15 ตุลาคม 2556 (เกาะติดประมูลDigital TV) NATION ชี้ความตั้งใจสูงสุด คือ ช่องข่าว ช่วง 2-3 ปีแรก เม็ดเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเอเจนซี่โฆษณาต้องรอดูว่าการเข้าถึงดิจิตอลทีวีของผู้บริโภค
ประเด็นหลัก
IT Digest : เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน กว่าจะถึงกำหนดยื่นซองประมูล ทางบริษัท จะอาศัยปัจจัยใดในการตัดสินใจว่าจะเลือกยื่นประมูลช่องรายการใดบ้าง
อดิศักดิ์ : จุดที่น่าสนใจคือการยื่นซองวันที่ 28-29 ต.ค. ซึ่งเครือเนชั่นที่ซื้อทั้งหมด 3 ซอง ข่าว เอสดี เด็ก ต้องยื่นประมูลทั้ง 3 เพียงแต่ความตั้งใจสูงสุด คือ ช่องข่าว ที่เป็นการประมูลลำดับที่ 3 ส่วนเอสดี การแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งหมด 17 ซอง ก็อั้นราคาไว้ ต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนเด็กก็ต้องดูราคาที่เหมาะสมประมูล
IT Digest : วิเคราะห์เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมทีวี มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดทีวีดิจิตอล
อดิศักดิ์ : ช่วง 2-3 ปีแรก เม็ดเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเอเจนซี่โฆษณาต้องรอดูว่าการเข้าถึงดิจิตอลทีวีของผู้บริโภคมีมากแค่ไหน เพราะการขยายโครงข่าย 50% 80% 90% 95% แต่การเข้าถึง คือ ผู้บริโภคจะซื้อเซตท็อปบ็อกซ์ ติดตั้งดู หรือจูนเนอร์ เพื่อดูทีวีดิจิตอลมากแค่ไหนตรงนี้สำคัญ แต่โดยทั่วไป ทีวีดาวเทียมเติบโต 15% ฟรีทีวีไม่ค่อยโต แต่ถ้าพ้น 5 ปี ระบบอะนาล็อกหยุดการออกอากาศทั้งหมด เท่ากับทีวีดิจิตอล 24 ช่อง จะทำให้ตลาดโฆษณาการแข่งขันมากขึ้น ราคาโฆษณาของช่องต่างๆ ก็จะลดลง โดยเฉพาะช่องเดิม อย่าง ช่อง 3 5 7 ส่วนช่องที่ประมูลได้ดาวเทียมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้อัตราเฉลี่ยโฆษณาต่ำลง และเชื่อว่าตลาดโฆษณาจะใหญ่ขึ้น ซึ่ง กสทช. ได้ประเมินไว้ว่าใน 5 ปี ตลาดโฆษณาของดิจิตอลทีวีน่าจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท จากเดิม 6 หมื่นล้านบาท
เปิดใจ "อดิศักดิ์" แม่ทัพ "เนชั่น" กับ สนามรบ "ทีวีดิจิตอล"
เปิดใจ "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" ผอ. บ.เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กับภารกิจท้าทายประมูลทีวีดิจิตอล แผนธุรกิจ และวิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันดุเดือด พร้อมคำตอบจะอยู่หรือจะไปจากเนชั่น...
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ซื้อถึง 3 ซอง สำหรับเครือเนชั่น และไม่มีซื้อทิ้งแน่นอน เพราะยืนยันแล้วว่าจะเข้าประมูลทุกซอง ประเภทเด็ก ข่าว และรายการทั่วไป แบบมาตรฐาน (เอสดี) พร้อมเผยว่าได้ระดมทุนเกือบ 2 พันล้าน มาสักระยะหนึ่งแล้ว แม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม
แน่นอนว่าความมุ่งมั่น ในการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้ คงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่ เพราะนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ยังต้องเดินหน้า
ยิ่งสำหรับเครือเนชั่น สื่อระดับยักษ์ใหญ่ย่านบางนาคงไม่ธรรมดา แต่การวางแผนธุรกิจจะเป็นอย่างไร และยังมีเรื่องอะไรที่ต้องฝากถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อีกบ้าง และข่าว (ลือ) การลาออกของแม่ทัพจะเป็นจริงหรือไม่ ติดตามได้จาก "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ ณ บัดนี้...
IT Digest : บริษัทเตรียมความพร้อมด้านเงินลงทุน อุปกรณ์และกำลังคน
อดิศักดิ์ : เนชั่น เตรียมความพร้อมมานาน และเตรียมการมากว่า 1 ปี แล้ว หลัง กสทช. ประกาศประมูลทีวีดิจิตอล เริ่มตั้งแต่งบประมาณการลงทุน โดยบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง ร่วมทุน จำนวน 1,061 ล้านบาท และทั้งเครือรวมกันประมาณ 2 พันล้านบาท ส่วนกำลังคน เนชั่นแชนแนลออกอากาศมา 13 ปี และเป้าหมายในการเป็นสถานีข่าวที่จะประมูลในประเภทข่าว ซึ่งจะใช้เนชั่นแชนแนลออกอากาศในระบบดิจิตอล เพราะที่ผ่านมาเนชั่นแชนแนล ออกอากาศเกือบทุกแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ทั้งดาวเทียมเคเบิล อินเทอร์เน็ต และแอพพลิเคชั่น เหลือแต่ภาคพื้นดิน เบื้องต้นคิดว่าถ้าประมูลได้จะใช้ช่องเนชั่นเป็นฐาน และปรับชื่อจากเนชั่น แชนแนล เป็นเนชั่นทีวี เพื่อสะท้อนช่องของเนชั่นที่จะรวมพลังคนของเนชั่นจากทุกส่วน ทั้งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มีกรุงเทพธุรกิจทีวีเข้ามาทำในรายการหุ้น คมชัดลึกทีวี มีนักข่าวสายช่องชุมชน และระวังภัยเข้ามา รวมทั้งภาคภาษาอังกฤษที่ทีมข่าวของเดอะเนชั่นเดิมเป็นอาเซียนทีวี
IT Digest : เป้าหมายสำคัญในการลงทุนทีวีดิจิตอล
อดิศักดิ์ : ผนึกกำลังในผังเดียวกัน กลายเป็นช่องเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งรายการหลักๆ ของเนชั่นแชนแนลก็ยังอยู่ครบ แต่เสริมความแข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น นับรวมแล้วคนที่อยู่หน้าจอ คิดว่ามีความพร้อมทั้งภาษาไทย อังกฤษ สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ที่สำคัญนักข่าวภาคสนามก็พร้อมในทุกพื้นที่ รวมคนที่สามารถออกจากหน้าจอได้ ทั้งอ่านข่าว จัดรายการ ไม่น้อยกว่า 50 คน และกำลังคนค่อนข้างพร้อม หรือแม้กระทั่งสตูดิโอ เนชั่นมีแนวคิดจะทำในเมืองและได้บอกกับสาธารณชนแล้วว่าการเป็นดิจิตอลทีวีต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้มาก จึงมองถึงแนวคิด การทำสตูดิโอกลางใจเมืองเพื่อทำให้การทำโทรทัศน์ โดยเฉพาะสถานีข่าวสามารถให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้กำลังหาโลเกชั่นที่เหมาะสม ส่วนสตูฯ ที่บางนายังเป็นสตูฯ หลัก ขณะที่ดาวน์ทาวน์ในเมือง จะเป็นตัวเสริม นอกจากนี้ ยังมีดาวน์ทาวน์ที่อยู่ตามหัวเมือง ทั้งเชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น หาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งเมืองหลวงในอาเซียน เช่น ย่างกุ้ง เวียงจันทน์ จาการ์ตา มะนิลา จะมีนักข่าวเนชั่นที่ใช้ภาษาอังกฤษ และท้องถิ่นได้ ประจำการอยู่ ในนามเอเชียนิวเน็ตเวิร์ก โดยมั่นใจว่าช่องเนชั่นทีวีจะเป็นข่าวในระดับภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียว สามารถรายงานข่าวทุกๆ พื้นที่ในภูมิภาคนี้
IT Digest : ประเมินสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิตอลว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
อดิศักดิ์ : มองหลังการประมูลไปแล้วว่าจะเกิดช่องทั้งหมด 24 ช่อง โดยจะมีผู้เล่นใหม่ไม่ต่ำกว่า 15-18ราย ส่วนช่อง 3 7 9 ได้ดิจิตอลทีวีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะมากกว่าเดิม โดยเฉพาะมีผู้เล่นที่มีความชำนาญที่เคยผลิตคอนเทนต์ในช่องฟรีทีวีเดิม เช่น แกรมมี่ อาร์เอส เวิร์คพ้อยท์ เนชั่น ที่มีความพร้อมทุกด้าน รวมทั้งผู้เล่นที่มาทางสายเทเลคอม มีความพร้อมทางด้านเงินทุน เช่น ทรู อินทัช สามารถฯ จะทำให้ตลาดแข่งขัน ดิจิตอลทีวีมีความเข้มข้นมากขึ้น และส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่จะมีทางเลือกในการรับชม จากเดิมที่อยากดูโทรทัศน์มากกว่า 6 ช่องเดิม ต้องติดจานเสียค่าสมาชิกเคเบิล แต่หลังจากนี้ไม่เสียค่าสมาชิกแล้ว ก็สามารถดูได้ 48 ช่อง
ขณะที่ เอเจนซี่โฆษณา มีทางเลือกซื้อโฆษณาในราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าโฆษณาในฟรีทีวี ทั้ง ช่อง 3 ช่อง 7 ไม่สมเหตุสมผล เป็นราคาที่แพงเกินจริง ซึ่งเป็นจุดสำคัญ เพราะสภาพเป็นกึ่งผูกขาด คนที่ผูกขาดก็สามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ ซึ่งเป็นผลเสียหายของอุตสาหกรรมนี้นับ 40-50 ปีแล้ว โดยเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมวางแผนด้านสื่อ เพราะปีหน้าก็ได้รับชมกันแล้ว
IT Digest : กฎ ระเบียบและเงื่อนไขในการประมูลของ กสทช. มีความชัดเจนหรือไม่ อย่างไร
อดิศักดิ์ : โดยทั่วไป ระเบียบของ กสทช. อาจมีข้อขัดข้องในช่วงแรก กสท. ที่ออกหลักเกณฑ์การประมูลขัดข้อง มีข้อถกเถียงระยะแรกเรื่องเพดาน 2-3 ช่อง แต่ชื่นชมที่รับฟังเสียงจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่สำคัญ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.มีความตั้งใจที่ทำให้ระบบการเปลี่ยนผ่านอะนาล็อกสู่ดิจิตอลเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะการใช้ช่อง 5 9 11 ร่นเวลายุติการออกอากาศอะนาล็อก โดยแลกกับการออกใบอนุญาต เป็นสิ่งที่ดีมากทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คาดไว้มาก และกฎกติกา ต่างๆ ที่สุดแล้ว จากเดิมที่มีการถกเถียงเรื่องเพดาน จำนวนช่อง ถือว่ายุติหมดแล้ว และสะท้อนผ่านการซื้อซองประมูลที่มี 33 บริษัท 24 กลุ่มธุรกิจทั้งหมด 49 ซอง ก็มีการแข่งขันพอสมควร ไม่ใช่ว่าดุเดือดเกินไป ในบางช่องแข่งขันมาก-ไม่มาก มองว่ากลไกการประมูลน่าจะเอื้อได้ ผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจ และมีความพร้อมด้านเงินทุน คอนเทนต์ ที่จะมาทำดิจิตอลทีวีที่มีคุณภาพ และประชาชนรับชมอย่างหลากหลาย
IT Digest : มีผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นว่า การที่ กสทช.ไม่ประกาศความชัดเจนเรื่องค่าเช่าโครงข่าย และกำหนดเวลาประมูลที่แน่ชัด ทำให้ต้องซื้อหลายซอง ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจประมูลใบอนุญาตเพียงใบเดียว มีมุมมองอย่างไร
อดิศักดิ์ : คิดว่าการซื้อเผื่อเป็นเรื่องปกติของการประมูล เพราะแต่ละรายก็ไม่มั่นใจว่า ซื้อซองเดียวแล้วประมูลไม่ได้ก็จะเกิดผลเสียหาย เพราะฉะนั้นหลายรายต้องซื้อเผื่อ 2-3 ซอง แต่ถึงวันตัดสินใจ 28 ต.ค. ที่ต้องยื่นซอง พร้อมเงินค้ำประกัน 10% ตรงนั้น คิดว่า 49 ซอง น่าจะเหลือ 35 อย่างมากไม่เกิน 40 ซอง ผู้ประกอบการต้องเลือก สมมติว่ามีผู้ประกอบการต้องการประมูลช่องเอชดีแต่ซื้อข่าวเผื่อไว้ ก็ต้องตัดสินใจเลย เพื่อไม่ให้เกิดการเผื่อมากเกินไป จะทำให้การแข่งขันไม่ดุเดือดมากนัก แต่มีกลไกที่จะให้เลือกประมูลให้ชัด เพื่อดูความตั้งใจการประมูล
IT Digest : กรณี ช่อง 7 และบริษัท จันทร์ 25 จะส่งผลกระทบกับการประมูลครั้งนี้หรือไม่อย่างไร
อดิศักดิ์ : ขอไม่ออกความเห็น เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ประมูลช่องเอชดี คิดว่าต้องหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน 28 ต.ค.
IT Digest : เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน กว่าจะถึงกำหนดยื่นซองประมูล ทางบริษัท จะอาศัยปัจจัยใดในการตัดสินใจว่าจะเลือกยื่นประมูลช่องรายการใดบ้าง
อดิศักดิ์ : จุดที่น่าสนใจคือการยื่นซองวันที่ 28-29 ต.ค. ซึ่งเครือเนชั่นที่ซื้อทั้งหมด 3 ซอง ข่าว เอสดี เด็ก ต้องยื่นประมูลทั้ง 3 เพียงแต่ความตั้งใจสูงสุด คือ ช่องข่าว ที่เป็นการประมูลลำดับที่ 3 ส่วนเอสดี การแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งหมด 17 ซอง ก็อั้นราคาไว้ ต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนเด็กก็ต้องดูราคาที่เหมาะสมประมูล
IT Digest : การลำดับประเภทการประมูล เริ่มตั้งแต่ เอชดี/เอสดี/ข่าว/เด็ก มีความคิดเห็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่อย่างไร
อดิศักดิ์ : คิดว่าถูกต้อง เรียงจากราคาประมูลสูงสุด ทำให้กรณีคนที่ตั้งใจประมูลเอชดี ไม่สามารถประมูลข่าวได้ ก็ต้องเลือก แต่สมมติเลือกแล้วชนะการประมูลวันแรกก็อาจไม่ได้เข้ามาประมูลช่องเอสดีวันที่ 2 ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงเกินไป และราคาไม่สูงเกิน ตามนโยบายของ กสท. ที่รับฟังมาตลอดว่า ไม่ต้องการให้ราคาสูงเกินไป แต่ต้องการให้เป็นราคาที่เหมาะสม เพื่อผู้ชนะการประมูล จะได้มีเงินทุนสำหรับการผลิตรายการและคอนเทนต์ที่ดีกว่าเป็นจุดมุ่งหมาย
IT Digest : ประเมินว่า หากมีการลำดับประเภทการประมูลแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเข้าประมูล และการดำเนินธุรกิจหลังประมูลต่อบริษัทอย่างไรบ้าง
อดิศักดิ์ : คิดว่าจะทำรายได้มากกว่าเดิม และสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากถึง 22 ล้านครัวเรือน ส่วนธุรกิจภาพรวมของเครือเนชั่น คิดว่าอีก 5 ปี ข้างหน้า รายได้ด้านบรอดคาสติ้งกับนิวมีเดีย จะมากกว่าสิ่งพิมพ์ เพราะปัจจุบันสิ่งพิมพ์อัตราการเติบโตช้า
IT Digest : ความไม่ชัดเจนของราคาโครงข่าย มีผลต่อการประมูลทีวีดิจิตอลอย่างไร
อดิศักดิ์ : โครงข่ายเป็นปัญหาที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าผู้ประกอบการโครงข่ายกำหนดไว้เท่าไร เพราะทราบว่าแต่ละรายตัวเลขไม่เท่ากัน ซึ่งอยากให้ กสท. พิจารณากำหนดเพดาน เพื่อให้ผู้เข้าประมูล คนที่อยากเลือกโครงข่ายเสนอราคา เรียงลำดับ แต่ถามว่าถ้าให้เลือกคงเลือกไทยพีบีเอส เพราะน่าจะสมบูรณ์ที่สุด เสา ทาวเวอร์ และความน่าเชื่อถือในการบริหารชัดเจนกว่ารายอื่น
IT Digest : วิเคราะห์เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมทีวี มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดทีวีดิจิตอล
อดิศักดิ์ : ช่วง 2-3 ปีแรก เม็ดเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเอเจนซี่โฆษณาต้องรอดูว่าการเข้าถึงดิจิตอลทีวีของผู้บริโภคมีมากแค่ไหน เพราะการขยายโครงข่าย 50% 80% 90% 95% แต่การเข้าถึง คือ ผู้บริโภคจะซื้อเซตท็อปบ็อกซ์ ติดตั้งดู หรือจูนเนอร์ เพื่อดูทีวีดิจิตอลมากแค่ไหนตรงนี้สำคัญ แต่โดยทั่วไป ทีวีดาวเทียมเติบโต 15% ฟรีทีวีไม่ค่อยโต แต่ถ้าพ้น 5 ปี ระบบอะนาล็อกหยุดการออกอากาศทั้งหมด เท่ากับทีวีดิจิตอล 24 ช่อง จะทำให้ตลาดโฆษณาการแข่งขันมากขึ้น ราคาโฆษณาของช่องต่างๆ ก็จะลดลง โดยเฉพาะช่องเดิม อย่าง ช่อง 3 5 7 ส่วนช่องที่ประมูลได้ดาวเทียมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้อัตราเฉลี่ยโฆษณาต่ำลง และเชื่อว่าตลาดโฆษณาจะใหญ่ขึ้น ซึ่ง กสทช. ได้ประเมินไว้ว่าใน 5 ปี ตลาดโฆษณาของดิจิตอลทีวีน่าจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท จากเดิม 6 หมื่นล้านบาท
IT Digest : ที่ผ่านมา มีการซื้อตัวคนข่าวออกไป
อดิศักดิ์ : เรื่องนี้ผ่านมาทุกยุค เนชั่นแชนแนล 13 ปี มียุคเปลี่ยนผ่านและยุคถูกซื้อตัวมาก เราเหมือนเป็นโรงเรียน คนจะจ้องมาที่เราก่อน และแน่นอนช่องใหม่ก็ต้องการคนที่มีประสบการณ์ ก็มีคนออกไปบ้างตามปกติ เราก็สร้างคนใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่น่าวิตกกังวล เสมือนเป็นโรงเรียนนักข่าว โรงเรียนผู้ประกาศ ขณะนี้ก็กำลังอบรม สามารถทดแทนได้ ที่นี่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ไม่กังวลคนออก ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของสำนักพิมพ์ใหม่ ที่ต้องการคนมีประสบการณ์ และถ้าเงินเดือนสูง บรรยากาศดีกว่าเขาก็ไป แต่ส่วนตัวมองว่า สถานีข่าวเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่ง 400 ม. ที่จะวิ่งผลัดไม้ไปเรื่อยๆ เราวิ่งมาราธอนมา 13 ปี เนชั่นแชนแนลผ่านทุกอย่าง เรื่องเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม การออกอากาศ ผ่านการเมืองมาทุกยุค เพราะฉะนั้นปกติมาก
IT Digest : ทุกวันนี้เป็นหัวเรือใหญ่ รับผิดชอบประมูลทีวีดิจิตอล รู้สึกอย่างไรบ้าง
อดิศักดิ์ : ได้รับมอบหมายจากบอร์ดตั้งแต่ต้น เพราะทางเนชั่นบรอดคาสติ้ง ถือเป็นบริษัทลูก ที่ดูแลในส่วนธุรกิจบรอดคาสติ้งทั้งหมดโดยอัตโนมัติ และส่วนตัวทำหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ต้นซึ่งมีการพัฒนามาตั้งแต่ทีวีดาวเทียม และได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับประชาพิจารณ์ กสทช. ตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกทั้งเคยเป็นนายกสมาคมดาวเทียมยุคแรก
IT Digest : มีข่าวจะลาออกจากเนชั่น
อดิศักดิ์ : ผมยังไม่ไปไหน เพราะภารกิจสำคัญยังต้องทำอีกมาก อนาคตไม่รู้หรอก ไม่สามารถกำหนดอนาคตได้ แต่ว่าภารกิจสำคัญยังต้องทำให้เสร็จ ยังไงรับผิดชอบภารกิจต้องสำเร็จ ไม่ได้ไปไหน จริงๆอยากไปเที่ยวนะ 13 ปี ผมไม่เคยไปไหนเลย
IT Digest : ฝากถึงผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการประมูล และ กสทช.
อดิศักดิ์ : ผู้บริโภค - มองว่าการเกิดดิจิตอลทีวีครั้งนี้ เป็นผลดีกับทุกคน รวมทั้งช่องเก่าด้วย จริงๆ ช่องเก่าไม่น่ามองว่าเป็นผลร้าย เพราะอายุสัมปทานของช่องเดิมจะหมดไปแล้ว ขณะเดียวกันระบบการออกอากาศอะนาล็อกไม่มีแล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอล ช่องก็มากขึ้น ก็จะเกิดการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันกติกาเท่าเทียม สนามเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เช่น ทรู วิชั่นส์ ซีทีเอช ถ้าไม่มีซีทีเอช ทรู ก็จะเป็นเคเบิลรายเดียว เช่นเดียวกับทีวีดิจิตอล ที่เกิดแล้วมีการแข่งขัน ทั้งเนื้อหาและโฆษณา
ผู้ประกอบการ - การทำแคมเปญ คิดรูปแบบที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากที่สุด รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ โซเชียลมีเดีย ที่ผมคิดว่าโทรทัศน์ในประเทศไทยใช้เรื่องนี้น้อย ต่างจากต่างประเทศที่ใช้เรื่องนี้เยอะ ซึ่งเนชั่นเอาทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กมาเชื่อมต่อเรียกว่า ที่ผู้บริโภคดูโทรทัศน์ แล้วใช้แท็บเล็ต มือถือ พร้อมกัน ซึ่งพฤติกรรมของคนไทยมองว่าไม่รู้ตัวนะว่าเป็นแบบนี้ ต่างชาติ 80% จะใช้ดูควบคู่กัน แชร์ไปด้วย ซึ่งดิจิตอลทีวีจะทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ขึ้น ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหาและคนที่ผลิตรายการมากขึ้น เชื่อว่าภาพของประเทศไทยจะเปลี่ยนไป ความคิดสร้างสรรค์จะมีมากขึ้นเพราะมีเวที จากเดิมที่จำกัด นักศึกษาจบใหม่ คนทำงานโปรดิวเซอร์อิสระ ได้รับการว่าจ้างจากสถานี ให้ทำงานดีๆ ต่างๆ ข้อจำกัดก็จะหายไป เพียงแต่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ช่องมากขึ้น แข่งขันมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องหาวิธีเอาตัวรอด ต้องตื่นตัว ให้ผู้บริโภครู้เท่าทันโฆษณาแฝง หรือเนื้อหาไม่เหมาะสม จุดนี้ยังเป็นห่วงอยู่ว่าองค์กรผู้บริโภคยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ช่วยมอนิเตอร์ ช่องดิจิตอลทีวี ทีวีดาวเทียม จะทำให้เนื้อหาทีวีดิจิตอล 24 ช่อง และทีวีดาวเทียมอีก 200 ช่อง เป็นประโยชน์กับสังคม
และฝากถึง กสทช. 2 เรื่อง คือ 1. กสทช. ไม่ได้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในการเกิดทีวีดิจิตอล ซึ่งส่วนตัวต้องตอบคำถามตลอดเวลาว่า จะดูอย่างไร โทรทัศน์เก่าดูได้มั้ย เสาอากาศ ต้องปีนติดตั้งมั้ย จุดนี้คิดว่าผู้บริโภคยังมีความเข้าใจน้อย โทรทัศน์ขายไม่ดีเพราะคนไม่รู้ และ 2. การจัดระบบเรตติ้ง ความนิยมของช่องต่างๆ และ กสท. ยังไม่ได้ทำเป็นเรื่องราว มีเสียงเรียกร้องจากสมาคมทีวีดาวเทียมหลายส่วนที่พยายามเสนอแนวคิดให้ กสท. ลงมาเป็นผู้นำในการสร้างระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่ เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น จากเดิมทีมีเนลสันเพียงรายเดียว ก็มีเสียงบ่นว่าถูกต้องหรือไม่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ทำทีวี 24 ช่อง ลำบาก ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะนาล็อกเดิมได้ และควรเกิดขึ้นพร้อมการประมูล
โดย: ไทยรัฐออนไลน์
http://m.thairath.co.th/content/tech/375930
ไม่มีความคิดเห็น: