Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

03 มกราคม 2559 ตารางการจ่ายเงิน JAS และ TRUE มูลค่าคลื่น 900 MHz อยู่ที่ 76,298 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่จะเป็น "สปริงบอร์ด" ให้บริษัท

ประเด็นหลัก








__________________________________________________________






"แจส-ทรู" เดิมพันเกมเสี่ยง จุดพลุแข่งดุเขย่าบัลลังก์ "AIS-DTAC"



ถือเป็นเซอร์ไพรส์ส่งท้ายปีกับผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เมื่อผู้ชนะ เป็น "แจส-ทรู" รายหนึ่งเป็นน้องใหม่ อีกรายเป็นน้องเล็กเจ้าของส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ในธุรกิจมือถือ แต่ทุ่มเคาะราคาสู้เบอร์ 1 (เอไอเอส) และเบอร์ 2 (ดีแทค) อย่างไม่ยอมลดราวาศอก

ผลออกมาจึง "หักปากกาเซียน" ด้วยว่าไม่ว่าจะมองมุมไหนก็อยู่ในจุดที่เสียเปรียบ (กว่า) บ้างถึงกับบอกว่าการได้ใบอนุญาตด้วยต้นทุนที่สูงขนาดนี้อาจเป็น "ทุกขลาภ"



แต่สำหรับ "แจสและทรู" ทั้งคู่ยืนยันตรงกันว่า ที่ยอมจ่ายด้วย "ราคา" ที่ใครก็ว่า "แพง" ไม่ใช่แค่ราคา "คลื่นความถี่" แต่ซื้อ "อนาคต" ต่างหาก

"ทรู" หวังพลิกเกมขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ 34% ใน 5 ปี

ฟาก "แจส" ก็เพื่อต่อยอดธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์

"พิชญ์ โพธารามิก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มจัสมิน เผยว่า ตั้งเป้าลูกค้าปีแรกไว้ 2 ล้านราย และจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 5 ล้านรายใน 3 ปี และว่าขีดความสามารถของคลื่นลอต 1 ที่ความกว้าง 10 MHz รองรับลูกค้าได้ราว 10 ล้านราย

"ถามว่าโอเปอเรเตอร์วันนี้มีกี่รายที่มีทั้งฟิกซ์บรอดแบนด์ และโมบาย มีแค่รายเดียว และเราเป็นรายที่ 2 วันนี้โครงข่าย 3 บีบีครอบคลุม 75% ทั่วประเทศ เข้าถึง 5,500 ตำบล คนอื่นอาจมองว่า การแข่งขันในตลาดเป็น Red Ocean แต่เรามองว่า เป็น Blue เพราะถ้าแยกรายได้ของโอเปอเรเตอร์ปัจจุบันจะเห็นว่าดาต้าไม่เยอะ ยุคของโมบายดาต้าในบ้านเราจึงเพิ่งเริ่มต้น แต่ถ้าให้รอไปอีก 3 ปีข้างหน้าอาจสายเกินไป"

การประมูลคลื่น 900 MHz จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มจัสมิน และเชื่อว่าจากนี้ไปคงไม่มีใครกล้าเข้ามาในตลาดและอีก 3 ปีจะมีคลื่นมาประมูลไหมก็ยังไม่รู้

"ตั้งแต่ที่ผมประกาศว่าสนใจประมูลคลื่น 4G ก็เตรียมหลายด้าน ตั้งแต่เซอร์เวย์ลูกค้า 3 บีบีว่า ถ้ามีโมบายบรอดแบนด์ ที่เท่าไรเป็นราคาที่ลูกค้ารับได้ อบรมบุคลากรเรื่อง 4G เซอร์เวย์พื้นที่ติดตั้งเสา คุยกับรัฐวิสาหกิจขอเช่าใช้โครงข่าย รวมถึงซัพพลายเออร์เครดิต มีทีมงาน และช็อป 3 บีบีพร้อมเข้ามาทำได้ทันที การขายการทำตลาดจึงไม่ใช่ประเด็น"

ถามว่าจะได้เห็น 4G ของ "แจส" ได้คำตอบว่า เร็วที่สุด แต่ที่สำคัญกว่า คือ "จะใช้ได้มากกว่า เร็วกว่าในราคาที่ดีที่สุด"

"ได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้แน่ ๆ จะต่างจากวันนี้ที่ทุกคนใช้ได้แค่ 3-4 GB ไม่ถึงกลางเดือนก็หมดแล้ว เราจะทำให้เปลี่ยนไปคือใช้ไม่จำกัดผ่านสมาร์ทดีไวซ์คล้ายฟิกซ์บรอดแบนด์ที่ใช้ได้เต็มที่ ตลาดจะเติบโตได้อีกมาก"

การลงทุนโครงข่ายตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาทใน 3 ปี แหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงข่าย และค่าประมูล มีหลายทาง ทั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ที่มีเงินสดเหลือหมื่นกว่าล้าน, รายได้ของ 3BB ที่ 5,000 กว่าล้านบาท, ทำ Project Financing กับแบงก์ และ Supplier เครดิต เป็นต้น

"แจส โมบายบรอดแบนด์ยังจะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 3 ปีด้วย รวมถึงเจรจากับพันธมิตรต่างชาติ ทั้งหมดจะไม่กระทบผู้ถือหุ้น Jas (จัสมิน) ทุกอย่างจะไปอยู่ที่บริษัทลูก 100% เรารู้"

ส่วนที่เลือกคลื่น 900 MHz เพราะลงทุนถูกกว่า 1800 MHz ทั้งเงื่อนไขชำระเงินก็เอื้อกับผู้เล่นรายใหม่

"ไม่มีใครอยากให้แจสเกิด เมื่อ 3 รายเดิมไม่ต้องการให้เราเข้ามา ก็รู้อยู่แล้วว่า ราคาประมูลจะสูงมาก แต่ผู้บริโภคจากการสำรวจตลาดได้ฟีดแบ็กที่ดี ทุกคนอยากได้รายที่ 4 เราเป็นรายที่ 4 ที่มั่นใจว่าแข่งขันได้ ที่ผ่านมา 3BB เป็นผู้นำในการเพิ่มสปีด และมีเซอร์วิสที่ดีในราคาที่ดี 4G ก็เช่นกัน เป็น Commitment ที่จะพยายามทำให้ได้ ลูกค้า 3BB จะได้สิทธิพิเศษแน่ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร"

เหนือสิ่งอื่นใดจากนี้กลุ่มจัสมินไม่ต้องกังวลความเสี่ยงเรื่องเทคโนโลยีอีกแล้วเพราะมีทั้งฟิกซ์และโมบายครบ ฟัง "แจส" แล้วหันมาฟังผู้ชนะอีกรายบ้าง

"ศุภชัย เจียรวนนท์" แม่ทัพกลุ่มทรู ระบุว่าการได้คลื่น 900 MHz เพิ่มอีก 10 MHz ทำให้มีคลื่นรวมกัน 55 MHz มากกว่าคู่แข่งทุกราย ทำให้มีศักยภาพในการให้บริการ 4G ดีที่สุด เพราะเบอร์หนึ่งมีคลื่นแค่ 30 MHzแต่มีลูกค้ามากกว่า 2 เท่า

"ทรูมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดให้ประเทศไทย เราตั้งเป้าด้วยว่าจะทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 4G ที่ดีในระดับที่เป็นศูนย์กลางอาเซียนให้ได้ ซึ่งเป็น 1 ในการวัดศักยภาพการแข่งขันของประเทศ สิ่งที่ได้ประมูลไป และลงทุนต่อ ไม่ได้แค่สร้างมูลค่าให้บริษัท แต่กับประเทศด้วย"

