28 พฤษภาคม 2557 TDRI.สมเกียรติ ระบุ กสทช. ควรให้คูปองเฉพาะแก่ครัวเรือนที่ติดต่อขอรับเท่านั้น แทนการให้คูปองแก่ทุกครัวเรือน และควรให้คูปองเฉพาะกล่องรับสัญญาณสำหรับทีวีภาคพื้นดิน ไม่ควรให้คูปองสำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม
ประเด็นหลัก
"กสทช. ควรให้คูปองเฉพาะแก่ครัวเรือนที่ติดต่อขอรับเท่านั้น แทนการให้คูปองแก่ทุกครัวเรือน และควรให้คูปองเฉพาะกล่องรับสัญญาณสำหรับทีวีภาคพื้นดิน ไม่ควรให้คูปองสำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดมูลค่าของคูปองให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ กสทช. ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก โดยยังสามารถส่งเสริมความแพร่หลายของโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้" นายสมเกียรติ กล่าว.
______________________________________
สะกิด 'กสทช.'ทุ่มงบแจกคูปองทีวีดิจิตอล คิดดีแล้วหรือ?
นักวิชาการแนะ กสทช. แจกคูปองทีวีดิจิตอล 2 หมื่นล้านบาท ได้ไม่คุ้มเสีย แนะดูตัวอย่างต่างประเทศเพื่อลดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ชี้เดินผิดแนวทางทำให้เกิดคำถามตามมาหลายประเด็น...
จากประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแนวคิดดำเนินการแจกคูปองแก่ทุกครัวเรือน เพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับรับชมทีวีดิจิตอล โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านบาท นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความเห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเมื่อ ธ.ค.2556 ทำให้ กสทช. มีรายได้จากการประมูลถึง 51,000 ล้านบาท จากที่คาดว่าจะมีรายได้อย่างน้อย 15,000 ล้านบาท ด้วยรายได้ที่มากเกินคาด กสทช. จึงปรับเพิ่มราคาคูปองสำหรับซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จากเดิมที่จะให้แลกได้เฉพาะกล่องรับสัญญาณ (เซตท็อปบ็อกซ์) มูลค่า 690 บาทต่อใบ มาเป็นคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณ พร้อมสายอากาศ และส่วนลดสำหรับซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประมาณ 1,200 บาทต่อใบ ซึ่งการเพิ่มมูลค่าของคูปอง อาจทำให้มีต้นทุนสำหรับงบประมาณดังกล่าวถึงกว่า 27,000 ล้านบาท
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า แม้ กสทช. มีหน้าที่ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงการแพร่ภาพกระจายเสียง โดยเฉพาะบริการใหม่ๆ อย่างโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล แต่แนวคิดของ กสทช. ทำให้เกิดคำถามใน 4 ประเด็น คือ 1. ควรแจกคูปองให้กับทุกครัวเรือนหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าการแจกให้ทุกครัวเรือนจะใช้เงินค่อนข้างมาก เนื่องจากมีครัวเรือนตามสำมะโนประชากรถึง 22 ล้านครัวเรือน ทั้งที่บางครัวเรือนอาจไม่ต้องการคูปองเพราะสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลด้วยวิธีอื่น เช่น รับชมผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี 2. กับประเด็นที่ว่าควรแจกคูปองสำหรับการซื้อกล่องเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมหรือไม่ เชื่อว่าหาก กสทช. แจกคูปองในส่วนดังกล่าว อาจมีปัญหาตามมาในอนาคต เมื่อโทรทัศน์ชุมชนในระบบดิจิตอลเริ่มให้บริการ จะมีปัญหาว่าไม่สามารถรับชมช่องเหล่านี้ได้ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีกฎว่าทีวีดาวเทียมต้องถ่ายทอดช่องบริการชุมชน
3. มูลค่าของคูปองสูงเกินไปหรือไม่นั้น หากพิจารณาจากกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จะพบว่าเมื่อกำหนดมูลค่าของคูปองไว้สูง ราคากล่องรับสัญญาณก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าร้านค้าที่รับคูปองจะขายอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าร้านค้าที่ไม่รับคูปองมาก ทั้งที่เป็นรุ่นคล้ายกัน ซึ่งหมายความว่าการแจกคูปองทำให้ราคาของอุปกรณ์สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ผลิตอุปกรณ์และร้านค้า ไม่ใช่ประชาชนที่ได้รับคูปอง และ 4. การกำหนดมูลค่าของคูปองคงที่ตลอด 4 ปีนั้นเหมาะสมหรือไม่ ตนขอยกตัวอย่างกรณีของอังกฤษ ราคาของกล่องรับสัญญาณจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ดังนั้นการกำหนดมูลค่าของคูปองตายตัว ในขณะที่กล่องรับสัญญาณมีราคาลดลงจึงเป็นการใช้เงินมากกว่าที่ควรจะเป็น
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการที่ กสทช. น่าจะนำมาพิจารณา ดร.สมเกียรติ ได้ยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ให้คูปองกับครัวเรือนที่ยื่นขอรับสิทธิ์เท่านั้น ขณะที่อังกฤษอุดหนุนค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งให้กับเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผู้ที่ตกงาน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่ออสเตรเลียอุดหนุนค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งให้กับเฉพาะผู้สูงอายุที่รับบำนาญ ผู้พิการ และทหารผ่านศึก
"กสทช. ควรให้คูปองเฉพาะแก่ครัวเรือนที่ติดต่อขอรับเท่านั้น แทนการให้คูปองแก่ทุกครัวเรือน และควรให้คูปองเฉพาะกล่องรับสัญญาณสำหรับทีวีภาคพื้นดิน ไม่ควรให้คูปองสำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดมูลค่าของคูปองให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ กสทช. ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก โดยยังสามารถส่งเสริมความแพร่หลายของโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้" นายสมเกียรติ กล่าว.
http://www.thairath.co.th/content/425280
ไม่มีความคิดเห็น: