ไปเพิ่มในส่วนของใบอนุญาต 4 จี คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จากเดิมแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต คือ 10 เมกะเฮิรตซ์ และ 7.5 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อเพิ่มส่วนที่ตัดทอนมาจากการ์ดแบนด์เข้าไปทำให้ใบอนุญาต 4 จี แบ่งเป็นใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ เท่าๆ กัน โดยปัจจุบันคลื่น 900 ซึ่งบริษัท บมจ.ทีโอทีได้ทำสัญญาสัมปทานไว้กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และจะหมดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2558
ส่วนความคืบหน้าการประมูลคลื่น 1800 MHz นั้นจะส่งความคืบหน้าไปให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการชะลอการประมูล 1 ปี โดยจากครบกำหนดวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ซึ่ง กสทช. ได้เตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz ไว้แล้ว โดยจะมีการประมูลใบอนุญาตจำนวน 2 ใบแบ่ง เป็นใบละ 12.5 MHz ซึ่งมีการคำนวณราคาเริ่มต้นใหม่ที่ใบละ 11,600 ล้านบาท ส่วนคลื่น 900 MHz ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากคณะกรรมการดิจิทัลฯ อนุมัติให้มีการเดินหน้าประมูลได้ ก็จะส่งให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู ศึกษาราคาตั้งต้นใหม่ และจะเริ่มประมูลได้หลังอนุมัติ 6 เดือน โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการประเมินรายได้หลังการประมูลประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 2 แสนล้านบาท
อีกทั้งที่ประชุมยังได้อนุมัติงบประมาณในการทำประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้มีการลงทะเบียนซิมการ์ดระบบเติมเงินจำนวน 40 ล้านบาท ใช้ในการดำเนินการจัดทำโฆษณา แผ่นพับ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เป็นต้น
ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ลงทะเบียนซิมการ์ดระบบเติมเงินผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะแล้วจำนวน 12 ล้านเลขหมาย จากทั้งสิ้น 90 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ ได้ร่วมหารือกับตัวแทนจาก 5 ค่ายมือถือให้ซิมการ์ดที่ออกใหม่ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้ใช้ก่อนเปิดใช้งานจริง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ให้บริการรายย่อยที่รับเป็นจุดลงทะเบียน หรือ ร้านตู้กระจก ได้เรียกเก็บค่าบริการ 20-50 บาท และมีการนำรหัสผ่านที่ได้รับอนุญาตมาแจกจ่ายให้ร้านอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นจุดรับลงทะเบียน
ทั้งนี้ ได้มีการหารือและแก้ปัญหาด้วยการขอความร่วมมือกับค่ายมือถือให้ช่วยควบคุมและจะพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้สามารถเข้าใช้รหัสรับลงทะเบียนได้เพียง 1 รหัสต่อ 1 เครื่องที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น พร้อมกับหลังจากประชาชนลงทะเบียนแล้วจะได้ข้อความสั้น หรือ เอสเอ็มเอส ตอบกลับยืนยันการลงเรียบร้อย พร้อมกับตัวเลขเฉพาะของผู้รับลงทะเบียนแนบมาด้วย อย่างไรก็ตาม อยากเตือนว่าอย่าหลงเชื่อ เพราะการลงทะเบียนซิมการ์ดไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนและเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ซิมการ์ดนั้นมาลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ก.ค.58 นี้.


http://www.thaipost.net/?q=‘กสทช’เอาแน่-เปิดประมูล4จี-เสร็จเดือนสค

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.