Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

29 ตุลาคม 2555 (เกาะติดประมูล3G)(บทความ) ยิ่งลักษณ์เดินเกมปล่อยภาคประชาชนล้มกสทช. จ้องส่งคนใหม่เสียบ-เตือนระวังเตะหมูเข้า:-)

ประเด็นหลัก

ทุนสื่อสาร-การเมืองแทรก
     
      แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสรรหา กสทช. กล่าวว่า เกือบทุกคนที่นั่งเป็นกรรมการใน กสทช. ยกเว้นกรรมการที่มาจากตัวแทนของผู้บริโภค ส่วนใหญ่มีผู้สนับสนุนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายทหาร หรือตำรวจ ที่เหลือจะเป็นทุนจากบริษัทสื่อสารสนับสนุนเข้ามา บางรายที่มียศตำแหน่งก็มีทุนสื่อสารหนุนหลังอีกที รวมไปถึงคนของนักการเมืองที่ผลักดันกันเข้ามา
     
      “รายที่ว่าเป็นกลางในช่วงแรกนั้น เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ปฏิบัติไปในทางให้คุณกับทุนสื่อสาร กรรมการชุดเดิมก่อนที่ยังไม่เป็น กสทช.ว่าแย่แล้ว ชุดนี้ยิ่งแย่กว่าชุดเก่าเสียอีก”
     
      ที่ผ่านมาเคยมีการประมูลคลื่น 3G มาแล้วแต่ถูกศาลสั่งระงับเมื่อปี 2553 ครั้งนั้นมี พันเอกนที ศุกลรัตน์ เป็นเจ้าภาพ ใช้สูตร N-1 คือ มีของน้อยกว่าคนประมูล แต่คราวนี้กลับไม่ได้ใช้สูตรดังกล่าว อีกทั้ง พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เป็นนักเรียนรุ่นพี่ของพันเอกนที ดังนั้นในครั้งนี้การดำเนินการของ กทค.จึงเป็นหน้าที่ของพันเอกเศรษฐพงค์กับนายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหลัก
     
      เรื่องที่เกิดขึ้นฝากวุฒิสภาที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด กสทช.ชุดนี้ขึ้น ได้หารือกันในเรื่องนี้เพราะเกรงกันว่าภาคการเมืองจะใช้โอกาสนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงคนใน กสทช.
     
      “ต้องยอมรับความจริงว่า กสทช.ชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์และต่อเนื่องมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความพยายามของรัฐบาลนี้ที่จะหยุด กสทช.ชุดนี้ แต่ทำไม่สำเร็จ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นย่อมเป็นโอกาสอันดีสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน” สมาชิกวุฒิสภารายหนึ่งกล่าว












______________________________________




ยิ่งลักษณ์เดินเกมปล่อยภาคประชาชนล้มกสทช. จ้องส่งคนใหม่เสียบ-เตือนระวังเตะหมูเข้า:-)


      รัฐบาลยิ่งลักษณ์นิ่ง ปล่อยองค์กรภาคประชาชนเดินหน้าตรวจสอบ กทค. ประมูล 3G ด้านสมชาย แสวงการ ชี้ต้องเริ่มตรวจที่ภายใน กสทช.ด้วยกันเองก่อน เอกชนโหมประชาสัมพันธ์หากล้มฟ้องทุกบาททุกสตางค์ คนในวงการชี้งานนี้ชิงไหวชิงพริบระหว่างรัฐบาลกับ ส.ว.สายตรงข้าม หากเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนถอดถอนโดยวุฒิสภาเมื่อไหร่ รัฐบาลพร้อมส่งคนเสียบยึดอำนาจใน กสทช. ชุดใหม่ทันที หวั่นงานนี้ “เตะหมูเข้า:-)”



     

      ผลที่ตามมาหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี ย่าน 2.1 GHz โดยมีเจ้าภาพในการจัดประมูล คือ พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อ 16 ตุลาคม 2555 ทำให้เกิดข้อสงสัยของสังคมตามมามากมายถึงความโปร่งใสในการประมูล
     
      หลายหน่วยงานออกมาคัดค้านผลของการประมูลดังกล่าวว่า ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ประมูลยังคงเป็นผู้ให้บริการ 3 รายเดิมคือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ที่ใช้บริษัทลูกเข้าประมูลกลับได้รับประโยชน์มหาศาล หลังจากที่เสนอราคาเท่ากับราคาที่ฝ่ายจัดการกำหนดไว้ คือ 13,500 ล้านบาท มีเพียงเอไอเอสค่ายเดียวที่ยอมเพิ่มราคาให้ 14,625 ล้านบาท
     
      18 ต.ค. คณะกรรมการ กทค.ลงมติเห็นชอบ 4 ต่อ 1 รับรองผลการประมูล หลังจากนั้นมีหนังสือด่วนโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ทำหนังสือทักท้วงการประมูลดังกล่าวว่าอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
     
      19 ต.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาตอบโต้รองปลัดกระทรวงการคลังอย่างเผ็ดร้อน และยืนยันถึงการประมูลที่ผ่านมาถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับระบบสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของต่างประเทศ
     
      แรงกระเพื่อมดังกล่าวถึงความไม่ชอบมาพากลของการประมูลในครั้งนี้เริ่มมีมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากแบ่งชุดคลื่นความถี่เป็น 3 ชุดกับเอกชน 3 รายเดิมที่ดำเนินธุรกิจนี้มาก่อนหน้า พฤติกรรมการเสนอราคาเสมือนมีการตกลงกันมาก่อนหน้าแล้วว่าใครจะเลือกชุดคลื่นความถี่ใด จึงไม่มีการเสนอราคาสู้กันเหมือนกับการประมูลทั่วไป
     
      อีกทั้งการเร่งรีบอนุมัติรับรองผลการประมูลกระทำเพียงแค่ชุดของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)เท่านั้น ไม่ใช่องค์คณะใหญ่ของ กสทช. จึงทำให้เรื่องนี้ถูกขยายผลต่อและอาจถึงขั้นเสนอให้มีการถอดถอนคณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน
     
      ล้ม 3จี เอกชนเล็งฟ้องเรียกค่าเสียหายอื้อ
     
      แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า ปมของปัญหาในครั้งนี้คือมีของ 3 ชิ้น มีคนประมูล 3 คน เงื่อนไขกำหนดให้แต่ละรายประมูลได้ 1 ชิ้น ถามว่าแล้วอย่างนี้ใครจะเสนอราคาสูง เพราะเท่ากับไม่ต้องแข่งขันกัน ตรงนี้ กทค. ต้องตอบให้ได้ว่าเหตุใดจึงออกแบบการประมูลในลักษณะนี้ ประการต่อมาข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินว่าราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท เหตุใดจึงกำหนดให้เหลือเพียง 4,500 ล้านบาทต่อสล็อต (1 ชุด 3 สล็อต) เท่านั้น
     
      แม้ภายหลัง กทค.จะแถลงว่าเอกชนที่ประมูลได้ไปจะต้องลดราคาให้บริการลง 15-20% นั้น เงื่อนไขดังกล่าวถูกกำหนดไว้ก่อนที่จะเปิดการประมูลหรือไม่ ถ้าไม่เอกชนก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
     
      การรีบร้อนออกมารับรองผลการประมูลของ กทค. จนมาถึงการวางเงินมัดจำ 50% ของเอกชนทั้ง 3 รายตามเงื่อนไข เท่ากับว่าสัญญาดังกล่าวเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือแค่การออกใบอนุญาตเท่านั้น
     
      เอกชนก็อ่านเกมออกว่าหากการคัดค้านดังกล่าวถูกยกระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่พวกเขาจะต้องเสียเงินเพิ่มจากการประมูลรอบใหม่ก็มีสูง ดังนั้น การเร่งโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่อง 3G บนความถี่ 2.1 GHz ตามสื่อทั่วไป เงินเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการให้บริการ 3G ของบริษัทมือถือ หาก กทค.หรือ กสทช.ยกเลิกการประมูลขึ้นมา เอกชนทั้ง 3 ย่อมต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมถึงค่าโฆษณาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้นค่าเสียหายที่บริษัทมือถือจะฟ้องจากรัฐย่อมต้องสูงขึ้นกว่าต้นทุนปกติที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้
     
      เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้เท่ากับ กทค.เอาหน่วยงานของ กสทช.เป็นเดิมพัน พร้อมกับประชาชนทั้งประเทศมาเป็นเหยื่อให้กับเอกชนทั้ง 3 ราย หากมีการฟ้องร้องกันแล้ว กสทช.แพ้คดี เงินที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนทั้ง 3 รายก็คือเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะใช้ 3G หรือไม่ก็ตาม รวมไปถึงคนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ


ผู้บริหาร 3 ค่ายจับมือก่อนเริ่มประมูล

     

      ทุนสื่อสาร-การเมืองแทรก
     
      แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสรรหา กสทช. กล่าวว่า เกือบทุกคนที่นั่งเป็นกรรมการใน กสทช. ยกเว้นกรรมการที่มาจากตัวแทนของผู้บริโภค ส่วนใหญ่มีผู้สนับสนุนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายทหาร หรือตำรวจ ที่เหลือจะเป็นทุนจากบริษัทสื่อสารสนับสนุนเข้ามา บางรายที่มียศตำแหน่งก็มีทุนสื่อสารหนุนหลังอีกที รวมไปถึงคนของนักการเมืองที่ผลักดันกันเข้ามา
     
      “รายที่ว่าเป็นกลางในช่วงแรกนั้น เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ปฏิบัติไปในทางให้คุณกับทุนสื่อสาร กรรมการชุดเดิมก่อนที่ยังไม่เป็น กสทช.ว่าแย่แล้ว ชุดนี้ยิ่งแย่กว่าชุดเก่าเสียอีก”
     
      ที่ผ่านมาเคยมีการประมูลคลื่น 3G มาแล้วแต่ถูกศาลสั่งระงับเมื่อปี 2553 ครั้งนั้นมี พันเอกนที ศุกลรัตน์ เป็นเจ้าภาพ ใช้สูตร N-1 คือ มีของน้อยกว่าคนประมูล แต่คราวนี้กลับไม่ได้ใช้สูตรดังกล่าว อีกทั้ง พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เป็นนักเรียนรุ่นพี่ของพันเอกนที ดังนั้นในครั้งนี้การดำเนินการของ กทค.จึงเป็นหน้าที่ของพันเอกเศรษฐพงค์กับนายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหลัก
     
      เรื่องที่เกิดขึ้นฝากวุฒิสภาที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด กสทช.ชุดนี้ขึ้น ได้หารือกันในเรื่องนี้เพราะเกรงกันว่าภาคการเมืองจะใช้โอกาสนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงคนใน กสทช.
     
      “ต้องยอมรับความจริงว่า กสทช.ชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์และต่อเนื่องมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความพยายามของรัฐบาลนี้ที่จะหยุด กสทช.ชุดนี้ แต่ทำไม่สำเร็จ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นย่อมเป็นโอกาสอันดีสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน” สมาชิกวุฒิสภารายหนึ่งกล่าว
     
      ส.ว.เดินหน้าหาความจริงประมูล 3จี
     
      นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราต้องเริ่มต้นที่การเข้าไปดูการประมูลก่อนว่าเหตุใดผลการประมูลถึงออกมาเช่นนี้ ผิด พ.ร.บ.ฮั้วหรือไม่ แต่ผลที่ออกมาเห็นว่าผิดปกติ ทำไมจาก 17 รายเหลือผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย มีการเตรียมการส่งนอมินีเข้าประมูลแข่งด้วยหรือไม่ หรือบริษัทนอมินีเตรียมมาประมูลแล้วไม่สู้
     
      ในการตรวจสอบคงต้องเข้าไปดูในหลายส่วน หลายมุม
      1. เชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า กรรมการ กทค.ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องตรวจบริษัทเอกชนที่เข้ามาประมูล
      2. ธนาคารไม่ออกแบงก์การันตีหรือหนังสือค้ำประกันกับรายอื่น ธนาคารไม่ออกให้กับบริษัทอื่นโดยสุจริตหรือไม่ ต้องไล่ตรวจ แต่ออกให้ 3 บริษัทเพราะอะไร
      3. บริษัทใดมีอำนาจจากการเมือง มีอำนาจสั่งแบงก์หรือไม่ ทำให้คู่แข่งอยู่เฉยๆ
      4. กรรมการประกาศมาตลอด ถึงเวลาไม่มีใครแย่งประมูล การวางเทคนิคมีเจ้าหน้าที่ระดับล่างเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ พวกวิศวกรต่างๆ มีการชงเรื่องขึ้นมาหรือไม่
      5. กติกาเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่เข้าประมูลต้องเป็นบริษัทคนไทย (ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49%) กสทช.เขียนกติกาจำกัดคู่แข่งหรือไม่
     
      สำหรับกรรมการ กทค.ก็ต้องมีการตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้อง ถ้าพบว่ากระทำไปโดยสุจริตก็ผ่าน แต่ถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเอาออก เพราะงานต่อไปของ กสทช.จะมีการประมูลอื่นๆ อีก ทั้งเรื่องคลื่นเดิมหมดอายุทั้ง 1800 และ 900 รวมไปถึง 4G ทีวีดิจิตอล ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอีกมาก


เริ่มขั้นตอนการประมูล

     

      จับตารัฐจ้องเปลี่ยนตัว กสทช.
     
      แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการประมูล 3G กลายเป็นเกมชิงไหวชิงพริบกันระหว่างการเมืองสายรัฐบาลกับสายตรงข้าม รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภาที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นกัน
     
      กสทช.ชุดนี้มีกลุ่ม 40 ส.ว.เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้คนที่หมายตาเข้ามาทั้งหมด แต่ก็ยังคงมีภาพรวมในทางบวก จะเห็นได้ว่าในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสายตรงข้ามกับรัฐบาล พยายามที่จะเดินเกมให้เรื่องนี้จบภายใน กสทช. ด้วยการผลักดันให้การรับรองผลการประมูลที่ดำเนินการโดยฝ่าย กทค.นั้นต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่ทั้ง 11 คน
     
      “ภายใน กสทช.ก็มีการเช็กเสียงกันพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องการประมูล 3G แม้ว่าจะผ่านการรับรองของ กทค.ด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 แต่หากใช้การลงมติร่วมกันทั้งองค์คณะ มีความเป็นไปได้สูงที่ผลการลงมติจะออกมาในลักษณะที่ส่อไปในทางให้เปิดประมูลกันใหม่”
     
      ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มี พันเอกนที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับผลประมูลดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาสูตรที่พันเอกนทีใช้ประมูลนั้นได้รับการตอบรับจากนักวิชาการมากกว่า เนื่องจากกำหนดให้ใบอนุญาตมีน้อยกว่าผู้ประมูล จะทำให้เกิดการแข่งขันกันเสนอราคาจากเอกชนที่เข้าร่วมประมูล ยิ่งผลของ กทค.ที่ออกมาแล้วทำให้เกิดข้อสงสัยกับผู้คนในสังคม โอกาสที่ฟาก กสท.จะเห็นด้วยกับแนวทางของ กทค.นั้นจึงเป็นไปได้ยาก
     
      หากสามารถจบเรื่องนี้ที่ กสทช.ได้ เรื่องก็น่าจะยุติลง การหาทางเปลี่ยนตัว กสทช.จากฝ่ายรัฐบาลก็น่าจะยุติลงเช่นกัน
     
      การเมืองเสียบทันทีที่ถอดถอน
     
      เรื่องนี้ถูกส่งเข้าไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งจากกระทรวงการคลัง กลุ่มกรีนและบางส่วนของวุฒิสภา หากผลการพิจารณาพบมูลความผิดก็จะดำเนินการสอบส่วนต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปสู่การถอดถอน
     
      นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นที่ทำให้เกิดการเดินเรื่องถอดถอน กสทช.ได้ มี 3 แนวทางคือ
     
      แนวทางแรก กระทำภายใต้อำนาจของวุฒิสภา ที่มีอำนาจถอดถอนตามมาตรา 20 ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากมีการชี้มูลความผิดมาจาก ป.ป.ช.
     
      แนวทางที่ 2 การเดินเรื่องจากทั้งฝั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม 2553
     
      อำนาจของวุฒิสภาตามมาตรา 21 เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีแต่ละสภา ถอดถอนกรรมการ กสทช.ที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง มติของวุฒิสภาต้องได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 5
     
      แนวทางที่ 3 การถอดถอนอีกทางหนึ่งคือ หากเข้าข่ายมาตรา 22 ที่ กสทช.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 1 ใน 4 และภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนยื่นถอดถอนได้ มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้จะต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
     
      สำหรับองค์กรภาคประชาชนที่เดินหน้าให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ ต้องประเมินถึงมิติในทางการเมืองด้วยว่า หากเดินเรื่องถึงขั้นล่ารายชื่อถอดถอนนั้น เกรงว่าจะกลายเป็นตัวช่วยให้นักการเมืองฟากรัฐบาลเปลี่ยนคนใน กสทช.ได้อย่างชอบธรรม
     
      “ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นหากมีการยื่นถอดถอน กสทช. คงทำได้เฉพาะบางคน เพราะเรื่องการประมูลอยู่ในส่วนงานของ กทค. ดังนั้น กรรมการทั้ง 4 ท่านที่ลงมติรับรองผลการประมูลก็คงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ หากเรื่องเดินหน้าไปสู่ขั้นถอดถอน”
     
      ถ้าถึงขั้นนั้นฟากการเมืองก็มีโอกาสที่จะส่งคนของตัวเองเข้ามาได้อีก 4 คน ซึ่งก็มากพอในการลงมติสำคัญ หากสามารถซื้อใจคนที่เหลืออีก 2 คน จาก 7 คนได้


คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)

     

      เดินเกมผ่านคลัง
     
      ในส่วนของการเคลื่อนไหวจากภาครัฐ ที่รองปลัดกระทรวงการคลังทำหนังสือถึง กสทช. เตือนว่าการประมูลดังกล่าวอาจเข้าข่ายการฮั้วประมูล เท่ากับเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้การเคลื่อนไหวล้มประมูล 3G มากขึ้น
     
      ข้อสังเกตประการหนึ่งคือเหตุใดระดับรองปลัดกระทรวงการคลังถึงได้ออกมาทำจดหมายอย่างเป็นทางการถึง กสทช. ปลัดกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ทราบเรื่องเลยหรือ เพราะลำพังข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดมักจะไม่มีความกล้าหาญพอที่จะท้วงติงการทำงานของหน่วยงานรัฐอื่นๆ
     
      เมื่อถูก กสทช.โต้แย้งขึ้นมา อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ตอบว่าเป็นความเห็นส่วนตัวสามารถทำได้
     
      “เรากำลังมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระทรวงการคลังนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลว่าต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการประมูลคลื่น 3G ของ กสทช. เชื่อว่าถ้ารัฐมนตรีคลังไม่ไฟเขียว รองปลัดคลังคงไม่กล้าดำเนินการโดยลำพัง ในที่นี้ย่อมต้องมองไปถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลที่จับจ้องในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ต้องไม่ลืมว่าเจ้ากระทรวงอย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ถือเป็นสายตรงของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ส่วนงานอื่นรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลเงียบทั้งหมด รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี”
     
      ตอนนี้นักการเมืองที่จ้องฮุบหน่วยงาน กสทช.กำลังประเมินสถานการณ์อยู่ ปล่อยให้องค์กรภาคประชาชนเดินหน้าไป เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ ได้ทั้งคนของตัวเองคุมองค์กรนี้ ได้ทั้งภาพที่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง กลายเป็นพระเอกที่เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์
     
      ก่อนหน้านี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับเรื่องการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว รวมไปถึงในวุฒิสภาก็มีจำนวนไม่น้อยที่พร้อมทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีแต้มต่อในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้แบบไหน เวลาใดเท่านั้น
     
      หวั่นภาคประชาชนถูกหลอกใช้
     
      ขณะนี้รัฐบาลเลือกที่จะเดินเกมแค่ช่องทางเดียวคือผ่านกระทรวงการคลัง และปล่อยให้องค์กรภาคประชาชนออกมาเดินหน้าขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากเรื่องนี้ล่วงเลยไปสู่การถอดถอน นักการเมืองฟากรัฐบาลก็พร้อมส่งคนเข้ามาเสียบ ได้ทั้งภาพลักษณ์ที่ดีที่เข้ามาจัดการเรื่องที่วุ่นวายใน กสทช. พร้อมกันนั้นยังได้คนของตัวเองเข้ามาคุมใน กสทช.ที่จะมีผลต่อการให้ใบอนุญาตต่อธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลอีกหลายรายการ
     
      หลายคนเกรงกันว่าด้วยเจตนาที่ดีขององค์กรภาคเอกชนที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ สุดท้ายจะกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีให้กับกลุ่มทุนที่เป็นรัฐบาลในเวลานี้ จะไม่ต่างกับการ “เตะหมูเข้า:-)”


ASTV ผู้จัดการ
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000130795

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.