18 ธันวาคม 2556 TDRI.สมเกียรติ ระบุ กสทช.ไม่มีความโปร่งใส่ ทั้งรายงานการประชุมช้าไม่ทันกรอบกม./การคัดเลือกอนุกรรมการระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ/งบไม่แจง/ไม่รับฟัง
ประเด็นหลัก
ล้มเหลว-ไม่โปร่งใส
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการภายใต้คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NTBC Policy Watch) กล่าวเสริมว่า จากการติดตามตรวจสอบธรรมมาภิบาลภายในกสทช.ได้พบถึงความล้มเหลว 5 ประเด็นได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เช่นรายงานการประชุมและรายงานผลการศึกษาล่าช้าและไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. ด้านกระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบายยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร โดยพบว่า การคัดเลือกอนุกรรมการในการนำเสนอชุดนโยบายทำผ่านระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ มีการหลีกเลี่ยงการออกประกาศหรือคำสั่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจของกสทช.
3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการรับฟังให้รอบด้านก่อนออกประกาศ บางกรณีใช้ทรัพยากรไปกับการรับฟังภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม ขณะที่ 4.การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชนมีกระบวนการหลายขั้นตอนทำให้ใช้เวลาแก้ไขเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
และ 5.การใช้งบประมาณ เห็นได้ว่า บางรายการไม่มีการแจกแจงให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น งบประชาสัมพันธ์ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีรายการที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ควรสอบหรือประกวดราคา ที่ใช้สูงมากยังมีงบไปต่างประเทศและมีแนวโน้มว่าต่อไปจะสูงขึ้นไปอีก
______________________________________
2ปี'กสทช.'ส่อแววล้มเหลว ขาดธรรมาภิบาล
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
นักวิชาการวิพากษ์ "2 ปีกสทช." ส่อแววล้มเหลว-ขาดธรรมาภิบาล
นักวิชาการ ภาคประชาชน เปิดเวทีวิพากษ์การทำงาน 2 ขวบปี คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในงานเสวนาเวทีสื่อไทย(ไทย มีเดีย ฟอร์รั่ม) หัวข้อ "2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม" จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทและมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การมีกสทช.ถือเป็นความก้าวหน้าระบบการกำกับดูแล สกัดไม่ให้ไปข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ
แต่ทั้งนี้ที่ยังไม่อาจปลดล็อกได้ คือ เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส พร้อมสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบการทำงานที่เห็นผล เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เขากล่าวว่า คลื่นความถี่มีอยู่จำกัด สวนทางกับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประเด็นคือแม้เทคโนโลยีเอื้อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมดไปได้
ดังนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ จัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน มิเช่นนั้นถูกผ่องถ่ายไปยังผู้ประกอบการจำนวนน้อย ยิ่งปัจจุบันมูลค่าคลื่นมีมากขึ้น ยิ่งต้องทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง
พร้อมยกตัวอย่างว่า ปัญหาการจัดสรรคลื่นยังมีอยู่ชัดเจนเช่นกรณีคลื่น 1800 ทั้งที่หากสัญญาสัมปทานหมดอายุต้องคืนและนำไปประมูลใหม่ และทั้งที่ทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และควรต้องเตรียมการ แต่น่าเสียดาย กสทช. กลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างดีพอ
ล้มเหลว-ไม่โปร่งใส
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการภายใต้คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NTBC Policy Watch) กล่าวเสริมว่า จากการติดตามตรวจสอบธรรมมาภิบาลภายในกสทช.ได้พบถึงความล้มเหลว 5 ประเด็นได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เช่นรายงานการประชุมและรายงานผลการศึกษาล่าช้าและไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. ด้านกระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบายยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร โดยพบว่า การคัดเลือกอนุกรรมการในการนำเสนอชุดนโยบายทำผ่านระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ มีการหลีกเลี่ยงการออกประกาศหรือคำสั่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจของกสทช.
3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการรับฟังให้รอบด้านก่อนออกประกาศ บางกรณีใช้ทรัพยากรไปกับการรับฟังภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม ขณะที่ 4.การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชนมีกระบวนการหลายขั้นตอนทำให้ใช้เวลาแก้ไขเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
และ 5.การใช้งบประมาณ เห็นได้ว่า บางรายการไม่มีการแจกแจงให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น งบประชาสัมพันธ์ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีรายการที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ควรสอบหรือประกวดราคา ที่ใช้สูงมากยังมีงบไปต่างประเทศและมีแนวโน้มว่าต่อไปจะสูงขึ้นไปอีก
ทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้น
นายเอนก นาคะบุตร มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แสดงความคิดเห็นในมุมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ว่า ควรมีการทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ ทั้งด้านเนื้อหา ช่องทาง และตัวกฎหมายอย่างพ.ร.บ.กสทช.
พร้อมระบุให้ชัดเจนว่าใครที่ควรได้ใช้ทรัพยากรที่มี อีกทางหนึ่งขอให้ภาคประชาชนมีอำนาจ กระบวนการทำงานได้รับการตรวจสอบจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ สำคัญก่อให้เกิดการกระจายอำนาจ ขอเสนอว่าหากต้องการปฏิรูปจริงจังต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่เจตนารมณ์ทางกฎหมายสอดคล้องไปกับการทำงานของภาคประชาชน
ขณะที่ นางสาวจิรนุช เปรมชัยพร มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กล่าวถึงบทบาทกสทช.ต่อการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและอื่นๆ ว่า ขอให้ทำงานด้วยความชัดเจน ขณะเดียวกันคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน ความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชน มีการตรวจสอบโครงสร้างการบริหารซึ่งจะสะท้อนความเป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ มากกว่านั้นควรมีแผนการจัดสรรและที่มาของงบประมาณที่ชัดเจน รวมถึงพิจารณาออกใบอนุญาตในลักษณะร่วมกันประกอบกิจการ
พร้อมระบุว่า จาก 2 ปีมานี้ที่ได้ติดตามการทำงานโดยมีประเด็นยิบย่อยที่ต้องไล่ตามจำนวนมาก จากวันนี้อาจต้องลองตั้งหลักกันใหม่ โดยช่วยกันวางบทบาทให้มีความชัดเจน รวมทั้งติดตามไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20131217/550207/2%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A.%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7-%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5.html
ไม่มีความคิดเห็น: