20 มิถุนายน 2557 กสทช.เศรษฐพงค์ ชี้ กรณีผู้ใช้คลื่น1800MHz ( AIS GSM 1800 และ TRUEMOVE )ปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน บางคนไม่สนใจ ในขณะที่บางส่วนเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ
ประเด็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน บางคนไม่สนใจ ในขณะที่บางส่วนเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ได้ใช้ก็มี ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 ค่าย มีการเสนอให้สิทธิในการอัพเกรดในเครือข่ายเดียวกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมเสนอโปรโมชันต่างๆ นานา แต่หากไม่พอใจ ลูกค้าจะต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิมก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการเสียค่าธรรมเนียมเพียง 29 บาท แต่การตลาดที่แข่งขันกันดุเดือดขณะนี้ บางทีนอกจากไม่เสียค่าโอนแล้ว อาจมีโปรโมชันของแถมต่างๆมายั่วใจก็ได้ ขอเพียงดึงดูดลูกค้ามาอยู่ในระบบเป็นพอ
______________________________________
กสทช.จี้ผู้ใช้คลื่น1800MHzเร่งย้ายโอน
"กสทช." แจงผู้โอนย้ายเลขหมาย 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีมากกว่า 10 ล้านราย แนะผู้ที่ยังตกค้างกว่า 5 ล้านเลขหมายเร่งโอนย้ายในทันทีช่วงนี้ ด้วยเหลือเวลาเพียง 3 เดือนก่อนหมดมาตรการเยียวยา 15 ก.ย. เกรงหากแห่ทำการช่วงใกล้เดดไลน์ไม่ทันการอาจมีซิมดับ ด้วยกำลังการโอนย้ายต่อวันมีจำกัดเพียงวันละ 60,000 รายเท่านั้น
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ภายหลังสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กำลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยาภายในวันที่ 15 กันยายน 2557 หลังจากให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือ ดีพีซี ดำเนินการมาตรการเยียวยาใกล้ครบกำหนด 1 ปี ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการ 18 ล้านราย
ปรากฏว่ามียอดคงเหลือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 ดีพีซี มีจำนวน 5,950 เลขหมาย ในขณะที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด มีผู้ใช้งานประจำที่ยังคงค้างโอนมีอยู่กว่า 3,200,000 ราย และผู้ใช้งานน้อยมากหรือไม่มีการใช้งาน มีกว่า 2,300,000 เลขหมาย จึงเป็นห่วงว่าหากรอเวลาไปดำเนินการช่วงใกล้สิ้นสุดเวลามาตรการในวันที่ 15 กันยายน 2557 จะไม่สามารถทำการได้ทัน เนื่องจากในทางปฏิบัติการโอนเลขหมายมีเพดานการทำได้สูงสุด 60,000 รายต่อวัน
"ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหา คือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสาร ว่าอยู่ในข่ายเลขหมายที่ต้องโอน ซึ่งด้วยระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือนเศษ หากทยอยโอนย้ายเลขหมายก็จะสามารถทำได้ทัน แต่หากรอเวลาแล้วไปเร่งทำการในช่วงใกล้ๆเดดไลน์ คิดว่าคงไม่สามารถทำการได้ทัน และจะต้องมีผู้ใช้หลายรายเกิดอาการซิมดับ"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน บางคนไม่สนใจ ในขณะที่บางส่วนเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ได้ใช้ก็มี ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 ค่าย มีการเสนอให้สิทธิในการอัพเกรดในเครือข่ายเดียวกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมเสนอโปรโมชันต่างๆ นานา แต่หากไม่พอใจ ลูกค้าจะต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิมก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการเสียค่าธรรมเนียมเพียง 29 บาท แต่การตลาดที่แข่งขันกันดุเดือดขณะนี้ บางทีนอกจากไม่เสียค่าโอนแล้ว อาจมีโปรโมชันของแถมต่างๆมายั่วใจก็ได้ ขอเพียงดึงดูดลูกค้ามาอยู่ในระบบเป็นพอ
นอกจากนี้ พ.อ.ดร. เศรษฐพงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังการหมดอายุสัมปทานของ ดีพีซี และ ทรูมูฟ นั้น กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายในเดือนสิงหาคม โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น(ประชาพิจารณ์) การประมูลไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา และการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะดำเนินการประมูลในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะได้จัดให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น(ประชาพิจารณ์) ในวันที่ 19 มิถุนายน 2557 นี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,958 วันที่ 19 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=235301:1800mhz&catid=123:2009-02-08-11-44-33&Itemid=491#.U6QL4xZAfM4
ไม่มีความคิดเห็น: