Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

12 สิงหาคม 2558 (เกาะติดประมูล4G) เลขาธิการ กสทช.ฐากร ระบุ โดยในเบื้องต้นค่าบริการ 4จี จะต้องถูกลงกว่าอัตราเฉลี่ยค่าบริการ 3จี บนย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการอยู่ที่ 0.82 บาทต่อนาที ในบริการด้านเสียง และ 0.28 บาทต่อเมกะไบต์

ประเด็นหลัก







นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานเตรียมนำเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าบริการแพ็กเกจ 4จี ไปรวมในร่างฯ หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยในเบื้องต้นค่าบริการ 4จี จะต้องถูกลงกว่าอัตราเฉลี่ยค่าบริการ 3จี บนย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการอยู่ที่ 0.82 บาทต่อนาที ในบริการด้านเสียง และ 0.28 บาทต่อเมกะไบต์ ในบริการดาต้าอินเทอร์เน็ต โดยจะนำเงื่อนไขนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 19 ส.ค.58 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูลต้องส่งเอกสารที่จะเข้าร่วมประมูลและรายละเอียดเรื่องอัตราค่าบริการมายังสำนักงาน กสทช.ในวันที่ 30 ก.ย.58 นี้





____________________________________________________





กสทช.ย้ำค่าบริการ4จีต้องถูก สุภิญญาตรวจเข้มทีวีดิจิตอลโฆษณาเกินเวลา



กสทช.เล็งเพิ่มเงื่อนไขคิดค่าแพ็กเกจ 4จี ต้องถูกกว่า 3จี ในหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น ขานรับรัฐบาล พร้อมตรวจเข้มทีวีดิจิตอลเวลาโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ต้องตามกำหนด 12 นาทีต่อชั่วโมง
สุภิญญา กลางณรงค์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานเตรียมนำเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าบริการแพ็กเกจ 4จี ไปรวมในร่างฯ หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยในเบื้องต้นค่าบริการ 4จี จะต้องถูกลงกว่าอัตราเฉลี่ยค่าบริการ 3จี บนย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการอยู่ที่ 0.82 บาทต่อนาที ในบริการด้านเสียง และ 0.28 บาทต่อเมกะไบต์ ในบริการดาต้าอินเทอร์เน็ต โดยจะนำเงื่อนไขนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 19 ส.ค.58 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูลต้องส่งเอกสารที่จะเข้าร่วมประมูลและรายละเอียดเรื่องอัตราค่าบริการมายังสำนักงาน กสทช.ในวันที่ 30 ก.ย.58 นี้

"4จี เป็นบริการเสริมเพิ่มเติมจาก 3จี ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตความครอบคลุมไว้ที่ 40% ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี จึงเป็นเหตุผลว่าอัตราค่าบริการต้องลดลงจากค่าเฉลี่ยของ 3จี แต่ตอนนี้ต้องรอเอาเข้าที่ประชุม กทค.ให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะมาพิจารณาว่าควรลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ หรือลดลงตามอัตราใดจึงจะเหมาะสม" นายฐากร กล่าว

นอกจากนี้ เงื่อนไขอัตราค่าบริการของ 4จี ที่ต้องลดลงแล้ว สำนักงานเตรียมเสนอแพ็กเกจสำหรับผู้พิการและผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสมอภาค โดยขณะนี้กำลังประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอรายชื่อบุคคลประเภทดังกล่าว เพื่อนำมาลงทะเบียนในระบบ

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า กสทช.ต้องการแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทีวี ดิจิตอล ช่องใหม่ ให้มีการปรับเวลาโฆษณาในช่วงไพรม์ไทม์ อยู่ที่ 12 นาทีต่อชั่วโมง และเวลาเฉลี่ยโฆษณาสินค้าทั้งวัน จะอยู่ที่ 10นาทีต่อชั่วโมง หลังจากพบมีช่องทีวีดิจิตอล ช่องใหม่หลายช่อง มีเวลาโฆษณาเกินเวลากว่าที่กำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ กสท.ได้มีการเรียกผู้ประกอบการทีวี ดิจิตอล ช่องใหม่ 1 ช่อง มาสอบถามในเรื่องนี้แล้ว โดยหากยังมีการโฆษณาเกินเวลา กสท.กำหนดไว้ ก็จะมีมาตรการทั้งแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการอีกรอบ มาตรการต่อมาคือ การปรับอัตรา 500,000 บาท ถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่ง กสท.ก็เข้าใจผู้ประกอบการทีวี ดิจิตอล ที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่แล้ว จึงไม่อยากมีมาตรการปรับตามมา

ส่วนความคืบหน้าของบริษัท ไทยทีวี ที่ประชุมกรรมการ กสท.ได้มีมติให้ยืดระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.58นี้ โดยไทยทีวีกำลังเจรจาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุน หากสามารถเจรจาได้พันธมิตรร่วมทุนได้สำเร็จ บริษัทก็จะสามารถทำต่อไป ถือเป็นสัญญาณที่ดีของทีวีดิจิตอล

นอกจากนี้ ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในเรื่อง สมาร์ท มีเดีย ฟอร์ คอนซูมเมอร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ปรับเนื้อหารายการ และปรับผังรายการให้เหมาะสมกับการก้าวเข้าสู่ สมาร์ท ทีวีดิจิตอล.


http://www.thaipost.net/?q=กสทชย้ำค่าบริการ4จีต้องถูก-สุภิญญาตรวจเข้มทีวีดิจิตอลโฆษณาเกินเวลา

______________________________


“เศรษฐพงค์” ยันเงื่อนไขการประมูล 4G ต้องระบุชัดเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค และค่าบริการที่เป็นธรรมและถูกลง



 “เศรษฐพงค์” ยันเงื่อนไขการประมูล 4G ต้องระบุชัดเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค และค่าบริการที่เป็นธรรมและถูกลง
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช.

        วันที่ 3 สิงหาคม 2558 สำนักงาน กสทช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
     
       พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. แถลงว่า หลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ร่างประกาศ กสทช. ทั้งสองฉบับดังกล่าว จะกลับมาเข้าที่ประชุมบอร์ด กทค. เพื่อทำการปรับปรุงให้เหมาะสม โดยจะมีการเสนอให้ระบุเงื่อนไขของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งต้องมีมาตรการ และเงื่อนไขที่จะต้องควบคุมการคิดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม และมีราคาถูกลง ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้อย่างทั่วถึง
     
       ประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และอัตราค่าบริการนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง และกำชับให้มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น กทค. จะทำการระบุเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภค และประโยชน์ของประชาชนให้ชัดเจน ซึ่งหากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งนี้สำเร็จ เรียบร้อย ก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อีกทั้งจะเกิดการลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคม และเกิดการจ้างงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยตรง และในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ของรัฐบาลอย่างชัดเจน และจะเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
     
       ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ประเด็นที่ทำการรับฟังความคิดเห็นได้แก่ 1.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล 2.วิธีการอนุญาต ความเหมาะสมของการใช้วิธีการประมูล ความเหมาะสมของกฎการประมูล ความเหมาะสมของเงื่อนไขกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่จะนำมาอนุญาตให้ใช้ 3.ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แยกเป็น 13,920 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต และ 19,890 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต 4.กระบวนการอนุญาต 5.สิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz 6.มาตรการจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการเสนอราคาประมูล 7.ประเด็นอื่น ๆ
     
       นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคสนับสนุนการประมูล 4G พร้อมกันทั้งคลื่นย่าน 1800 MHz และคลื่นย่าน 900 MHz เพื่อนำคลื่นความถี่มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการให้กสทช.กำหนด สเปคตรัมโรดแมปคลื่นความถี่ทั้งหมดให้เสร็จ ก่อนวันประมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนในการเข้าร่วมประมูลได้
     
       แต่การกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลถือว่าราคาสูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังย่ำแย่ และราคาเริ่มต้นการประมูลจะสะท้อนไปยังราคาการให้บริการต่อไป ส่วนประเด็นที่กำหนดให้มีผู้เข้าร่วมประมูลเท่ากับหรือน้อยกว่า ดีแทค ขอเสนอให้ กสทช.ควรจะกลับไปใช้ราคาเริ่มต้นที่คิดจากมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง70%
     
       ส่วนประเด็นการจัดชุดคลื่นความถี่ ในการจัดสรรใบอนุญาตจำนวน 2 ใบ ที่มีขนาด 2x15 MHz นั้นต้องการให้กสทช.ประมูลล็อตละ 5 MHz จำนวน 6 ใบอนุญาต เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ขณะที่เรื่องการคืนคลื่น 5 MHz เพื่อนำมาประมูลรวมกัน ดีแทคต้องการให้กสทช.เลื่อนเวลาการดำเนินการจากเดิมที่กำหนดไว้ 25 ก.ย.เป็น 10 พ.ย. เนื่องจากขั้นตอนการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง ดีแทค และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ต้องใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งหากเลื่อนไปก็น่าจะทันเพราะกำหนดการประมูลจะมีวันที่ 11 พ.ย.
     
       ด้านนายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีความเห็นที่จะเสนอเงื่อนไขเรื่องการขยายโครงข่าย 4G ให้ครอบคลุม 70% ภายใน 8 ปี จากเดิมที่กสทช.ระบุเงื่อนไขว่าจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ 40% ภายใน 4 ปี ส่วนเงื่อนไขการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ไม่เกิน 60 MHz อยากให้ กสทช.แยกเงื่อนไขดังกล่าว ออกเป็นร่างประกาศการถือครองคลื่นความถี่โทรคมนาคม ออกเป็นอีกร่างประกาศฯ โดยไม่นำมารวมในเงื่อนไขของการประมูล 4G
     
       ขณะที่นางสาวกนกพร คุณชัยเจริญกุล ตัวแทนจาก บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ในเครือ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเทียบประเทศในแถบอาเซียนด้วยกันอย่างสิงคโปร์พบว่า ราคาของประเทศไทยสูงกว่าที่สิงคโปร์ถึง 7.6 เท่า ในขณะที่จีดีพีของสิงคโปร์สูงกว่าไทยถึง 6 เท่า ซึ่งการตั้งราคาดังกล่าวถือว่าสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัดเจน คำถามของผู้ประกอบการคือราคาตั้งต้นการประมูลที่กสทช.กำหนดมานี้ เหมาะสมแล้วหรือไม่ และเมื่อกสทช.อ้างว่าผลประโยชน์สูงสุดคือของประชาชน แต่ในเมื่อการคิดราคาตั้งต้น ซึ่งถือเป็นต้นทุนแล้วจะทำผลประโยชน์และค่าบริการตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ได้อย่างไร
     
       นายฐากร กล่าวว่า การเปิดประมูลย่าน 1800 MHz นี้ยังกำหนดไว้ที่ใบอนุญาตละ 12.5 MHz โดยประเด็นการเพิ่มจำนวนคลื่นความถี่อีก 5 MHz นั้น ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้เรียบร้อย โดยสำนักงานกสทช.ต้องการให้กสท โทรคมนาคม ส่งหนังสือการคืนคลื่นที่แก้ไขสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการมาก่อนวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพราะในวันที่ 30 ก.ย.นี้ สำนักงานกสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลมายื่นซื้อซองร่างหลักเกณฑ์การประมูล เนื่องจากต้องให้สำนักงานกสทช.ต้องให้เวลาผู้ประกอบการพิจารณาและสำนักงานกสทช.เองต้องมีการจัดทำเอกสารว่าในการประมูลครั้งนี้ ผู้ประกอบการจะยื่นซองการประมูลเป็น 12.5 MHz ต่อใบอนุญาตหรือ 15 MHz ต่อใบอนุญาต
     
       ส่วนกรอบเวลาการประมูลคลื่น 1800 MHz กำหนดตายตัวแล้วในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ส่วนการประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปอย่างชัดเจนว่าจะประมูลในวันเดียวกันกับการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือไม่ โดยจะต้องรอให้การประชาพิจารณ์คลื่น 900 MHz ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค.นี้ให้แล้วเสร็จก่อน

http://www.manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087390&utm_source=MadMimi&utm_medium=email&utm_content=Manager+Morning+Brief+4-8-58&utm_campaign=20150803_m126815221_Manager+Morning+Brief+4-8-58&utm_term=_E2_80_9C_E0_B9_80_E0_B8_A8_E0_B8_A3_E0_B8_A9_E0_B8_90_E0_B8_9E_E0_B8_87_E0_B8_84_E0_B9_8C_E2_80_9D+_E0_B8_A2_E0_B8_B1_E0_B8_99_E0_B9_80_E0_B8_87_E0_B8_B7_E0_B9_88_E0_B8_AD_E0_B8_99_E0_B9_84_E0_B8_82_E0_B8_81_E0_B8_B2_E0_B8_A3_E0_B8_9B_E0_B8_A3_E0_B8_B0_E

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.