Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

01 สิงหาคม 2558 (เกาะติดประมูล4G) DTAC ระบุการนำคลื่นมาจัดสรรให้มากที่สุดเป็นประโยชน์ในการให้บริการ แต่เมื่อ กสทช. ระบุว่าต้องการส่งเสริมการแข่งขันและเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาก็ควรแบ่งใบอนุญาตให้มีขนาดคลื่นเล็กลง

ประเด็นหลัก


ขณะที่ตัวแทนจากโอเปอเรเตอร์ที่แสดงความเห็น มีเพียงดีแทคและเอไอเอส ส่วน "ทรูมูฟ" แม้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเวทีแต่อย่างใด โดยนายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า การนำคลื่นมาจัดสรรให้มากที่สุดเป็นประโยชน์ในการให้บริการ แต่เมื่อ กสทช. ระบุว่าต้องการส่งเสริมการแข่งขันและเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาก็ควรแบ่งใบอนุญาตให้มีขนาดคลื่นเล็กลง อาทิ แบ่งประมูลทีละ 5 MHz จำนวน 6 บล็อกคลื่น หรือจัดประมูลขนาด 15 MHz 1 ใบอนุญาต ที่เหลือแบ่งประมูลออกทีละ 5 MHz ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น














____________________________



ค่ายมือถือ ติงสเป็กตรัมแคป ประมูลคลื่น5MHzดันรายใหม่



ประชาพิจารณ์ 4G เวทีเชียงใหม่ แห่ร่วมงานกว่า 300 คน "ดีแทค-เอไอเอส" ชี้เกณฑ์สเป็กตรัมแคป 60 MHz ควรออกประกาศแยก-ติงราคาเริ่มต้นประมูลสูง กีดกันรายย่อย ฟาก "ทรูมูฟ" มาแปลกโนคอมเม้นท์ ฝั่งผู้บริโภคหวั่นฮั้วประมูลทำค่าบริการแพง กสทช.เดินหน้าประมูล "900-1800 MHz" วันเดียวกัน


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz เวทีแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ร่วมงานราว 300 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป มีตัวแทนค่ายมือถือเข้าร่วมบางส่วน การแสดงความเห็นบนเวทีจึงเน้นไปที่การเรียกร้องให้ กสทช.กำกับดูแลค่าบริการ การออกโปรโมชั่นให้มีเงื่อนไขที่เป็นธรรม มีราคาและคุณภาพการให้บริการที่เหมาะสม ทั้งค่าโทร.และโมบายอินเทอร์เน็ต รวมถึงกังวลว่า การจัดประมูลของ กสทช.อาจมีการฮั้วประมูล

ขณะที่ตัวแทนจากโอเปอเรเตอร์ที่แสดงความเห็น มีเพียงดีแทคและเอไอเอส ส่วน "ทรูมูฟ" แม้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเวทีแต่อย่างใด โดยนายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า การนำคลื่นมาจัดสรรให้มากที่สุดเป็นประโยชน์ในการให้บริการ แต่เมื่อ กสทช. ระบุว่าต้องการส่งเสริมการแข่งขันและเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาก็ควรแบ่งใบอนุญาตให้มีขนาดคลื่นเล็กลง อาทิ แบ่งประมูลทีละ 5 MHz จำนวน 6 บล็อกคลื่น หรือจัดประมูลขนาด 15 MHz 1 ใบอนุญาต ที่เหลือแบ่งประมูลออกทีละ 5 MHz ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น

ส่วนราคาตั้งต้นที่กำหนดไว้ 13,920 ล้านบาทต่อใบอนุญาต 15 MHz แต่ถ้ามีผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับใบอนุญาตที่จะประมูล จะปรับเป็นราคา 19,890 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคา 70% และ 100% ของมูลค่าคลื่น เป็นราคาที่อาจจะสูงเกินไป

"เห็นด้วยที่ กสทช.บอกว่า ราคาต้องสมดุล ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ 70% กับ 100% ของมูลค่าคลื่นต่างกันถึง 6,000 ล้านบาท น่าจะยุ่งยาก เพราะขนาดราคาเริ่มต้น70% ยังมีคนเข้าประมูลแค่ 2 ราย ถ้าขยับเป็น 100% ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก รายใหม่ก็อาจสู้ได้แค่ 85% ยิ่งถ้า 100% มาก็ไม่เข้าประมูล อีกทั้งคลื่น 1800 MHz ยังไม่มีตลาดในเมืองไทยเป็นราคาเปรียบเทียบจึงอยากเสนอให้ปล่อยให้ตลาดแข่งกันโดยไม่ต้องมีข้อกำหนดว่าจะต้องเสนอขยับเป็น 100%"

ส่วนการกำหนดเพดานสูงสุดในการถือครองคลื่น (สเป็กตรัมแคป) ไว้ที่ 60 MHzดีแทคเป็นรายเดียวที่เข้าเกณฑ์ว่าต้องคืนคลื่นกลับมาเท่าที่ประมูลได้ แต่ถ้าคืนแล้วทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม จะมีสิทธิ์นำไปใช้ได้ถึงหมดสัมปทานปี 2561 หรือได้ใช้ถึงปี 2568 จึงเสนอให้ตัดเงื่อนไขสเป็กตรัมแคปแล้วค่อยตกลงการกำหนดสเป็กตรัมแคปที่เหมาะสมในภายหลัง

เช่นเดียวกัน นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การกำหนดสเป็กตรัมแคปที่ 60 MHz ไม่มีหลักเกณฑ์มารองรับชัดเจน แม้ กสทช.จะกำหนดได้ แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมและมีผลการศึกษารองรับ เพราะ 60 MHz น้อยเกินไปและควรออกประกาศแยกออกมาต่างหาก เพื่อกำกับดูแลโดยเฉพาะ

ส่วนจำนวนคลื่นต่อใบอนุญาตอยากให้ชัดเจนว่าอยู่ที่ 15 MHz แน่ไม่เปลี่ยนไปที่ 12.5 MHz อีก ขณะที่วันเวลาในการจัดประมูลคลื่นทั้งดีแทคและเอไอเอสเห็นด้วยที่ควรจัดประมูลให้เร็วที่สุด สอดคล้องกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะจัดประมูลในวันที่ 11 พ.ย.นี้ พร้อมกันทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz คาดว่าผู้ชนะประมูลจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกปี 2559

ความคืบหน้าการคืนคลื่น 4.8 MHz ใต้สัมปทานดีแทค-กสทฯ เพื่อนำมาจัดประมูลพร้อมกัน ผู้แทนดีแทค กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของ กสทฯ อยากให้ กสทช. ขยายเวลาให้จัดการคืนคลื่นให้เสร็จใน 11 พ.ย.

"การจัดประมูลก็จะเสนอราคาที่ 15 MHzไปก่อน ถ้าคืนไม่ทันจริง ๆ ค่อยให้มีการคืนส่วนต่าง ถ้าสุดท้ายคืนคลื่นไม่สำเร็จก็อยากให้จัดสรรแค่ 10 MHz ต่อใบอนุญาต เหลือ 2.5 MHz เก็บไว้ก่อน จะมีประโยชน์กว่า"

จากนี้ กสทช. จะเปิดรับฟังความเห็นถึง 17 ส.ค.นี้ โดยจัดที่กรุงเทพฯ วันที่ 3 ส.ค. ก่อนนำความเห็นมาปรับปรุงและเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ไม่เกิน 26 ส.ค.เพื่อให้เปิดรับซองประมูลและยื่นซองในวันที่ 30 ก.ย. และจัดประมูล 11 พ.ย. 2558 ผู้ชนะประมูลต้องชำระเงินงวดแรกพร้อมรับใบอนุญาตไม่เกิน ธ.ค.นี้

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438231113

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.