Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

21 ตุลาคม 2555 (เกาะติดประมูล3G) คลังหนุนบี้3G ยื่นปปช.สอบฮั้ว "สุภา"ลั่นองค์กรอิสระ ต้องรักษา

ประเด็นหลัก

น.ส.สุภา  ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระก็จริง แต่เป็นเพียงอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยในวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคมนี้ จะรายงานให้คณะกรรมการ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทราบ ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบต่อไปแล้ว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากโทรศัพท์สอบถามนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการส่งหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี นั้น ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียง แต่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น กระทรวงการคลังจึงไม่กังวลต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ และไม่ถือว่ารองปลัดกระทรวงทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีหน่วยงานควบคุมดูแล ทั้ง สตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาที่มีอำนาจโดยตรงมากกว่า เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ต้องดูว่าเมื่อประมูล 3จีแล้วค่าใช้จ่ายด้านบริการของประชาชนจะถูกลงหรือไม่ ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร





____________________________________


คลังหนุนบี้3จี ‘สุภา’ลั่น‘กสทช.’ต้องถูกตรวจสอบ/สว.นัดหารือเชื่อฮั้ว


“สุภา ปิยะจิตติ” ติง “กสทช.” แม้เป็นองค์กรอิสระแต่ต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชน ย้ำวันจันทร์นี้ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบประมูล 3 จีอย่างไม่โปร่งใส   ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาเชื่อมีพิรุธส่อไปในทาง “ฮั้ว” เล็งตรวจสอบอย่างเข้มเข้มกับ 4 กทค. ด้านเลขาธิการ กสทช. อ้างอนาคตค่าบริการทั้งระบบเสียงและข้อมูลลดลงแน่นอน อย่างน้อย 15-20 เปอร์เซ็นต์
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระก็จริง แต่เป็นเพียงอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ตนจะรายงานให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบ ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบต่อไปแล้ว
       ขณะที่ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี กสทช.ส่งหนังสือให้ลงโทษทางวินัย น.ส.สุภา ที่แสดงความเห็นต่อประมูล 3 จี อาจมีการฮั้วเกิดขึ้น ว่าหลังจากโทรศัพท์สอบถาม น.ส.สุภา ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียงแต่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น กระทรวงการคลังจึงไม่กังวลต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ และไม่ถือว่ารองปลัดกระทรวงทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กสทช.เป็นองค์กรอิสระ มีหน่วยงานควบคุมดูแล ทั้ง สตง.และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ที่มีอำนาจโดยตรงมากกว่า เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ต้องดูว่าเมื่อประมูล 3 จีแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านบริการของประชาชนจะถูกลงหรือไม่ ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เผยว่า วันที่ 22  ตุลาคม จะมีการหารือกับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ที่มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ของ กสทช. ซึ่งส่อไปในทางไม่โปร่งใส และอาจขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว แม้ว่าทาง กสทช.จะมีการชี้แจงข้อมูล แต่ยังคงพบประเด็นที่ส่อไปในทางมิชอบ เช่น การรีบเร่งรับรองการประมูล 3 จี ของคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) โดยไม่รับฟังข้อท้วงติงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งท้วงติงในประเด็นการดำเนินการจัดประมูลโดยไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูล เนื่องจากมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในจำนวนพอดีกับผู้ยื่นประมูล รวมทั้งมีการเสนอราคาน้อยครั้งเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประมูล
อีกทั้งประเด็นการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 4,500 ล้านบาท ทั้งที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ควรมีราคาตั้งต้นที่ 6,440 ล้านบาท แต่ กสทช.กลับลดราคาตั้งต้นประมูลให้อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท โดยอ้างเป็นราคาเริ่มต้นประมูล ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าคลื่น 67% โดยความเห็นส่วนตัวมูลค่าการประมูลที่ได้ควรจะสูงกว่าราคาตั้งต้นที่ 6,440 ล้านบาท ไม่ใช่การลดราคาประมูลเหลือ 4,500 ต่อสล็อตตามที่ กสทช.ได้ดำเนินการ
         "เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการทำเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งมีอำนาจเต็มในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฮั้ว โดยจะขอให้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้น กับกรรมการ กทค. ผู้ที่ลงมติรับรองผลการประมูล 3 จี ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค., นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค. โดยจะมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ตุลาคมนี้" นายไพบูลย์กล่าว
   วันเดียวกัน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @TakornNBTC ว่า "วันนี้ กสทช.ได้คุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว โดยนำรายได้ที่เกิดจากการประมูล 44,538.75 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และในขั้นตอนต่อไป จะเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน โดยจะประกาศลดอัตราค่าบริการทั้งระบบเสียงและข้อมูลลงอย่างแน่นอน อย่างน้อย 15-20 เปอร์เซ็นต์ จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บอร์ดกิจการโทรคมนาคมจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ครับ ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ครับ เราจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติให้สมดุลทั้งสองข้างครับ
         เงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดไว้ในเงื่อนไขการออกใบอนุญาตครับ หากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตั้งแต่ปรับจนถึงขั้นยึดใบอนุญาต ในปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการ 3 รายมี Ais, Dtac, True ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ครับ เป็นเพียงผู้อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ TOT และ CAT ครับ ผมเรียนประชาชนทุกท่านครับ ที่ผมมีหนังสือโต้กระทรวงการคลังไม่ได้มีเจตนาอื่นครับ เพื่อความเข้าใจที่ตรงเท่านั้นเองครับ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ยินดีให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา, ป.ป.ช., สตง., ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชนครับ"
   ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน    กล่าวว่า ที่อ้างว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ไม่มีใครสามารถแทรกแซงได้นั้น ต้องถามกลับว่า กสทช.ทั้ง 4 ท่านตีความคำว่าอิสระอย่างไร แค่ไหน แม้รัฐธรรมนูญจะมีเจตนารมณ์ให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นรัฐอิสระที่อยู่เหนือการควบคุมตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญและจากสังคม
นายสุริยะใสกล่าวว่า กลางสัปดาห์หน้ากลุ่มกรีนและเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรจะจัดสัมมนาเพื่อประเมินผลงาน กสทช.และการตรวจสอบการประมูล 3 จี สำหรับการยื่น ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการประมูล 3 จี ในวันที่ 22 ตุลาคม ตนจะขอให้ทั้ง 2 องค์กรเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษ เพราะเรื่องนี้ยิ่งปล่อยช้ายิ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก ทั้งนี้ เชื่อว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช.ติดตามและมีข้อมูลมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพราะ ป.ป.ช.เคยตั้งอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการออกใบอนุญาตโทรศัพท์  3 จี  ในสูตร N-1 ที่เป็นสูตรการประมูลครั้งที่แล้ว ที่กำหนดให้ออกใบอนุญาตจำนวน N–1 ใบ หรือน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วม ประมูล 1 ใบนั้น หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย จะทำให้มีการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการ 3 จี  เพียง 2 ใบเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันจริง
“ป.ป.ช.ชี้ว่าถ้าเป็นสูตรนี้จะป้องกันการฮั้ว หรือการสมยอมราคาได้ และ ป.ป.ช.ยังให้นำรายงานนี้ให้ กสทช.ชุดนี้ไปศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการจัดประมูล 3 จี แต่ กสทช.ชุดนี้กลับไม่สนใจคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดยกำหนดสูตรขึ้นมาใหม่จนเป็นที่วิจารณ์ว่ามีการฮั้วกัน”
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่นชม น.ส.สุภา โดยระบุว่าเคยทำงานร่วมกันมา ความคิดของ น.ส.สุภา บางครั้งอาจจะไม่ถูกต้อง แต่ที่กระทรวง ทุกๆ คนจะเคารพในความเที่ยงตรงโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทนของท่าน (ผมเคยเสนอให้ท่านเป็นตัวเลือกที่จะได้เป็นปลัดกระทรวง แต่ท่านขอถอนตัว และขอเพียงได้ทำงานที่ถนัด)
         น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตไว้ ก่อนศาลปกครองจะมีการพิจารณาคำร้องว่าจะให้ระงับและไต่สวนฉุกเฉินกรณีประมูล 3 จี  ที่เป็นคำร้องของกลุ่มกรีน ในวันที่ 22  ตุลาคมนี้ คือ 1.มีการแข่งขันราคากันจริงหรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่เกิดการแข่งขันราคาระหว่างการประมูลหรือเห็นว่ารายได้น้อยไป กสทช.มีสิทธิยกเลิกได้ แต่เหตุใดไม่ยกเลิก 2.น่าสังเกตว่ามีการสมยอมราคากันหรือไม่-ฮั้วกันหรือไม่ แม้ กสทช.จะอ้างว่า ในเหตุการณ์วันประมูลไม่มีพฤติกรรมนี้ แต่เมื่อมีผู้ตั้งข้อสงสัยและหากมีหลักฐานใหม่จะยกเลิกหรือไม่แก้ไขอย่างไร
3.การที่กรรมการเสียงข้างมากลงมติ ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเคาะราคาไม่แข่งขัน เพราะจัดสรรกันครบรายนั้น จะเป็นมติที่ถือเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นการมิชอบหรือไม่ เพราะคำสั่งทางปกครองความจริงต้องมีข้อเท็จจริงครบ แต่บัดนี้ได้ปรากฏหลักฐานคือ วาระการประชุมลงมติรับรองของกรรมการ 5 คนนั้น มีบันทึกการประชุมข้อโต้แย้งของ กสทช. 1 คนไว้แล้ว
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ “The Daily Dose” ทางวอยซ์ทีวี และ  “Economic Time” ทางทีเอ็นเอ็น  โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ควรลาออกจากกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นเเล้วเศร้า เสียงข้างน้อยที่ไม่เคารพมติเสียงข้างมาก เเล้วเอารายละเอียดการประชุมจากองค์กรภายในไปเเฉกับสื่อ ผิดมารยาทขั้นพื้นฐานของการทำงานในองค์กรระดับชาติอย่างนี้ ส่วน รมว.คลังควรสั่งย้ายรองปลัดคลังสุภา ปิยะจิตติ ทันที ที่นำเอากระทรวงการคลังเข้ามาเเทรกเเซงการทำงานขององค์กรอิสระโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ส่วนคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ควรเลิกบ่นเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานตนเองใน Twitter ได้เเล้ว มันไม่เป็นผู้ใหญ่หรือมืออาชีพเลย”.

ไทยโพสต์
http://www.thaipost.net/sunday/211012/64000
_________________________________________

กสทช.อ่วม!! คลังยื่นปปช.สอบฮั้ว "สุภา"ลั่นองค์กรอิสระ ต้องรักษา

น.ส.สุภา  ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระก็จริง แต่เป็นเพียงอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยในวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคมนี้ จะรายงานให้คณะกรรมการ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทราบ ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบต่อไปแล้ว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากโทรศัพท์สอบถามนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการส่งหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี นั้น ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียง แต่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น กระทรวงการคลังจึงไม่กังวลต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ และไม่ถือว่ารองปลัดกระทรวงทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีหน่วยงานควบคุมดูแล ทั้ง สตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาที่มีอำนาจโดยตรงมากกว่า เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ต้องดูว่าเมื่อประมูล 3จีแล้วค่าใช้จ่ายด้านบริการของประชาชนจะถูกลงหรือไม่ ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.สุภา ในฐานะประธานกรรมการ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ส่งหนังสือท้วงติงถึงประธาน กสทช. ระบุว่า การประมูลใบอนุญาต 3 จี ที่ผ่านมา ไม่เข้าข่ายการประมูลแบบ อี ออคชั่น เพราะคลื่นความถี่ที่เปิดให้ประมูลมีจำนวนเท่ากับผู้ซื้อ ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง ขณะที่คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรจำกัดและเป็นของมีค่า หากการจัดสรรไม่เหมาะสม หรืออาจมีลักษณะสมยอมราคาตามความผิดของพระราชบัญญัติฮั้วประมูล จะทำให้รัฐเสียรายได้มหาศาล

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวสามารถชี้แจงได้ เพราะเป็นการประมูลตามพระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่ใช่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีออคชั่น อีกทั้ง กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมาย



แนวหน้า
http://www.naewna.com/business/26871

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.