Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

กสทช.เผยปี 60 คนไทยทั้งประเทศใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 3,294,325,000GB ค่ายมือถือ AIS TRUE DTAC มีผู้ใช้ 121.53 ล้านเลขหมาย





นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 60 มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานอยู่จำนวนทั้งสิ้น 121.53 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น กลุ่มบริษัท AIS จำนวน 53.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 43.65% รองลงมาคือกลุ่มบริษัท TRUE จำนวน 36.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 29.66% และกลุ่มบริษัท DTAC จำนวน 30 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 24.69% ส่วนกลุ่ม CAT และกลุ่ม TOT มีจำนวน 0.11 ล้านเลขหมาย และ 2.32 ล้านเลขหมายตามลำดับ โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 0.09% และ 1.91% ตามลำดับ

ในส่วนของข้อมูลปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (การใช้บริการดาต้า) ของโอเปอเรเตอร์หลัก 3 ราย (กลุ่มบริษัท AIS กลุ่มบริษัท TRUE และกลุ่มบริษัท DTAC) พบว่า เมื่อสิ้นปี 60 มีการใช้งานสูงถึง 3,294,325,000 กิกะไบต์ (หรือ 3 ล้านเทราไบต์โดยประมาณ) โดยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 57 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าตัวภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตของการใช้งานที่สูงมาก คิดเป็นปริมาณการใช้งานดาต้าโดยเฉลี่ย 4.11 กิกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน

"แสดงให้เห็นว่าในปี 60 ใน 1 วันแต่ละคนมีการใช้งานดาต้าเฉลี่ย 0.14 กิกะไบต์ หรือ 140 เมกะไบต์"เลขา กสทช. กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้คลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากการประมูลคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 55 และ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 58-59 ที่ทำให้มีการให้บริการ 3G/4G อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ทำให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูง เช่น มีผู้ใช้งาน Facebook กว่า 40 ล้านคน และมีผู้ใช้งาน Line กว่า 30 ล้านคน ในประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์ในระบบ Mobile Banking หรือ FinTech ทำให้เกิดระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Promptpay ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 39 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการสามารถทำได้ง่าย สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.