Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

30 ธันวาคม 2556 (เกาะติดประมูลDigital TV) กสทช. กสทช. ได้มีการกำหนดการชำระ เป็น 2 ส่วน คือ 1.การชำระส่วนที่เป็นการชำระเงินมูลค่าขั้นต่ำ แบ่งเป็น 4 งวด ภายใน 4 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินงวดแรก 50% ปีที่ 2 ชำระเงิน 30% ปีที่ 3 ชำระเงิน 10% และปีที่ 4 ชำระเงิน 10%


ประเด็นหลัก


ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีการกำหนดการชำระค่างวดการประมูลทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การชำระส่วนที่เป็นการชำระเงินมูลค่าขั้นต่ำ แบ่งเป็น 4 งวด ภายใน 4 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินงวดแรก 50% ปีที่ 2 ชำระเงิน 30% ปีที่ 3 ชำระเงิน 10% และปีที่ 4 ชำระเงิน 10%

______________________________________

จับตาเจ้าบุญทุ่มทีวีดิจิตอลภารกิจหนักหลังชนะประมูล


โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

รู้ผลเรียบร้อยแล้วสำหรับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ รวม 4 หมวดหมู่ 24 ใบอนุญาต ประกอบด้วย หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต และหมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ใบอนุญาต

สำหรับการประมูลในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) ราคาตั้งต้นที่ 1,510 ล้านบาท ผู้ที่คว้าชัยอันดับ 1.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) เสนอราคาประมูล 3,530 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ของ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 3,460 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง 7) 3,370 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ ของไทยรัฐ 3,360 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท อสมท 3,340 ล้านบาท อันดับ 6 มี 2 บริษัท คือ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี เสนอราคาประมูลเท่ากันที่ 3,320 ล้านบาท รวมมูลค่าการประมูล 7 ใบอนุญาต ที่ 2.37 หมื่นล้านบาท

ขณะที่หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) 7 ใบอนุญาต ราคาตั้งต้น 380 ล้านบาท อันดับ 1.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง ของเวิร์คพอยท์ เสนอราคาประมูลสูงสุดที่ 2,355 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท ทรู ดีทีวี ของทรูวิชั่นส์ 2,315 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี 2,290 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย ของช่อง 3 2,275 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่นส์ 2,265 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัท โมโน บรอดคาซท์ 2,250 ล้านบาท และอันดับ 7 บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง ประมูล 2,200 ล้านบาท รวม 7 ใบอนุญาต มูลค่า 15,955 ล้านบาท

หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต ราคาตั้งต้นที่ 220 ล้านบาท อับดับ 1 บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น (เนชั่น) เสนอราคาประมูล 1,338 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท วอยซ์ ทีวี 1,330 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท ไทยทีวี (ทีวีพูล) 1,328 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น 1,318 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค 1,316 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ (เดลินิวส์) 1,310 ล้านบาท และอันดับ 7 บริษัท 3เอ.มาร์เก็ตติ้ง 1.298 ล้านบาท รวมทั้ง 7 ใบอนุญาต มูลค่าประมูล 9,238 ล้านบาท

ปิดท้ายการประมูลในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีราคาตั้งต้น 140 ล้านบาท อันดับ 1 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) เสนอราคาประมูล 666 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท อสมท 660 ล้านบาท และอันดับ 3 บริษัท ไทยทีวี (ทีวีพูล) เสนอราคาประมูลที่ 648 ล้านบาท รวม 3 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่า 1,974 ล้านบาท

เมื่อรวมการประมูล 2 วัน 4 หมวดหมู่ รวมมูลค่าการประมูลถึง 50,862 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการประมูลในบางหมวดหมู่ที่สูงจากราคาตั้งต้นกว่า 6 เท่าตัว โดยเฉพาะช่องเอสดีและช่องข่าว ส่งผลให้เริ่มมีคำถามตามมาว่า ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องเตรียมงบลงทุนไว้มหาศาลแค่ไหน เพราะนอกจากจะต้องจ่ายค่าการประมูลที่ชนะแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ค่าคอนเทนต์ และค่าบริหารจัดการต่างๆ มากมาย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีการกำหนดการชำระค่างวดการประมูลทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การชำระส่วนที่เป็นการชำระเงินมูลค่าขั้นต่ำ แบ่งเป็น 4 งวด ภายใน 4 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินงวดแรก 50% ปีที่ 2 ชำระเงิน 30% ปีที่ 3 ชำระเงิน 10% และปีที่ 4 ชำระเงิน 10%

ขณะที่เงินส่วนที่สองเป็นการชำระเงินส่วนที่เกินที่เพิ่มจากอนุญาตแข่งขันการประมูล (จากราคาที่เคาะเพิ่ม) แบ่งการชำระเป็น 6 งวด คือ ปีที่ 1-2 ชำระ 10% ปีที่ 3-6 ชำระ 20% ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลจะมีสิทธิเลือกช่องก่อน ตามหมวดหมู่รายการช่องเดียวกัน เช่น ช่องเด็กอยู่ในช่อง 13-15 ช่องข่าวอยู่ในช่อง 16-22 ช่อง SD อยู่ในช่อง 23-29 และช่อง HD อยู่ในช่อง 30-36 ขณะที่ช่องสาธารณะจะอยู่ในช่อง 1-12

ทั้งนี้ จึงจับตามองผู้ที่ชนะการประมูลตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป ว่าจะบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจอย่างไร เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในช่วง 3 ปีแรก ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ที่ชนะการประมูลถึง 3 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD ช่อง SD และช่องเด็ก รวมมูลค่า 6,471 ล้านบาท แกรมมี่ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD และ SD รวมมูลค่า 5,610 ล้านบาท

อสมท ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD และช่องเด็ก รวมมูลค่า 4,000 ล้านบาท ทรูวิชั่นส์คว้า 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง SD และช่องข่าว รวมมูลค่า 3,631 ล้านบาท เนชั่น 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง SD และช่องข่าว รวมมูลค่า 3,538 ล้านบาท และทีวีพูลได้ 2 ใบอนุญาต คือ ช่องข่าวและช่องเด็ก รวมมูลค่า 1,976 ล้านบาท

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ บริษัทไม่ได้กังวลในเรื่องของราคา การที่บริษัทได้ช่องทีวีดิจิตอลมา 2 หมวดหมู่ คือ ช่องทั่วไปความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) ชนะที่ราคา 3,460 ล้านบาท และช่องข่าว ชนะที่ราคา 1,338 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะสัญญา 15 ปี

ด้าน พรรทิภา สกุลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โน้ต พับลิชชิ่ง กล่าวว่า การประมูลทีวีดิจิตอลช่อง SD มีการแข่งขันราคากันค่อนข้างรุนแรง เพราะผู้ชนะเสนอสูงสุดถึง 2,355 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ส่วนการประมูลช่องข่าวและช่องเด็ก เป็นราคาที่รับได้

แม้ว่าผู้ที่ชนะจะออกมาประกาศว่าราคาการประมูลเป็นราคาที่ยอมรับได้ แต่จากตัวเลขที่สูงลิบคงทำให้ต้องจับตามองกันต่อไปว่า หลังจากประกาศผลรับรองใบอนุญาตอย่างเป็นทางการภายใน 15 วัน หลังเสร็จสิ้นการประมูล แต่ละบริษัทจะมีแผนการดำเนินธุรกิจดิจิตอลให้อยู่ได้ และคุ้มทุนในระยะเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร

เพราะงานนี้นอกจากต้องใจถึง มีทั้งฝีมือ คอนเทนต์พร้อมแล้ว ยังต้องมีสายป่านที่ยาวพอตัวทีเดียว

http://www.posttoday.com/%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C/267906/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.