Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

23 พฤศจิกายน 2558 (เกาะติดประมูล4G) เอเซีย พลัส กล่าวว่า การประมูลใบอนุญาต 4G ที่มีราคาสูงเกินกว่าที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินไว้ ทำให้ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงประมาณ 20% เทียบจากเดิมคาดการณ์กำไรอยู่ที่ 96,777 ล้านบาท และปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มสื่อสารลงเป็น "น้อยกว่าตลาด" จากเดิมอยู่ที่ "เท่ากับตลาด"

ประเด็นหลัก



นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า การประมูลใบอนุญาต 4G ที่มีราคาสูงเกินกว่าที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินไว้ ส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลรายละ 3-4 พันล้านบาทต่อปี (ค่าคลื่น+งบฯลงทุนโครงข่าย) ทำให้ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงประมาณ 20% เทียบจากเดิมคาดการณ์กำไรอยู่ที่ 96,777 ล้านบาท และปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มสื่อสารลงเป็น "น้อยกว่าตลาด" จากเดิมอยู่ที่ "เท่ากับตลาด"

"เชื่อว่าผู้ชนะการประมูลไม่ได้มีความเสี่ยงด้านเงินทุน เพราะฐานะการเงินทุกรายยังพร้อมลงทุน ขณะที่หุ้นที่คาดว่ายังสามารถจ่ายเงินปันผลได้ คือ ADVANC และ DTAC ซึ่งสะท้อนได้จากเงินสดในมือที่เกิน 7-8 พันล้านบาทต่อราย ขณะที่แต่ละรายก็ยังมีกระแสเงินสดจากการดําเนินงานที่สูง โดย ADVANC มีกว่า 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วน DTAC, TRUE อยู่ราว 2.5 และ 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Net Gearing) ของแต่ละรายก็ยังต่ำกว่า 1 เท่า จากปกติที่สามารถขึ้นไปสูงได้ถึง 2-3 เท่า" นายสุวัฒน์กล่าว





__________________




ศึกมือถือรอบ 2 ชิงคลื่น 900 ทุ่มแสนล้านซื้ออนาคต - "ทรู" ไล่จี้"ดีแทค"



ค่ายมือถือทุ่มไม่หยุด เปิดศึกชิงคลื่น 900 ต่อ หลังเคาะราคามาราธอนดันราคาไลเซนส์ 1800 พุ่งทะลุ 80,000 ล้านบาท "วงใน" ระบุศึกชิงคลื่นสร้างจุดเปลี่ยนตลาด ยักษ์ "เอไอเอส" หวังกวาดคลื่น 900 อีก พร้อมเตรียมกดปุ่มเปิด 4G เร็วจี๋ใน 3 เดือน ทวงสถานะผู้นำเทคโนโลยี จับตา "กลุ่มทรู" ทุ่มสุดตัว ไล่บี้ "ดีแทค" ชิงตำแหน่งอันดับ 2



เป็นไปตามความคาดหมายที่ว่า ผู้คว้าชัยประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะต้องมียักษ์มือถือ "เอไอเอส" รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เนื่องจากเอไอเอสมีเพียงคลื่น 2.1 GHz อยู่ในมือเท่านั้น หลังจากสัมปทานคลื่น 900 MHz หมดอายุสัมปทานไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่มีฐานลูกค้าในมือมากที่สุดกว่า 37 ล้านราย ทำให้เป็นค่ายเดียวที่ยังไม่มีบริการ 4G ทำให้เอไอเอสพร้อมจะสู้สุดกำลังเพื่อให้ได้คลื่นนี้ ขณะที่การประมูลคลื่น 900 ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าการแข่งขันจะเต็มไปด้วยความคึกคัก

เช่นเดียวกับคลื่น 1800 ที่แข่งกันเสนอราคาข้ามวันข้ามคืน ทั้งยังเชื่อด้วยว่าวงเงินการประมูลจะสูงมากในระดับหลายหมื่นล้านอีกครั้ง หลังจากที่การประมูล 4G ทั้งเอไอเอสและทรู เสนอวงเงินรวมกันถึง 80,778 ล้านบาท ไม่แน่ว่าการประมูลคลื่น 900 ที่กำลังเกิดขึ้นวงเงินประมูลอาจเข้าใกล้หลักแสนล้านด้วยซ้ำ

รอ 3 เดือนเอไอเอสแจ้งเกิด 4G

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เชื่อว่าเอไอเอสจะเปิด 4G ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเตรียมการต่าง ๆ ล่วงหน้าทั้งเรื่องอุปกรณ์และการวางแผนต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว คาดว่าจะเปิดได้ใน 90 วันหลังได้ใบอนุญาตด้วยซ้ำ และน่าจะกลับมาเปิดเกมเขย่าตลาดอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาเปิดเกมรุกได้ไม่มากนัก จากข้อจำกัดเรื่องความถี่ การได้คลื่นใหม่เพิ่มเข้ามาทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น เพราะในระยะหลัง ๆ ความเร็ว 3G เริ่มมีปัญหา ถ้ามี 4G มาแบ่งความหนาแน่นไป บริการจะดีขึ้นมาก

"เอไอเอสเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดบริการ 4G ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นเมื่อชนะประมูลมาได้จะใช้เวลาน้อยกว่าเมื่อครั้งเปิดตัวบริการ 3G ในการกดปุ่มเปิดบริการ 4G เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมปล่อยให้คู่แข่งนำร่องเรื่องเทคโนโลยี 4G ไปก่อน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเป็นจุดขายสำคัญของเอไอเอส"

และไม่เฉพาะคลื่น 1800 ในคลื่น 900 ที่จะเปิดประมูลในเดือนหน้า ก็เป็นเป้าหมายสำหรับเอไอเอสด้วย ในขณะเดียวกันยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับการให้บริการโดยเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอทีอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะเช่าใช้เสาโทรคมนาคมซึ่งเป็นทรัพย์สินในสัมปทานเดิมของเอไอเอสเอง แต่ต้องโอนให้ทีโอทีหลังสัมปทานสิ้นสุด การเช่าเสาดังกล่าวทำให้เอไอเอสขยายเครือข่ายได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะไม่ต้องตั้งเสาใหม่

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องการ แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่เหนือกว่า ทำให้เอไอเอสมีความพร้อมมากกว่าทุก ๆ รายในการประมูลคลื่น และชัยชนะที่ได้รับทำให้บริษัทรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาดเอาไว้ได้

เร่งจับมือทีโอทีเป็นพันธมิตร

นอกจากการประมูลชิงคลื่นอย่างดุเดือดเอไอเอสยังมีความพยายามที่จะเร่งปิดการเจรจาเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอที โดยเฉพาะในส่วนของเสาโทรคมนาคมและธุรกิจโมบาย ทั้งยังเป็นรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับทีโอที จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการบรรลุข้อตกลง

โดยด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ได้มีการยื่นข้อเสนอในการเข้ามาสร้างสถานีฐาน 3G 2100 เพิ่มอีกหมื่นกว่าแห่ง รวมกับของเดิมที่ทีโอทีมีอยู่ 5,320 แห่ง เท่ากับจะมีกว่า 1.6 หมื่นแห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ทีโอทีเช่าอุปกรณ์ นำไปใช้งานกับคลื่น 2100 จากนั้นเอไอเอสจะมาซื้อความจุโครงข่าย 80% ของความจุทั้งหมด ทำให้ทีโอทีมีรายได้ขั้นต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี และยังจะมีรายได้จากการระงับข้อพิพาท ที่เอไอเอสจะคืนเสาโทรคมนาคมให้ทีโอทีนำออกเช่า ซึ่งก็จะมีรายได้ขั้นต่ำอีกกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี

ด้านนายมนต์ชัย หนูสง รักษาการในตำแหน่งกรรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า บอร์ดทีโอที (13 พ.ย.) อนุมัติหลักการให้บริษัทเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์มือถือกับเอไอเอสแล้ว เป็นเวลา 10 ปี คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนร่างสัญญา และประกาศความร่วมมือร่วมกันได้

"ทรู" บี้ดีแทค รุกคืบชิงที่ 2

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช.ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากสาธารณชน เห็นได้จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เช่น มีความกังวลว่าอัตราค่าบริการ 4G จะแพง เมื่อเห็นผู้ประกอบการเคาะราคาสู้กันเพื่อช่วงชิงใบอนุญาตใหม่ จน กสทช.ต้องออกมาชี้แจงว่ามีการกำกับดูแลเรื่องอัตราค่าบริการอยู่แล้วว่าต้องไม่แพงกว่าบริการ 3G แม้แต่ผู้แพ้อย่างแจสก็กลายเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน เพราะตั้งใจสู้ราคามากกว่าผู้ประกอบการบางรายทำให้ดังขึ้นมาทันที

"เมื่อการประมูลจบลง แจสดังขึ้นมาทันที เพราะไม่มีแจส คงไม่สู้ราคากันหนักเท่านี้ ทำให้รัฐบาลได้เงินมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าทรูจะเปิดเกมรุกหนักขึ้นเพื่อช่วงชิงตำแหน่งมือวางอันดับ 2 ในตลาดโทรศัพท์มือถือ หลังจากทุ่มเงินลงทุนประมูลใบอนุญาตความถี่ 1800 มาได้ เพราะเมื่อลงทุนมาก็น่าจะต้องการฐานลูกค้ามากเพื่อสร้างรายได้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าทรูบุกหนักขึ้นก็จะกระทบเบอร์ 2 เดิมคือดีแทคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เปิดเกมชิงตลาด 3G/4G

รายงานของสำนักงาน กสทช.ระบุว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือ ณ ไตรมาส 1/2558 มีผู้ให้บริการหลัก 3 รายได้ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 98.4% ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค และทรู โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งสูงสุด 45% ตามด้วยดีแทคที่ 30.5% ทรู 23.1% แคท 0.9% และทีโอที 0.7%

ข้อมูลจาก กสทช.ระบุด้วยว่า การที่สัญญาสัมปทานของทีโอทีและแคทบางส่วนได้สิ้นสุดลง และที่เหลือกำลังจะหมดอายุในไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ผู้ใช้บริการที่อยู่บนโครงข่ายเดิมต้องโอนย้ายไปยังโครงข่ายใหม่ของผู้ประกอบการที่เพิ่งได้รับใบอนุญาต ดังนั้นแนวโน้มหลังจากนี้จะเห็นการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น

อีกทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่าประเทศไทยจะต้องการใช้งานความถี่สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือมากขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานข้อมูล ขณะที่ตลาดผู้ใช้บริการ 2G ลดลง และ 3G/4G จะมากขึ้น

โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2558 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อยู่ในเครือข่าย 3G มี 85.6 ล้านเลขหมายหรือ 91.7% แสดงให้เห็นว่าตลาดสำหรับ 3G/4G ยังโตได้อีกมาก

"ดีแทค" ย้ำมี 4G บนคลื่นเดิม

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า หลังการประมูลคลื่น 1800 สิ้นสุดลง โดยที่ทรูและเอไอเอสเป็นผู้ชนะการประมูล ทางดีแทคได้เผยแพร่จดหมายข่าวในวันรุ่งขึ้นทันทีว่า แม้ดีแทค ไตรเน็ตจะไม่ชนะการประมูล แต่ดีแทคสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 ที่มีอยู่เดิม ให้บริการ 4G อยู่แล้ว ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคพร้อมขยายบริการ4G บนคลื่น 1800 ภายใต้สัญญาสัมปทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตในการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือสำหรับลูกค้า มั่นใจด้วยว่า จำนวนคลื่นความถี่ย่าน 2100, 1800 และ 850 ที่ให้บริการอยู่ มีจำนวนแบนด์วิดท์เพียงพอต่อการให้บริการ 4G, 3G และ 2G แก่ลูกค้าสำหรับใช้งานทั้ง Voice และอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ โดยขณะนี้ดีแทคเปิดให้บริการ 4G บนคลื่นย่าน 2100 จำนวน 5 MHz ภายใต้ใบอนุญาตและเปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 อีก 10 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทาน ตั้งเป้าผู้ใช้บริการ 4G จำนวน 2.5 ล้านรายในปีนี้

จับตาศึกชิงคลื่น 900

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแข่งขันแย่งชิงคลื่น 900 ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้คงจะดุเดือดไม่แพ้คลื่น 1800 แน่นอน เพราะมีผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 รายที่ต้องการคลื่นความถี่ดังกล่าว เริ่มจากเอไอเอส ด้วยว่าเป็นแถบคลื่นที่เคยให้บริการอยู่แล้ว ภายใต้สัมปทานที่เพิ่งหมดอายุไป หากได้คลื่นมาก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อได้ทันที แม้ระบบเดิมจะเป็น 2G แต่พร้อมปรับเป็น 3G หรือ 4G ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น

รายถัดมาที่น่าจะต้องการคลื่นนี้ คือ ดีแทค จากคลื่น 850 ที่ใช้งานอยู่กำลังจะหมดสัมปทาน และการที่ดีแทคไม่สู้ราคาในคลื่น 1800 อาจมีสาเหตุจากเลือกที่จะสู้ในคลื่น 900 มากกว่า ขณะที่แจสโมบาย หากประเมินจากการสู้ราคาในการประมูลคลื่น 1800 ที่ผ่านมา แสดงถึงความตั้งใจในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ จึงน่าจะสู้อีกครั้งกับคลื่น 900

"กรณีทรูล่าสุดเพิ่งชนะประมูลคลื่น 1800 จึงมีภาระต้องจ่ายค่าประมูลเกือบ 4 หมื่นล้านภายใน 3 ปี และต้องลงทุนอีกมาก จึงไม่น่าจะสู้มากนักในคลื่น 900 ประกอบกับมีสัญญาธุรกิจกับแคทในคลื่น 850 อยู่แล้ว ถ้าประมูลคลื่น 900 อีกอาจหนักเกินไป"

อย่างไรก็ตาม หากแจสโมบายประมูลได้คลื่น 900 จะต้องมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการรายเดิม เช่น ทีโอที หรือเอไอเอสจึงจะสมเหตุสมผลในทางธุรกิจ เพราะคลื่น 900 มีจุดเด่นเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณเหมาะกับการขยายเครือข่ายในต่างจังหวัด

"ชาติศิริ" ชี้ราคาสูงไม่มีปัญหา

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงการออกหนังสือค้ำประกันให้กับบริษัทที่เข้าประมูล 4G ว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหานางฤชุกร ศิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับธนาคาร (แบงก์) ที่ออกหนังสือค้ำประกันให้ลูกค้า หรือแบงก์การันตี จะมีภาระรับผิดชอบในโครงการนั้น ๆ จนกว่าลูกค้าจะนำหนังสือค้ำประกันมาคืนให้ ซึ่งเชื่อว่าแบงก์จะมีการวิเคราะห์ ตามเกณฑ์บริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกังวลใจจนเป็นประเด็นหลัก แม้ราคาประมูลจะสูงมาก แต่น่าจะอยู่ในการประเมินภาระที่แบงก์จะรับได้ เพราะปกติแบงก์จะต้องคำนึงถึงการดำรงปริมาณเงินกองทุน เพื่อรองรับกรณีหากเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต

"เคสการประมูลโครงการรัฐ ที่มีการแข่งขันราคา อันนี้ไม่ใช่อันแรกที่เห็น และแบงก์ที่ออกหนังสือค้ำประกันให้ ก็น่าจะจัดการความเสี่ยงได้ดี" นางฤชุกรกล่าว

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า การประมูลใบอนุญาต 4G ที่มีราคาสูงเกินกว่าที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินไว้ ส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลรายละ 3-4 พันล้านบาทต่อปี (ค่าคลื่น+งบฯลงทุนโครงข่าย) ทำให้ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงประมาณ 20% เทียบจากเดิมคาดการณ์กำไรอยู่ที่ 96,777 ล้านบาท และปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มสื่อสารลงเป็น "น้อยกว่าตลาด" จากเดิมอยู่ที่ "เท่ากับตลาด"

"เชื่อว่าผู้ชนะการประมูลไม่ได้มีความเสี่ยงด้านเงินทุน เพราะฐานะการเงินทุกรายยังพร้อมลงทุน ขณะที่หุ้นที่คาดว่ายังสามารถจ่ายเงินปันผลได้ คือ ADVANC และ DTAC ซึ่งสะท้อนได้จากเงินสดในมือที่เกิน 7-8 พันล้านบาทต่อราย ขณะที่แต่ละรายก็ยังมีกระแสเงินสดจากการดําเนินงานที่สูง โดย ADVANC มีกว่า 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วน DTAC, TRUE อยู่ราว 2.5 และ 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Net Gearing) ของแต่ละรายก็ยังต่ำกว่า 1 เท่า จากปกติที่สามารถขึ้นไปสูงได้ถึง 2-3 เท่า" นายสุวัฒน์กล่าว

TDRI ชี้ราคาเหมาะสม

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แม้ราคาประมูล 4G จะสูงเกินความคาดหมาย แต่ไม่สูงเกินไป เพราะผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่เข้าร่วมประมูลล้วนเป็นมืออาชีพ ย่อมมีการทำแบบจำลองทางการเงินหาราคาที่เหมาะสม

สำหรับการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งยังอาจจะเป็นเพราะ กสทช.ตั้งราคาเริ่มต้นต่ำเกินไป ส่วนการประมูลคลื่น 900 ที่จะจัดขึ้น 15 ธ.ค.นี้ คาดว่าน่าจะดุเดือดไม่แพ้กัน

"ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าคลื่นอยู่ที่เท่าไร วิธีที่จะรู้ราคาคลื่นในทางเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงคือต้องเอาคลื่นมาประมูลกัน และการประมูลต้องมีการแข่งขันก็จะได้ราคาที่เหมาะสม เพียงแต่ราคาที่เหมาะสมนั้นมันสูงกว่าราคาที่นักลงทุนคาดหมายไว้ และที่แข่งขันเยอะเป็นเพราะมีรายใหม่เข้ามาร่วมประมูล ทั้งคลื่น 4G เป็นคลื่นสำคัญสำหรับเศรษฐกิจ

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1447668627

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.