27 ตุลาคม 2556 กสทช. คาดว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,900 ล้านบาท ผ่านไป 9 เดือนมีรายได้เข้ามาแล้ว 3,389 ล้านบาท คาดว่าจบสิ้นปีจะสูงกว่าเป้าหมาย 100-200 ล้านบาท
ประเด็นหลัก
"ในปีนี้ สำนักงาน กสทช.คาดว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,900 ล้านบาท ผ่านไป 9 เดือนมีรายได้เข้ามาแล้ว 3,389 ล้านบาท คาดว่าจบสิ้นปีจะสูงกว่าเป้าหมาย 100-200 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมเลขหมายของผู้ได้รับไลเซนส์ 3G คลื่น 2.1 GHz ส่วนปีหน้ารายได้จะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 5,200-5,300 ล้านบาท โดยจะมาจากค่าไลเซนส์ 3G ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท เพราะยอดลูกค้า 3G เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
______________________________________
3G ดันกสทช.อู้ฟู่ ประมูลเบอร์สวย หาเงินสร้างสำนักงาน
"กสทช." สุดอู้ฟู่ หลังแจกไลเซนส์ 3G รับทรัพย์เพิ่ม คาดรายได้ปีหน้าทะลุ 5 พันล้าน เผยปีเดียว ค่ายมือถือขอจัดสรรเฉียด 50 ล้านเบอร์ ฟันกว่า 300 ล้านบาท ชงบอร์ดเข็นเบอร์สวย 2 ล้านเบอร์ประมูลหาเงินสร้างตึก
หลังจากบริการโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่น 2.1 GHz เปิดให้บริการเป็นทางการในเดือน พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ผ่านมา 4 เดือน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานว่า ณ เดือน ต.ค. 2556 ทั้ง 3 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ได้ใบอนุญาตต่างมีฐานลูกค้ารวมกัน 17.7 ล้านเลขหมาย ดังนี้
เอดับบลิวเอ็น (ในเครือเอไอเอส) มี 12 ล้านเลขหมาย ไตรเน็ต (ดีแทค) มี 5 ล้านเลขหมาย และเรียลมูฟ (ในเครือทรู) จำนวน 7 แสนเลขหมาย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ประมาณการรายรับของสำนักงาน กสทช.ในปีนี้และปีหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากมีการออกใบอนุญาตให้บริการ 3G คลื่น 2.1 GHz ที่มีผู้ได้รับใบอนุญาต 3 ราย เพราะนอกจากทุกรายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นรายปีแล้ว ยังได้ขอจัดสรรเลขหมายเพื่อนำไปให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีรายรับเพิ่มขึ้นมากจากค่าธรรมเนียมเลขหมาย และในปี 2557 จะเพิ่มมากจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตบริการ 3G ซึ่งครบกำหนดจะต้องจ่ายครั้งแรกราว ม.ค. 2557
สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดสรรเลขหมายสำหรับให้บริการ 3G คลื่น 2.1 GHz ไปแล้ว 45.86 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นเลขหมายที่จัดสรรพร้อมใบอนุญาต ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมเลขหมายละ 1 บาท/เดือน จำนวน 24 ล้านเลขหมาย ส่วนที่เหลือคิดเลขหมายละ 2 บาท/เดือน สำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (ไลเซนส์) คิดเป็นรายปีแบบขั้นบันได โดยคำนวณจากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย เช่น รายได้ตั้งแต่ 0-100 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 0.25% รายได้เกิน 100 ล้านบาท-500 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 0.50% เกิน 1,000 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 1.5% เป็นต้น
"ในปีนี้ สำนักงาน กสทช.คาดว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,900 ล้านบาท ผ่านไป 9 เดือนมีรายได้เข้ามาแล้ว 3,389 ล้านบาท คาดว่าจบสิ้นปีจะสูงกว่าเป้าหมาย 100-200 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมเลขหมายของผู้ได้รับไลเซนส์ 3G คลื่น 2.1 GHz ส่วนปีหน้ารายได้จะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 5,200-5,300 ล้านบาท โดยจะมาจากค่าไลเซนส์ 3G ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท เพราะยอดลูกค้า 3G เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า ค่าธรรมเนียมเลขหมายเฉพาะที่นำมาใช้บริการ 3G ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ขณะที่การจัดสรรเลขหมายไปยังแต่ละบริษัทมีดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) ได้รับการจัดสรรไปแล้ว 14 ล้านเลขหมาย, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) จำนวน 8 ล้านเลขหมาย บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) จำนวน 10 ล้านเลขหมาย และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จำนวน 13.86 ล้านเลขหมาย (นำมาใช้งานบนเครือข่าย truemove H)
ขณะที่รายได้ของสำนักงาน กสทช.ที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2555 ระบุว่า มีรายได้รวมทั้งหมด 7,132,468,389 บาท เมื่อหักรายได้ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 2,598,277,386 บาท จะมีเงินรายได้ในส่วนที่เป็นของสำนักงาน กสทช.ทั้งสิ้น 4,534,191,003 บาท (ดูตารางประกอบ)
นายฐากรเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมโครงการจัดประมูลเลขหมายโทรศัพท์มือถือประเภท "เบอร์สวย" เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา หลังจากฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช.ได้ศึกษาแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ โดยเงินที่ได้จากการประมูลเลขหมายดังกล่าวถือเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช.
"เหตุที่จะนำเบอร์ออกประมูลก็เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่สมัยเป็น กทช.ได้ดึงเบอร์สวยเก็บไว้รวม ๆ แล้วเกือบ 2 ล้านเบอร์ โดยมีแนวคิดว่าจะนำมาประมูล แต่ที่ผ่านมามีบางแนวคิดไม่อยากให้ กสทช.จัดประมูล แต่จะให้จัดสรรไปให้เอกชน ซึ่งตนมองว่าทำแบบนั้น เอกชนได้ประโยชน์ เมื่อดูข้อกฎหมายแล้วทำได้ กสทช.ก็ควรทำเอง เงินที่ได้ก็สามารถนำไปสร้างอาคารที่ทำการใหม่ หรือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไปยังดีกว่า แค่เบอร์สวยเลขเหมือนกัน 6-7 ตัว มีหลายพันเบอร์ แค่ส่วนนี้ก็น่าจะมีมูลค่าไม่น้อย ซึ่งการประมูลเบอร์จะเปิดให้ผู้บริโภคเข้าร่วมประมูล แล้วให้นำไปลงทะเบียนกับผู้ให้บริการรายใดก็ได้"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1382676438
ไม่มีความคิดเห็น: