27 ตุลาคม 2556 (บทความ) 4 ปัญหาพาอีบุ๊กไทยไปไม่ถึงฝัน // ระบุ ภาษาไทยยังมีปริมาณน้อย , คนไทยรักการฟังดพลงมากกว่าการอ่าน , รอระบบ 3G และ ระบบภาษี
ประเด็นหลัก
1.ภาษาไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อแพลตฟอร์มของอีบุ๊ก
การเติบโตของอีบุ๊กในต่างประเทศนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เนื้อหา' เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอเมซอนเจ้าของคินเดิลมีคอนเทนต์ที่เป็นคลังหนังสือจำนวนมากพร้อมจะรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย แต่ภาษาที่สนับสนุนนั้นเกือบทั้งหมดจะเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับอีบุ๊กที่เป็นภาษาไทยยังมีน้อย เพราะต้องแปลงให้อยู่ในรูปแบบของคินเดิลก่อนจึงจะอ่านได้ และที่สำคัญสำหรับเมืองไทยแล้วคงจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่มากนักที่พร้อมจะอ่านอีบุ๊กที่มาจากเครื่องคินเดิล
ดังนั้นอีบุ๊กในแบบไทยๆ จึงไม่ใช่เป็นเพียงตัวอักษรให้อ่านบนคินเดิล แต่ได้มีการนำนิตยสารต่างๆ ที่เป็นกระดาษขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มของอีบุ๊กที่จะมีภาพและตัวอักษรประกอบกัน และในตลาดเมืองไทยอีบุ๊กแบบชำระเงินที่โดดเด่นที่สุดดูเหมือนจะเป็นบริการจากเอไอเอส ที่มีให้ทั้งบริการฟรีและเลือกให้ดาวน์โหลดแบบเสียเงิน
ปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม เอไอเอส กล่าวว่า
อีบุ๊กของเอไอเอสนั้นจะอยู่ในแพลตฟอร์มของโมบาย โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10-15% ต่อปี แต่ถ้าถามถึงมูลค่าตลาดรวมของอีบุ๊กในไทย ก็พบว่ายังไม่มีการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ เพราะการใช้บริการยังอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด
อีบุ๊กของเอไอเอสไม่ได้โฟกัสบนเว็บ แต่เน้นการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมากกว่า โดยมีผู้ใช้บริการอยู่ 3-4 แสนรายต่อปี มียอดดาวน์โหลดไปแล้ว 1 ล้านครั้ง คอนเทนต์ประกอบไปด้วยเนื้อหาจาก แม็กกาซีน พ็อกเก็ตบุ๊ก หนังสือพิมพ์ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 400 Title จาก 20,000 เล่ม โดยจะมีการอัปเดตหนังสือพิมพ์วันละ 7 ฉบับ ทุกวัน แม็กกาซีน 400 หัว ต่อเดือน พ็อกเก็ตบุ๊ก 200 เล่มต่อเดือน
'ปัจจุบันคนที่จะเข้ามาอ่านอีบุ๊กต้องเป็นแฟนแม็กกาซีนนั้นๆ ก่อน โดยขณะนี้นับว่าปริมาณการดาวน์โหลดต่อเดือนค่อนข้างเยอะ เอไอเอสมองว่าบริการอีบุ๊กไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นบริการเสริมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าได้เพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดได้เตรียมไปจับมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น'
2.นิสัยคนไทยยังติดดูหนังฟังเพลงไม่ค่อยรักการอ่าน
ปรัธนา เห็นว่า เนื้อหาของอีบุ๊กในเมืองไทยยังเป็นเน้นการดูแม็กกาซีน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แต่ยังขาดในเรื่องของการศึกษา ซึ่งการพัฒนาคอนเทนต์ด้านการศึกษานั้น ถ้ามีแพลตฟอร์มในแง่ของอีบุ๊กได้ก็จะดี หรืออาจจะทำในรูปแบบของภาพและเสียงน่าจะจูงใจให้คนมาอ่านได้ง่ายกว่า อนาคตเมื่อแท็บเล็ตโตมากกว่านี้ การเติบโตของอีบุ๊กก็จะมากขึ้น รวมไปถึงในส่วนของสมาร์ทโฟนจอใหญ่อย่างแฟ็บเล็ต ก็กำลังจะเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น
นอกจากนี้การที่อีบุ๊กของไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างในยุโรป ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมดูหนังฟังเพลงมากกว่าการอ่าน ประกอบกับในส่วนของกลุ่มผู้ใช้งานแท็บเล็ตเอง ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการเล่นเกม อินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์อื่นๆ มากกว่าที่จะเข้ามาใช้เพื่อการอ่านอีบุ๊ก
'ปัจจุบันยังไม่มีหนังสือในรูปแบบของออดิโอ ยังมีแต่ textผสมผสานเสียง ซึ่งออดิโอต้องอาศัยโปรดักส์ชัน เพราะนิสัยคนไทยยังชอบเสพสื่อทีวีมากกว่าคอนเทนต์ต่างประเทศ ดังนั้นหากมีคอนเทนต์ด้านภาพและเสียง ไม่ใช่ text อย่างเดียวในรูปแบบของออดิโอบุ๊กก็น่าจะกระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งเร็วๆ นี้เอไอเอสจะทำการพัฒนาออดิโอบุ๊กขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยขยายตลาดอีบุ๊กให้เพิ่มขึ้นด้วย'
3.คอนเทนต์ที่จะทำอีบุ๊กติดสารพัดปัญหา
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อีบุ๊กไม่ค่อยก้าวไปข้างหน้า เป็นเพราะเจ้าของคอนเทนต์ต่างๆ กลัวว่าหากทำสื่อในรูปแบบอีบุ๊กแล้วจะกระทบกับรายได้เดิมที่เคยได้จากการพิมพ์แบบรูปเล่ม โดยเฉพาะคอนเทนต์ในเรื่องการศึกษาอย่างผู้ที่อยู่ในธุรกิจติวเตอร์ ก็จะคิดว่าอีบุ๊กจะไปทำลายธุรกิจของตนเอง
สรพล สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอเพ่นเซิร์ฟ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับทำอีบุ๊ก กล่าวว่า อุปสรรคหลักๆ ในการทำธุรกิจอีบุ๊กคือ ตัวหนังสือที่จะมาแปลงเป็นอีบุ๊ก มีผู้ประกอบการสำนักพิมพ์อีกหลายแห่งยังไม่พร้อมในการเข้ามาทำ เป็นปัญหาที่เกิดจากในส่วนของสำนักพิมพ์เอง และปัญหาในเรื่องสัญญากับผู้เขียนซึ่งเดิมไม่ได้ครอบคลุมในเรื่องของการขายในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญช่องทางในการชำระเงินค่าอีบุ๊กยังไม่สะดวก
ทั้งนี้ยอดจำหน่ายอีบุ๊กในไทยเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ ยังถือว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่ยังน้อยอยู่มาก แต่ก็ต้องถือว่าดีขึ้นและมีแนวโน้มที่เติบโตไปแบบก้าวกระโดด คาดว่าภายใน 10 ปี ยอดขายอีบุ๊กในเมืองไทยน่าจะมียอดใกล้เคียงกับหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ โดยการทำธุรกิจอีบุ๊กมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ 1.เนื้อหาดีมีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยสำนักพิมพ์และนักเขียนมาเป็นพันธมิตร 2.ช่องทางการจำหน่าย 3.เทคโนโลยี เนื่องจากอุปกรณ์และระบบปฎิบัติการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงและออกใหม่ตลอดเวลา
'ธุรกิจอีบุ๊กมีแนวโน้มที่โตขึ้นเรื่อยๆ หากมองตลาดอีบุ๊กในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วจะมียอดขายอีบุ๊กใกล้เคียงกับหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษซึ่งมีแนวโน้มที่จะมียอดจำหน่ายลดลงไปเรื่อยๆเชื่อว่าในอีกไม่นานยอดจำหน่ายของอีบุ๊กจะแซงยอดขายหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ และขณะนี้เรารอเพียงแค่เวลาเท่านั้นเอง'
______________________________________
4 ปัญหาพาอีบุ๊กไทยไปไม่ถึงฝัน (Cyber Weekend)
อีบุ๊ก บริการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ เพราะสามารถเสพสื่ออย่างนิตยสารและหนังสือต่างๆ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พกพาได้อย่างสะดวก ซึ่งปัจจุบันอีบุ๊กสามารถอ่านได้บนอุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนจอใหญ่ ทำให้อีบุ๊กเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้างและมียอดการใช้บริการที่แพร่หลายมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมายอดการใช้งานอีบุ๊กของต่างประเทศเติบโตสูงถึง 20-30%
สิ่งที่ทำให้อีบุ๊กได้รับความนิยมมาก มาจากเครื่องอ่านอีบุ๊กที่ชื่อ คินเดิล (Kindle) แม้ช่วงแรกหน้าจอจะแสดงผลได้แค่ขาวดำแต่ก็สามารถบรรจุเนื้อหาได้มากนับพันเล่ม และมีจุดเด่นอยู่ที่ผู้อ่านจะรู้สึกว่าเหมือนอ่านหนังสือเล่มจริงๆ ไม่มีแสงสะท้อนจากจอ ทำให้กลายเป็นเสน่ห์สำหรับคนรักการอ่าน คินเดิลรุ่นใหม่ๆ ยังได้รับการพัฒนาให้ สามารถดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม และเล่นอินเทอร์เน็ตได้เช่นเดียวกับแท็บเล็ต
สำหรับตลาดเมืองไทยการจะใช้งานอีบุ๊กบนคินเดิลแบบเดิมนั้น นอกจากจะเป็นไปได้ยากแล้ว การใช้แท็บเล็ตเพื่อการอ่านอีบุ๊กก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะมีปัญหาอีกหลากหลายที่ทำให้การเติบโตอีบุ๊กในเมืองไทยไม่ค่อยขยับเท่าไรนัก โดยพบว่ามีปัจจัยที่ขัดขวางการเติบโตอยู่ 4 ประการ
1.ภาษาไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อแพลตฟอร์มของอีบุ๊ก
การเติบโตของอีบุ๊กในต่างประเทศนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เนื้อหา' เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอเมซอนเจ้าของคินเดิลมีคอนเทนต์ที่เป็นคลังหนังสือจำนวนมากพร้อมจะรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย แต่ภาษาที่สนับสนุนนั้นเกือบทั้งหมดจะเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับอีบุ๊กที่เป็นภาษาไทยยังมีน้อย เพราะต้องแปลงให้อยู่ในรูปแบบของคินเดิลก่อนจึงจะอ่านได้ และที่สำคัญสำหรับเมืองไทยแล้วคงจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่มากนักที่พร้อมจะอ่านอีบุ๊กที่มาจากเครื่องคินเดิล
ดังนั้นอีบุ๊กในแบบไทยๆ จึงไม่ใช่เป็นเพียงตัวอักษรให้อ่านบนคินเดิล แต่ได้มีการนำนิตยสารต่างๆ ที่เป็นกระดาษขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มของอีบุ๊กที่จะมีภาพและตัวอักษรประกอบกัน และในตลาดเมืองไทยอีบุ๊กแบบชำระเงินที่โดดเด่นที่สุดดูเหมือนจะเป็นบริการจากเอไอเอส ที่มีให้ทั้งบริการฟรีและเลือกให้ดาวน์โหลดแบบเสียเงิน
ปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม เอไอเอส กล่าวว่า
อีบุ๊กของเอไอเอสนั้นจะอยู่ในแพลตฟอร์มของโมบาย โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10-15% ต่อปี แต่ถ้าถามถึงมูลค่าตลาดรวมของอีบุ๊กในไทย ก็พบว่ายังไม่มีการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ เพราะการใช้บริการยังอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด
อีบุ๊กของเอไอเอสไม่ได้โฟกัสบนเว็บ แต่เน้นการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมากกว่า โดยมีผู้ใช้บริการอยู่ 3-4 แสนรายต่อปี มียอดดาวน์โหลดไปแล้ว 1 ล้านครั้ง คอนเทนต์ประกอบไปด้วยเนื้อหาจาก แม็กกาซีน พ็อกเก็ตบุ๊ก หนังสือพิมพ์ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 400 Title จาก 20,000 เล่ม โดยจะมีการอัปเดตหนังสือพิมพ์วันละ 7 ฉบับ ทุกวัน แม็กกาซีน 400 หัว ต่อเดือน พ็อกเก็ตบุ๊ก 200 เล่มต่อเดือน
'ปัจจุบันคนที่จะเข้ามาอ่านอีบุ๊กต้องเป็นแฟนแม็กกาซีนนั้นๆ ก่อน โดยขณะนี้นับว่าปริมาณการดาวน์โหลดต่อเดือนค่อนข้างเยอะ เอไอเอสมองว่าบริการอีบุ๊กไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นบริการเสริมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าได้เพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดได้เตรียมไปจับมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น'
2.นิสัยคนไทยยังติดดูหนังฟังเพลงไม่ค่อยรักการอ่าน
ปรัธนา เห็นว่า เนื้อหาของอีบุ๊กในเมืองไทยยังเป็นเน้นการดูแม็กกาซีน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แต่ยังขาดในเรื่องของการศึกษา ซึ่งการพัฒนาคอนเทนต์ด้านการศึกษานั้น ถ้ามีแพลตฟอร์มในแง่ของอีบุ๊กได้ก็จะดี หรืออาจจะทำในรูปแบบของภาพและเสียงน่าจะจูงใจให้คนมาอ่านได้ง่ายกว่า อนาคตเมื่อแท็บเล็ตโตมากกว่านี้ การเติบโตของอีบุ๊กก็จะมากขึ้น รวมไปถึงในส่วนของสมาร์ทโฟนจอใหญ่อย่างแฟ็บเล็ต ก็กำลังจะเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น
นอกจากนี้การที่อีบุ๊กของไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างในยุโรป ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมดูหนังฟังเพลงมากกว่าการอ่าน ประกอบกับในส่วนของกลุ่มผู้ใช้งานแท็บเล็ตเอง ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการเล่นเกม อินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์อื่นๆ มากกว่าที่จะเข้ามาใช้เพื่อการอ่านอีบุ๊ก
'ปัจจุบันยังไม่มีหนังสือในรูปแบบของออดิโอ ยังมีแต่ textผสมผสานเสียง ซึ่งออดิโอต้องอาศัยโปรดักส์ชัน เพราะนิสัยคนไทยยังชอบเสพสื่อทีวีมากกว่าคอนเทนต์ต่างประเทศ ดังนั้นหากมีคอนเทนต์ด้านภาพและเสียง ไม่ใช่ text อย่างเดียวในรูปแบบของออดิโอบุ๊กก็น่าจะกระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งเร็วๆ นี้เอไอเอสจะทำการพัฒนาออดิโอบุ๊กขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยขยายตลาดอีบุ๊กให้เพิ่มขึ้นด้วย'
3.คอนเทนต์ที่จะทำอีบุ๊กติดสารพัดปัญหา
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อีบุ๊กไม่ค่อยก้าวไปข้างหน้า เป็นเพราะเจ้าของคอนเทนต์ต่างๆ กลัวว่าหากทำสื่อในรูปแบบอีบุ๊กแล้วจะกระทบกับรายได้เดิมที่เคยได้จากการพิมพ์แบบรูปเล่ม โดยเฉพาะคอนเทนต์ในเรื่องการศึกษาอย่างผู้ที่อยู่ในธุรกิจติวเตอร์ ก็จะคิดว่าอีบุ๊กจะไปทำลายธุรกิจของตนเอง
สรพล สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอเพ่นเซิร์ฟ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับทำอีบุ๊ก กล่าวว่า อุปสรรคหลักๆ ในการทำธุรกิจอีบุ๊กคือ ตัวหนังสือที่จะมาแปลงเป็นอีบุ๊ก มีผู้ประกอบการสำนักพิมพ์อีกหลายแห่งยังไม่พร้อมในการเข้ามาทำ เป็นปัญหาที่เกิดจากในส่วนของสำนักพิมพ์เอง และปัญหาในเรื่องสัญญากับผู้เขียนซึ่งเดิมไม่ได้ครอบคลุมในเรื่องของการขายในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญช่องทางในการชำระเงินค่าอีบุ๊กยังไม่สะดวก
ทั้งนี้ความสนใจของลูกค้าไทยต่ออีบุ๊กนับว่ามีจำนวนไม่น้อย แต่ติดปัญหาที่ผู้ใช้งานอาจจะยังไม่มีแท็บเล็ตและหลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต รวมถึงยังต้องรอการติดตั้งระบบ 3G ให้สมบูรณ์ก่อน และที่สำคัญจะต้องรอให้คอนเทนต์บนอีบุ๊กมีความหลากหลายขึ้นด้วย ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้ตลาดอีบุ๊กมีการเติบโต คือ ราคาและคุณภาพของแท็บเล็ตรวมไปถึงคอนเทนต์ และคุณภาพของอีบุ๊ก
'ราคาของอีบุ๊กที่ต่ำกว่าหนังสือพิมพ์จากกระดาษจำนวนมากๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดอีบุ๊กเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีทิศทางในตรงกันข้าม ก็จะทำให้ธุรกิจไม่คืบหน้า'
นอกจากนี้ยังอยากให้มีรัฐบาลมีความชัดเจนในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มของอีบุ๊ก เพราะสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก เนื่องจากบางรายมีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะไม่ได้พิมพ์ด้วยกระดาษ ในขณะที่อีกฝั่งมองเรื่องของการเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านการศึกษา เพราะหากอีบุ๊กยังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม สถานศึกษาที่มีการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน
นอกจากนี้แล้วในเรื่องของกฏหมายลิขสิทธิ์ จะต้องมีการพัฒนาและแก้ไขเพื่อให้ทันสมัยและรองรับกับสื่อการเรียนรู้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการกระทำซ้ำโดยเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ ว่าในกรณีที่เป็นอีบุ๊กสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเชื่อว่ามีผลต่อการเติบโตอีบุ๊กอย่างมาก
4.ตลาดยังมีโอกาสเติบโตแต่ยังไม่ถึงเวลา
สรพล กล่าวว่าอีบุ๊กมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นทั้งด้านจำนวนลูกค้าและยอดรายได้ โดยลูกค้าเป้าหมายของบริษัทในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการอีบุ๊กคือ ลูกค้าองค์กร ซึ่งเน้นในตลาดของการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ โดยรายได้ในปี 2555 ที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 50 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นประมาณ 60% แต่สำหรับรายได้ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับอีบุ๊กมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 200 % โดยโปรแกรมสร้างอีบุ๊กของโอเพ่นเซิร์ฟมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้แล้วกว่า 4แสนราย
ปัจจุบันโอเพ่นเซิร์ฟนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับอีบุ๊ก และงานติดตั้งและออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ โดยบริษัทเห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดอีบุ๊กในอนาคต ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงได้มีทุ่มเรื่องงบประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการเกี่ยวกับอีบุ๊กอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการนำเอาไปใช้ของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม รวมถึงการเพิ่มบุคลากรรองรับการเติบโตของตลาดอีบุ๊กอีกด้วย
'โอกาสในการเติบโตของอีบุ๊กคือราคาแท็บเล็ตที่ถูกลงรวมไปถึงระบบ 3G มีส่วนผลักดันให้การเข้าถึงอีบุ๊กเริ่มง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานจะมีความสะดวก ในการเข้าไปเลือกชมและสั่งซื้อ ในลักษณะที่เรียกว่า Anyone Anywhere Anytime แต่ผู้ซื้อจะต้องมีความสะดวกในการชำระเงินค่าอีบุ๊กด้วย'
ทั้งนี้ยอดจำหน่ายอีบุ๊กในไทยเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ ยังถือว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่ยังน้อยอยู่มาก แต่ก็ต้องถือว่าดีขึ้นและมีแนวโน้มที่เติบโตไปแบบก้าวกระโดด คาดว่าภายใน 10 ปี ยอดขายอีบุ๊กในเมืองไทยน่าจะมียอดใกล้เคียงกับหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ โดยการทำธุรกิจอีบุ๊กมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ 1.เนื้อหาดีมีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยสำนักพิมพ์และนักเขียนมาเป็นพันธมิตร 2.ช่องทางการจำหน่าย 3.เทคโนโลยี เนื่องจากอุปกรณ์และระบบปฎิบัติการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงและออกใหม่ตลอดเวลา
'ธุรกิจอีบุ๊กมีแนวโน้มที่โตขึ้นเรื่อยๆ หากมองตลาดอีบุ๊กในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วจะมียอดขายอีบุ๊กใกล้เคียงกับหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษซึ่งมีแนวโน้มที่จะมียอดจำหน่ายลดลงไปเรื่อยๆเชื่อว่าในอีกไม่นานยอดจำหน่ายของอีบุ๊กจะแซงยอดขายหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษ และขณะนี้เรารอเพียงแค่เวลาเท่านั้นเอง'
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9560000132234
ไม่มีความคิดเห็น: