28 มกราคม 2556 (บทวิเคราะห์) เปิดฉากสื่อยุค'ดิจิทัล'จุดเปลี่ยน'แกรมมี่'โตเท่าตัว // "เท่าตัว" จากราว 1 หมื่นล้านในปี2555 จะก้าวสู่รายได้ 2 หมื่นล้าน
ประเด็นหลัก
ด้วยโรดแมพการก้าวเดินสู่ยุคดิจิทัลของแกรมมี่ ภายใน 5 ปี นับจากปี 2555-2559 แกรมมี่จะเป็นองค์กรที่มีรายได้เติบโต "เท่าตัว" จากราว 1 หมื่นล้านในปี2555 จะก้าวสู่รายได้ 2 หมื่นล้าน
ปัจจุบัน Core Business ของ แกรมมี่ มีสัดส่วนรายได้ 50% จากธุรกิจเพลงและอีก 50% ในธุรกิจมีเดีย ช่วง 5 ปีข้างหน้ารายได้กลุ่มธุรกิจบรอดแคสติ้ง ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นทีวีดาวเทียม, เพย์ทีวี, กล่องจีเอ็มเอ็ม แซท และ ทีวีดิจิทัล จะก้าวขึ้นเป็น Core Business ด้วยสัดส่วน 50% จากปัจจุบันที่มีราว 10-20% รวมอยู่ในฝั่งธุรกิจมีเดีย
ทว่า!! ช่วงปี 2555-2556 ช่วงเวลาการลงทุนในธุรกิจใหม่จีเอ็มเอ็ม แซท ก็นับว่าเป็นมุมของความ "เสียวไส้" ในสถานการณ์การลงทุนที่มีตัวเลขค่อนข้างสูง ปี 2555 มีการลงทุนกล่องราว 1,000 ล้านบาท และซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับแกรมมี่
ไพบูลย์ บอกว่า ในทุกธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจ "ขาดทุน" บ้าง แต่ด้วยบิซิเนส โมเดล ที่วางไว้ระยะยาวและโอกาสจากนโยบายที่เปิดกว้าง เชื่อว่าจะกลับมาคืนทุน สร้างรายได้และกำไรโดยเร็ว โดยหวังว่าปี 2556 อาจเห็นกำไร แม้กล่องจีเอ็มเอ็ม แซท จะขาดทุนก็ตาม แต่แกรมมี่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเครือที่จะมาเกื้อหนุน ประคับประคอง เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตในอนาคตอย่าง "ยั่งยืน มั่นคง และ มั่งคั่ง"
เขายังมองว่า ทิศทางธุรกิจบรอดแคสต์ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีขนาดใหญ่และมูลค่าใหญ่กว่าฝั่งโทรคมนาคม เพราะว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยโทรคมนาคมเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องการคอนเทนท์มาช่วยกระตุ้นการบริโภค Data เมื่อพร้อมทั้งบริการ 3จี และอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทดีไวซ์แล้ว "โอกาสทอง" จึงเป็นของคอนเทนท์และบรอดแคสต์ในยุคดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง
____________________________________
เปิดฉากสื่อยุค'ดิจิทัล'จุดเปลี่ยน'แกรมมี่'โตเท่าตัว
โดย : รัตติยา อังกุลานนท์
จากระบบสัมปทานที่ "ผู้รับ" มีเพียงหยิบมือสู่ "ใบอนุญาต" ทั้งกิจการใช้คลื่นความถี่ระบบดิจิทัลและกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากฝ่ายรัฐ ที่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มได้มี "ที่ยืน" ในกิจการบรอดแคสติ้งนับเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่ม "คอนเทนท์ โปรวายเดอร์" ในสื่อยุคดิจิทัล
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้โรดแมพ กสทช. ถือเป็นช่วงเวลาที่เขารอคอยมานานถึง 15 ปีทีเดียว
"ผมใฝ่ฝันอยากจะทำสถานีโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ของตัวเอง มากว่า 15 ปี และควรจะได้ทำธุรกิจบรอดแคสต์ตั้งแต่อายุกว่า 40 ปี แต่ต้องรอจนอายุกว่า 60 ปี"
ด้วยธุรกิจหลักของแกรมมี่ ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา เป็นโปรดักชั่น เฮ้าส์ ขนาดใหญ่ สะสมบุคลากร กว่า 3,000 คน ในธุรกิจเพลง และ Local Content การทำงานในฐานะ "ครีเอทีฟ เฮ้าส์" ผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ ที่ต้องเผชิญกับการ "ลุ้น" ขอเวลาเพื่อออกอากาศรายการทางโทรทัศน์ ที่ต้องแข่งขันกันแบบดีมานด์มากกว่าซัพพลายหลายเท่า เขาบอกว่าเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์ และทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างจำกัด!
"ชีวิตของเราที่ผ่านมาแขวนไว้กับความพึงพอใจและไม่พึงพอใจ ในการต่อสัญญากับเจ้าของสื่อแบบปีต่อปีมาตลอด"
แต่นับจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่เปิดโอกาสให้กิจการไม่ใช่คลื่นความถี่ ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ได้ดำเนินกิจการ แกรมมี่จึงได้เริ่มขยายธุรกิจสู่กิจการ "ทีวีดาวเทียม" เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 20 ช่อง ทั้งที่ผลิตเอง, ร่วมทุน และ ซื้อลิขสิทธิ์
ตามโรดแมพการก้าวสู่ยุคกิจการบรอดแคสต์ในยุคดิจิทัล ที่จะเริ่มออกใบอนุญาตใหม่ในปี 2556 นับเป็น "โอกาส" ครั้งสำคัญของแกรมมี่ ที่จะก้าวสู่ธุรกิจบรอดแคสต์เต็มรูปแบบ
“ปี 2555 และ 2556 ถือเป็นปีที่ ตื่นเต้น ดีใจ และ เสียวไส้ ของ แกรมมี่ เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่ ผมทำงานหนักที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ในยุคดิจิทัล”
ในปี 2555 เป็นมุมของความ "ตื่นเต้น" อันเกิดจากการสร้างธุรกิจใหม่กล่องรับสัญญาณ Gmm Z เป็นธุรกิจที่ต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาเพิ่มเติมกว่า 300 คนภายในปีเดียว เพื่อสร้างธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่เปรียบเสมือน "บ้าน" ให้กับ "ช่องทีวีดาวเทียม" ธุรกิจคอนเทนท์ของแกรมมี่ ได้มีรากฐานที่แข็งแกร่งและมั่นคงในอนาคต
"เราจำเป็นต้องสร้างธุรกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้คอนเทนท์ต่างๆ ไปถึงผู้ชม Gmm Z เป็นกล่องที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ราคาที่ถูกที่สุด เพราะลูกๆ ผม (ช่องรายการ) ที่จะถูกบรรจุอยู่ในกล่อง Gmm Z จะไม่ถูกใครมารังแกหรือกีดกั้นได้"
ขณะที่ปีนี้เป็นมุมของความ "ดีใจ" เพราะแกรมมี่จะขยายสู่กิจการ "ทีวีดิจิทัล" โดยวางเป้าหมายประมูลทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่องเด็ก, ช่องข่าว และช่องทั่วไประบบเอชดี พร้อมทั้งขอใบอนุญาต "เพย์ทีวี" โดยเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ราว 2 พันล้านบาท
นั่นหมายถึง แกรมมี่ก้าวเข้าสู่กิจการบรอดแคสต์ "เต็มรูปแบบ" ภายใต้ระบบใบอนุญาต ทั้งช่องทีวีดาวเทียม, เพย์ทีวี และ ทีวีดิจิทัล ไพบูลย์ บอกว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่แกรมมี่จะเติบโตในสื่อยุคดิจิทัล
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการต่อยอด "คลังคอนเทนท์" ที่สะสมมาตลอด 30 ปี ในฐานะโปรดักชั่น เฮ้าส์ ที่ใหญ่ที่สุด ด้วยคอนเทนท์ที่มีอยู่ สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ (Utilize) ต่อยอด และเพิ่มพูนรายได้ให้แกรมมี่
"จากนี้ไป แกรมมี่ จะมีรายได้เพิ่มจากจุดเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อของประเทศในยุคดิจิทัล"
ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลและเปิดเสรีแพลตฟอร์ม แกรมมี่พร้อมจะร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร เพื่อขยายโอกาสการเติบโตเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งจะร่วมมือด้านการพัฒนากล่องรับสัญญาณระบบเอชดีของแกรมมี่ เพื่อนำเสนอให้กับเคเบิลทีวีท้องถิ่น ในฐานะ "คู่ค้า" ที่จะทำธุรกิจคอนเทนท์ในรูปแบบเพย์ทีวี เพื่อแบ่งรายได้ร่วมกัน
การต่อยอดคอนเทนท์ในธุรกิจบรอดแคสติ้ง ใน "ทุกเส้นทาง ทุกแพลตฟอร์ม" จะทำให้แกรมมี่ก้าวไปสู่ New Era ของแกรมมี่ ที่มีความสมบูรณ์ เพียบพร้อม ในฐานะผู้สร้างคอนเทนท์, ผู้ซื้อคอนเทนท์ และเจ้าของแพลตฟอร์ม
ด้วยโรดแมพการก้าวเดินสู่ยุคดิจิทัลของแกรมมี่ ภายใน 5 ปี นับจากปี 2555-2559 แกรมมี่จะเป็นองค์กรที่มีรายได้เติบโต "เท่าตัว" จากราว 1 หมื่นล้านในปี2555 จะก้าวสู่รายได้ 2 หมื่นล้าน
ปัจจุบัน Core Business ของ แกรมมี่ มีสัดส่วนรายได้ 50% จากธุรกิจเพลงและอีก 50% ในธุรกิจมีเดีย ช่วง 5 ปีข้างหน้ารายได้กลุ่มธุรกิจบรอดแคสติ้ง ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นทีวีดาวเทียม, เพย์ทีวี, กล่องจีเอ็มเอ็ม แซท และ ทีวีดิจิทัล จะก้าวขึ้นเป็น Core Business ด้วยสัดส่วน 50% จากปัจจุบันที่มีราว 10-20% รวมอยู่ในฝั่งธุรกิจมีเดีย
ขณะที่ธุรกิจเพลง ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 80% ก็ยังเติบโตได้ โดยรูปแบบการเติบโตจะย้ายไปที่ดิจิทัล ดาวน์โหลดและโชว์บิซ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 25% และธุรกิจมีเดียอีก 25%
"เราจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากการเปิดเสรีบรอดแคสต์ ที่เพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้แกรมมี่จากเดิมที่โตเฉลี่ยปีละ 10-15%"
ทว่า!! ช่วงปี 2555-2556 ช่วงเวลาการลงทุนในธุรกิจใหม่จีเอ็มเอ็ม แซท ก็นับว่าเป็นมุมของความ "เสียวไส้" ในสถานการณ์การลงทุนที่มีตัวเลขค่อนข้างสูง ปี 2555 มีการลงทุนกล่องราว 1,000 ล้านบาท และซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับแกรมมี่
ไพบูลย์ บอกว่า ในทุกธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจ "ขาดทุน" บ้าง แต่ด้วยบิซิเนส โมเดล ที่วางไว้ระยะยาวและโอกาสจากนโยบายที่เปิดกว้าง เชื่อว่าจะกลับมาคืนทุน สร้างรายได้และกำไรโดยเร็ว โดยหวังว่าปี 2556 อาจเห็นกำไร แม้กล่องจีเอ็มเอ็ม แซท จะขาดทุนก็ตาม แต่แกรมมี่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเครือที่จะมาเกื้อหนุน ประคับประคอง เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตในอนาคตอย่าง "ยั่งยืน มั่นคง และ มั่งคั่ง"
เขายังมองว่า ทิศทางธุรกิจบรอดแคสต์ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีขนาดใหญ่และมูลค่าใหญ่กว่าฝั่งโทรคมนาคม เพราะว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยโทรคมนาคมเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องการคอนเทนท์มาช่วยกระตุ้นการบริโภค Data เมื่อพร้อมทั้งบริการ 3จี และอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทดีไวซ์แล้ว "โอกาสทอง" จึงเป็นของคอนเทนท์และบรอดแคสต์ในยุคดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/media/20130128/487619/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%
B4%E0%B8%94%E0%B8%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E
0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8
%B1%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%
E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B
8%B5%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%
E0%B8%B1%E0%B8%A7.html
ไม่มีความคิดเห็น: