Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

24 ธันวาคม 2557 (เกาะติดประมูล4G) AIS DTAC TRUE จับมือกันแสดงความพร้อมประมูล 4G ( หลังคสช.เริ่มไฟเขียว) AIS DTAC มองตรงกัน!! ช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ประมาณ 10-15 MHz และคลื่นความถี่สูงประมาณ 15 MHz รวมกันเป็น 25-30 MHz แต่ TRUE ขอมากกว่า 20 MHz ถือเป็นปริมาณที่พอเหมาะ

ประเด็นหลัก


       นอกจากนี้ เอไอเอสกับดีแทคยังมองว่า ช่วงคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาให้บริการ 4G ต้องประกอบไปด้วยช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ประมาณ 10-15 MHz และคลื่นความถี่สูงประมาณ 15 MHz รวมกันเป็น 25-30 MHz ถือเป็นปริมาณที่พอเหมาะในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ทรูมูฟ เอช มองว่า มากกว่า 20 MHz ก็เพียงพอต่อการให้บริการแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย



ทั้งนี้การจัดประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ทางคสช. ต้องการให้เลื่อนไปก่อน และจะจัดประมูลในปีหน้าแทน ส่วนงานแถลงข่าววันนี้ โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายต่างแบ่งงานกันเช่น หาสถานที่, ติดต่อนักข่าว และเขียนแถลงการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันให้มีประมูล 4G ในปีหน้าอย่างเร็วที่สุด

_____________________________________________________

















3 ค่ายมือถือยันพร้อมประมูล 4G


พร้อมประมูล 4G – 3 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไทย ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริการดีแทค สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส และ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าคณะผู้บริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมแถลงยืนยันความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล 4G เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาลที่ก้าวไปสู่ Digital Economy

        3 ค่ายมือถือพร้อมเดินหน้าประเทศไทย ยื่นข้อเสนอภาครัฐผลักดันไทยเข้าสู่ยุค 4G เพื่อเป็นแรงส่งให้ Digital Economy โดยเอไอเอส เสนอให้ภาครัฐมีการจัดตั้ง Telecom Infrastructure ส่วนดีแทค เสนอนำคลื่นที่ไม่ได้ถูกใช้งานร่วมประมูลเพื่อให้ได้ทรัพยากรที่เพียงพอ พร้อมแนะปริมาณคลื่น 30 MHz เหมาะสมสุด ขณะที่ทรูมูฟ เอช ชี้การประมูล 4G ไม่ควรกำหนดราคาสูงเกินไป เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากที่สุด
     
       วันนี้ (23 ธ.ค.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ร่วมกันแถลง “ร่วมเดินหน้าประเทศไทย ก้าวสู่ยุค 4G สานต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทตอล” เพื่อยืนยันความพร้อมของภาคเอกชนที่จะประมูล 4G ในปี 2558
     
       นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวย้ำถึงช่วงเวลาในการเปิดประมูล 4G หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า จะให้มีการประมูลภายในปี 2558 นั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Economy ให้แก่ประเทศไทย
     
       “เอไอเอสมองว่าคลื่นความถี่มีความสำคัญมาก และไม่ว่าจะเป็นคลื่นอะไรก็ตามที่ทางภาครัฐสามารถจัดสรรเพื่อนำมาให้บริการได้ ก็คิดว่าจำเป็น แต่ที่สำคัญคือ เรื่องของเวลา ถ้าเกิดการประมูลล่าช้าออกไป โอกาสของประเทศก็จะล่าช้าออกไปด้วย เพราะหลังการประมูลต้องใช้ระยะเวลาในการติดตั้งเพื่อให้บริการ และจะส่งผลให้ Digital Economy ล่าช้าตามไปด้วย”
     
       นอกจากนี้ ทางเอไอเอส ยังเสนอให้มีการทำ Telecom Infrastructure ซึ่งถือเป็นรูปแบบพิเศษ เพราะทางรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ สามารถที่จะเปิดประมูลเพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลไปพัฒนาประเทศอย่างอื่นได้ ขณะที่ในมุมของเอกชนที่นำคลื่นความถี่มาเพื่อให้เกิดบริการก็ต้องมีการลงทุน รวมๆ กันกว่าแสนล้านบาท ก็จะเกิดการสร้างงานอย่างมหาศาล
     
       “การมี Telecom Infrastructure จะช่วยลดต้นทุนในการให้บริการของเอกชน และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วมากขึ้น และจะช่วยให้เกิดการพัฒนา Digital Economy ต่อไป แต่ทั้งนี้ กติกาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับภาครัฐ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะเอาแบบไหนอย่างไร”
     
       นายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวเสริมว่า ด้วยพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคไทยที่แตกต่างจากหลายๆ ประเทศในโลก เพราะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญคือมีการใช้งานวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการใช้งานดาต้าสูงมาก และเชื่อว่า 4G จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การใช้งานดังกล่าว
     
       “ในการให้บริการ 4G สิ่งสำคัญนอกจากการมีคลื่นเพื่อให้บริการที่มากพอแล้ว ยังมีในแง่ของการนำคลื่นมาใช้ควบคู่กันทั้งคลื่นความถี่สูง และคลื่นความถี่ต่ำ เพื่อให้เกิดบริการที่ได้คุณภาพสูงที่สุด ดังนั้น จึงควรมีการนำคลื่นอื่นๆ มาร่วมประมูลพร้อมกันไปด้วย”
     
       โดยทางดีแทค เสนอให้นำคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ไม่ได้ใช้งานจำนวน 25 MHz และคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ดีแทคถือครองอยู่ภายใต้สัมปทาน ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 เข้าไปร่วมจัดสรรให้เกิดการประมูลด้วย เพียงแต่ต้องขึ้นกับทั้งทางหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานกำกับดูแลเห็นชอบด้วย ซึ่งจะเป็นการประมูลในสิทธิถือครองก่อน เพื่อรอหมดสัมปทานถึงนำไปใช้งานได้
     
       ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อยากให้ทางหน่วยงานกำกับดูแล หรือภาครัฐให้ความสำคัญต่อการนำทรัพยากรคลื่นไปใช้ประโยชน์มากกว่าเอาเงินมากองแข่งกัน ด้วยการบีบให้มีการประมูลคลื่นน้อยๆ แต่ราคาสูง
     
       “กฎ ระเบียบในการประมูลไม่ควรเน้นหาเงินเข้ารัฐมากจนเกินไป แต่ควรเน้นไปที่การให้เอกชนนำคลื่นไปให้บริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ประชาชน ให้มองว่าเป็นการนำคลื่นไปให้ผู้บริโภคใช้งาน ไม่ใช่การเอาคลื่นความถี่ไปให้เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจนำไปใช้”
     
       โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลจากเดิมที่กำหนดให้ได้ใบอนุญาตจากการประมูล เป็นการให้ใบอนุญาตตามความเหมาะสมแก่ผู้ประกอบการที่สามารถทำประโยชน์ให้ ระชาชนได้สูงสุด หรือบิวตี้ คอนเทสต์
     
       อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 รายต่างยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล 4G และเปิดกว้างที่จะมีผู้ให้บริการรายอื่นเข้าร่วมประมูลด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเปิดให้มีการประมูลเป็นช่วง 2 x 5 หรือ 2 x 10 MHz ที่เป็นช่วงที่เหมาะสมในเชิงเทคนิค
     
       นอกจากนี้ เอไอเอสกับดีแทคยังมองว่า ช่วงคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาให้บริการ 4G ต้องประกอบไปด้วยช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ประมาณ 10-15 MHz และคลื่นความถี่สูงประมาณ 15 MHz รวมกันเป็น 25-30 MHz ถือเป็นปริมาณที่พอเหมาะในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ทรูมูฟ เอช มองว่า มากกว่า 20 MHz ก็เพียงพอต่อการให้บริการแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
     
       สำหรับการเตรียมความพร้อมร่วมประมูล 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวย้ำถึงการเปิดประมูลคลื่น 4G ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ แล้วเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินงานคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการปรับโครงสร้าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ไปสู่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจเและสังคม

http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000147356


_____________



3 ค่ายมือถือผนึกพลังดัน 4 จี ซีอีโอ “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” จี้รัฐ “จัดหนัก”
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ 24 ธ.ค. 2557 06:45
 947 ครั้ง


เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร 3 ค่ายมือถือในไทย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนในการผลักดันให้เกิดการประมูล 4 จีโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นพื้นฐานในการเดินหน้าสู่นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล

การแถลงข่าวในครั้งนี้ถือเป็นเซอร์ไพรส์ส่งท้ายปี ด้วยการปรากฏตัวพร้อมกันของ 3 ซีอีโอ อันประกอบด้วย นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอส นายซิคเว่ เบรกเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค และนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารทรู เพราะแต่ละคนล้วนคิวทองและยากที่จะปรากฏตัวร่วมกัน ในงานที่จัดขึ้นเป็นการเฉพาะเช่นนี้

โดยนายสมชัยกล่าวว่า การรวมกันแถลงข่าวในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลัง 3 เอกชนค่ายมือถือ เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการส่งสัญญาณ ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เดินหน้าการประมูลเทคโนโลยีมือถือในยุค 4 จีโดยเร็วที่สุด เนื่องจากถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ในการปูพื้นฐานสู่นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล โดยโครงข่าย 4 จีจะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายและสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนในวงกว้างมากขึ้น

“ที่สำคัญ การสร้างโครงข่าย 4 จีนั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนเอง ไม่เหมือนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างรถไฟความเร็วสูงหรือถนนหนทาง เพราะเอกชนที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ จะเป็นคนลงทุนทั้งหมด 3 รายรวมกันน่าจะไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น นอกจากนั้น รัฐยังมีรายได้จากการนำคลื่นออกประมูลด้วย”

สำหรับเอไอเอสนั้น ถือว่ามีความพร้อมที่สุดแล้ว ในการเข้าร่วมประมูลและอยากผลักดันให้เกิดการประมูลให้เร็วที่สุด ไม่ควรล่าช้าอีกต่อไป เพราะประมูลเสร็จก็ยังต้องใช้เวลาในการติดตั้งโครงข่ายอีกระยะหนึ่ง ยิ่งล่าช้าก็จะยิ่งทำให้เสียโอกาส จึงอยากให้การเปิดประมูล 4 จี ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการทำให้มือถือซึ่งมีอยู่กว่า 150% ของจำนวนพลเมืองในประเทศแล้วนั้น ได้มีโอกาสเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพราะขณะนี้เศรษฐกิจรอไม่ได้อีกแล้ว แต่ละประเทศต้องแข่งขันกัน หากไทยไม่อยากแพ้ก็ต้องสู้ จึงขอให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกล้าตัดสินใจและอย่าช้า

ขณะที่นายซิคเว่กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เอกชนทั้ง 3 ราย ได้มีโอกาสร่วมกันช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล การเพิ่มจำนวนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้น จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ ซึ่งรัฐบาลต้องนำออกมาประมูล และเอกชนทั้ง 3 รายก็พร้อมที่จะสนับสนุน ในฐานะที่ดีแทคให้บริการมือถือในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าตลาดเมืองไทยเป็นตลาดที่มีความพิเศษและมีความพร้อมมาก โดยเฉพาะการตอบรับต่อการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทย ซึ่งเหนือกว่าประเทศอื่นๆเกือบทั้งโลก

“นอกจากดีแทคจะพร้อมเต็มที่ในการเข้าประมูลแล้ว เรายังต้องการส่งมอบคลื่นความถี่ที่มีอยู่ คืนกลับให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนำออกประมูลสมทบให้การจัดสรรคลื่นมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเมื่อการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือมีมากขึ้น ผู้ประกอบการก็ย่อมต้องการคลื่นเพิ่มขึ้นด้วย เราจึงมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม โดยอยากให้นำคลื่นออกประมูล มากกว่าที่วางแผนเอาไว้”

ทั้งนี้ กสทช.มีแผนที่จะนำคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เดิมอยู่ภายใต้สัมปทานของบริษัทดีพีซี จำกัดในเครือเอไอเอส และบริษัททรูมูฟ จำกัด รายละ 12.5 MHz รวม 25 MHz ซึ่งปัจจุบันสัมปทานหมดอายุไปแล้ว นำออกประมูลเพื่อให้บริการ 4 จี รวมกับคลื่นความถี่ 900 MHz ของเอไอเอส จำนวน 17.5 MHz ซึ่งสัมปทานจะหมดอายุในเดือน ก.ย.2558 อย่างไรก็ตาม ดีแทคมีข้อเสนอที่จะนำส่งคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่คืน เพื่อนำออกจัดสรรประมูล ได้แก่ คลื่น 1800 MHz จำนวน 25 MHz ที่ไม่ได้ใช้ รวมทั้งคลื่น 850 MHz ที่สัมปทานจะหมดอายุลงในปี 2561 โดยสามารถจัดประมูลก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุ เพื่อให้เอกชนได้มีโอกาสวางแผนการทำธุรกิจได้ยาวขึ้น

ด้านนายศุภชัยกล่าวว่า โครงข่าย 4 จี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไฟเบอร์ออพติก ที่ควรลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนลง ด้วยการสร้างและใช้งานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) นอกจากนั้น การเปิดประมูล ควรยึดแนวทางที่นำไปสู่ประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค อย่ามุ่งเน้นเฉพาะตัวเงินที่รัฐจะได้รับเท่านั้น.



http://www.thairath.co.th/content/470856


________________________________________


"เอไอเอส-ดีแทค-ทรูฯ" ชี้คลื่นที่เหลือต้องจัดสรรในปีหน้า ลั่นประมูล 4G พร้อม 100%



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า วันนี้ (23 ธ.ค.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ 3 รายของประเทศไทย หรือ เอไอเอส, ดีแทค และทรูมูฟ เอช ได้แถลงยืนยันพร้อมประมูล 4G ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้เลื่อนจากที่ต้องจัดประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz เพื่อนำไปให้บริการ 4G ในปีก่อน มาเป็นปีนี้ พร้อมกับต้องการให้ทางผู้จัดการประมูลนำคลื่น 1800 MHz ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 25 MHz มาประมูลด้วย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า การจัดประมูลคลื่นต่างๆ ให้โอเปอเรเตอร์นำมาให้บริการได้มีประสิทธิภาพเช่น 900 และ 1800 MHz เพื่อนำมาให้บริการ 4G จะทำให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานอันใหม่ และเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะระบบสาธารณูปโภค รวมถึงบริการของภาครัฐต่างๆ จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับโมบายอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ดังนั้นทาง "เอไอเอส" จึงพร้อมที่จะเข้าประมูลคลื่นดังกล่าวในปีหน้าแน่นอน

นายซิกเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า การใช้งานด้านดาต้าของผู้บริโภคในปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวโดยตลอด ดังนั้นความจำเป็นในการใช้คลื่นของโอเปอเรเตอร์เพื่อให้บริการจึงมีมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ "ดีแทค" ตัดสินใจนำคลื่นที่มีอยู่ในสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม จำนวน 25 MHz บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และคลื่น 850 MHz ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2561 เข้าร่วมการประมูลในปีหน้าเช่นกัน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการให้โอเปอเรเตอร์ต่างๆ มาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมเช่นกัน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การจัดประมูลนั้นถือเป็นอีกความจำเป็นในการขับเคลื่อนดิจิทัลอิโคโนมี เพราะช่วยให้ผู้บริโภคกับภาครัฐเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น และเกิดบริการใหม่ๆ แต่ทั้งนี้การจัดประมูลนั้นภาครัฐต้องไม่เห็นประโยชน์ด้านเดียวคือ หารายได้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับ และการจูงใจให้มีรายอื่นๆ เข้ามาร่วมในการประมูลเช่นกัน เพราะการจัดประมูลนั้นรัฐบาลจะได้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และยังได้เงินจากค่าประมูลไปพัฒนาประเทศอีกด้วย โดย "ทรูมูฟ เอช" ได้จัดเตรียมงบประมาณ และแผนในการเข้าประมูลครั้งนี้แล้ว

ทั้งนี้การจัดประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ทางคสช. ต้องการให้เลื่อนไปก่อน และจะจัดประมูลในปีหน้าแทน ส่วนงานแถลงข่าววันนี้ โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายต่างแบ่งงานกันเช่น หาสถานที่, ติดต่อนักข่าว และเขียนแถลงการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันให้มีประมูล 4G ในปีหน้าอย่างเร็วที่สุด


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1419316840

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.