03 พฤศจิกายน 2556 (บทความ) เมื่อคิวไม่จำเป็นกับ ‘ไอโฟน’ ใหม่ // ระบุสัดส่วนการสั่งสินค้า iPhone 5S กับ iPhone 5C ของ AISอยู่ที่ 80% - 20% TRUE H 60% - 40%
ประเด็นหลัก
รู้หรือไม่กับ iPhone 5S
- ไทยเกือบได้วางจำหน่าย iPhone 5S / 5C พร้อมกับสหรัฐฯ แต่ติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตจำหน่ายทำให้ล่าช้าออกมา
- สัดส่วนการสั่งสินค้า iPhone 5S กับ iPhone 5C ของเอไอเอสอยู่ที่ 80% - 20% ทรูมูฟ เอช 60% - 40%
- นายภุชงค์ พุ่มทองดี ผู้ที่มารับเครื่องรายแรกของทรูมูฟ เอช มาเข้าคิวก่อนถึงเวลารับเครื่อง 28 ชั่วโมง
______________________________________
เมื่อคิวไม่จำเป็นกับ ‘ไอโฟน’ ใหม่ (Cyber Weekend)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 - 27 ตุลาคม) กับการเปิดวางจำหน่ายสินค้าล็อตแรกของไอโฟนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แอปเปิลเลือกวางจำหน่ายสินค้าพร้อมกัน 2 รุ่นแบ่งเป็น 8 โมเดลย่อย ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์จำเป็นต้องหาแนวทางในการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดแทนการจัดอีเวนต์เพื่อสร้างกระแสการต่อคิวในการประชาสัมพันธ์
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าถือเป็นช่วงที่ไอโฟนกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากนิยามของสุดยอดสมาร์ทโฟน แต่ในปัจจุบันไอโฟนไม่ใช่สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดในตลาด เพียงแต่ผู้ที่ยังคงใช้งานอยู่คือกลุ่มคนที่ยึดติดกับวัฒนธรรม และระบบนิเวศน์แบบปิดที่สร้างขึ้นมาอำนวยความสะดวกลูกค้า
ทำให้ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เวลามีการจัดงานเปิดตัว และวางจำหน่ายไอโฟนในประเทศไทย มักจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ในการลงทะเบียนสนใจ สั่งจอง และพร้อมใจกันมารับเครื่องในช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่แอปเปิลพร้อมให้ขาย ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทรูมูฟ เป็นผู้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงการวางจำหน่าย iPhone 3G ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการเข้าคิวซื้อสมาร์ทโฟนในประเทศไทย
โดยงานจำหน่าย iPhone 3G เริ่มจัดขึ้นในวันที่ 16 มกราคม 2552 ถัดมาคืองานจำหน่าย iPhone 3Gs ในวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ซึ่งยังคงมีเพียงทรูมูฟ ที่วางจำหน่ายแต่เพียงเจ้าเดียว จนมาถึง iPhone 4 ที่จัดงานเปิดตัวในวันที่ 24 กันยายน 2553 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายได้สิทธิในการจำหน่าย จึงระดมกันจัดงานรับเครื่องในช่วงเช้ามืดวันดังกล่าวกันครบครัน และต่างมีการเปิดให้ลูกค้าเข้าคิวเพื่อรับเครื่อง
ถัดมาในยุคสมัยของ iPhone 4S ในวันที่ 16 ธันวาคม 2554 กลับกลายเป็นเหลือโอเปอเรเตอร์เพียง 2 รายที่ ปล่อยให้ลูกค้าเข้าคิวซื้อสินค้าในคืนวันดังกล่าว เพราะดีแทค ปรับกลยุทธ์เป็นส่งเครื่องถึงมือลูกค้าแทนในช่วงเช้า ขณะที่เอไอเอสก็เริ่มการแบ่งช่วงเวลาให้ลูกค้าทยอยมารับสินค้าแทน
และมาถึงยุคที่เรียกได้ว่าพีคที่สุดในช่วงการจำหน่าย iPhone 5 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายเริ่มปรับกลยุทธ์ในการจำหน่ายเครื่อง ให้เหมาะสมกับปริมาณสินค้าและแนวทางของแต่ละค่าย ด้วยการเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนรับสินค้าเป็นรอบๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า พร้อมกับการกระจายสินค้าออกไปยังหน้าร้านทั่วประเทศให้เร็วขึ้น
จนล่าสุดการจัดงานเปิดตัว iPhone 5S และ iPhone 5C เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็เปรียบเสมือนการอำลาวัฒนธรรมการต่อคิวรับเครื่อง เมื่อพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างเอไอเอส เลิกจัดงานรับเครื่องในช่วงเช้ามืดของคืนวันดังกล่าว และหันไปกระจายสินค้าสู่หน้าร้าน 50 แห่ง ทั่วประเทศให้ลูกค้าที่จอง สามารถเลือกไปรับเครื่องได้ทันที
ขณะที่ดีแทค ก็ยังคงยึดคอนเซปต์เดิมในการกระจายสินค้าไปยัง 4 หัวเมืองหลัก คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ให้ลูกค้าในต่างจังหวัดสามารถเลือกสถานที่รับสินค้าใกล้ๆได้ทันทีเช่นเดียวกัน พร้อมแอบมีการเซอร์ไพร์สผู้ที่ไปเข้าแถวซื้อเครื่องคนแรกด้วยการแจก iPhone 5C สีฟ้า 16 GB คนละเครื่องทั้ง 4 แห่ง
กลายเป็น เหลือเพียงทรูมูฟ เอช เพียงรายเดียวเท่านั้นที่จัดงานเปิดตัว iPhone 5S และ iPhone 5C พร้อมกับนัดให้ลูกค้าจำนวนหนึ่ง มารับเครื่องตั้งแต่ในช่วงมืดของคืนวันที่ 24 ต่อเนื่องไปจนถึง 25 ตุลาคม ซึ่งน่าแปลกใจที่ปริมาณลูกค้าที่มาต่อคิวรับเครื่องในช่วงเที่ยงคืน กลับมีราว 200 ราย ในขณะที่ทรูเปิดช่องรับเครื่องไว้กว่า 120 ช่อง
และด้วยการที่ช่องทางการจำหน่ายมีหลากหลายขึ้น เพราะผู้ที่ได้สิทธิในการจำหน่ายไม่ได้มีเพียงแต่โอเปอเรเตอร์เท่านั้น ร้านค้าอย่าง iStudio หรือร้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อย่าง พาวเวอร์บาย ก็ได้สิทธิในการวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน ยังไม่นับรวมกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปเปิล ออนไลน์ สโตร์ ที่กดสั่งตอนนี้จะได้รับเครื่องราวกลางเดือนพฤศจิกายน ให้เลือก
ส่งผลให้ ‘คิว’ ในการเข้าแถวรับเครื่องของ iPhone 5S ในครั้งนี้ ไม่ได้กลายเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์อีกต่อไป แต่สิ่งที่ผู้บริโภคมองหาคือ ความสะดวกในการเข้าถึงตัวสมาร์ทโฟนมากกว่า ท้ายที่สุดโอเปอเรเตอร์ก็ต้องทำการกระจายสินค้าไปยังหน้าร้านทั่วประเทศอยู่ ดี
ส่วนเหตุผลสำคัญที่ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ กลยุทธ์การขายและรีเทล/ทรูไลฟ์สโตล์รีเทล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ให้ความเห็นไว้คือเนื่องจากแอปเปิลมีทิม คุก เข้ามาบริหาร ซึ่งเป็นคนที่เก่งในแง่ของการจัดการสต็อก ทำให้คาดการณ์ปริมาณความต้องการของสินค้าได้ ส่งผลให้สามารถส่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย และกระจายสินค้าได้มากขึ้น จึงไม่เกิดเป็นกระแสหาซื้อไม่ได้เหมือนเช่นครั้งที่ผ่านๆมา
***ไม่เปรี้ยง แต่ขายได้เรื่อยๆ
ด้วยสถานการณ์ของตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยปัจจุบัน ยังถือว่าอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตเป็นอย่างมาก จากการเปิดให้บริการ 3G ซึ่งแน่นอนว่าผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ต่างต้องการเพิ่มปริมาณลูกค้าให้เข้าสู่ระบบ 3G บนคลื่น 2100 MHz ให้ได้มากที่สุด แต่ละค่ายจึงได้มีการจัดโปรโมชันออกมากระตุ้นการขายควบคู่ไปด้วย
อย่างเช่น เอไอเอส ที่เลือกปรับโปรโมชันราคาแพกเกจที่จะซื้อพร้อมเครื่องไอโฟน ในราคาเดือนละ 170 บาท ซึ่งถือเป็นการช่วยให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งานระบบ โดยกำหนดให้ใช้งานเบื้องต้น 3 เดือน ก่อนยกเลิก แต่ถ้าจะเลือกเปลี่ยนเป็นโปรโมชันที่สูงขึ้นก็สามารถเปลี่ยนได้ทันที
ขณะที่ในส่วนของดีแทค ถือว่ายังไม่มีการกระตุ้นโปรโมชันมากนัก เพราะแพกเกจของดีแทคที่ออกมายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของเดิม แต่ที่ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นทรูมูฟ เอช ที่บังคับลูกค้าที่ซื้อเครื่องพร้อมแพกเกจ ต้องเปิดเบอร์ใหม่เท่านั้น ส่งผลให้ลูกค้าเดิมที่ใช้งานอยู่แล้ว ต้องเปลี่ยนไปซื้อเครื่องเปล่าแทน และแน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวมีขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดผู้ใช้งานเครือข่ายใหม่นั่นเอง
และแน่นอนว่าด้วยการที่คู่แข่งในตลาดไฮเอนด์มีปริมาณมากขึ้น จากแอนดรอยด์โฟนที่เป็นแฟลกชิปของแต่ละแบรนด์อย่างซัมซุง โซนี่ แอลจี และเอชทีซี ส่งผลให้ไอโฟนไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในท้องตลาดอีกต่อไป ดังนั้นกลุ่มผู้ใช้งานจึงแคบลง แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง
เพราะถ้ามองไปถึงราคาจำหน่ายเครื่องเปล่า iPhone 5S รุ่น 64 GB ก็ถือได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีราคาแพงที่สุดด้วยสนนราคา 31,900 บาท หรือถ้าลดลงมาเหลือรุ่น 32 GB ก็จะอยู่ที่ 27,900 บาท ในขณะที่แอนดรอยด์ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลเท่ากันจำหน่ายอยู่ในช่วงระดับราคา 2 หมื่นบาทเท่านั้น
เปิดขายไอโฟนใหม่ครั้งหน้า ไม่ต้องไปต่อคิวให้เหนื่อยยากดีกว่ามั้ย !!!
รู้หรือไม่กับ iPhone 5S
- ไทยเกือบได้วางจำหน่าย iPhone 5S / 5C พร้อมกับสหรัฐฯ แต่ติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตจำหน่ายทำให้ล่าช้าออกมา
- สัดส่วนการสั่งสินค้า iPhone 5S กับ iPhone 5C ของเอไอเอสอยู่ที่ 80% - 20% ทรูมูฟ เอช 60% - 40%
- นายภุชงค์ พุ่มทองดี ผู้ที่มารับเครื่องรายแรกของทรูมูฟ เอช มาเข้าคิวก่อนถึงเวลารับเครื่อง 28 ชั่วโมง
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9560000135606
ไม่มีความคิดเห็น: