14 พฤษภาคม 2557 กสทช.จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกระบวนการแจกคูปอง ได้แก่ การจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการจัดพิมพ์คูปองทั้งหมด 25 ล้านใบ จากจำนวนครัวเรือน 21.8 ล้านครัวเรือน
ประเด็นหลัก
จากนี้ กสทช.จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกระบวนการแจกคูปอง ได้แก่ การจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการจัดพิมพ์คูปองทั้งหมด 25 ล้านใบ จากจำนวนครัวเรือน 21.8 ล้านครัวเรือน เนื่องจากเผื่อไว้ที่อาจเพิ่มขึ้นเร็ว และการจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งคูปองถึงบ้านประชาชน การวางระบบฐานข้อมูลเชื่อมระหว่างร้านค้าเครือข่าย-กสทช.-กระทรวงมหาดไทย -ธนาคารกรุงไทย เพื่อป้องกันการทุจริตต่าง ๆ โดยงบประมาณทั้งหมดจะใช้เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลช่องธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการแจกคูปองอาจล่าช้าออกไปถึงเดือน ส.ค.ก็เป็นได้ เพราะต้องใช้เวลาจัดทำระบบ 2-3 เดือน
______________________________________
กสทช.เร่งสรุปคูปองทีวีดิจิทัล แจก 25 ล้านใบขยับเวลาไป ส.ค.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ลุ้นมูลค่าคูปองดิจิทัลต่ออีก 2 สัปดาห์ หลังองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคชี้เปิดช่องให้ผู้ผลิตหากำไรเกินไป เผย "กทปส." ตีกรอบคูปองไม่เกิน 1,000 บาท/ครัวเรือน ฟาก "กสทช." เตรียมร่าง TOR จัดซื้อจัดจ้างวางระบบซัพพอร์ตกระบวนการ ตั้งเป้าแจก 25 ล้านใบ "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-สงขลา-โคราช" ได้ประเดิมก่อน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหาร กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทปส. วาระพิเศษ (6 พ.ค. 2557) มีมติเห็นชอบให้นำเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องบริการธุรกิจมาใช้ในโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลโดยจัดพิมพ์เป็นคูปองส่วนลดแจกให้ประชาชนนำไปใช้ลดราคาอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ
แต่อีก 2 สัปดาห์จึงจะสรุปมูลค่าคูปอง หลังจากข้อเสนอ 1,000 บาทต่อครัวเรือนที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยื่นเข้าที่ประชุมได้รับการท้วงติงจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน โดยระบุว่า กล่องแปลงสัญญาณ (Set-Top-Box) ทีวีดิจิทัลรวมกับเสาอากาศ ตั้งราคาที่ 512 บาทก็ยังมีกำไร
ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมในการกำหนดราคาคูปอง คณะกรรมการ กทปส.จึงให้ทางฝั่งคุ้มครองผู้บริโภคส่งข้อมูลมาให้ใหม่ภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลอ้างอิงเดิมเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า ไม่ใช่ DVB-T2 ที่ทันสมัยกว่าและใช้ในระบบทีวีดิจิทัลปัจจุบัน พร้อมกันนี้ กทปส.ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องราคาคูปองโดยเฉพาะ ประกอบด้วยนายพนา ทองมีอาคม เป็นประธาน นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ ผู้แทนจากสภาพัฒน์ และนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค เป็นกรรมการ
"วิธีการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน กทปส.ยังยืนยันว่า จะแจกเป็นคูปอง เพราะถ้าให้ กสทช.ไปจัดซื้อกล่องมาแจกตามที่ฝั่งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเสนอต้องใช้เวลานาน ที่สำคัญการแจกคูปองนั้นโปร่งใสที่สุดแล้ว ขอเวลาอีก 2 สัปดาห์ ราคาคูปองน่าจะออกมาได้แล้ว เบื้องต้นจะไม่เกินครัวเรือนละ 1,000 บาท หลังจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุม กสทช. ซึ่งคงต้องจัดประชุมวาระพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ"
พร้อมส่งประเด็นที่มีการท้วงติงว่า การแจกคูปองมูลค่าสูงกว่า 690 บาทต่อครัวเรือน จะขัดต่อหลักเกณฑ์ในการประมูลทีวีดิจิทัล เพราะใช้เงินเกินกว่ามูลค่าคลื่นขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท และเงื่อนไขที่ให้ใช้ซื้อกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมได้ ทั้งที่ไม่สามารถดู 12 ช่องชุมชนได้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ในระดับชาติและท้องถิ่น ให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช.พิจารณาและส่งข้อสรุปกลับมาภายใน 2 สัปดาห์
ส่วนการจะให้เปิดประชาพิจารณ์มูลค่าคูปองที่เหมาะสมจะทำให้กระบวนการแจกคูปองล่าช้าไปอีก โดย กสทช.จะเริ่มให้ไปรษณีย์ไทยแจกคูปองตามทะเบียนราษฎรที่โครงข่ายทีวีดิจิทัลครอบคลุมไปถึงตั้งแต่ช่วงต้น ก.ค. เพื่อให้ทันงาน NBTC Expo ในวันที่ 17-20 ก.ค. ซึ่งภายในงานจะรวมเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลทุกรูปแบบเอาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคที่มีคูปองนำไปแลกซื้อได้ทันที โดยกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, สงขลา และนครราชสีมาจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับแจก ขณะที่อายุการใช้งานคูปองจะอยู่ที่ 6 เดือน หลังได้รับแจก
สำหรับอุปกรณ์ที่จะใช้คูปองเป็นส่วนลดได้ คือ Set-Top-Box ทีวีดิจิทัล กับเสาอากาศภายในอาคารแบบมีภาคขยาย (Active Antenna), โทรทัศน์ที่มีเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลในตัว และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแบบความละเอียดสูง (HD) ที่เป็นกล่องแบบบอกรับสมาชิก มี 36 ช่องแรกเป็นช่องดิจิทัลตามที่ กสทช.กำหนด และขายขาดให้ผู้บริโภค เพื่อให้ยังดู 36 ช่องทีวีดิจิทัลได้แม้ไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนแล้ว ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้คูปองซื้อได้ต้องรับประกันเครื่อง 3 ปี (เครื่องเสียเปลี่ยนใหม่ทันที)
"ผู้บริโภคจะนำคูปองพร้อมบัตรประชาชนตัวจริงไปซื้ออุปกรณ์ได้ที่ร้านค้าในเครือข่ายของกสทช.ทางร้านจะยิงบาร์โค้ดบนคูปอง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ ฝั่งร้านค้าไม่ต้องลงทุนเซิร์ฟเวอร์ ทาง กสทช.จะลงทุนระบบทั้งหมด แค่มีคอมพิวเตอร์ไว้เชื่อมต่อกับระบบ แล้วมาลงทะเบียนกับ กสทช. แค่นี้ก็จะเป็นร้านค้าที่อยู่ในเครือข่ายที่ประชาชนจะนำคูปองไปใช้ได้"
จากนี้ กสทช.จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกระบวนการแจกคูปอง ได้แก่ การจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการจัดพิมพ์คูปองทั้งหมด 25 ล้านใบ จากจำนวนครัวเรือน 21.8 ล้านครัวเรือน เนื่องจากเผื่อไว้ที่อาจเพิ่มขึ้นเร็ว และการจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งคูปองถึงบ้านประชาชน การวางระบบฐานข้อมูลเชื่อมระหว่างร้านค้าเครือข่าย-กสทช.-กระทรวงมหาดไทย-ธนาคารกรุงไทย เพื่อป้องกันการทุจริตต่าง ๆ โดยงบประมาณทั้งหมดจะใช้เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลช่องธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการแจกคูปองอาจล่าช้าออกไปถึงเดือน ส.ค.ก็เป็นได้ เพราะต้องใช้เวลาจัดทำระบบ 2-3 เดือน
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1400038940
ไม่มีความคิดเห็น: