19 พฤษภาคม 2557 (เกาะติดประมูล4G) AIS ชี้ หากไม่มีคลื่นใหม่เพิ่มเติมจะกระทบคุณภาพบริการ ซึ่งเอไอเอสจะเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อนำมาให้บริการ 4G
ประเด็นหลัก
ค่ายมือถือไม่หยุดลงทุน
ส่วนแวดวงสื่อสาร นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า การเมืองที่ยืดเยื้อทำให้รายได้ชะลอลงชัดเจน ผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดีแทคมียอดขายเครื่องลดลง 38% จาก 5,200 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เหลือ 3,200 ล้านบาท ขณะที่การใช้งานดาต้าแทบไม่เติบโต มีสัดส่วน 34% ของรายได้ 1.74 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว สัดส่วนรายได้ 32% ของ 1.77 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่อง เน้นที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อตอบโจทย์การใช้งานดาต้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสถานีฐาน 25,000 แห่ง บนคลื่น 850 MHz จำนวน 5,000 แห่ง คลื่น 1800 MHz จำนวน 10,000 ไซต์ และ 2100 MHz จะครบ 10,800 สถานี เดือน มิ.ย. นอกจากนี้ จะเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่ กสทช.จะเปิดประมูลเดือน ส.ค. และ พ.ย.นี้ ตามลำดับ
"คลื่นดีที่สุดในการให้บริการ 4G LTE คือ 900 MHz เราจึงให้ความสำคัญกับการประมูลมากกว่า 1800 MHz เพราะ 900 MHz ส่งสัญญาณได้ไกลกว่า แม้แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต (ความจุ 10 MHz x 2 กับ 7.5 MHz x 2) แต่บริษัทเดียวกันชนะทั้งสองใบได้ กลยุทธ์การประมูลขอปิดเป็นความลับ แต่ตั้งทีมงานมาศึกษาแล้วว่าราคาของทั้งสองคลื่นน่าจะอยู่ที่เท่าไร ถ้าได้มาราคาประมาณไหนจะนำไปทำอะไรบ้าง คลื่น 1800 MHz เตรียมเงินไว้แล้ว คิดว่าราคาแข่งกันสูงแน่ เพราะใบอนุญาตมี 2 ใบ แต่คลื่น 900 MHz สำคัญกว่า ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ผมอยากเสนอให้ กสทช.แบ่งคลื่น 900 MHz เป็นสลอต ละ 5 MHz 4 สลอต จะยืดหยุ่นในการแข่งขันมากกว่า"
"ซีอีโอ" ดีแทคมองว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 25 MHz x 2 แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 12.5 MHz x 2 ในเดือน ส.ค.นี้ ราคาตั้งต้นค่อนข้างสูง (464 ล้านบาทต่อ MHz) คาดว่าราคาที่เหมาะสมไม่ห่างจากราคาตั้งต้นมากนัก
เช่นกันกับนายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ระบุว่า บริษัทต้องการให้ กสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยเร็ว เพราะการใช้งานดาต้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่พอเพียงเพื่อรองรับการให้บริการ หากไม่มีคลื่นใหม่เพิ่มเติมจะกระทบคุณภาพบริการ ซึ่งเอไอเอสจะเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อนำมาให้บริการ 4G
______________________________________
ธุรกิจดาหน้าลงทุนซื้ออนาคต รถยนต์-อสังหา-สื่อสาร ทุ่มไม่ยั้ง!ผ่าทางตันศก.
ธุรกิจผ่าทางตันการเมือง ดาหน้าลงทุนซื้ออนาคต ทุ่มไม่อั้นทั้งอุตฯยานยนต์-ชิ้นส่วน "ดีแทค-เอไอเอส" ลุ้นประมูล 4G เซ็นทรัล-เดอะมอลล์อัดงบฯปูพรมเปิดห้างรับเออีซี-ท่องเที่ยว พฤกษาฯเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ทั้งใน กทม.-ตจว.กว่า 4 หมื่นล้าน แบงก์ชี้โอกาสทองยังมี เลขาฯบีโอไอเผยยอดขอส่งเสริมลงทุนเกือบ 8 แสนล้านบาท เร่งสปีดชงบอร์ดอนุมัติ
แม้สถานการณ์การเมืองไทยจะตกอยู่ในความขัดแย้ง ไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทุก ๆ ด้าน ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การผลิต การท่องเที่ยว บริการ การส่งออก ฯลฯ กระนั้นก็ตาม พบว่าธุรกิจจำนวนไม่น้อยยังคงวางแผนการลงทุนในทุก ๆ แขนงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับอนาคต
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่ามีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ระหว่างขอส่งเสริมการลงทุน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 800,000 ล้านบาท จากจำนวนกว่า 400 โครงการ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ 10 รายเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ถึง 138,889 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการอีโคคาร์เฟส 2 กำลังผลิต 1.581 ล้านคัน กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นกว่า 200 ราย กำลังลงทุนเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท ในซีกโทรคมนาคม การเปิดประมูลคลื่นมือถือ 4G ที่กำลังเกิดขึ้นในปลายปี จะก่อให้เกิดการลงทุนจำนวนมาก เช่นเดียวกับการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบ กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการยังเดินหน้าขยายกิจการ ล่าสุดเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพิ่งประกาศลงทุนศูนย์การค้ายักษ์อีก 6 แห่ง กระจายไปทั่วประเทศ ด้วยเงินลงทุนถึง 50,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มเซ็นทรัล ที่ทุ่มเม็ดเงินก้อนใหญ่สุดในรอบ 5 ปี
นายแบงก์ชี้โอกาสทองลงทุน
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญที่นักธุรกิจต้องมองข้ามปัญหา และให้ความสำคัญกับอนาคต จริงอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังซื้อลดลงมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ช่วงที่เหมาะสมต่อการลงทุนคือช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทุก ๆ ครั้งที่มีวิกฤตจะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้เร็วและเข้มแข็งขึ้น
"เศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่อาเซียนเริ่มชะลอลง ส่งออกต้องเปลี่ยนไปให้ความสนใจตลาดอเมริกาและยุโรปการฟื้นตัวครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นและเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้า จำเป็นที่เราต้องปรับตัวตามให้ได้"
มั่นใจไทยยังได้เปรียบ
สอดคล้องกับมุมมองของนายธีรนันท์ ศรีหงษ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้แม้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่พื้นฐานเศรษฐกิจโดยเฉพาะความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้
แม้โดยรวมอาจส่งผลให้ชะลอตัวบ้าง แต่คงไม่ถึงกับเสียหายหนักเหมือนวิกฤตปี 2540 ในส่วนของนักลงทุนส่วนหนึ่งอาจหายไป แต่คงไม่ได้หายไปหมด ขณะที่บางส่วนยังขยายการลงทุนต่อ เพราะการลงทุนในไทยยังน่าสนใจอยู่ ทั้งความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ทำเลที่ตั้งประเทศ ทักษะในการทำธุรกิจ และการเป็นเจ้าของวัตถุดิบ อีกทั้งรัฐวิสาหกิจบางส่วนก็มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้
ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจที่มีสายป่านสั้นอาจมีปัญหาบ้าง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง (SMEs) ต่อไปนั้นคงต้องช่วยมากกว่าเดิม ส่วนปัญหาการเมืองอยากให้หาทางออกโดยเร็ว สิ่งสำคัญคือต้องมองความถูกต้อง นำไปสู่การแก้ไขด้วยวิธีการพูดคุย เจราจาหาทางออกด้วยการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง
"เดอะมอลล์-เซ็นทรัล" โหมหนัก
ขณะที่นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพการลงทุนของกลุ่มเดอะมอลล์จะมองในระยะยาว และทุกโปรเจ็กต์ที่ลงทุนจะมีความระมัดระวังและมีการวางแผนการทำงานมาเป็นอย่างดี โดยจะเลือกทำโครงการขนาดใหญ่และมีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า ซึ่งกลุ่มเดอะมอลล์ไม่ได้มองเพียงแค่กำลังซื้อของคนไทยเท่านั้น แต่มองไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในส่วนของจีน รัสเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและยังเดินทางเข้ามาในไทยต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาแม้บรรยากาศไม่ค่อยดีมากนัก แต่ในฐานะผู้ประกอบการยิ่งต้องกระตุ้นและเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ถ้าไม่ทำจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ จึงเห็นภาพแต่ละค่ายต่างมีกิจกรรมและแคมเปญในรูปแบบ
ต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง ยอมรับว่าไตรมาสแรกปีนี้การเติบโตไม่เป็นบวกอย่างที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากมู้ดและบรรยากาศกระทบตามอัตราการเติบโตของจีดีพี
"เราผ่านประสบการณ์มาทุกรูปแบบก็ยังผ่านไปได้ ที่ผ่านมาการเปิดศูนย์เอ็มโพเรี่ยมหรือสยามพารากอน ก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของเศรษฐกิจ แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส อีกอย่างการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ถ้ามองในแง่ดี แรงงานพร้อม ต้นทุนก็ลดลง"
สำหรับการลงทุนรองรับอนาคตครั้งสำคัญของกลุ่มเดอะมอลล์ต่อจากนี้ เตรียมเงิน 50,000 ล้านบาท ลงทุนสร้างศูนย์การค้า 6 ศูนย์ มี ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, ดิ เอ็มสเฟียร์, บลูพอร์ท, บลูเพิร์ล และแบงค็อก มอลล์ ซึ่งศูนย์การค้าแต่ละแห่งจะมีรูปแบบแตกต่างจากศูนย์การค้าทั่วไป ทั้ง 6 แห่งจะทยอยเปิดให้บริการปี 2559-2560
ส่วนนายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า จะมีการลงทุนปีนี้กว่า 40,000 ล้านบาทเฉพาะในเมืองไทย ไม่รวมงบฯ พิเศษหรือเอ็มแอนด์เอที่เตรียมไว้ลงทุนในต่างประเทศหรือควบรวมกิจการ ถือเป็นงบฯลงทุนมากที่สุดในรอบ 5 ปี จากปกติลงทุนเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะปีหน้าจะเข้มข้นมากขึ้นรองรับเปิดเออีซี โดยเซ็นทรัลมีแผนลงทุนสร้างศูนย์การค้าในจังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านในเออีซีอย่างน้อย 5 โครงการ รองรับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
"นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการประมาณ 10 ดีล ในหลายประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้"
ต้องมองข้ามปัญหา
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี บุตรชายเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ในฐานะแม่ทัพใหญ่ บมจ.ไทยเบฟฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในงานแกรนด์โอเพนนิ่งของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี (Central Embassy) ว่า ดีใจมากที่มีโอกาสมาเห็นศูนย์การค้าระดับซูเปอร์ลักเซอรี่ ไอคอนนิกรีเทล แลนด์มาร์กแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งเป็นห้างหรูแห่งใหม่ระดับ 20,000 ล้านบาท ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดูคึกคัก มีสีสัน และเรียกความเชื่อมั่นได้ดี
"ขณะนี้เราเริ่มเห็นชัดแล้ว ถนนสายช็อปปิ้งของเมืองไทยแข็งแกร่งมาก ตั้งแต่ทำเลย่านปทุมวัน สยาม ราชประสงค์ เพลินจิตและวิทยุ ซึ่งจะรองรับเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วเอเชียและทั่วโลกได้ทุกระดับ รวมถึงการลงทุนที่ต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเชิงท่องเที่ยวในอนาคต"
"ส่วนตัวไม่อยากแสดงความคิดเห็นอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการเมือง อยากให้มองข้ามปัญหา ในฐานะนักธุรกิจอยากให้ทุกอย่างเดินหน้า และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกัน"
ค่ายมือถือไม่หยุดลงทุน
ส่วนแวดวงสื่อสาร นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า การเมืองที่ยืดเยื้อทำให้รายได้ชะลอลงชัดเจน ผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดีแทคมียอดขายเครื่องลดลง 38% จาก 5,200 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เหลือ 3,200 ล้านบาท ขณะที่การใช้งานดาต้าแทบไม่เติบโต มีสัดส่วน 34% ของรายได้ 1.74 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว สัดส่วนรายได้ 32% ของ 1.77 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่อง เน้นที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อตอบโจทย์การใช้งานดาต้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสถานีฐาน 25,000 แห่ง บนคลื่น 850 MHz จำนวน 5,000 แห่ง คลื่น 1800 MHz จำนวน 10,000 ไซต์ และ 2100 MHz จะครบ 10,800 สถานี เดือน มิ.ย. นอกจากนี้ จะเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่ กสทช.จะเปิดประมูลเดือน ส.ค. และ พ.ย.นี้ ตามลำดับ
"คลื่นดีที่สุดในการให้บริการ 4G LTE คือ 900 MHz เราจึงให้ความสำคัญกับการประมูลมากกว่า 1800 MHz เพราะ 900 MHz ส่งสัญญาณได้ไกลกว่า แม้แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต (ความจุ 10 MHz x 2 กับ 7.5 MHz x 2) แต่บริษัทเดียวกันชนะทั้งสองใบได้ กลยุทธ์การประมูลขอปิดเป็นความลับ แต่ตั้งทีมงานมาศึกษาแล้วว่าราคาของทั้งสองคลื่นน่าจะอยู่ที่เท่าไร ถ้าได้มาราคาประมาณไหนจะนำไปทำอะไรบ้าง คลื่น 1800 MHz เตรียมเงินไว้แล้ว คิดว่าราคาแข่งกันสูงแน่ เพราะใบอนุญาตมี 2 ใบ แต่คลื่น 900 MHz สำคัญกว่า ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ผมอยากเสนอให้ กสทช.แบ่งคลื่น 900 MHz เป็นสลอต ละ 5 MHz 4 สลอต จะยืดหยุ่นในการแข่งขันมากกว่า"
"ซีอีโอ" ดีแทคมองว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 25 MHz x 2 แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 12.5 MHz x 2 ในเดือน ส.ค.นี้ ราคาตั้งต้นค่อนข้างสูง (464 ล้านบาทต่อ MHz) คาดว่าราคาที่เหมาะสมไม่ห่างจากราคาตั้งต้นมากนัก
เช่นกันกับนายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ระบุว่า บริษัทต้องการให้ กสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยเร็ว เพราะการใช้งานดาต้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่พอเพียงเพื่อรองรับการให้บริการ หากไม่มีคลื่นใหม่เพิ่มเติมจะกระทบคุณภาพบริการ ซึ่งเอไอเอสจะเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อนำมาให้บริการ 4G
พฤกษาฯขยายพอร์ตไม่ยั้ง
นางสาววรรณา ชัยสุพัฒนากุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท มองว่า ที่ผ่านมาไทยเกิดวิกฤตการเมืองมาหลายรอบแล้ว ต้องยอมรับความจริงว่านักธุรกิจหวั่นไหว แต่ธุรกิจยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจตอบสนองปัจจัยสี่ ผู้บริโภคยังมีดีมานด์เป็นปกติ แต่สิ่งที่ผิดปกติคือมู้ดในการซื้อ ในส่วนของพฤกษาฯ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ พฤกษาฯ ประกาศเป้าหมายยอดขายปีนี้ 5 หมื่นล้านบาท เติบโต 25% ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ ไตรมาสแรกปรากฏว่าทำได้เกินกว่าที่ตั้งไว้ ปิดตัวเลข 8.2 พันล้านบาท จากเป้า 7 พันล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 8 พันล้านบาท จากเป้า 6.2 พันล้านบาท
ตัวเลขนี้ยืนยันว่าดีมานด์ความต้องการซื้อบ้านและคอนโดฯยังมีสูง ส่วนแผนลงทุนไตรมาส 2-4 จะเดินหน้าลงทุนตามแผนเดิมคือทยอยเปิดตัวทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวมกัน 50 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่จะลงทุนครั้งใหญ่ ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ มูลค่าลงทุนที่ดินรวมก่อสร้างกว่า 4 พันล้านบาท
บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุน
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า จะเร่งพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุน โดยขอหารืออย่างไม่เป็นทางการไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ข้อยุติว่า ตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ สามารถเป็นประธานคณะกรรมการหรือบอร์ดบีโอไอ อนุมัติโครงการที่ยังค้างพิจารณาส่งเสริมการลงทุนได้ คาดว่า 16 พ.ค.นี้จะประชุมคณะอนุกรรมการช่วยพิจารณาโครงการ เพื่ออนุมัติโครงการที่ค้างขอรับการส่งเสริมได้
ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ถึง มี.ค. 2557 มีโครงการค้างพิจารณา 407 โครงการ มูลค่า 700,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการมูลค่าลงทุน 200-750 ล้านบาท ที่คณะอนุกรรมการต้องพิจารณาเบื้องต้นก่อนส่งเข้าบอร์ด 271 โครงการ มูลค่า 207,241 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุน 750 ล้านบาท 136 โครงการ 521,760 ล้านบาท แบ่งเป็นขอส่งเสริมการท่องเที่ยวและสาธารณูปโภค 3 แสนล้านบาท อุตฯ ยานยนต์ 2.5 แสนล้านบาท ปิโตรเคมีฯ 9 หมื่นล้านบาท อุตฯ การเกษตร 5 หมื่นล้านบาท และอื่น ๆ 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่ามียอดขอส่งเสริมฯไม่เป็นทางการ 4-5 หมื่น ล้านบาท ทำให้ยอดขอส่งเสริมลงทุนค้างพิจารณารวมเกือบ 800,000 ล้านบาท
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1400260613
ไม่มีความคิดเห็น: