Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

21 ตุลาคม 2555 (เกาะติดประมูล3G) ( บทความ ) ประมูล 3 จี ความล้มเหลวที่ต้องนำมาเป็นบทเรียน

ประเด็นหลัก

ทั้งนี้ หลักการประมูลคลื่น 3 จี ในครั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญและต้องตระหนักถึง 3 ด้าน คือ (1) ภาครัฐ : รัฐควรได้รับรายได้ที่เหมาะสมจากค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการใช้คลื่นความถี่ที่ประมูลใหม่ไปประกอบธุรกิจ  (2) ผู้บริโภค : ผู้บริโภคควรได้รับบริการโทรศัพท์มือถือจากคลื่นความถี่ใหม่ที่มีคุณภาพดีและราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่มี “การแข่งขันสูง”  และ (3) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ : ราคาเริ่มต้นที่รัฐกำหนดขึ้นควรอยู่ในระดับที่ทำให้การประมูลสำเร็จลุล่วง และผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลตอบแทนสูงเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการโทรคมนาคมของประเทศ
   แต่ดูเหมือนการประมูลที่ กสทช.จัดขึ้น ผลประโยชน์จะเอนเอียงไปทางข้อ 3 เอกชนมากที่สุด ขณะที่ประชาชนอาจจะได้รับประโยชน์จากแรงกดดันของกระแสสังคม ที่ กสทช ถูกบีบให้ต้องควบคุมราคาค่าบริการ อันเนื่องมาจากการปล่อยให้เอกชนประมูลคลื่นไปต่ำกว่าราคาตลาดมากเกินไป อันนี้แม้ว่าจะเป็นผลดี แต่คนที่เสียหายที่สุดก็คือรัฐ ที่ควรจะได้เงินไปใช้พัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น
   อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระบวนการแจกใบอนุญาตจะมีความคืบหน้า และเอกชนทั้ง 3 รายได้ตีเช็คเงิน 50% ของวงเงินประมูล ส่งมาให้ กสทช.เพื่อส่งต่อเข้าคลังแล้ว แต่การประมูล ยังถือเป็น "ชนักติดหลัง" ของ กสทช. ซึ่งกำลังถูกสังคมจับตามอง และมันยังลูกผีลูกคน เพราะยังมีขั้นตอนต่อสู้ทางกฎหมายอีกหลายประการ ที่ต้องโต้เถียงกันอีกหลายยก และไม่แน่มันอาจจะลุกลามถึงการล้มประมูล ยังเป็นเรื่องที่คาดเดายาก แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม



_______________________________________


ประมูล 3 จี ความล้มเหลวที่ต้องนำมาเป็นบทเรียน

 เสร็จสิ้นกันไป สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3 จี ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
   แม้ว่าระหว่างประมูลจะไม่เกิดปัญหาอะไรให้หนักใจ แต่หลังจบการประมูล กสทช.กลับต้องรับภาระหนักอึ้ง เนื่องจากผลการประมูลที่ออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะราคาประมูลใบอนุญาตขยับขึ้นจากราคากลางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยราคาประมูลรวม 9 ใบ ได้เพียง 41,625 ล้านบาท สูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ 40,500 ล้านบาท เพียง 1,125 ล้านบาท หรือเท่ากับ 2.8% เท่านั้น ขณะที่ราคาตลาดที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ที่ใบละ 6,440 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 9 ใบจะมีราคาอยู่ที่ 57,960 ล้านบาท เท่ากับว่ารัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ถึง 16,335 ล้านบาท
   แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหามากกว่านั้น กลับเป็นเรื่องของ "รูปแบบการประมูล" ซึ่งกลายเป็นเรื่องกังขาไปทั่วทั้งประเทศว่า เป็นการ "ประมูลดัมมี่" เพื่อจัดฉาก สนับสนุน "การฮั้วประมูล" แบบถูกกฎหมายหรือเปล่า
   เพราะผลลัพธ์มันฟ้อง ก็อย่างที่เห็น การประมูลในครั้งนี้มีการเคาะราคาเพิ่มขึ้นเพียง 3 ใบ จากทั้งหมด 9 ใบ ที่เปิดทำการประมูล ซึ่งทั้ง 3 ใบก็เป็นของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บริษัทในเครือ (เอไอเอส) ที่เป็นคนเคาะแข่งขันเพียงรายเดียว ในราคา 4,950 ล้านบาท 2 ใบ และ 4,725 ล้านบาท 1 ใบ รวมมูลค่า 14,625 ล้านบาท ขณะที่เหลือ 6 ใบ ซึ่งตกเป็นของ เรียล ฟิวเจอร์ บริษัทในเครือทรูมูฟ และดีแทค เนทเวอร์ค บริษัทในเครือดีแทค ไม่มีการแข่งขันอะไรกันทั้งสิ้น เพราะยังคงเสนอราคาที่ 4,500 ล้านบาท เท่ากับราคาเปิดประมูลคล้ายกับว่า "ทั้ง 2 ค่าย จองที่ จองทาง" ไว้หมดแล้ว
   ข้อเท็จจริงที่ออกมาขนาดนี้ ถามใครเขาก็บอก "ฮั้วประมูล" ทั้งนั้น แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กทค.) ในฐานะผู้วางหลักเกณฑ์การประมูล ก็ยังดื้อตาใส ยืนยันว่าวีธีการประมูลนั้นถูกต้อง โปร่งใส ไม่มีการฮั้วอย่างแน่นอน
   ถามว่าที่ "กทค." กล่าวมาถูกหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "ถูก" แต่ถูกเพียงส่วนเดียว เพราะแม้ว่าในระหว่างการประมูล ผู้เข้าร่วมการประมูลจะปฏิบัติตามกติกาถูกต้อง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างชัดว่า เป็นการประมูลที่ล้มเหลว ไม่มีการประกวดราคาตามความเป็นจริง ซึ่งความผิดพลาดนี้ไม่ได้เกิดจากตัวผู้เข้าร่วมประมูล แต่มาจากผู้วางกฎกติกาที่ออกแบบการประมูลที่เอื้อกับการเอกชนมากกว่า
   เรื่องนี้ใช่ที่เรียกว่า "การบกพร่องโดยสุจริตหรือไม่?"  เป็นสิ่งที่คณะกรรมการ กทค. ซึ่งประกอบไปด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา รู้อยู่แก่ใจ
   เพราะก่อนที่จะมีการจัดประมูล ทั้งองค์กรสื่อ, นักวิชาการ และคณะกรรมการ กสทช.บางราย ก็พยายามขอให้มีการทบทวนรูปแบบประมูล 3 จี มาหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากหลายคนเห็น "ช่องโหว่" จากการจัดประมูลในครั้งนี้ อันดับแรกก็คือ เรื่องการตั้งราคาใบอนุญาต ซึ่งมีการชี้ให้เห็นว่าราคาตั้งต้นประมูล 4,500 ล้านบาทว่ามีปัญหา เพราะเห็นว่าตัวเลข  67% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่นที่ กสทช.อ้างและใช้คิดราคาตั้งต้นไม่ใช่ข้อเสนอกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 รายเหมือนที่เกิดในไทย ตัวเลขที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เสนอ คือ 82% ซึ่งจะทำให้ราคาตั้งต้นขยับจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 5,280 ล้านบาท เพราะเชื่อแน่ว่าจะไม่ค่อยมีการแข่งขันทางราคามากนัก
   และช่องโหว่อีกประการที่เห็นว่าจะทำให้การประมูลล้มเหลว คือ การที่ กสทช.ลดการถือครองเพดานคลื่นจาก 20 เมกะเฮิรตซ์ เหลือ 15 เมกะเฮิรตซ์ เพราะกลัวว่า 2 รายใหญ่จะทุ่มประมูลคลื่นไปรายละ 20 เมกะเฮิรตซ์ และอีกรายได้ 5 เมกะเฮิรตซ์ จะแข่งขันในตลาดไม่ได้ นี้ก็เป็นการคิดแทนเอกชน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าถึงจะมีเอกชนรายใดรายหนึ่งถึงได้คลื่น 2.1 Ghz ไปน้อย ก็ไม่ได้หมายความบริษัทนั้นจะล่มสลาย   บริษัทเหล่านี้ยังมีศักยภาพในการบริหารจัดการได้ รวมถึงยังมีคลื่นใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนามาใช้ 3 จี หรือ 4 จี เหลืออีกหลายคลื่น ดังนั้นสูตร 15-15-15 นี้มันทำให้หมิ่นแหม่ให้เกิดการสมยอมราคา และจะทำให้การประมูลล้มเหลว
   เสียงเตือนดังเซ็งแซ่ แถม "ช่องโหว่เบ้อเร้อ 2 ช่องนี้" มีคนเห็นกันไปทั่ว แต่คณะกรรมการ กทค.เองทุกคนก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ยังยืนกรานว่าความคิดของตัวเองถูกต้อง และก็ใช้เสียงข้างมาก ออกมติผ่านหลักเกณฑ์รูปแบบการประมูลในลักษณะนี้ออกมา โดยเฉพาะ “พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ” ประธาน กทค. ก็ยังยืนยันว่า ผู้เข้าร่วมประมูลจะแข่งขันกันเสนอราคาเพื่อเลือก “ย่านความถี่” ที่ดีที่สุดแน่นอน
   เป็นตอนนี้เป็นไง คงเห็นแล้วว่า "ใครคิดถูก" และ "ใครคิดผิด" หากยกเอาเหตุผลที่ พ.อ.เศรษฐพงศ์ เชื่อตอนนั้น ว่า เอกชนจะแข่งขันการแย่งคลื่นที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ออกมากลายเป็นว่าช่วงคลื่นที่อยู่ตรงกลางซึ่ง กสทช.เชื่อว่าดีที่สุด และมีการรบกวนน้อยที่สุด กลายเป็นบริษัทที่เสนอราคาประมูลน้อยที่สุด อย่าง บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือทรู ได้ย่านความถี่ช่วงดังกล่าวไป
   แม้ว่าตอนนี้ กทค.จะดันทุรังไม่ยอมรับว่าตัวเอง "ทำผิดพลาด" โดยเร่งรับรองผลการประมูลออกไป โดยไม่ยอมฟังเสียงรอบข้างนั้น มันยิ่งจะกลายเป็นแรงสะท้อนกลับคืนมายังตัวเองเร็วขึ้น
   อย่างกรณีของ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ชื่อว่าข้าราชการตงฉินสุดๆ คนหนึ่งของแวดวงราชการ ถึงขนาดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเคยขนานนามว่า "มือปราบ-ไม้บรรทัด" ส่งหนังสือด่วนไปยัง กสทช. ขอให้ทบทวนการประมูล เพราะเห็นว่าการประมูลดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ซึ่งเกี่ยวกับการสมยอม โดยพบว่ามีการเริ่มต้นราคาประมูลต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
   ทางที่จริง กสทช.ควรจะรับฟังและคิดถึงข้อห่วงใยนี้ เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาหลักฐานมันประจักษ์ชัดว่า การประมูลไม่ได้เกิดการแข่งขันจริงๆ และประเทศเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่ กสทช.กลับเลือกที่จะเดินหน้า แถมตอบโต้กลับด้วยการส่งหนังสือกลับมายังปลัดกระทรวงการคลัง ทำการสอบรองปลัดฯ สุภา เรื่องการปฏิบัติหน้าที่อีกต่างหาก ในข้อหาพูดจาทำลายความน่าเชื่อถือของ กสทช.
   ขณะเดียวกัน กสทช.ก็แก้ตัวด้วยการอ้างว่าปฏิบัติตามข้อกฎหมายและอำนาจที่มีอย่างเคร่งครัด แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะทุกฝ่ายทราบว่า กสทช.นั้นปฏิบัติโดยยึดหลักกฎหมายชัดทุกกระเบียด แต่ประเด็นก็คือ วิธีการประมูลในครั้งนี้ทำให้ประเทศสูญเสียสิ่งที่ควรจะได้ แต่ดูเหมือนว่า กสทช.จะไม่ยอมรับความจริงตรงนี้
   ทั้งนี้ หลักการประมูลคลื่น 3 จี ในครั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญและต้องตระหนักถึง 3 ด้าน คือ (1) ภาครัฐ : รัฐควรได้รับรายได้ที่เหมาะสมจากค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการใช้คลื่นความถี่ที่ประมูลใหม่ไปประกอบธุรกิจ  (2) ผู้บริโภค : ผู้บริโภคควรได้รับบริการโทรศัพท์มือถือจากคลื่นความถี่ใหม่ที่มีคุณภาพดีและราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่มี “การแข่งขันสูง”  และ (3) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ : ราคาเริ่มต้นที่รัฐกำหนดขึ้นควรอยู่ในระดับที่ทำให้การประมูลสำเร็จลุล่วง และผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลตอบแทนสูงเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการโทรคมนาคมของประเทศ
   แต่ดูเหมือนการประมูลที่ กสทช.จัดขึ้น ผลประโยชน์จะเอนเอียงไปทางข้อ 3 เอกชนมากที่สุด ขณะที่ประชาชนอาจจะได้รับประโยชน์จากแรงกดดันของกระแสสังคม ที่ กสทช ถูกบีบให้ต้องควบคุมราคาค่าบริการ อันเนื่องมาจากการปล่อยให้เอกชนประมูลคลื่นไปต่ำกว่าราคาตลาดมากเกินไป อันนี้แม้ว่าจะเป็นผลดี แต่คนที่เสียหายที่สุดก็คือรัฐ ที่ควรจะได้เงินไปใช้พัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น
   อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระบวนการแจกใบอนุญาตจะมีความคืบหน้า และเอกชนทั้ง 3 รายได้ตีเช็คเงิน 50% ของวงเงินประมูล ส่งมาให้ กสทช.เพื่อส่งต่อเข้าคลังแล้ว แต่การประมูล ยังถือเป็น "ชนักติดหลัง" ของ กสทช. ซึ่งกำลังถูกสังคมจับตามอง และมันยังลูกผีลูกคน เพราะยังมีขั้นตอนต่อสู้ทางกฎหมายอีกหลายประการ ที่ต้องโต้เถียงกันอีกหลายยก และไม่แน่มันอาจจะลุกลามถึงการล้มประมูล ยังเป็นเรื่องที่คาดเดายาก แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม
   แต่ที่จะต้องรับบทหนักเป็นพิเศษ คือ คณะกรรมการ กทค.ทั้ง 5 ท่าน  ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ อย่างในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เพราะมีบุคคลหลายกลุ่มเตรียมเดินหน้ายื่นให้ตรวจสอบการประมูล อย่าง นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ก็เตรียมเดินหน้ายื่น ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการประมูล 3G ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้  ร่วมถึงยังมีบางกลุ่มก็พยายามยื่นศาลปกครองขอให้ระงับผลการประมูล ซึ่งทำให้อนาคตยังไม่แน่ชัดว่าการมอบใบรับรองผลการประมูลจะเกิดปัญหา จนทำให้บริการ 3 จี ของประเทศไทยเกิดอาการสะดุดอีกหรือไม่
   นี้คือบทเรียนราคาแพงสำหรับการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งแรกของไทยในอนาคต อันใกล้ๆ นี้ กสทช.ชุดนี้ถ้าไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นใด พวกเขาจะต้องทำหน้าที่ประมูลจัดสรรคลื่นความถี่อีกมากมาย หวังว่าการจัดประมูลในครั้งนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องนำประสบการณ์ที่จะเรียกว่าลองผิด ลองถูกหรืออะไรก็แล้วแต่ มาทำให้เกิดความผิดพลาดไปซ้ำสอง  การประมูล สินค้า ต้องมีน้อยกว่าคนประมูล นี้ถึงจะเรียกว่าการประมูล.

ไทยโพสต์
http://www.thaipost.net/news/221012/64043

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.