Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

04 มีนาคม 2558 (บทความ) อนาคต 4จี ในมือ คสช. จะบีบก็ตาย จะคลายก็โลด? // คำพูดของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ยังไม่อาจการันตีได้ว่าจะสามารถประมูล 4G ได้ในปีนี้หรือไม่และเมื่อใด

ประเด็นหลัก



ฉะนั้น คำพูดของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ยังไม่อาจการันตีได้ว่าจะสามารถประมูล 4จี ได้ในปีนี้หรือไม่และเมื่อใด แต่ความจำเป็นของการใช้งาน 4จี ณ เวลานี้ นายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า จากการศึกษาในเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้สำหรับการประมูล 4จี พบว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องประมูล 4จี ในเวลานี้แล้ว เนื่องจากมีอัตราการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวในการใช้งานเป็นประจำ อาทิ โทรเข้า-โทรออก เชื่อมต่อบริการข้อมูล (ดาต้า) ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประมาณ 90 ล้านเลขหมาย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวกว่าครึ่งได้โอนย้ายไปใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์


_____________________________________________________














อนาคต 4จี ในมือ คสช. จะบีบก็ตาย จะคลายก็โลด?

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

คงยังจำกันได้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่าในปี 2558 จะมีการจัดการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เกิดขึ้นแน่นอน ประกอบกับก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าจะจัดให้มีการประมูล 4จี ในปีนี้แน่นอน

โดยตามแผนการประมูล 4จี เดิมของ กสทช. ที่เคยแถลงไว้เมื่อช่วงปลายปี 2557 ระบุว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ว่าทาง กสทช.จะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการไปขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประมูล 4จี ทั้งหมด ในระหว่างที่รอประกาศ คสช. ฉบับที่ 94/2557 เรื่อง การระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่ว่าด้วยการให้ระงับการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้บริโภคในระบบ 2จี ที่ยังตกค้างการใช้งานหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่กันยายน 2556 ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยประกาศฯมีผลบังคับใช้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2558



ในกรณีนี้ หาก คสช.อนุมัติให้ กสทช.สามารถดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล 4จี ได้ในระหว่างที่มีคำสั่งระงับการประมูลได้ ภายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะดำเนินการออกแผนระยะเวลาในการจัดการประมูล (โรดแมป) ที่ชัดเจน ในการประมูล 4จี ออกมาทั้งหมด ได้แก่ การเสนอร่างประกาศ กสทช. ที่ว่าด้วยเรื่องหลักการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรืออาจรวมไปถึงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ตามแผนจะประมูลหลังคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไม่นานนัก เพื่อให้บอร์ด กสทช.พิจารณา

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์เป็นเวลา 45 วัน การปรับแก้ร่างประกาศฯ เพื่อให้บอร์ด กสทช.และ คสช. พิจารณาในขั้นสุดท้าย ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ต่อด้วยขั้นตอนของการออกหนังสือชี้ชวนการลงทุน (ไอเอ็ม) เปิดรับสมัครผู้เข้าประมูล ตรวจสอบคุณสมบัติ และรับรองคุณสมบัติ ท้ายสุดจึงเป็นการเปิดประมูล ซึ่งตามแผนเดิมกระบวนการต่างๆ จะกินเวลา และเสร็จสิ้นลงในช่วงที่ผลของประกาศ คสช. ฉบับที่ 94/2557 สิ้นสุดลง และการประมูลจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากอ้างอิงจากการประมูล 3จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ หลังรู้ผลแพ้ชนะการประมูล ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูล จะใช้เวลาวางโครงข่ายแล้วเสร็จ พร้อมเริ่มเปิดให้บริการ ราว 4-5 เดือน นั่นหมายถึง คนไทยจะได้สัมผัสการใช้งาน 4จี เต็มรูปแบบ ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อดาวน์โหลดอินเตอร์เน็ตสูงสุดไม่ต่ำกว่า 100 เมกะบิต ในช่วงต้นปี 2559

แต่จนถึงขณะนี้ แม้ กสทช.จะส่งหนังสือไปขอดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลล่วงหน้าแก่ คสช.ตามแผนแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะตอบรับคำขอของ กสทช.หรือไม่ แม้ว่านายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า รัฐบาลกำลังดูอยู่ หากมีความพร้อมก็สามารถประมูลได้ แต่การประมูลคลื่นความถี่ 4จี ต้องมีกฎหมายมารองรับก่อน ซึ่งส่วนตัวอยากให้เร็วที่สุด อยากให้ทันภายในปี 2558 เพราะทุกคนก็อยากได้ แต่ก็ต้องดูกฎหมายก่อน

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนการประมูล 4จี อย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้แม้ว่ารัฐบาล หรือ คสช. ก็ยังไม่มีใครบอกว่าจะไม่ประมูล แต่เหตุผลที่ยังไม่ตอบรับคำขอของ กสทช.เพื่อให้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลล่วงหน้า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากทางรัฐบาลและ คสช. ขอหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ 4จี เสียก่อน

ฉะนั้น คำพูดของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ยังไม่อาจการันตีได้ว่าจะสามารถประมูล 4จี ได้ในปีนี้หรือไม่และเมื่อใด แต่ความจำเป็นของการใช้งาน 4จี ณ เวลานี้ นายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า จากการศึกษาในเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้สำหรับการประมูล 4จี พบว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องประมูล 4จี ในเวลานี้แล้ว เนื่องจากมีอัตราการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวในการใช้งานเป็นประจำ อาทิ โทรเข้า-โทรออก เชื่อมต่อบริการข้อมูล (ดาต้า) ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประมาณ 90 ล้านเลขหมาย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวกว่าครึ่งได้โอนย้ายไปใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีลูกค้ามากที่สุดของตลาด หรือราว 40 ล้านเลขหมาย ที่ในเวลานี้ เกือบทั้งหมดได้มีการโอนย้ายไปสู่การใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากในเดือนกันยายนนี้สัญญาสัมปทานคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดอายุลง ทำให้เอไอเอสจะเหลือคลื่นความถี่เพื่อให้บริการเพียงย่านความถี่เดียวคือ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า 40 ล้านคน กอปรกับจำนวนเลขหมาย และการใช้งาน โทรศัพท์ หรือดาต้า ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลให้การใช้งานของลูกค้าเอไอเอส เกิดปัญหาโทรติดยาก และความเร็วในการเชื่อมต่อดาต้า ที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับเมื่อครั้งก่อนที่จะมีการประมูล 3จี

จากท่าทีดังกล่าวของ กตป.นี้สอดคล้องกับท่าทีของเอไอเอส เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการเอไอเอส เข้าหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้วยตนเองถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อเจรจาขอให้รัฐบาลช่วยเร่งผลักดันให้เกิดการประมูล 4จี

เพราะก่อนหน้านี้ในการแถลงวิสัยทัศน์ปี 2558 ของเอไอเอสนั้นมีการระบุว่า เอไอเอสได้เตรียมความพร้อมในการประมูล 4จี ไว้เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว เหลือแต่รอความชัดเจนของ กสทช.เท่านั้นว่าจะจัดให้มีการประมูลเมื่อใด ซึ่งเอไอเอสก็พร้อมที่จะทำตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของทาง กสทช.อย่างเคร่งครัด เพราะปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ไม่มีบริการ 4จี ที่มาจากย่านความถี่ต่างๆ เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องของปริมาณคลื่นความถี่ ส่งผลให้กลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เสียเปรียบในเรื่องปริมาณความถี่ในการให้บริการในเวลานี้มากที่สุด

ส่วนความพร้อมในการจัดการประมูล4จี ของ กสทช.นั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในช่วงระหว่างรอหนังสือตอบรับจาก คสช.นั้น ทาง กสทช.ได้เขียนร่างประกาศการจัดการประมูล 4จี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหาก คสช.ส่งหนังสือตอบกลับให้ กสทช.เดินหน้า ทาง กสทช.ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดเพื่อขออนุมัติ เพื่อเดินหน้า คาดว่าระยะเวลาประมูลจะไม่เลื่อนจากเดิม คือ ในช่วงเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคมนี้ แต่หาก คสช.ไม่ตอบรับ กสทช.ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลตามกระบวนการหลังสิ้นสุดผลของคำสั่ง คสช. ในเดือนกรกฎาคมนี้ และการประมูล 4จี เร็วสุดของการประมูลจะเกิดได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2558-มกราคม 2559

การประมูล 4จี ที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้สัมผัสการใช้งานรับส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเท่านั้นแต่หากอ้างอิงจากการประมูล 3จี นั้นจะเกิดการลงทุนและการจ้างงานเฉลี่ยต่อ 1 ใบอนุญาตประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท หรือหากรวมทุกใบอนุญาต น่าจะอยู่ที่ราว 250,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าหากมีการประมูล 4จี เกิดขึ้นก็จะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ที่ราว 4.1% ได้แน่นอน

"นอกจากนี้ ในอนาคต 4จี จะเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงประชาชน ให้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตรองรับการใช้งานรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณที่สูงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นช่องที่รวดเร็วและครอบคลุมที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงและนำประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ"

จากความเห็นของแต่ละฝ่ายดูเหมือนจะไปในทิศทางเดียวกันว่าจำเป็นต้องให้เกิด 4จี ขึ้นในเวลานี้ มิฉะนั้นแล้ว ความฝันที่จะให้เกิดเศรษฐกิจดิจิตอล หรือมีความเจริญของเทคโนโลยีให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศที่เจริญแล้วก็อาจหลุดลอยไปไกล

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคสช. ว่าจะเอายังไง!!




ที่มา : นสพ.มติชน



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1425270357

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.