โดยลงทุน 55,000 ล้านบาทใน 3 ปี ขยายโครงข่าย เน้น 4G Advance ทำให้การใช้ "โมบายบรอดแบนด์เร็วขึ้น" กว่า 4G ปกติ และเป็นรายแรกในไทย

"ถ้าให้ไล่คลื่นที่เริ่มที่ 850 MHz กับแคท เรานำมาให้บริการ 3G, ส่วน 900 และ 1800 MHz ที่ 10 และ 15 MHz จะให้บริการ 2G และ 4G เนื่องจาก 50% ในตลาดยังใช้ 2G ส่วน 2100 MHz มี 15 MHz จะให้บริการ 4G จำนวน 10 MHz ที่เหลือให้บริการ 3G"

แม้จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจาก 3 รายเป็น 4 ราย แต่ "ทรู" ตั้งเป้าด้วยว่าจะผลักดันส่วนแบ่งตลาดในแง่มูลค่าเพิ่มจาก 20% ในปัจจุบัน (มูลค่าตลาด 2.4 แสนล้านบาท) เป็น 34% หรือกว่า 1 ใน 3 ภายใน 5 ปี

เงินลงทุน และค่าประมูลมาจากไหน "ศุภชัย" อธิบายว่า มีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคอมมิตกับผู้ขายอุปกรณ์ในการทำเวนเดอร์ไฟแนนซ์ไว้, จากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน DIF, การกู้เงิน, เพิ่มทุนรวมถึงกระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือ

"เราประมูล 900 และ 1800 เพื่อรักษาโมเมนตัมในการเติบโต และทำให้โตมากขึ้นไปอีกได้ ต่างจากเบอร์ 1 และ 2 ที่ประมูลเพื่อรักษาฐานลูกค้า มุมมองของเราและคนอื่นจึงต่างกัน คู่แข่งอาจถือเป็นต้นทุน แต่สำหรับเราเป็นการสร้างฐานใหม่ และเพื่อการเติบโต เงื่อนไขการจ่ายเงินยังดีมาก ถ้าใน 3 ปีข้างหน้าโตได้เท่ากับ 3 ปีที่ผ่านมา ศักยภาพบริษัทก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน"

มูลค่าคลื่น 900 MHz อยู่ที่ 76,298 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่จะเป็น "สปริงบอร์ด" ให้บริษัท

"การที่จะมีโอกาสได้คลื่นที่แอ็กทีฟ มีการใช้งานจริงแบบนี้ ใน 20 ปีนี้จะไม่มีให้เห็นอีกแล้วถือเป็นครึ่งชีวิตการทำงานของผม เราได้คลื่นออกมาจากผู้ที่ใช้อยู่ ทำให้คนที่ต้องการ ไม่ได้ ถือเป็น 2 เด้ง ถ้าเราจะเติบโตต่อเนื่องก็ต้องลงทุน และการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่พิจารณาแล้วว่าบริหารจัดการได้ และให้ผลตอบแทนสูงมาก"

แม่ทัพกลุ่มทรูยังตอกย้ำด้วยว่า "การเข้ามาให้บริการ 4G เต็มรูปแบบของเราถือเป็น Landscape Change เป็นการพลิกรูปแบบการให้บริการสู่คลื่นที่ครอบคลุมทุกความถี่อย่างเต็มรูปแบบ"

สำหรับการแข่งขันแม้ที่สุดแล้วตลาดจะมีผู้เล่นเพิ่มมาอีกหนึ่งรายเป็นรายที่ 4 แต่ไม่ได้ทำให้กังวลแต่อย่างใด เพราะรายใหม่มีคลื่นเพียง 10 MHz และยังใช้ได้ไม่เต็มที่ เขาจึงมองว่า การแข่งขันหลังจากนี้จึงน่าจะขึ้นอยู่กับเบอร์หนึ่ง และเบอร์สองมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบอร์หนึ่งที่จำเป็นต้องหาคลื่นมาเพิ่มให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับกับลูกค้าจำนวนมากให้ได้

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1450937395

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.