Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

16 กันยายน 2557 กสทช.พีระพงษ์ ระบุ เป็นเรื่องปกติที่ช่อง 3 มายื่นหนังสือขอทบทวนมติของ กสท. เราไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจบ้าบอ ต้องรักษาเกณฑ์ตามกฎหมาย

ประเด็นหลัก



       ขณะที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่ช่อง 3 มายื่นหนังสือขอทบทวนมติของ กสท. ผมคิดว่าอย่างไรบอร์ดใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องหรอก ก็ต้องมาถามบอร์ดเล็กอยู่ดี เรายืนยันว่าเราไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจบ้าบอ ต้องรักษาเกณฑ์ตามกฎหมาย”

______________________________




ช่อง 3 ยื้อไม่เลิก ส่งหนังสือร้อง กสทช.ทบทวนมติ กสท.



        “ประวิทย์” ควงคู่ลูกชาย เข้าพบเลขาธิการ กสทช. ส่งหนังสือขอทบทวนมติ กสท. เรื่องช่อง 3 ย้ำจุดยืนต้องทำทุกทางไม่ให้ช่อง 3 จอดำ ด้าน “ฐากร” ชี้จะนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. 17 ก.ย.นี้
     
     


     
       เมื่อวันที่ 12 ก.ย. เวลาประมาณ 12.55 น. นายประวิทย์ มาลีนนท์ ในนามตัวแทน บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) พร้อมด้วยนายวรวรรธน์ มาลีนนท์ ลูกชาย เข้ามายื่นหนังสือต่อ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ทบทวนมติของบอร์ด กสท.เรื่องช่อง 3 ที่สำนักงาน กสทช.
     
       สำหรับบรรยากาศในการยื่นเอกสารนั้น นายประวิทย์ ใช้เวลาในการหารือกับเลขาธิการ กสทช.เพียง 15 นาที และออกมาให้สื่อมวลชนถ่ายรูปการยื่นหนังสือคู่กับเลขาธิการ กสทช.โดยไม่ให้ข่าวใดๆ แก่สื่อมวลชน มีเพียงคำพูดสั้นๆ ว่า “ให้ไปถามท่านเลขาครับ”
     
       แต่หลังจากนั้น เวลา 14.26 น. นายประวิทย์ พร้อมลูกชายกลับเข้ามายื่นเอกสารอีกครั้ง โดยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนสั้นๆ ว่า “ผมทำหน้าที่ยื่นหนังสืออย่างเดียว อำนาจอยู่ที่ กสทช.จุดยืนของผมคือ พยายามไม่ให้จอดำ”
     
       ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การที่ตัวแทนช่อง 3 มาในครั้งนี้เพื่อยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช.ทุกคนให้ทบทวนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อันได้แก่ 1.ให้ทบทวนมติวันที่ 8 ก.ย. เรื่องการส่งหนังสือถึงผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลงดออกอากาศช่อง 3 อะนาล็อก 2.ให้ทบทวนมติวันที่ 3 ก.พ. ที่กำหนดให้ช่อง 3 สิ้นสุดความเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป หรือฟรีทีวี และ 3.ระหว่างที่บอร์ด กสทช.รับเรื่องไปพิจารณา ขอให้ทาง กสทช.คุ้มครอง เยียวยา โดยการให้ออกอากาศไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ
     
       ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อนี้ ตนเองจะนำเรื่องแจ้งประธาน กสทช.เพื่อบรรจุในวาระเร่งด่วนในการประชุมบอร์ดวันที่ 17 ก.ย.ซึ่งระหว่างนี้จะดำเนินการทำสำเนาหนังสือที่ช่อง 3 มายื่นแจกให้กรรมการ กสทช.ทุกคนได้อ่านก่อนถึงวันเข้าประชุม รวมถึงจะนำข้อเสนอของช่อง 3 มาวิเคราะห์ว่าไม่ตรงกับความเห็นของมติ กสท.อย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุม
     
       “เรื่องนี้ไม่ใช่การอุทธรณ์เพราะว่ามติของ กสท.สิ้นสุดแล้ว จึงอุทธรณ์ไม่ได้ ดังนั้น ช่อง 3 จึงเลือกการส่งหนังสือเพื่อขอทบทวนมติการประชุมของบอร์ด กสท.แทน ซึ่งถามว่าเรื่องนี้เป็นการก้าวก่ายการทำงานของบอร์ดเล็กหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะเคยมีกรณีการขอทบทวนมติบอร์ด กสท.มาแล้วในกรณีเรื่องให้ อสมท คืนคลื่น ซึ่ง อสมท ก็ทำหนังสือคัดค้านมายัง กสทช.จนมีการตั้งคณะอนุกรรมการมาดูแลเรื่องนี้มาแล้ว ดังนั้น กรณีช่อง 3 ก็น่าจะสามารถทำได้เช่นกัน”
     
       อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวน่าจะออกมาใน 3 แนวทาง คือ การส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช.รับไปพิจารณา หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ การตั้งคณะอนุกรรมการโดยเฉพาะขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ หรือแนวทางสุดท้ายคือ ไม่รับเรื่องนี้เลยก็เป็นไปได้ หากไม่รับเรื่องนี้ก็ต้องตกไป ผู้ให้บริการโครงข่ายถ้ายังฝ่าฝืนก็จะมีมาตรการปรับไม่เกินวันละ 20,000 บาท
     
       ส่วนผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลหลังจากได้รับหนังสือยังไม่ต้องขึ้นตัววิ่ง หรือดำเนินการใดๆ จนกว่ามติของ กสทช.จะมีข้อสรุป ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือออกไปทางไปรษณีย์แบบตอบรับไปยังผู้ให้บริการแล้ว โดยสำนักงาน กสทช.จะสามารถรู้ได้ว่าผู้ให้บริการรายไหนได้รับหนังสือเมื่อไหร่จากการเซ็นรับจากไปรษณีย์
     
     


     
       ขณะที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่ช่อง 3 มายื่นหนังสือขอทบทวนมติของ กสท. ผมคิดว่าอย่างไรบอร์ดใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องหรอก ก็ต้องมาถามบอร์ดเล็กอยู่ดี เรายืนยันว่าเราไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจบ้าบอ ต้องรักษาเกณฑ์ตามกฎหมาย”


http://www.manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9570000104932

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.