Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

SCI พยายามจะขยายตลาดเสาส่งไฟฟ้าและโทรคมนาคมไปยังเมียนมาโดยการจับมือกับภาคเอกชนในท้องถิ้น



นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ จะยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้และผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น โดยในส่วนของการลงทุนในประเทศปีนี้จะมีการลงทุนของบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท ทียูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง SCI และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) โดย SCI ถือหุ้น 45% เพื่อลงทุนในพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคต่างๆ

โดยปีนี้ TU มีเป้าหมายรับงานโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว 4 เมกะวัตต์ โดยกำลังทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยติดตั้งในปีนี้และปีหน้า ส่วนโครงการอื่น ๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ โดยน่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆนี้
ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้จากในประเทศ (Backlog) ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานเสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานสวิตซ์บอร์ด ในส่วนของธุรกิจเสาและสวิตซ์บอร์ดในปีนี้ คาดว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้บริษัทพยายามจะขยายตลาดเสาส่งไฟฟ้าและโทรคมนาคมไปยังเมียนมา รวมถึงงานรับเหมา (EPC) ด้วยเช่นกัน หากได้งานที่เมียนมา ก็จะช่วยเสริมสร้างรายได้ และกำไร ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายฐานรายได้ และกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคม และชุบกัลป์วาไนซ์ ที่เมียนมา คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดโรงงานได้ในช่วงไตรมาส 3/61 และจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 61 เป็นต้นไป โดยเน้นขายภายในประเทศเป็นหลัก

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในเมียนมามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งภาคเอกชนก็เร่งขยายเครือข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ล่าสุด SCI ได้จับมือกับพันธมิตรในเมียนมา และจีน เพื่อพัฒนาโครงการสายส่งร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยบริษัทต้องการที่จะเข้าไปรับงาน EPC ในเมียนมา เช่นเดียวกับที่ทำใน สปป.ลาว ซึ่งหากเจาะตลาดในเมียนมา ได้สำเร็จ บริษัทจะกลายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับเหมา ซึ่งงานทั้ง 2 ด้านมีการเกื้อหนุนกัน ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.