Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

21 ตุลาคม 2555 (เกาะติดประมูล3G)(บทความ) เดินหน้าโครงการ 3G กสทช.ต้องยอมรับการตรวจสอบ

ประเด็นหลัก


เพราะตอนนี้องค์กรอิสระอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ดูจะยังบอกว่าการที่จะรีบสรุปว่าการประมูลดังกล่าวไม่โปร่งใสก็ดูจะเร็วเกินไป เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เป็นตัวแทน สตง.ไปร่วมสังเกตการณ์การประมูล 3 จี เมื่อ16 ตุลาคม ที่บอกว่า สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบบริบทต่างๆ ของการประมูล 3 จีดังกล่าวว่ามีการฮั้วหรือมีการประมูลที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ สตง.คงไม่รีบด่วนสรุปตอนนี้ การจะบอกว่าฮั้วหรือไม่ฮั้ว แต่ที่เห็นในวันประมูลก็ไม่พบว่าบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่งจะมีการนัดแนะกันในการเสนอราคาให้เห็นว่าฮั้วกัน



____________________________________



คอลัมน์: ไทยโพสต์: เดินหน้าโครงการ 3 จี กสทช.ต้องยอมรับการตรวจสอบ



ต้องจับตาว่าท่าทีของคณะกรรมการกิจการกระ จายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนา คมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อเรื่องการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น3 จี ซึ่งได้ประมูลเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่16 ต.ค. นับจากนี้จะเป็นอย่างไร

หลังมีข่าวว่ากระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ ลงวันที่  18 ต.ค.2555 ถึง พล.อ.อ.ธเรศ ปุนศรี ประธาน กสทช. ติงว่าการประมูลใบอนุญาตประกอบการ หรือไลเซนส์ คลื่นความถี่3 จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่16  ต.ค.2555 ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้ว



ในส่วนของการดำเนินการต่อจากนี้ หากกระทรวงการคลังจะเดินหน้าตรวจสอบการประมูลดังกล่าว คาดว่า จะมีปัญหาระหว่างองค์กรตามมาแน่นอน เพราะท่าทีของคนใน กสทช.ดูจะไม่ตอบรับหรือยินดียินร้ายกับการตรวจสอบการประมูล 3 จีของกระทรวงการคลังในครั้งนี้แต่อย่างใด เห็นได้จากทาง กสทช.มีการออกมาให้ข่าวจากคนในองค์กร กสทช.หลังปรากฏข่าวเรื่องนี้ว่ากสทช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับของรัฐ

ท่าทีดังกล่าวของคนจาก กสทช.ดูแล้วอาจไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ หาก กสทช.จะออกมาอ้างว่าการประมูลทุกอย่างทำโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ต่างๆ  เพียงแต่ผลการประมูลที่ออกมาสังคมอาจติดใจหรือไม่พอใจ เพราะคิดว่ารัฐน่าจะได้เงินเข้ารัฐมากกว่านี้ ตรงนี้ก็ควรที่ กสทช.ต้องแจกแจงเหตุผลว่าเป็นปัจจัยที่ กสทช.ควบคุมไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการประมูลจนทำให้ผลการประมูลโครงการที่มีด้วยกัน 9 สล็อตออกมาคือ แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ ได้เสนอราคาประมูลสูงสุด 1.46 หมื่นล้านบาทและได้เลือกสล็อตจี, เอช และไอ ขณะที่ดีแทค เนทเวอร์ค เสนอราคารวม 1.35 หมื่นล้านบาทได้เลือกสล็อตเอ, บี และซี และเรียล ฟิวเจอร์ เสนอราคารวม 1.35 หมื่นล้านบาทเช่นกัน และได้สล็อตดี, อี  และเอฟ

โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็ม) เป็นบริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ขณะที่บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด อยู่ในเครือกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (ดีทีเอ็น) เป็นบริษัทในเครือ บมจ.แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค

ซึ่งมาถึงตอนนี้การดำเนินการต่างๆ ก็รุดหน้าไปมากแล้วหลังสิ้นสุดการประมูลดังกล่าว ยิ่งเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่เป็นบอร์ดของ กสทช.ที่ดูแลเรื่องนี้และมี พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ เป็นประธานได้เรียกประชุม กทค.ทั้ง 5 คน เพื่อลงมติรับรองผลการประมูลคลื่น3 จี ไปเมื่อ18 ตุลาคม 2555

ผลปรากฏว่า ที่ประชุม กทค.ได้มีมติ 4 ต่อ 1 รับรองผลการประมูล โดย  กทค.ที่รับรอง 4 ราย ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงศ์, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ส่วนคนที่ลงมติ 1 เสียงไม่รับรองคือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และต่อจากนี้ก็เป็นขั้นตอนที่ กทค.ส่งเรื่องไปยังกสทช. เพื่อให้กสทช.เชิญผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย มาวางเงิน  50% ของราคาประมูลที่ก็เริ่มดำเนินการกันไปแล้วเมื่อ19 ตุลาคมที่ผ่านมา

มันก็ทำให้เห็นแล้วว่าทาง กสทช.เองที่เชื่อมั่นว่ากระบวนการทุกอย่างทำถูกต้อง มีขั้นตอนการจัดประมูลที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย ไม่ได้ประมูลกันแบบงุบงิบ ปิดลับ แต่ทุกอย่างเปิดเผยตรวจสอบได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ กสทช.จะต้องฟังคำทักท้วงของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ต้องติดตามกันดู  เพราะหาก กสทช.ยืนกรานไม่มีการทบทวนการประมูล เพราะทุกอย่างเลยขั้นตอนนั้นมาหมดแล้ว การจะไปทบทวนหรือยกเลิกใดๆ ก็เสี่ยงที่ กสทช.จะโดนฟ้องกลับจากบริษัทเอกชนได้ อีกทั้งอาจเกรงว่าตัวเองอาจจะเสียฟอร์มที่ทำงานใหญ่งานแรกก็มีปัญหาเลยจะไม่สนใจต่อข้อทักท้วงที่เกิดขึ้น

ตรงนี้ก็ต้องติดตามดูว่าแล้วกระทรวงการคลังจะว่าอย่างไรต่อไป อีกทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาร่วมตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  หรือองค์กรอื่นๆอย่างวุฒิสภา เป็นต้น

เพราะตอนนี้องค์กรอิสระอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ดูจะยังบอกว่าการที่จะรีบสรุปว่าการประมูลดังกล่าวไม่โปร่งใสก็ดูจะเร็วเกินไป เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เป็นตัวแทน สตง.ไปร่วมสังเกตการณ์การประมูล 3 จี เมื่อ16 ตุลาคม ที่บอกว่า สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบบริบทต่างๆ ของการประมูล 3 จีดังกล่าวว่ามีการฮั้วหรือมีการประมูลที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ สตง.คงไม่รีบด่วนสรุปตอนนี้ การจะบอกว่าฮั้วหรือไม่ฮั้ว แต่ที่เห็นในวันประมูลก็ไม่พบว่าบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่งจะมีการนัดแนะกันในการเสนอราคาให้เห็นว่าฮั้วกัน

บทสรุปของการประมูล 3 จีดังกล่าวจะชะงักหรือไม่ กสทช.จะเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงหรือไม่ยอมรับการตรวจสอบจากองค์กรอื่นแล้วจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ดูแล้วเรื่องนี้คงยังไม่ยุติในเวลาอันรวดเร็วแม้หลายฝ่ายอยากจะใช้ 3 จีกันแล้วทั่วประเทศ.

http://www.ryt9.com/s/tpd/1512955

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.