Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

22 ตุลาคม 2559 DTAC ระบุ เรามีความพร้อมในการประมูลล่วงหน้า พร้อมที่จะลงทุนและต้องการประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่เดิมกลับมา อยากให้ กสทช.วางแผนบริหารคลื่นให้ชัดเจน

ประเด็นหลัก



"เรามีความพร้อมในการประมูลล่วงหน้า พร้อมที่จะลงทุนและต้องการประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่เดิมกลับมา อยากให้ กสทช.วางแผนบริหารคลื่นให้ชัดเจน ว่าจะมีการนำคลื่นที่มีอยู่มาประมูลช่วงไหน อยากให้เอาประสบการณ์ในคลื่นที่หมดสัมปทานที่ต้องเข้าสู่มาตราการเยียวยา มันเกิดปัญหาในเรื่องของความพร้อมทั้งด้านโครงข่ายการให้บริการและคลื่นความถี่ อยากให้กสทช.กำหนดการประมูลล่วงหน้าอย่างชัดเจน"




___________________________________________________






"ดีแทค" ขานรับกระทรวงดีอี หวั่น "กสทช" ไร้อิสระ หลัง พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ขีดเส้นอำนาจ ชี้"กสทช." ต้องกำหนดประมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นสัมปทาน สร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการซิมไม่ดับ หลังหมดสัญญา หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หากไม่มีการประมูลล่วงหน้า ลูกค้าเก่าตกค้าง เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องตามมา

นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ไอซีที ได้มีการเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในเรื่องของโครงสร้างใหม่คงจะต้องมีการปรับเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลมากขึ้น แต่ส่วนที่เป็นกังวลคงคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การทำหน้าที่อย่างอิสระจะถูกจำกัดมากขึ้นซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการจะต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) ฉบับใหม่ ทึ่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามข้อเสนอของดีแทคให้กำหนดใน พ.ร.บ.กสทช.นั้นควรจัดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากหลังจากได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลหากเป็นผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องใช้เวลาพอสมควรก่อนที่จะเริ่มต้นให้บริการได้ หรือสำหรับในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนมือผู้ประกอบการซึ่งมีโครงข่ายอยู่แล้วก็จะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายและวางแผนการลงทุนเพื่อรองรับคลื่นความถี่ใหม่ที่จะได้รับ

นอกจากนี้ ในกิจการอื่นๆ เช่น กิจการปิโตรเลียม กิจการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเพียงการต่ออายุให้กับผู้ได้รับอนุญาตรายเดิมที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่แต่อย่างใด กฎหมายยังกำหนดให้ต่ออายุล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ระยะเวลา 1 ปี กับกิจการโทรคมนาคมที่ต้องมีการลงทุนใหม่หรือเปลี่ยนผ่านโครงข่ายจึงไม่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานแต่อย่างใด โดยระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถศึกษาได้จากบทเรียนของในต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม 12ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน ดังนั้น หากไม่กำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของกสทช การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า หรือ Early Auctionคงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบุคคลทุกคนเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ กสทช. เพราะเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติแต่กลับไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ที่ผ่านมามีเพียงมาตรา 27(1) กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แต่ไม่ได้บัญญัติว่าแผนดังกล่าวนั้นต้องมีเนื้อหาอย่างไร ครอบคลุมถึงประเด็นใดบ้าง เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติก็คงเป็นการยากที่ กสทช. จะดำเนินการเพราะเกรงจะถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้น จึงควรกำหนดให้ชัดเจนในกฎหมายว่า Early Auction เป็นหน้าที่ที่ กสทช. จะต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นการให้ความมั่นใจแก่ กสทช. ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วย

"เรามีความพร้อมในการประมูลล่วงหน้า พร้อมที่จะลงทุนและต้องการประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่เดิมกลับมา อยากให้ กสทช.วางแผนบริหารคลื่นให้ชัดเจน ว่าจะมีการนำคลื่นที่มีอยู่มาประมูลช่วงไหน อยากให้เอาประสบการณ์ในคลื่นที่หมดสัมปทานที่ต้องเข้าสู่มาตราการเยียวยา มันเกิดปัญหาในเรื่องของความพร้อมทั้งด้านโครงข่ายการให้บริการและคลื่นความถี่ อยากให้กสทช.กำหนดการประมูลล่วงหน้าอย่างชัดเจน"

ทั้งนี้ ดีแทคได้แสดงจุดยืนและข้อเสนอ ได้แก่ 1.การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction)ดีแทคเสนอให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นในวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ หากไม่มีการประมูลใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะสิ้นสุดลง การให้บริการลูกค้าที่ยังตกค้างในโครงข่ายจะเป็นการให้บริการตามมาตรการเยียวยาซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการคลื่นความถี่ โครงข่าย และเกิดการฟ้องร้องต่างๆ ตามมาดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต อีกทั้ง หากมีการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้และดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว

โดย 2. สนับสนุนให้มีการระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนกับหลักเกณฑ์สากล เนื่องจากร่าง พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้กล่าวถึงเฉพาะการให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Sharing) หรือให้เช่าใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Leasing) เท่านั้น การเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดสามารถเข้ามาได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการจัดประมูลที่นานๆ จะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ในการทดลองเข้ามาแข่งขัน เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังโอนขายใบอนุญาตได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และยังทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ต้องให้บริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี การให้โอนใบอนุญาตก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อไหร่โอนได้โอนไม่ได้ โดยเงื่อนไขต้องรัดกุม เช่น ต้องกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เกิดการเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อนำไปโอนขายหากำไรโดยไม่มีเจตนาประกอบการจริง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันได้โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล

ส่วนประเด็นที่ 3. กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือที่เรียกว่าแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap)โดยควรต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ นอกเหนือจากคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ในการประมูลที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาของITU พบว่าความต้องการจำนวนคลื่นความถี่ของแต่ละประเทศในการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 MHz ถึง 1960 MHz ในปี พ.ศ. 2563ในขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 MHz เท่านั้น ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำแผนแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap)เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

ข้อ 4. คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ กสทช.สนับสนุนคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกสทช.จะต้องมาจากการสรรหาด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ให้กฎหมายเปิดช่องให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม กับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเป็นคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้และมีเกี่ยวข้องผลประโยชน์มหาศาลของชาติ

http://www.naewna.com/business/236694

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.