23 มิถุนายน 2557 ไทยรัฐทีวี.วัชร วัชรพล ระบุ กล่องราคาต่ำระดับ 500 บาท อาจมีปัญหาไม่สามารถรับชมช่องเอชดีได้ ชี้ค่าเช่าใช้โครงข่ายเดือนละ 4-5 ล้านบาท ซึ่งกำลังเริ่มต้นจ่าย ค่าบริหาร-จัดการ เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงพนักงาน
ประเด็นหลัก
วัชร วัชรพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด
เจ้าของช่องดิจิตอล “ไทยรัฐทีวี”
ในฐานะผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลที่เดินเครื่องทำธุรกิจเต็มที่ เต็มกำลัง ทุ่มเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ผมคาดหวังว่าการเดินหน้าแจกคูปองจะทำได้อย่างเร็วที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดและทำให้ผู้คนรู้จักทีวีดิจิตอลมากกว่านี้
หลังประมูลใบอนุญาตเสร็จ ดอกเบี้ยก็เริ่มเดิน ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าเช่าใช้โครงข่ายเดือนละ 4-5 ล้านบาท ซึ่งกำลังเริ่มต้นจ่าย ค่าบริหาร-จัดการ เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงพนักงาน อีกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 ล้านบาท ขณะที่อายุใบอนุญาตเริ่มนับถอยหลัง หยุดก็ไม่ได้ ถ้าไม่เร่งเดินหน้าสร้างฐานผู้ชมให้เรา เราก็ลำบาก เพราะสิ่งที่เราต้องการคือจำนวนผู้ชม เพราะมีผลต่อการขายโฆษณา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะแจกให้กล่องอะไร อย่างไร ผมอยากให้แจกคูปองให้เร็วที่สุด นั่นเป็นอันดับแรก อันดับต่อมา เนื่องด้วยไทยรัฐทีวี เป็นช่องความละเอียดของภาพสูง (เอชดี) เราย่อมต้องการให้การรับชมผ่านทุกระบบ ทุกกล่องสามารถดูช่องของเราได้ตามมาตรฐานดิจิตอล ไทยรัฐทีวีต้องเป็นเอชดีไม่ว่าจะดูผ่านกล่องอะไร
ผมยังอยากเรียกร้องให้มูลค่าของคูปองมีความเหมาะสมต่อกล่องที่มีคุณภาพ ระดับราคาควรอยู่ที่ 1,000 บาท เพราะกล่องราคาต่ำระดับ 500 บาท อาจมีปัญหาไม่สามารถรับชมช่องเอชดีได้ และยังไม่รองรับการออกอากาศระบบเสียงมาตรฐานดอลบี้ (DOLBY) ของช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นประชาชนในการเข้าถึงเทคโนโลยีดีๆ ทั้งที่ทางช่องตั้งใจพัฒนาคุณภาพและใช้เงินลงทุนไป
เป็นจำนวนมาก.
______________________________________
'ปลดล็อก' คูปองทีวีดิจิตอล เอกชนลุ้น กสทช.คืนความสุขคนไทย
โดย ทีมเศรษฐกิจ 23 มิ.ย. 2557 05:01
ไพบูลย์ - ศุภชัย - วัชร - สุรชัย - พัชระ
โครงการสนับสนุนเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ ระบบดิจิตอล หรือการแจกคูปองทีวีดิจิตอล เป็นอีก 1 โครงการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้คณะกรรมการติดตามผลและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดประโยชน์กับภาครัฐ รวมทั้งตอบความข้อสงสัยของประชาชน
โดย คสช.ยังมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2557 ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) “ชะลอ” การดำเนินใน 4 โครงการเป็นการชั่วคราว ได้แก่ 1.การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ 2.การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ 3.โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม (USO) และ 4.การแจกคูปองทีวีดิจิตอล
ในทางกลับกัน การมีคำสั่งชะลอการแจกคูปองดิจิตอลออกไปกลายเป็นการสร้างความวิตก กังวล สงสัย ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ผู้ซึ่งรอคอยการแจกคูปอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดทีวีดิจิตอลให้คึกคักยิ่งขึ้น
“จำนรรค์ ศิริตัน” นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จึงได้ทำหนังสือเป็นครั้งที่ 2 ยื่นต่อ กสทช. ยืนยันเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการแจกคูปองมูลค่า 1,000 บาท
เธอยืนยันว่า การแจกคูปองที่ล่าช้าออกไปนั้น ทำให้ผู้ประกอบ การทั้ง 24 ช่องเดือดร้อน จนถึงขณะนี้ยังแจกไม่ได้ เสียหายไปแล้ว 2,500 ล้านบาท และหากเดือน ส.ค.ล่วงเลยไป ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 30%
ขณะที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้เป็นอีกช่องทางที่ร่วมสะท้อนปัญหานี้!!!
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน)
เจ้าของช่องดิจิตอล “วัน” และ “บิ๊ก”
การเลื่อนแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอลครั้งนี้ ถามผม...ผมก็ต้องบอกว่าในฐานะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอลด้วย เดือดร้อนมากถึงมากที่สุด ถ้าไม่แจกคูปองเดือน ก.ค.นี้ หรือลากยาวล่าช้าไปกว่านี้ ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง อาจล่มสลาย เพราะการทำทีวีดิจิตอล หากไม่มีคนดูหรือคนดูไม่ได้ เรตติ้งไม่มี โฆษณาไม่มี รายได้ไม่เกิด พังทั้งระบบและล่มสลายแน่ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องที่หนักมาก
อยากขอวิงวอนให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ประกอบการอย่าทะเลาะกันเลย เริ่มแจกคูปองเถอะ จะเป็นกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล DVB-T2 หรือภาคดาวเทียม DVB-S2 อะไรก็ได้ ขอให้รีบแจกก่อนเถอะ เพื่อให้ทีวีดิจิตอลมีคนดู และมีเรตติ้งเกิดขึ้น เพราะเมื่อมีเรตติ้ง ก็มีโฆษณา ผู้ประกอบการก็จะอยู่ได้ อย่าไปคิดถึงวิธีอื่นๆเลย ในส่วนของผม ผมไม่เกี่ยงอะไรทั้งสิ้น จะอะไรก็ได้ DVB-T2 หรือ DVB-S2 อยากให้รีบๆ แจกคูปองให้เร็วที่สุด เพราะ ณ ตอนนี้หลักการทุกอย่างมีหมดแล้ว
ในเรื่องของความเสียหาย ทั้งระบบเสียหายมหาศาล ยิ่งล่าช้าและชะลอการจ่ายคูปองออกไปก่อน จากที่ต้องแจกจ่ายให้กับประชาชนในเดือน ก.ค. นี้ ความเสียหายน่าจะมีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,000 ล้านบาท เพราะทุกค่ายมีการลงทุนเกิดขึ้นมหาศาลหลังประมูลได้
ผมอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ช่วยสนับสนุนการแจกคูปองให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด ให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสรับชมรายการของทีวีดิจิตอล รวมถึงช่วยสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกไปดิจิตอล เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะวันนี้ผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องเสียหายมหาศาล จนอาจถึงขั้นไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้เพราะประชาชนไม่สามารถรับชมได้ อยากขอร้องให้ได้โปรดเห็นใจ ผู้ประกอบการไม่สามารถรอได้นานถึง 3-6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ที่ทุกอย่างพังในวันนี้ เพราะ กสทช.ยังมีข้อโต้เถียงกันไม่สิ้นสุด ความหวังที่ต้องการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอลคงลำบาก เมื่อทั้ง 24 ช่อง ไม่มีคนดู ไม่มีเรตติ้ง ไม่มีโฆษณา ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่ายทุกวัน จะอยู่กันอย่างไร.
ศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เจ้าของช่องดิจิตอล “ทรูฟอร์ยู” และ “ทีเอ็นเอ็น”
การแจกคูปองที่ล่าช้า ก็จะทำให้การขายกล่องช้าลงเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับทรู ซึ่งมีความหวังว่าจะได้เข้าโครงการแจกคูปอง สำหรับลูกค้าทรูที่ต้องการเปลี่ยนกล่องดาวเทียมเป็น DVB-S2 หรือกล่องเคเบิล เป็น DVB-C2 ก็ย่อมได้รับผลกระทบ
ผมขอยืนยันว่าการแจกคูปองต้องครอบคลุมถึงกล่องดาวเทียมและเคเบิลด้วย เพราะทีวีระบบดาวเทียมและเคเบิลอย่างทรูวิชั่นส์ ก็ได้ให้ความร่วมมือในการออกอากาศช่องดิจิตอลใหม่ 24 ช่องด้วย เมื่อเราออกอากาศตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ให้ ก็ควรให้เราร่วมโครงการ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม เมื่อเปลี่ยนกล่องใหม่ ผู้ชมจะได้รับชมช่องตามมาตรฐานเอชดี จากปัจจุบันการออกอากาศช่องเอชดี (ความคมชัดมาตรฐาน) ดิจิตอลบนระบบทรูวิชั่นส์เป็นการออกให้แค่ระบบเอสดี (ความคมชัดปกติ) เท่านั้น
ที่สำคัญการติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินนั้น ยังต้องใช้เวลาแจกกล่องไปแต่ผู้ชมดูไม่ได้ ก็อาจจะมีปัญหา ผมว่าโครงข่ายภาคพื้นดินปีนี้ น่าจะยังไม่ครอบคลุมมากนัก ต้องรอไปปีหน้า
การแจกคูปองให้สำหรับผู้ชมบนกล่องดาวเทียมและเคเบิล จึงเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ เพราะระบบดาวเทียมก็ถือเป็นโครงข่ายทีวีเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ถ้ากีดกันก็น่าจะถือว่าเป็นการเลือกที่รัก
มักที่ชัง (Discrimination)
วัชร วัชรพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด
เจ้าของช่องดิจิตอล “ไทยรัฐทีวี”
ในฐานะผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลที่เดินเครื่องทำธุรกิจเต็มที่ เต็มกำลัง ทุ่มเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ผมคาดหวังว่าการเดินหน้าแจกคูปองจะทำได้อย่างเร็วที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดและทำให้ผู้คนรู้จักทีวีดิจิตอลมากกว่านี้
หลังประมูลใบอนุญาตเสร็จ ดอกเบี้ยก็เริ่มเดิน ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าเช่าใช้โครงข่ายเดือนละ 4-5 ล้านบาท ซึ่งกำลังเริ่มต้นจ่าย ค่าบริหาร-จัดการ เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงพนักงาน อีกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 ล้านบาท ขณะที่อายุใบอนุญาตเริ่มนับถอยหลัง หยุดก็ไม่ได้ ถ้าไม่เร่งเดินหน้าสร้างฐานผู้ชมให้เรา เราก็ลำบาก เพราะสิ่งที่เราต้องการคือจำนวนผู้ชม เพราะมีผลต่อการขายโฆษณา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะแจกให้กล่องอะไร อย่างไร ผมอยากให้แจกคูปองให้เร็วที่สุด นั่นเป็นอันดับแรก อันดับต่อมา เนื่องด้วยไทยรัฐทีวี เป็นช่องความละเอียดของภาพสูง (เอชดี) เราย่อมต้องการให้การรับชมผ่านทุกระบบ ทุกกล่องสามารถดูช่องของเราได้ตามมาตรฐานดิจิตอล ไทยรัฐทีวีต้องเป็นเอชดีไม่ว่าจะดูผ่านกล่องอะไร
“เราจึงจะไม่ออกมาคัดค้านการแจกคูปองสำหรับกล่องดาวเทียมและเคเบิล หากมีการแจกคูปองให้กับกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิล และกำหนดให้กล่องต้องเรียงช่องตามมาตรฐานดิจิตอล ไทยรัฐทีวีต้องอยู่ช่อง 32 และออกอากาศเป็นเอชดี ไม่ใช่ระบบความคมชัดธรรมดา (เอสดี) ผมก็ไม่มีปัญหา”
ผมยอมรับว่ามึนกับความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ระหว่างผู้ประกอบการ แต่ผมคิดว่าผมเข้าใจในจุดยืนของแต่ละคน เข้าใจว่าทำไมผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลบางกลุ่ม ต้องการให้การแจกคูปอง ครอบคลุมเพียงเฉพาะทีวีดิจิตอลและกล่องเซ็ทท็อปบ็อกซ์ที่รองรับระบบภาคพื้นดิน (DVB-T2) เท่านั้น ไม่ควรครอบคลุมไปถึงกล่องทีวีดาวเทียม (DVB-S2) และเคเบิล (DVB-C2) แต่สำหรับไทยรัฐทีวี หากคูปองใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกล่องดาวเทียม-เคเบิล และดูช่องไทยรัฐเป็นเอชดีได้ ผมถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมช่องของผม
ผมยังอยากเรียกร้องให้มูลค่าของคูปองมีความเหมาะสมต่อกล่องที่มีคุณภาพ ระดับราคาควรอยู่ที่ 1,000 บาท เพราะกล่องราคาต่ำระดับ 500 บาท อาจมีปัญหาไม่สามารถรับชมช่องเอชดีได้ และยังไม่รองรับการออกอากาศระบบเสียงมาตรฐานดอลบี้ (DOLBY) ของช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นประชาชนในการเข้าถึงเทคโนโลยีดีๆ ทั้งที่ทางช่องตั้งใจพัฒนาคุณภาพและใช้เงินลงทุนไป
เป็นจำนวนมาก.
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
เจ้าของช่องดิจิตอล “8”
การเลื่อนแจกคูปองส่วนลดเพื่อแลกกล่องทีวีดิจิตอลหรืออุปกรณ์รับสัญญาณแก่ประชาชนครั้งนี้ ในฐานะผู้ประกอบการที่ร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอลด้วย คือ ช่อง 8 หมายเลข 27 อยากจะบอกว่า ผู้ประกอบการทุกรายที่ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล เพราะโครงการสนับสนุนช่วยเหลือ
การเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล ด้วยการแจกคูปองส่วนลด เพื่อสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณแก่ประชาชน
แต่วันนี้เมื่อเราประมูลได้แล้ว และปฏิบัติตามกฎของ กสทช.ทุกอย่างอย่างเคร่งครัด จ่ายเงินการประมูลบางส่วนไปแล้ว ลงทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตต่างๆไปแล้ว ผลิตคอนเทนต์รายการต่างๆ ป้อนทีวีดิจิตอลแล้ว ซึ่งแต่ละช่องใช้เงินลงทุนไปจำนวนมหาศาล
ปรากฏว่าแผนการแจกคูปองแลกกล่องฯ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นให้การเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้น และทำให้อาร์เอสฯ ตัดสินใจเข้าร่วมประมูล กลับเปลี่ยนไป คือชะลอออกไปก่อน ความล่าช้าจากเงื่อนไขเดิม ที่ให้เริ่มดำเนินธุรกิจได้วันที่ 25 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา จะทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องได้รับความเสียหายอย่างมาก
“เมื่อผู้ประกอบการทุกค่าย ปฏิบัติตามกฎและกำหนดระยะเวลาของ กสทช.แล้ว ก็มีต้นทุนเกิดขึ้น วันนี้มีเหตุให้ต้องชะลอ และเลื่อนการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล กสทช.จะต้องรับผิดชอบ และทำอะไรก็ได้ให้แจกคูปองให้กับประชาชนเร็วที่สุด ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ รวมถึงอาร์เอสฯ ได้พยายามยื่นจดหมายถึง กสทช.
หลายครั้ง เพื่อเร่งให้ กสทช.ทำตามกรอบเวลา แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะใน กสทช.เองก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ทั้งเรื่องราคาและรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ รวมถึงยังไม่เป็นเอกฉันท์ในหลายๆ เรื่องขอยืนยัน ว่าถ้าการแจกคูปองต้องเลื่อนออกไปยาวถึงเดือน ก.ย. กสทช.จะต้องรับผิดชอบและหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน รวมถึงหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้วย เพราะทั้งระบบจะเสียหายหลายพันล้านบาท”
ผมเชื่อว่าวันนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องการเพียงแค่ความชัดเจนเท่านั้น กสทช.ต้องหาวิธีนำเสนอและคุยกันให้เป็นเอกฉันท์ ก่อนที่จะคุยกับ คสช. หากยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ ความเดือดร้อนไม่ได้เกิดกับใครเลย แต่เกิดกับผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องเต็มๆ.
พัชระ สารพิมพา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักข่าวสปริงนิวส์
เจ้าของช่องดิจิตอล “สปริงนิวส์”
ถ้าแจกคูปองช้า คนก็เข้าถึงกล่องทีวีดิจิตอลได้น้อยลง เรตติ้งก็คงยังไม่สมบูรณ์ ช่องขายโฆษณาลำบาก รายได้ไม่เข้า ผู้ประกอบการย่อมต้องได้รับความเสียหายแน่
“ขณะนี้เรามีต้นทุนแล้ว ทั้งเรื่องการดำเนินงาน ไม่นับเงินที่ต้องใช้ในการประมูลของสปริงนิวส์เป็นเงินกว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่องอื่นๆ อย่างช่องเอชดี ทุ่มเงินประมูลสูงกว่านี้ แต่กระบวนการที่จะทำให้ผู้ชมเข้าถึงเราได้มากยิ่งขึ้น กลับไม่ไปถึงไหน เราเดือดร้อนแน่ และความจริงความล่าช้าส่อแววมาให้เห็นตั้งแต่ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสั่ง
เบรกการแจกคูปองไปก่อนด้วยซ้ำ เพราะ กสทช.ตกลงกันไม่ได้สักที”
และในฐานะที่เป็นเจ้าของเงิน เนื่องจากเงินที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการแจกคูปองนั้น เป็นเงินที่ได้จากการประมูล ผมอยากเห็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพ และเป็นการวางรากฐานให้กับทีวีระบบภาคพื้นดินจริงๆ
จุดยืนของสปริงนิวส์ จึงไม่ต้องการให้แจกคูปองสำหรับกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล เพราะถือเป็นคู่แข่งของทีวีระบบภาคพื้นดิน การให้ร่วมโครงการจึงจะเป็นการสนับสนุนให้ระบบดาวเทียม
และเคเบิลยังอยู่ในตลาด แข่งขันกับระบบภาคพื้นดินได้ ทั้งๆที่หลายเจ้าไม่ได้เข้าประมูลช่อง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
ผมยังอยากเสนอให้มีการแจกคูปองตามความต้องการซื้อของประชาชน เช่นใครต้องการกล่องเซ็ทท็อปบ็อกซ์ ก็อาจให้คูปองมูลค่า 500 บาท ส่วนใครต้องการซื้อทีวีดิจิตอลเครื่องใหม่ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าเซ็ทท็อปบ็อกซ์ ก็อาจให้คูปองมูลค่า 1,000 บาท ผมว่ามันอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อย แต่น่าจะเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่า.
ทีมเศรษฐกิจ
http://www.thairath.co.th/content/431249
ไม่มีความคิดเห็น: