Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

10 ธันวาคม 2557 TDRI.สมเกียรติ ระบุ TOT มีอัตราผลตอบแทน -25% ถือว่าติดลบมากที่สุดในกลุ่ม 5 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ




ประเด็นหลัก


ก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานะของทีโอทีและ กสทฯ อยู่ในภาวะอ่อนแอ เมื่อเทียบอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สินแล้วพบว่า ทีโอทีมีอัตราผลตอบแทน -25% ถือว่าติดลบมากที่สุดในกลุ่ม 5 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้สภาวะตลาดที่มีการแข่งขัน ส่วน กสทฯมีอัตราผลตอบแทน -9.4% ดังนั้น การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอเข้าด้วยกันจึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง


______________________________







ไอซีทีเร่งหาทางรอด"ทีโอที-กสทฯ" ขีดเส้นเม.ย.58 ได้โมเดลใหม่มั่นใจไม่ต้องยุบรวม



กระทรวง "ไอซีที" เดินหน้าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์สถานะ "ทีโอที-แคท" พร้อมทำแผนพลิกฟื้นองค์กร และจัดทัพธุรกิจใหม่ยึดแนวทางตามมติ คนร.แบ่งโครงสร้างเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ ดีเดย์กดปุ่มสตาร์ตก่อนสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าไม่เกิน 4 เดือนได้ข้อสรุป คาดไม่ยุบรวมสององค์กร แต่บริหารแผนลงทุน-แชร์ใช้โครงข่าย ฟาก "ทีดีอาร์ไอ" ย้ำยุบรวมแก้ไม่ถูกจุด

นางทรงพร โกมลสุรเดช รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงได้ยกร่างข้อกำหนดทางเทคนิค (TOR) ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีในฐานะกระทรวงต้นสังกัด ดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของทั้ง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ภายใต้กรอบงบประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งทั้งสององค์กรได้ออกค่าใช้จ่ายรายละ 30 ล้านบาท และส่งมายังกระทรวงไอซีทีเรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระบวนการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวจะเริ่มได้ภายใน เดือน ธ.ค.นี้ โดยมีการออกประกาศขอบเขตและเงื่อนไขการทำงาน (ทีโออาร์) เพื่อเชิญชวนบริษัทที่สนใจเข้ามารับคัดเลือก และประกาศผลให้บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค.

การทำงานของบริษัทที่ปรึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงเดือนแรกจะให้เข้าไปศึกษาสถานะ และทรัพย์สินของทั้ง 2 องค์กร และวางแนวทางการดำเนินธุรกิจตาม มติ คนร.ก่อนหน้านี้ที่สั่งมอบหมายให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ด้วยการแบ่งสายงานออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2.กลุ่มเสาโทรคมนาคม 3.กลุ่มอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 4.กลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5.กลุ่มโทรศัพท์ประจำที่และอินเทอร์เน็ต และกลุ่มบริการด้านไอที รวมศูนย์ข้อมูลไอดีซี และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงไอซีทีจะนำรายงานผลการศึกษาช่วงแรกเสนอไปยังที่ประชุม คนร.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หากเห็นว่าผลการวิเคราะห์มีความเหมาะสม และสามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จึงจะอนุมัติให้มีการดำเนินการวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไป ซึ่งถือเป็นการทำงานในช่วงที่ 2 ใช้เวลาราว 3 เดือน เป็นการลงรายละเอียดแนวทางการดำเนินงานของ 6 กลุ่มธุรกิจที่ต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการทำธุรกิจของทั้ง 2 องค์กรว่าจะออกมาในรูปแบบใด มีส่วนใดบ้างที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และลดต้นทุนได้ รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ความจำเป็นและรูปแบบในการหาพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม เป็นต้น

"เมื่อได้ออกมาเป็นรายงานที่สมบูรณ์จากบริษัทที่ปรึกษาแล้ว คนร.จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางปฏิรูปทีโอทีและ กสทฯต่อไป คาดว่าหลังสงกรานต์ปี 2558 จะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของทั้ง 2 องค์กร แต่ดูจากแนวโน้มในภาพรวมแล้วไม่น่าที่จะมีการยุบรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน แต่น่าจะเป็นแค่การรวมโครงข่ายที่แต่ละบริษัทมีอยู่ในมือมาใช้งานร่วมกันได้ เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการตั้งคณะกรรมการบูรณา การด้านเน็ตเวิร์กของประเทศเพื่อให้มีการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะต้องนำส่งแนวทางดำเนินการให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทันทีที่มีการประกาศ พ.ร.บ.แต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เริ่มเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทันที

ด้านนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมาไม่ได้มีมติเรื่องการยุบรวม บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมเข้าด้วยกันแต่อย่างใด เป็นเพียงการรับทราบมติ คนร.ก่อนหน้านี้ที่ให้แต่ละองค์กรจัดโครงสร้างองค์กร โดยแบ่งออกเป็น 6 สายงานข้างต้น

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาฯตามมติ คนร. บอร์ดกสทฯ ได้เร่งปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้มีความคล่องตัวสูงสุด และเดินหน้าเจรจาเพื่อหาทางระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาสัมปทาน ทั้งในส่วนของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ที่สิ้นสุดสัมปทานไปเมื่อปี 2556 และในส่วนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2561

"แม้ข้อพิพาทต่าง ๆ ยังอยู่ในกระบวนการศาล แต่เราใช้การเจรจาควบคู่กันไปด้วยได้ ถ้ายุติข้อขัดแย้งต่าง ๆ แล้วหันมาร่วมมือกันน่าจะดีกว่า เพราะมองว่าถ้าอะไรที่สามารถร่วมมือกันนำทรัพย์สินสัมปทานที่มีอยู่ไปสร้าง ประโยชน์เดินไปด้วยกันได้ก็จะเจรจาแล้วเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เซ็น MOU กับดีแทคไปแล้วเป็นรายแรก คาดว่าจะได้รูปแบบความร่วมมือระหว่างกันได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ การจะยุบรวมทีโอทีกับ กสทฯ เข้าด้วยกันไม่สามารถตอบได้ ต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล แต่มองว่าน่าจะเป็นไปได้ลำบาก อาจเป็นการยุบรวมแค่บางกลุ่มงานหรือมีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ รวมกันอย่างเหมาะสมน่าจะดีกว่า"

ก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานะของทีโอทีและ กสทฯ อยู่ในภาวะอ่อนแอ เมื่อเทียบอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สินแล้วพบว่า ทีโอทีมีอัตราผลตอบแทน -25% ถือว่าติดลบมากที่สุดในกลุ่ม 5 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้สภาวะตลาดที่มีการแข่งขัน ส่วน กสทฯมีอัตราผลตอบแทน -9.4% ดังนั้น การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอเข้าด้วยกันจึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1418236470

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.