Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

31 กรกฎาคม 2557 (ปฏิบัติการคสช.ล้างบางการสื่อสาร)(เกาะติดประมูล4G) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค.สารี ระบุ การออกประกาศเลื่อนการประมูลของ คสช. กลับกลายเป็นผลดีต่อกลุ่ม TRUE ที่ปกติแล้วรัฐจะต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละกว่า 6,800 ล้านบาท แต่เท่าที่ทราบมา TRUE ยังไม่ได้จ่ายของปีที่แล้ว

ประเด็นหลัก


       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการประมูลเพราะเกิดจากการทำงานล่าช้า ทำให้ประมูลคลื่นไม่ทัน จึงมีการขยายเวลาการประมูลต่อเนื่องออกมา ซึ่งตามแผนเดิมแล้วควรมีการประมูลก่อนซิมดับรอบสอง คือ ในช่วงก่อนเดือนกันยายน 2556 ความล่าช้าดังกล่าวทำให้ต้องออกประกาศเลื่อนการประมูลอย่างที่เป็น
   
       แต่ถ้ามีการประมูลตามแผนเดิมนั้น ความไม่ชัดเจนในส่วนของการดูแลผู้บริโภคที่อาจจะเกิดภาวะซิมดับ ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการประมูลเลย ดังนั้น การประมูลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะสามารถแก้ไขภาวะซิมดับได้แต่อย่างใด ขณะที่การออกประกาศเลื่อนการประมูลของ คสช. กลับกลายเป็นผลดีต่อกลุ่มทรู ที่ปกติแล้วรัฐจะต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละกว่า 6,800 ล้านบาท แต่เท่าที่ทราบมา ทรูยังไม่ได้จ่ายของปีที่แล้ว การชะลอการประมูล 4G ออกไปอีก 1 ปีทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ตรงนี้อย่างชัดเจน
   

______________________________




ชี้เลื่อนประมูล 4G รัฐสูญเสียประโยชน์


วงเวทีเสวนาเรื่อง 'การเลื่อน-เลิกประมูล 4G ใครได้ -ใครเสีย : รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน ?'

       วงเสวนาถกเลื่อนประมูล 4G ใครได้ ใครเสีย นักวิชาการชี้เลื่อนประมูล เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสาร และรายได้เข้ารัฐ ด้านผู้บริโภคแนะเพื่อป้องกันภาวะซิมดับ ควรมีการส่งไม้ต่อเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องจากผู้ได้รับสิทธิรายใหม่
     
       เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch ) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาเรื่อง “การเลื่อน-เลิกประมูล 4G ใครได้ -ใครเสีย : รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?” จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งชะลอการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สำหรับให้บริการ 4 G ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้คงมาตรการเยียวยาดูแลลูกค้าไปจนกว่าจะมีการประมูลใหม่ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการสาธารณะ
     
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการประมูลเพราะเกิดจากการทำงานล่าช้า ทำให้ประมูลคลื่นไม่ทัน จึงมีการขยายเวลาการประมูลต่อเนื่องออกมา ซึ่งตามแผนเดิมแล้วควรมีการประมูลก่อนซิมดับรอบสอง คือ ในช่วงก่อนเดือนกันยายน 2556 ความล่าช้าดังกล่าวทำให้ต้องออกประกาศเลื่อนการประมูลอย่างที่เป็น
     
       แต่ถ้ามีการประมูลตามแผนเดิมนั้น ความไม่ชัดเจนในส่วนของการดูแลผู้บริโภคที่อาจจะเกิดภาวะซิมดับ ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการประมูลเลย ดังนั้น การประมูลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะสามารถแก้ไขภาวะซิมดับได้แต่อย่างใด ขณะที่การออกประกาศเลื่อนการประมูลของ คสช. กลับกลายเป็นผลดีต่อกลุ่มทรู ที่ปกติแล้วรัฐจะต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละกว่า 6,800 ล้านบาท แต่เท่าที่ทราบมา ทรูยังไม่ได้จ่ายของปีที่แล้ว การชะลอการประมูล 4G ออกไปอีก 1 ปีทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ตรงนี้อย่างชัดเจน
     
       ประเด็นต่อมา ในส่วนของผู้บริโภคอาจจะเกิดขึ้นได้ในแง่ของการให้บริการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นช่วงของการพัฒนาเมื่อไม่สามารถพัฒนาได้ คุณภาพของบริการก็จะตกต่ำลง เราพยายามมองหาวิธีการย้ายค่ายอย่างง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถย้ายค่ายหลังเกิดเหตุการณ์ซิมดับได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถย้ายได้โดยที่ไม่ต้องเจอเงื่อนไขที่ยุ่งยากเกินเหตุของผู้ให้บริการ ซึ่งปัจจุบัน การย้ายค่ายกรณีซิมดับเกิดการสร้างเงื่อนไขที่เกินกว่าที่ กสทช.กำหนด ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเงื่อนไขให้ผูกมัดลูกค้าอยู่กับบริการนั้นๆ นานหลายเดือนเพื่อรับเครื่องฟรี เป็นต้น ซึ่งเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจนทำให้ต้องเลื่อนการประมูลออกไปก็มาจากการประมูลที่ล่าช้ามาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
     
       ขณะที่กระแสข่าวของการเลื่อน หรือเลิกประมูลที่เกิดขึ้น ยังพอมีเวลาที่ กสทช.จะสามารถแก้ไขวิธีการประมูล หรือขั้นตอนการตอบแทนของการใช้งาน และควรปรับแก้เพื่อยังคงประโยชน์ของรัฐได้อยู่ ซึ่งเราเองยังอยากเห็นการประมูลเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะยังไม่เห็นสภาพการใช้งานที่ชัดเจนของผู้บริโภคก็ตาม เช่น การรับประกันบริการ ทั้งด้านความเร็วขั้นต่ำที่ต้องไม่น้อยกว่า 384 Kbps หรือการคิดราคาที่เป็นธรรม โดยต้องเข้าใจว่าโครงข่ายการสื่อสารนั้นจะช่วยพัฒนาในหลายภาคส่วน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การสาธารณสุข และอื่นๆ นั้นจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน หากโครงข่ายการสื่อสารที่พัฒนาแล้วยังเข้าไปไม่ถึง หากแต่การทำเรื่องนี้ควรมีส่วนร่วมกันทุกฝ่าย และควรเป็นประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวมทั้งหมด
     
       ด้านนายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า แม้ กสทช. จะคาดหวังส่วนแบ่งรายได้จากการประมูล แต่ในเนื้อหาของการเลื่อนประมูลออกไปนั้นช่วงเวลานี้ กสทช.เองยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบ และควรจะใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อให้มีบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น
     
       ขณะที่การเกิดขึ้นของ 4G จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนธุรกิจเกิดใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจพบว่า เมื่อมีโครงข่าย 3G มีการใช้งานดาต้ามากกว่า 2.5 GB ต่อคนต่อเดือน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการเปิดใช้ 4G มีปริมาณการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 3G โดยการเพิ่มความเร็วของการสื่อสารสามารถช่วยเพิ่มโอกาสทางการแพทย์ได้เป็นอย่างมาก และ 4G ที่เข้ามาจะสามารถเพิ่มโอกาสการเกิดธุรกิจแนวใหม่ได้ง่ายขึ้นขณะที่รายได้จากบริการดาต้าเซอร์วิส จะเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น
     
       แต่การเลื่อนประมูล 4G ออกไป ในแง่บวกมองว่า อาจจะทำให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น และบริหาร 3G ที่ได้ไปก่อนหน้ามากขึ้น เนื่องจากความสามารถของ 3G ในบ้านเรายังคงได้ใช้ความเร็วกันอยู่เพียงแค่ 3-4 Mbps เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว 3G สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 42 Mbps การเลื่อนประมูลออกไปจะทำให้ผู้ประกอบการหันกลับมาสนใจในการพัฒนาโครงข่ายที่มีอยู่เดิมมากยิ่งขึ้น

ชี้เลื่อนประมูล 4G รัฐสูญเสียประโยชน์
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค : ภาพจากอินเทอร์เน็ต

       ขณะที่ผลเสียคือ การเสียโอกาสในการพัฒนาการสื่อสาร เสียโอกาสในการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นจากธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพราะความเร็วของการสื่อสารที่มากขึ้น และเสียโอกาสในการสร้างให้ประเทศไทยเป็นดาต้าฮับของอาเซียน เนื่องจากไทยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างเซ็นเตอร์ของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนส่งผลให้ลดทอนความเชื่อมั่นทั้งนักลงทุน และผู้ใช้บริการ ดังนั้น หากการผลักดันเพื่อให้เกิดการประมูลอีกครั้งเป็นเรื่องยากไป เราก็ควรหันมามองหาทางปรับตัวว่าจะทำอย่างไรมากกว่า
     
       ด้านเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในมุมของการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วมันไม่น่าจะช่วยผู้บริโภคได้จากวิธีการเลื่อนประมูล เพราะเลื่อนมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา การแก้ซิมดับคงไม่ใช่การบังคับให้ย้ายไปหาที่ใหม่ หากแต่การประมูลนั้นผู้ที่ประมูลได้ควรมีความรับผิดชอบด้วยเงื่อนไขของการส่งไม้ต่อกันให้ได้ หากว่าต้องการเลื่อนจริง ควรปรับเงื่อนไขของผู้ร่วมประมูล ว่า ผู้ใช้บริการรายเดิมควรได้รับบริการเช่นเดิมเหมือนก่อนที่จะเกิดการประมูล ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องรับรู้ และสร้างแผนรองรับเพื่อเตรียมบริการสำหรับผู้บริโภคให้ได้เมื่อประมูลได้แล้ว ทั้งนี้ คุมกฎเกณฑ์ก็ควรมีการประกาศเงื่อนไขที่ชัดเจนในการบังคับให้ผู้ชนะประมูลรับไม้ต่อกรณีซิมดับ โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ผลกระทบแต่อย่างใด
     
       ขณะที่ด้านผลประโยชน์สาธารณะต้องยอมรับว่า การประมูลที่ผ่านมาไม่ค่อยมีผู้สนใจรายใหม่เข้ามา ดังนั้น การสร้างเงื่อนไข หรือกฎเกณฑ์ใหม่ควรเอื้อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาร่วมประมูลมากขึ้น โดยแนวทางที่ควรแก้ไข เช่น การสร้างเงื่อนไขตรวจสอบบุคคลต่างด้าว เพราะมันไม่เกิดประโยชน์แต่กลับบั่นทอนผู้ที่คิดจะเข้ามาร่วมประมูลเท่านั้น การสร้างผู้ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะทำให้เรามีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายมากขึ้น
     
       แนวคิดเน็ตเวิร์กแชริ่งก็ควรแก้ไข เพราะการมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในตลาดค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องมีการลงทุนที่สูงการเข้ามาลงทุนใหม่ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องยาก การแบ่งใช้โครงข่ายพื้นฐานจึงน่าจะเป็นทางออก แต่การประกาศที่ออกมาแล้วของ กสทช. ที่ผ่านมา มันเวิร์กจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันการปักเสาของผู้ให้บริการเต็มเมืองจนกลายเป็นปัญหา ดังนั้น ก่อนทำการปักเสาควรมีการทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเงื่อนไขการปักเสาใหม่ของต่างประเทศ คือ มีความจำเป็นหรือไม่ต้องปักเสาเพิ่มเพราะหากว่ามีรายใดเข้าไปปักเสาแล้ว รายต่อๆ ไปควรจะสามารถเช่าใช้ได้ เพื่อลดปริมาณเสาที่ไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายของเอกชนเอง
     
       การเก็บค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่สูงเกินความจำเป็นควรได้รับการแก้ไข ซึ่งค่าการเชื่อมต่อที่ผู้ให้บริการรายเล็กต้องจ่ายให้รายใหญ่ จะทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กตาย เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้น้อยรายย่อมเสียเปรียบ เหมือนอย่างที่ฮัทช์ ผู้ให้บริการซีดีเอ็มเอต้องจากไป ด้วยต้นทุนค่าเชื่อมต่อที่สูงเกินจริง
     
       อีกทั้งควรทบทวนระบบประมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าการชะลอเป็นการเอื้อประโยชน์ให้รัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะรักษารายได้ให้รัฐวิสาหกิจอยู่รอดต่อไป เข้าใจว่าการเข้าประมูลของรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องยาก เพราะเรื่องการตั้งงบประมาณซึ่งไม่สอดคล้องต่อระบบประมูล ทำให้รัฐวิสาหกิจไม่เหมาะที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งหากเป็นจริงก็ไม่น่าจะใช้วิธีการมาล้มประมูลมาเป็นเงื่อนไข แต่ควรแก้ไขกฎเกณฑ์ให้รัฐวิสาหกิจสามารถเข้ามาร่วมประมูลได้มากกว่า
     
       แล้วมันมีเหตุผลหรือไม่ที่จะเอาคลื่น 1800 MHzให้รัฐวิสาหกิจเลย ส่วนตัวมองว่าควรมีการประมูลมากกว่า เพราะการประมูลคือ การเลือกผู้ประกอบการที่สามารถสร้างประโยชน์จากคลื่นได้มากที่สุด ทำให้สามารถเสนอราคาได้สูงที่สุดเพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไรมากที่สุด แต่หากเป็นการได้คลื่นมาฟรีโดยที่ไม่จ่ายเงิน ความพยายามในการพัฒนาก็ไม่น่าจะเกิด ผลร้ายก็จะตกกลับมาที่ผู้บริโภคที่ไม่มีตัวเลือกในการใช้บริการที่ดีได้ตามต้อง อย่างไรก็ตาม ระบบการประมูลจึงเป็นกระบวนการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด
     
       ด้าน ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวย้ำว่า การประมูลเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากผู้ชนะการประมูลคือ ผู้ที่สามารถสร้างประโยชน์จากทรัพย์ที่ประมูลได้สูงสุด การประมูลเป็นวิธีการที่โปร่งใสมากที่สุด และส่วนใหญ่การฟ้องร้องมักเกิดขึ้นจากรูปแบบ Beauty Contest เนื่องจากเป็นวิธีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาแผนประกอบการ หรือแผนสร้างรายได้จากการได้คลื่นความถี่ ซึ่งอาจจะโน้มเอียงตามกรรมการผู้ตัดสินได้ อันเนื่องมาจากปัญหาของการตั้งเกณฑ์การตัดสิน ปัญหาขององค์ประกอบกรรมการที่แตกต่างกัน ความต่างนี้สร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้น ตลอดจนการตัดสินยังมีข้อมูลให้กรรมการไม่เพียงพอ นั่นเพราะว่าการใช้คลื่นความถี่เป็นการสร้างเทคโนโลยีในอนาคต การประมาณการเพื่อหาความชัดเจนในอนาคตเป็นไปไม่ได้เลย ขณะที่กลไกราคาจากการประมูลจะช่วยให้ผู้ประกอบการเปิดเผยแผนการสร้างเทคโนโลยีของตนเองมากขึ้น
     
       อีกทั้ง Beauty Contest ยังกลายเป็นสาเหตุของการฟ้องร้อง อันเนื่องมาจากปัญหาการบังคับใช้สัญญา ความอยากได้คลื่นทำให้ผู้ประกอบการเสนอแผนงานที่ดีเกินจริง เสนอมากๆ ไว้ก่อน สุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องขอการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในอนาคต หรือการถอนตัวเนื่องจากต้นทุนของการได้มาของคลื่นมีต้นทุนต่ำ
     
       ทั้งนี้ มีมายาคติเกี่ยวกับการประมูล ว่า การประมูลทำให้เอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป และต้องรับความเสี่ยง ซึ่งเอกชนรับรู้เงื่อนไขก่อนการประมูลก็ควรต้องยอมรับความเสี่ยงเพราะเป็นผู้เสนอเอง ขณะที่บางคนคิดไปเองว่า รายจ่ายของเอกชนในการประมูลจะส่งผลไปต่อค่าบริการของผู้บริโภค อันนี้ไม่จริงเลย เพราะราคาของการประมูลที่สูงไม่มีผลต่อราคาค่าบริการแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น การที่มีคนใดคนหนึ่งรับมรดกทรัพย์สินมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องขายต่อด้วยราคาถูก หรือหากมองว่าเมื่อผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงแล้วอาจจะฮั้วกันตั้งราคา อันนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ว่าจะแบบไหนก็เกิดการฮั้วราคาได้
     
       “ขณะที่ความคิดว่าการประมูลซับซ้อนจนยากที่จะเข้าใจ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย แต่มันเป็นเพราะว่าการประมูลมีความโปร่งใส จนสามารถไล่เรียงไปได้เลยว่าการประมูลมีขั้นตอนเป็นมาอย่างไร จนทำให้เรารู้สึกว่ามันมีมากมายหลายขั้นตอน และบางท่านสงสัยว่าการประมูลที่เน้นแต่รายได้ ทำให้สังคมไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เพราะเชื่อว่าผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีใครมองว่ารายได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการประมูล”


http://www.manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9570000086639


______________________________



แก้เกณฑ์ประมูล 4จีปิดจุดอ่อน นักวิชาการเชียร์ไม่ซ้ำรอย 3จี



นักวิชาการหนุนชะลอประมูล 4จี เปิดช่องแก้กติกาใหม่ ชี้ไม่เห็นด้วยแนวทางยกคลื่นให้ฟรีๆ ฝั่งผู้บริโภคจวก กสทช. หากมีประสิทธิภาพ คนไทยใช้ 4จี นานแล้ว

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา "เลื่อน-เลิกประมูล 4จี ใครได้-ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?" เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ว่าจากข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 นั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สามารถใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตาม มีบางคนมองว่าวิธีการประมูลไม่ใช่ปัญหา แต่เกิดจากการใช้ดุลพินิจของ กสทช.ที่เปลี่ยนเกณฑ์การประมูล ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคา "การประมูลหากออกแบบอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งยังเป็นวิธีโปร่งใส ดำเนินการได้รวดเร็ว" นายพรเทพกล่าว และว่า ขอยกกรณีศึกษาของผู้ประกอบการรายหนึ่งในประเทศสเปน ได้รับจัดสรรคลื่นแบบไม่ต้องประมูล แต่ไปลงทุนประมูล 3จี ที่ประเทศเยอรมนีด้วย ท้ายสุดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเยอรมนีกลับมีการให้บริการ และการแข่งขันในตลาดที่สูงกว่าสเปน

น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เชื่อว่าการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศให้มีการเลื่อนประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาให้บริการ 4จี ไปอีก 1 ปี จะเป็นประโยชน์ หาก กสทช.แก้กฎเกณฑ์ประมูลใหม่ เพราะการประมูล 3จี ที่มีปัญหามาจากตัวผู้ออกกฎกำหนดกติกาที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน โดยประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวที่มีขึ้นกีดกันผู้ประกอบการต่างชาติไม่ให้เข้ามาถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมในไทยเกิน49%ส่งผลให้ผู้เข้าประมูลจะมีเพียง 3 รายเท่านั้น ดังนั้น ควรพิจารณาว่าควรแก้ไขกติกาการประมูลอย่างไรให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ไปจนถึงการบังคับใช้ในเรื่องการใช้โครงสร้างโทรคมนาคมพื้นฐานร่วมกัน เนื่องจากถึงขณะนี้ทางทีดีอาร์ไอ ยังได้รับรายงานข้อมูล ว่ายังมีการร้องเรียนเรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณสถานีฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ แบบติดๆ กันอยู่

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จุดยืนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือการรีบประมูล 4จี เพื่อประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภคเร็วขึ้น ที่ผ่านมาคนไทยน่าจะได้ใช้ 4จี นานแล้ว แต่เกิดจาก กสทช.ชุดนี้ทำงานล่าช้า รวมถึงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ที่เหมือนเป็นการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ทั้งที่หลายประเทศได้แก้ปัญหาด้วยการส่งต่อลูกค้าให้แก่ผู้ชนะประมูลคลื่นหลังหมดสัญญาสัมปทาน "เมื่อเลื่อนประมูล 4จี สิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็นคือ การร่างกฎ กติกาใหม่ที่มีความเป็นธรรม ไม่เหมือน 3จี ที่ประมูลอย่างไม่มีการแข่งขัน" น.ส.สารีกล่าว




ที่มา : นสพ.มติชน


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1406789051

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.