28 มกราคม 2557 สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยประเมินว่า เม็ดเงินเข้า FREE TV โต 2%เป็น 70,800 ล้านบาท ทีวีผ่านดาวเทียมลดลง 6% เป็น14,200 ล้านบาท ส่วนทีวีดิจิทัล ปีแรก 4,300 ล้านบาท (เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศ)
ประเด็นหลัก
ทั้งนี้ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยประเมินว่า การใช้เงินโฆษณาผ่านช่อง 3, 5, 7, 9 ในปี 2557 จะเติบโต 2% จาก 69,249 ล้านบาท เพิ่มเป็น 70,800 ล้านบาท ทีวีผ่านดาวเทียมลดลง 6% จาก 15,153 ล้านบาท เหลือ 14,200 ล้านบาท ส่วนทีวีดิจิทัลคาดว่าจะมีเม็ดเงินในปีแรก 4,300 ล้านบาท จากเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศ
______________________________________
ทีวีดิจิทัลจัดหนักรับ"น้องใหม่" ขาใหญ่"ตีกัน"ขุมทรัพย์โฆษณา
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ทีวีดิจิทัลฝุ่นตลบ "ตีกัน" หน้าใหม่ จับตา "ช่อง 3-ช่อง 7" เปิดเกมป้องขุมทรัพย์ แกรมมี่วอน กสทช.ยืดสัมปทานอีก 2 ปี มีเดียเอเยนซี่คาดเม็ดเงินโฆษณาปีแรก แค่ 4.3 พันล้าน
ผลพวงจาก การให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีก 24 ช่อง เมื่อรวมกับฟรีทีวีเดิม 6 ช่อง และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนับร้อยช่องที่แพร่ภาพอยู่ก่อนแล้ว กำลังส่งผลโดยตรงถึงการแข่งขัน ทั้งการผลิตรายการ การดึงตัวบุคลากรที่มีชั่วโมงบินสูง
ขณะเดียวกัน ยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งครอบครองผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณามากที่สุดใช้ความแข็งแกร่งที่มีอยู่เดิม ช่วงชิงความได้เปรียบให้ได้มากที่สุดมีเดียเอเยนซี่ผู้จัดสรรงบฯโฆษณาราย ใหญ่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด ว่า ช่อง 7 ได้มาพูดคุยรายละเอียดการขายโฆษณาบ้างแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะขาย "แพ็กคู่" ช่องวาไรตี้ HD ที่ได้มาใหม่+ช่อง 7 ในระบบเดิม แต่ยังไม่มีรายละเอียดราคา
ส่วนนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ยืนยันว่า การออกอากาศทีวีดิจิทัลช่องใหม่มีรายละเอียดต้องดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะเครือข่ายการแพร่ภาพ จึงยังเร็วเกินไปที่จะเสนอแพ็กเกจโฆษณาให้กับมีเดียเอเยนซี่ต่าง ๆ
ช่อง 3 ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล รวม 3 ช่อง ได้แก่ ช่องวาไรตี้ ประเภทความคมชัดสูง (HD) ช่องวาไรตี้ ประเภทความคมชัดปกติ (SD) และช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว รวมกับช่อง 3 ปัจจุบันที่ออกอากาศในระบบเดิม (แอนะล็อก) รวมทั้งหมด 4 ช่อง จากเดิมมีอยู่ช่องเดียว
แหล่งข่าวในวง การโทรทัศน์มองว่า การจัดแพ็กเกจขายลักษณะนี้มีเจตนาเพื่อรักษาฐานสปอนเซอร์ที่ลงโฆษณาเอาไว้ ไม่ให้กระเด็นไปอยู่ที่อื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหม่ ๆ กำลังเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของบรรดายักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7 อย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าทุกรายต้องการรักษาฐานคนดูและสปอนเซอร์เอาไว้ เนื่องจากเมื่อจำนวนช่องเพิ่มขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น และมีการแบ่งกลุ่มช่องอย่างชัดเจน อัตราโฆษณาโดยเฉลี่ยต้องลดลง เช่นเดียวกับมีเดียเอเยนซี่จะจัดสรรงบฯ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนดูของแต่ละช่องเป็นสำคัญ
การขายเป็น "แพ็กคู่" ระหว่างช่องที่ออกอากาศในระบบแอนะล็อกเดิมกับช่องดิจิทัลใหม่ ยังแก้โจทย์กระบวนการวัดเรตติ้งของช่องใหม่ ๆ ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีเรตติ้งวัดผล มีเดียเอเยนซี่จะไม่กล้าจัดสรรงบฯโฆษณา จึงต้องขายคู่กันไป
ขณะที่ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งประเมิน ว่า อัตราค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลช่องใหม่ ๆ จะเหลือนาทีละ 30,000-50,000 บาท จากเดิมเป็นหลักแสน
"ถึงอย่างไรช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังมีความแข็งแกร่งมาก มีความพร้อมทุกด้าน และคงยึดครองผู้นำต่อไป"
โฆษณาปีแรก 4.3 พันล้าน
นาย รัฐกร สืบสุข หัวหน้ากลุ่มกลยุทธ์การค้าและการลงทุน กรุ๊ปเอ็ม ในฐานะกรรมการสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงแรก ๆ ผู้ชมยังเกาะกลุ่มรับชมอยู่ที่ช่อง 3 และ 7 ที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือผู้ชมกระจายตัวมากขึ้น สร้างการรับรู้ในตัวรายการยากขึ้น สิ่งที่ผลักดันให้รายได้โฆษณาเพิ่มสูงขึ้น คือคอนเทนต์ต้องมีคุณภาพ สถานีต้องรู้จุดเด่นและตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง เพราะรายการที่เจาะกลุ่มแมสคงไม่สามารถสู้กับเจ้าตลาดสองรายใหญ่อย่างช่อง 3 และช่อง 7 ได้
ทั้งนี้ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยประเมินว่า การใช้เงินโฆษณาผ่านช่อง 3, 5, 7, 9 ในปี 2557 จะเติบโต 2% จาก 69,249 ล้านบาท เพิ่มเป็น 70,800 ล้านบาท ทีวีผ่านดาวเทียมลดลง 6% จาก 15,153 ล้านบาท เหลือ 14,200 ล้านบาท ส่วนทีวีดิจิทัลคาดว่าจะมีเม็ดเงินในปีแรก 4,300 ล้านบาท จากเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศ
ขาใหญ่ได้เลขช่องสมใจ
รายงาน ข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องให้เข้ามาเลือกลำดับช่องรายการในแต่ละหมวด ซึ่งบรรดายักษ์ใหญ่ได้หมายเลขช่องตามที่หมายตาไว้ อาทิ ช่อง 3 อยากได้ช่องที่ลงท้ายด้วยเลข 3 เพื่อให้พ้องกับช่องที่มีอยู่เดิม เริ่มจากช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ช่อง 3 ได้ช่อง 13 อสมท ช่อง 14 ไทยทีวี (ทีวีพูล) ช่อง 15 ช่องข่าว TNN News ได้ช่อง 16 ทีวีพูล ช่อง 17 เดลินิวส์ ช่อง 18 สปริงนิวส์ ช่อง 19 ขณะที่ 3 เอ มาร์เก็ตติ้ง ได้ช่อง 20 วอยซ์ ทีวี ช่อง 21 และเนชั่น ช่อง 22 ช่องวาไรตี้ความคมชัดทั่วไป (SD) เวิร์คพอยท์ ช่อง 23 ทรู ช่อง 24 แกรมมี่ ช่อง 25 เนชั่น ช่อง 26 อาร์. เอส. เทเลวิชั่น ช่อง 27 บีอีซี-มัลติมีเดีย ช่อง 28 และโมโน บรอดคาซท์ (กลุ่มโพธารามิก) ช่อง 29
ส่วนช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง (HD) อสมท ช่อง 30 แกรมมี่ช่อง 31 ไทยรัฐช่อง 32 บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) ช่อง 33 อมรินทร์ ช่อง 34 กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง7) ช่อง 35 และบางกอกมีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง ช่อง 36
แกรมมี่ขอยืดสัมปทาน
นาย ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด กล่าวว่า ค่อนข้างพอใจกับช่องที่ได้ เพราะจดจำง่าย โดยในส่วนช่อง SD อยู่ระหว่างตั้งชื่อใหม่ ทั้งนี้ บริษัทค่อนข้างมีความพร้อม เพราะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เจ้าของช่องทีวีดาวเทียม และมีประสบการณ์มากว่า 30 ปี
ส่วนตัวมองว่า กสทช.ยังไม่พร้อมหลายด้าน 1.โครงข่ายที่จะใช้เวลาถึง 4 ปี 2.กฎ Must Carry ซึ่งต้องใช้ทีวีดาวเทียมสนับสนุนยังไม่พร้อมเต็มที่ และ 3.การแจกคูปองส่วนลดซื้อกล่องและโทรทัศน์เครื่องใหม่ ใช้ระยะเวลา 2-3 ปี 4.ยังไม่มีการวัดเรตติ้ง 5.สถานการณ์บ้านเมือง
หาก กสทช.เลื่อนระยะเวลานับเริ่มต้นของใบอนุญาตออกไปอีก 2 ปี น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาทดลองระบบ ซึ่ง กสทช.จะรับไปพิจารณา แต่เบื้องต้นระบุว่ายังติดในแง่ของกฎหมาย
"เราประมูลสูงขนาดนี้ ก็ต้องการให้คนไทยรับชมได้อย่างรวดเร็ว และทั่วทุกครัวเรือน ส่วนตัวเลขการประมูล ถือว่าแพงมาก คือรวมกันกว่าห้าหมื่นล้าน เมื่อ กสทช.ยังไม่มีความพร้อม อยากให้ กสทช.เลื่อนระยะเวลาเริ่มต้นใบอนุญาตออกไปอีก 2 ปี" นายไพบูลย์กล่าว
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1390891114
ไม่มีความคิดเห็น: