01 มิถุนายน 2557 ช่องทางการรับชมสัญญาญทีวีในปัจจุบัน ( TRUEVISION 42% )( PSI 30% )( GMMz 18% )( เคเบิลเท่ากับ ANALOG 14% )( CTH 11 )(SUN BOX 4%)( IPM 3% )
ประเด็นหลัก
สำหรับพฤติกรรมรับชม จากการสำรวจครั้งที่ 1 พบว่า 52% ยังรับชมช่อง 3-5-7 และโมเดิร์นไนน์ทีวีเป็นหลัก อีก 39% รับชมทั้ง 2 ช่องทางทั้งทีวีระบบเดิมและทีวีดิจิทัลเท่า ๆ กัน มีแค่ 8% ที่รับชมช่องทีวีดิจิทัลเป็นหลัก และครั้งที่ 2 พบว่า 51% ชมช่อง 3-5-7 และโมเดิร์นไนน์ทีวีเหมือนเดิม มี 44% รับชมทั้ง 2 แบบเท่า ๆ กัน ส่วน 5% ชมช่องทีวีดิจิทัลเป็นหลัก
ผลสำรวจครั้งที่ 2 ยังระบุถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การเกิดขึ้นของช่องทีวีดิจิทัลอาจส่งผลให้จำนวนผู้ชมทีวีแอนะล็อกลดลงถึง 40%
______________________________________
"ช่อง 3-7 HD-เวิร์คพอยท์" แรง ฝ่ามรสุม "ทีวีดิจิทัล" รอบทิศ
ผ่านมา 1 เดือนเต็ม ๆ กับการออนแอร์ 24 ช่องทีวีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ทุกช่องออกอากาศเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมเป็นต้นมา ท่ามกลางสารพัดปัญหา ทั้งจากเป็นการเปิดตัวออกอากาศในช่วงที่ทหารเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ทำให้รายการประจำที่เตรียมเอาไว้ถูกลดทอนความสนใจและขาดความต่อเนื่อง
บวกกับความไม่พร้อมของ กสทช.เอง ทั้งการแจกกล่องรับสัญญาณ ทำให้รับชมได้เฉพาะช่องทางทีวีดาวเทียมเท่านั้น และที่กำลังกลายเป็นความวิตกกังวลอย่างยิ่งคือ การวัดผลความนิยมผู้ชม (เรตติ้ง) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจวางแผนโฆษณาของมีเดียเอเยนซี่ หรือบรรดาแบรนด์สินค้า
ถ้าไม่มีตัวเลขเรตติ้ง มีเดียเอเยนซี่ หรือสินค้าก็ไม่สามารถตัดสินใจวางแผนโฆษณา เพราะไม่มีเครื่องมือวัดผล สิ่งที่มีเดียเอเยนซี่และแบรนด์สินค้าทำได้ในเวลานี้ คือ "รอ" และ "รอ" เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง "ช่อง" หรือ "สถานี" ไม่สามารถรอได้ เพราะหมายถึงต้นทุน และดอกเบี้ย ของผู้ประกอบการทุกราย
โฆษณาเริ่มไหลเข้า
"นภาพร เจตะวัฒนะ" หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสื่อ บริษัท มายด์แชร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การวัดเรตติ้งของเอซี นีลเส็นที่เริ่มมีออกมา ถือว่านำมาใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะเป็นข้อมูลที่วัดผลจากผู้ชม 24 ช่องทีวีดิจิทัล ที่รับชมผ่านช่องทางเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม ซึ่งครอบคลุมเพียง 60-70% ของครัวเรือน ไม่ถือเป็นเรตติ้งผู้ชมทั้งประเทศ เนื่องจาก กสทช.ยังไม่ได้แจกกล่องรับสัญญาณ
อย่างไรก็ตาม ผลเรตติ้งที่ได้รับสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.รายที่ยกระดับจากเคยแพร่ภาพผ่านทีวีดาวเทียมเปลี่ยนไปเป็นทีวีดิจิทัล คือ เวิร์คพอยท์ และช่อง 8 พบว่าทั้งคู่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เรตติ้งโตขึ้น 50% เมื่อเทียบกับอยู่บนแพลตฟอร์มดาวเทียม
2.ช่องดิจิทัลใหม่ เช่น ไทยรัฐทีวี โมโน29 นิวส์ทีวี พีพีทีวี เป็นต้น กลุ่มนี้ยังไม่มีฐานการเติบโตเพราะเป็นช่องใหม่ ทำให้ไม่มีฐานในการเปรียบเทียบ ซึ่งต้องประเมินผลอีกครั้ง
"วันนี้เม็ดเงินโฆษณาที่เข้าไปยังทีวีดิจิทัลไม่ชัดเจน แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นคือ เริ่มมีโฆษณาเข้ามาที่ช่องทีวีดิจิทัลแล้ว โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค"
แข่งชูจุดแข็ง-รายการเด็ด
นภาพรได้ตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับในเฟสแรก พบว่าทุกช่องพยายามสร้างช่วงเวลาไพรมไทม์ที่แตกต่างกัน เช่น ไทยรัฐทีวี ใช้รายการวาไรตี้เชิงข่าว ช่องเวิร์คพอยท์ครีเอทีฟทีวี ที่จัดเวลาไพรมไทม์ให้กับรายการวาไรตี้ ส่วนช่อง 3 เอชดี ช่อง 3 เอสดี และช่อง 3 แฟมิลี่ ถือว่าชัดเจน ด้วยวางรายการข่าวในเวลาไพรมไทม์
"สิ่งที่ช่องทีวีดิจิทัลกำลังทำ คือพยายามดึงคนดูผ่านการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ขณะที่ช่องเองต้องสร้างสลอตเวลาให้ผู้ชมจดจำได้ ซึ่งช่องต่าง ๆ คงจะเริ่มปรับผังเฟส 2 ในสิงหาคม-กันยายนนี้ ขณะที่บางช่องก็จะปรับผังอีกครั้งต้นปีหน้า"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยรัฐทีวี วางเวลาตั้งแต่ 19.45-23.45 น. ให้แก่วาไรตี้เชิงข่าว เช่น จากหน้า 1 ถึงวันนี้ อาชญากรรมหน้า 1 ดราม่าต้องสืบ เป็นต้น ฟากเวิร์คพอยท์ครีเอทีฟทีวี ก็ยกเวลาไพรมไทม์
ในช่วง 19.30-23.00 น. ให้วาไรตี้ เกมโชว์ และซีรีส์เกาหลี เช่น ปริศนาฟ้าแล่บ ไมค์ทองคำ The dish เมนูทอง ฟาสต์ฟูดส์ธุรกิจ สายลับจับแกะ ศัลยกรรมพลิกชีวิต เป็นต้น
หากนับเวลาออกอากาศตั้งแต่ช่วงทดลองออกอากาศตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนนี้ "วรรณี รัตนพล" ประธานบริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส จำกัด นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย มองว่า พฤติกรรมผู้ชม (ไม่นับรวมช่องทีวีแอนะล็อกรายเดิม) ยังคงยึดติดกับการรับชมทีวีช่องเดิม ๆ คือ เวิร์คพอยท์ และช่อง 8 ที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว
กระนั้นก็ตาม สัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่ของสื่อทีวียังมาจากทีวีแอนะล็อก (3, 5, 7, โมเดิร์นไนน์)
ชี้อนาคตทีวีดิจิทัลรุ่งแน่
การสำรวจเรื่อง "ทีวีดิจิทัล" ของสมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคระหว่างวันที่ 18 เมษายน-2 พฤษภาคม 2557 รวม 771 ตัวอย่าง และครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2557 อีก 974 ตัวอย่าง พบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ผู้ชมได้เปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดูทีวีดิจิทัลจาก 37% ในครั้งแรก เพิ่มเป็น 40% ในครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับที่พบว่า ผู้ชมเริ่มจดจำเลขช่องได้มากขึ้น จากเดิมที่ผู้ชมสับสน จำเลขช่องไม่ได้สูงถึง 84% โดย 5 อันดับแรกที่ผู้ชมรู้จักในครั้งที่ 1 คือ ช่อง 3 เอชดี, เวิร์คพอยท์, เนชั่นชาแนล, ช่อง 7 เอชดี และช่อง 3 เอสดี
ส่วนครั้งที่ 2 คือ ช่อง 3 เอชดี, ช่อง 7 เอชดี, เวิร์คพอยท์, ช่อง 3 เอสดี และอันดับ 5 มี 2 ช่อง ได้แก่ Mcot และไทยรัฐทีวี
สำหรับพฤติกรรมรับชม จากการสำรวจครั้งที่ 1 พบว่า 52% ยังรับชมช่อง 3-5-7 และโมเดิร์นไนน์ทีวีเป็นหลัก อีก 39% รับชมทั้ง 2 ช่องทางทั้งทีวีระบบเดิมและทีวีดิจิทัลเท่า ๆ กัน มีแค่ 8% ที่รับชมช่องทีวีดิจิทัลเป็นหลัก และครั้งที่ 2 พบว่า 51% ชมช่อง 3-5-7 และโมเดิร์นไนน์ทีวีเหมือนเดิม มี 44% รับชมทั้ง 2 แบบเท่า ๆ กัน ส่วน 5% ชมช่องทีวีดิจิทัลเป็นหลัก
ผลสำรวจครั้งที่ 2 ยังระบุถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การเกิดขึ้นของช่องทีวีดิจิทัลอาจส่งผลให้จำนวนผู้ชมทีวีแอนะล็อกลดลงถึง 40%
นั่นหมายถึงเรตติ้งของทีวีแอนะล็อกจะลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคต
ยอมแบกขาดทุน 3-5 ปีแรก
ฟากผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลไม่รอช้า ต่างวางกลยุทธ์หวังแจ้งเกิดช่องในใจผู้ชมให้เร็วที่สุดเพื่อเรียกเม็ดเงินโฆษณา "ประวิทย์ มาลีนนท์" กรรมการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เคยกล่าวว่า ภาพรวมช่องดิจิทัลทั้ง 3 ช่องที่ประมูลมานั้น คาดว่าแนวโน้มเรตติ้งจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงนี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างผลิตรายการใหม่ ๆ คาดว่าจะนำเสนอคอนเทนต์ได้อย่างสมบูรณ์ต้นปี 2558
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าช่วง 5 ปีแรกของทีวีดิจิทัล เป็นช่วงเวลาที่ช่องต่าง ๆ ต้องลงทุนในทุก ๆ ด้าน ทำให้ในช่วง 5 ปีนี้ ผู้ประกอบการยังคงอยู่ในภาวะขาดทุน โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถคืนทุนได้อย่างช้า 3 ปีเช่นกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยกช่องจากดาวเทียมมาออกอากาศระบบดิจิทัล เตรียมปรับราคาโฆษณาขึ้นแล้ว เพราะได้อานิสงส์จากฐานผู้ชมเดิม ประกอบกับวางแคแร็กเตอร์ช่องที่ชัดเจน
รายใหม่ฟิตหนัก
"ปัญญา นิรันดร์กุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ความแตกต่างของช่องคือ การวางรายการวาไรตี้ในเวลาไพรมไทม์ ซึ่งหลังจากออกอากาศตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าได้รับผลตอบรับดีทั้งจากผู้ชมและโฆษณา ในอนาคตมีแผนปรับขึ้นราคาโฆษณาอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ เวิร์คพอยท์ได้ปรับขึ้นราคาโฆษณาไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากยกช่องเวิร์คพอยท์ทีวีมาออกอากาศระบบดิจิทัล วางราคาใหม่ต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อนาที และสูงสุดอยู่ที่หลักแสนต่อนาที เช่นเดียวกับช่อง 8 ที่ประกาศปรับขึ้นโฆษณาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมาจาก 10,000-120,000 บาทต่อนาที เป็น 20,000-200,000 บาทต่อนาที ให้เหตุผลว่าเรตติ้งดีขึ้น จากการวัดผลของเอซี นีลเส็น ในสัปดาห์ล่าสุดพบว่า มีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 5 โดยรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดเทียบเท่ากับละครหลังข่าวทางฟรีทีวีเดิม ได้แก่ เสียงสวรรค์ พิชิตฝัน เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ช่องน้องใหม่ "พีพีทีวี" ไม่ได้ถอดใจ แม้รายได้จากโฆษณาจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 700 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ และมีแผนว่าจะต้องปรับลดเป้ารายได้ลง จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยังเดินหน้าส่งผังรายการเฟส 2 ที่มาพร้อมคอนเทนต์ใหม่ลงจอในเดือนกรกฎาคมนี้ เศรษฐกิจไม่เอื้อ สินค้าก็ไม่แพลนงบฯโฆษณา ประกอบกับปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเข้ามารอบด้าน กลายเป็นโจทย์หลักที่ช่องทีวีดิจิทัล ต้องฝ่าวิกฤตไปให้ได้
เกมนี้ไม่ใช่แค่ดิ้นให้พ้น แต่ต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้อีกด้วย
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1404197269
ไม่มีความคิดเห็น: