Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

07 พฤศจิกายน 2556 NBTC Policy Watch ระบุ รายงานข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า งบค่าใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 44 ล้านบาท หรือ ประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน


ประเด็นหลัก


รายงานข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า งบค่าใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กสทช. เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 44 ล้านบาท หรือ ประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2557 เฉลี่ยการเดินทางในประเทศ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี และการเดินทางต่างประเทศ 8 ล้านบาทต่อคนต่อปี ขณะที่ ตามประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ กสทช. ทั้ง 11 คน ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือน โดยตำแหน่งประธาน อยู่ที่ 335,850 บาท ตำแหน่งรองประธาน และกรรมการ อยู่ที่ 269,000 บาท ส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่นั้น เทียบเท่ารัฐมนตรี


______________________________________



ผลาญงบ มหาศาล! 2ปี 'กสทช.' ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์การกำกับดูแล


โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เปิดงบ 2 ปี กสทช. ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การกำกับดูแล ถลุงดูงานต่างประเทศกว่า 100 ล้านบาท...

จากรายงานของโครงการ ติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch หัวข้อ "การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล : กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ" โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี 2555 พบว่าการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาทนั้น ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ขององค์กรในการกำกับดูแลเท่าที่ควร โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงที่สุด เช่น เงินบริจาคและการกุศล จำนวน 245 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 206 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ จำนวน 114 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 รายการ มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2555 ของ กสทช.

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. อธิบายว่า กสทช. ไม่มีหน้าที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะในการบริจาคเพื่อการกุศล แต่กลับใช้งบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับส่วนนี้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด ในขณะที่ในต่างประเทศ ทั้ง Federal Communications Commission (FCC) สหรัฐฯ และ Ofcom ของอังกฤษไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้

"การบริจาคและกิจการการกุศลเป็นเรื่องดีที่ แต่ กสทช. ไม่ควรทำ เพราะบทบาทดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. ซึ่ง กสทช. ควรพึงระลึกไว้เสมอว่างบประมาณดังกล่าวเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ควรจะนำไป ใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและกระจายเสียงให้มีประสิทธิภาพ หากทรัพยากรที่ กสทช. มีเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ควรส่งงบประมาณที่เหลือกลับสู่รัฐที่มีหน้าที่ในการจัดสรรใช้ประโยชน์ในทางอื่นต่อไป" ดร.พรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ กสทช. ที่สูงจนน่าตกใจ โดยในปี 2555 ค่าใช้จ่ายรวมในการเดินทางทั้งในและต่างประเทศของ กสทช. คือ 231 ล้านบาท ซึ่ง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. อธิบายต่อว่า ค่าใช้จ่ายเดินทางคิดเป็นร้อยละ 16 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ 57 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 1.9 และอังกฤษใช้ที่ 79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6  ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่แต่ละประเทศใช้ตามลำดับ

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญคือ กสทช. ตั้งงบประมาณในการเดินทางของคณะกรรมการ กสทช. รวมถึงงบรับรองไว้ค่อนข้างสูง เช่น ในปี 2556 คณะกรรมการแต่ละรายจะได้รับงบประมาณ 4 แสนบาทสำหรับค่าเดินทางภายในประเทศ และ 3 ล้านบาท สำหรับค่าเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งงบรับรองอีกจำนวนหนึ่งแยกต่างหาก และงบประมาณในส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2557 ขณะที่ หน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศที่พนักงานทุกราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ต้องเบิกค่าใช้จ่ายตามจริง และมีข้อกำหนดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เข้มงวด เช่น ห้ามโดยสารเครื่องบินชั้นหนึ่ง ไม่ว่ากรณีใดๆ เป็นต้น และมีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายส่วนนี้โดยละเอียดต่อสาธารณะ

งบประมาณสำหรับประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายอีกรายการที่ กสทช. ใช้จ่ายจำนวนมาก โดยในปี 2555 งบประชาสัมพันธ์ของ กสทช. เท่ากับ 114 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของงบดำเนินการ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่น้อยกว่ามาก โดยหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ใช้งบประชาสัมพันธ์เพียง 9.9 ล้านบาท คิดเป็น 0.33% ของงบดำเนินการ

"การประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ภารกิจหลักของ กสทช. แต่ กสทช. กลับใช้งบประมาณไปกับเรื่องดังกล่าวมากกว่าค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อผลิตงาน วิชาการ และค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาสำหรับพนักงานเสียอีก" ดร.พรเทพ ให้ความเห็น

นอกจากนี้ งบบางประเภทก็ไม่มีการระบุถึงการใช้ที่ชัดเจน เช่น งบกลางฉุกเฉินที่ถูกใช้ไป 80 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับภาระต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งมีจำนวนมากถึง 970 ล้านบาท

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เสนอว่า กสทช. ควรปรับการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายภารกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยในการจัดทำงบประมาณ การรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ และการรายงานผลการปฏิบัติงาน ทั้งหมดควรจะจำแนกตามภารกิจและยุทธศาสตร์ที่ กสทช. ตั้งไว้ เพื่อช่วยในการติดตามประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขององค์กร และสร้างความโปร่งใส

นอกจากนี้รายงานการใช้จ่ายควร จำแนกตามกลุ่มงาน ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า กสทช. กระจายทรัพยากรเพื่อเป้าหมายต่างๆ มากน้อยเพียงใด โดยในปัจจุบันการกระจายงบประมาณระหว่างกลุ่มงานมีความแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2556 งบประมาณสำหรับภารกิจโทรคมนาคมมีทั้งสิ้น 795 ล้านบาท ในจำนวนนี้กลุ่มงานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และกลุ่มงานขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุดถึง 28% และ 24% ของงบประมาณภารกิจโทรคมนาคมข้างต้น ในขณะที่กลุ่มงานที่น่าจะมีภาระตรงกับยุทธศาสตร์ขององค์กร เช่น กลุ่มงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กลุ่มงานวิชาการและการจัดสรรทรัพยากรโทรคมนาคม และกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็นเพียง 9% 8% และ 6% ตามลำดับ

รายงานข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า งบค่าใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กสทช. เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 44 ล้านบาท หรือ ประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2557 เฉลี่ยการเดินทางในประเทศ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี และการเดินทางต่างประเทศ 8 ล้านบาทต่อคนต่อปี ขณะที่ ตามประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ กสทช. ทั้ง 11 คน ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือน โดยตำแหน่งประธาน อยู่ที่ 335,850 บาท ตำแหน่งรองประธาน และกรรมการ อยู่ที่ 269,000 บาท ส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่นั้น เทียบเท่ารัฐมนตรี

สำหรับ กสทช. ทั้ง 11 คน เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2554 ซึ่ง 2 ปี ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.สำรองจ่ายให้ก่อนเดือนละ 1 แสนบาทต่อคน ซึ่ง กสทช.ต้องคืนเงินดังกล่าวกลับไปที่สำนักงาน และที่ผ่านมา กสทช.พยายามเสนออัตราเงินเดือนมาตลอด โดยครั้งแรกได้เสนอขอเงินเดือนมากกว่าเดือนละ 4 แสนบาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ต่อมาเสนอที่ 3 แสนบาท แต่ขอสิทธิ์เทียบเท่านายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในที่ประชุม ครม. แม้จะเป็นองค์กรอิสระ

ด้าน นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (ซุปเปอร์บอร์ด) กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายจริงของกสทช. ไม่ตรงกับตัวเลขที่รายงานต่อสาธารณชน มีเพียงงบที่ชัดเจน คือ งบซื้อไอแพด 7 หมื่นบาท ที่สูงเกินจริงและเป็นไปไม่ได้ และซุปเปอร์บอร์ดไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจาก กสทช. พร้อมยืนยันจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และรายงานข้อเท็จจริงต่อวุฒิสภา

ส่วน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า นอกจากงบค่าใช้จ่ายดูงานต่างประเทศที่สูงเกินจริงแล้ว กสทช. บางคนยังนำเงินของสำนักงาน กว่า 10 ล้านบาท มาใช้จ่ายส่วนตัวในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยอ้างการเรียนหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร ทั้งที่เงินดังกล่าวควรถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ สำหรับ กิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์ และการกระจายเสียงของไทย ในปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่อังกฤษ และสหรัฐฯ มีขนาดของกิจการดังกล่าวใหญ่กว่าไทยประมาณ 8 และ 40 เท่า ตามลำดับ

ผอ.บริหารสถาบันอิศรา  กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ งบประมาณที่ กสทช. ใช้กำกับดูแลมีประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี เทียบกับงบประมาณที่หน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษและสหรัฐฯ ใช้ประมาณ 6,000 และ 11,000 ล้านบาทตามลำดับ และหากพิจารณาจำนวนพนักงานพบว่า กสทช. ใช้พนักงาน 1,097 ราย ซึ่งสูงกว่า Ofcom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษที่ใช้พนักงาน 735 ราย ในขณะที่ในสหรัฐฯ FCC ใช้พนักงานจำนวน 1,685 ราย.

โดย: ไทยรัฐออนไลน์
http://m.thairath.co.th/content/tech/381072

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.