Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

23 มิถุนายน 2557 BMBและPPTV.เขมทัตต์ ระบุ ช่องรายการเด็กจะหายไปก่อน เพราะเม็ดเงินโฆษณาเข้าน้อย อีกทั้งเป็นเซกเมนต์ที่สินค้าลงโฆษณาอยู่แล้วน้อยมาก


ประเด็นหลัก

       นายเขมทัตต์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่อง จาก 17 บริษัท ที่กำลังออกอากาศอยู่นั้น เมื่อเทียบกับปัจจัยบวกอย่างเม็ดเงินโฆษณาที่จะช่วยกระตุ้นให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นได้เร็วแล้ว มองว่า 3 ช่องรายการเด็กจะหายไปก่อน เพราะเม็ดเงินโฆษณาเข้าน้อย อีกทั้งเป็นเซกเมนต์ที่สินค้าลงโฆษณาอยู่แล้วน้อยมาก


______________________________________

ดิจิตอลช่อง “เด็ก-ข่าว” วูบ โฆษณาแป้กต้นทุนผลิตสูง



       ทีวีดิจิตอลเริ่มระส่ำ โฆษณาไม่เข้า ตามคาดเม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวีเดือน พ.ค.ติดลบ 8.72% ชี้ 24 ช่องทีวีดิจิตอลอาจจะล้มหายเร็วกว่าที่คาดการณ์ บิ๊กแชนเนลที่อยู่ได้อาจไม่ถึง 5 ช่อง มองทีวีดาวเทียมหายไปกว่า 100 ช่อง ผลดีให้ทีวีดิจิตอลเกิดได้เร็วขึ้น
     
       นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ BMB และผู้อำนวยการสถานีช่องทีวีดิจิตอล PPTV เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ และระงับการออกอากาศของช่องทีวีดาวเทียมไปกว่า 100 ช่องในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับช่องทีวีดิจิตอล เพราะแบนด์วิธสัญญาณมีเหลือช่องที่เหลือจึงมีความคมชัดมากขึ้น ช่องขยะหายไปเยอะ โอกาสของช่องทีวีดิจิตอลจึงมีสูงมากที่คนไทยจะเข้าถึงและรับชม ดังนั้นจึงมองว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ มีการจัดระเบียบที่ชัดเจน อนาคตที่ทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นนั้น อาจจะเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้
     
       “คสช.เข้ามาดูแลช่องทีวีดาวเทียม ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อช่องทีวีดิจิตอล โดยโอกาสที่ช่องทีวีดาวเทียมเหล่านี้จะกลับมาออกอากาศได้อีกนั้นมองว่าไม่น่าจะเกินหลัก 10 ช่อง ส่วนใหญ่จะเป็นช่องบันเทิง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นตัวชี้วัดการเกิดของช่องทีวีดิจิตอลด้วย เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณาตกลง เม็ดเงินโฆษณายังไม่เข้าช่องทีวีดิจิตอลมากนัก อาจจะส่งผลให้ในความเป็นจริงช่องทีวีดิจิตอลจะอยู่ได้จริงไม่เกิน 5 ช่อง”
     
       นายเขมทัตต์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่อง จาก 17 บริษัท ที่กำลังออกอากาศอยู่นั้น เมื่อเทียบกับปัจจัยบวกอย่างเม็ดเงินโฆษณาที่จะช่วยกระตุ้นให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นได้เร็วแล้ว มองว่า 3 ช่องรายการเด็กจะหายไปก่อน เพราะเม็ดเงินโฆษณาเข้าน้อย อีกทั้งเป็นเซกเมนต์ที่สินค้าลงโฆษณาอยู่แล้วน้อยมาก
     
       ส่วนอีก 7 ช่องข่าวเป็นช่องที่มีต้นทุนในการผลิตข่าวสูงมาก การแข่งขันสูง การที่จะอยู่ได้ครบจึงเป็นไปได้ยาก ช่องที่มีเรตติงและคอนเทนต์หรือต้นทุนข่าวเดิมอยู่แล้วจะมีโอกาสมากกว่า
     
       ส่วนกลุ่มช่องที่มีโอกาสอยู่ได้มากที่สุด คือกลุ่ม 7 ช่องทีวีดิจิตอลแบบวาไรตี้ที่ออกอากาศแบบ HD จากโครงสร้างคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงกับฟรีทีวีในปัจจุบัน จะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้ดีกว่า บวกกับความคมชัด จึงทำให้มีโอกาสมากกว่า โดยขณะนี้ช่องที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง ได้แก่ ไทยรัฐทีวี PPTV และอัมรินทร์ทีวี รวมถึงช่อง 7 ที่ออกคู่ขนานกับฟรีทีวี ส่วนช่อง 9 และช่อง 3 ที่ออกอากาศแบบ HD ยังนิ่งอยู่ ดังนั้นในท้ายที่สุดทีวีดิจิตอลอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วจริง แต่ก็น่าจะเหลืออยู่แค่ไม่เกิน 5 ช่องเท่านั้น
     
       ในส่วนของช่อง PPTV เองนั้น ยอมรับว่าจากภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมโฆษณาที่ติดลบมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้ามาในช่องทีวีดิจิตอลไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ขณะนี้ต้องมีการทบทวนแผนการดำเนินงานทุก 2 เดือน เน้นจัดทำผังรายการให้นิ่ง มุ่งบริหารต้นทุน ถึงสิ้นปีนี้น่าจะพอมีรายได้อยู่บ้าง แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้แต่แรก
     
       • งบโฆษณา พ.ค.ติดลบ 11.69%
     
       ทั้งนี้เป็นไปตามผลสำรวจของทางนีลเส็น คอมปะนี ที่พบว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในเดือน พ.ค. 2557 ที่ผ่านมาติดลบ 11.69% หรือมีมูลค่าที่ 8,580 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ซึ่งมีเพียงสื่อทรานซิตเท่านั้นที่ยังเติบโตอยู่ 4.01% คิดเป็นมูลค่า 311 ล้านบาท ขณะที่สื่อหลักอย่างสื่อทีวีติดลบ 8.72% หรือมีมูลค่าเพียง 5,484 ล้านบาท สื่อวิทยุติดลบ 15.34% หรือมีมูลค่าเพียง 458 ล้านบาท และสื่อหนังสือพิมพ์ติดลบ 16.22% มีมูลค่า 1,033 ล้านบาท โดยสื่ออินสโตร์ติดลบมากสุดถึง 49.26% หรือมีมูลค่า 137 ล้านบาท
     
       ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. 57-พ.ค. 57) ยังคงติดลบต่อเนื่องที่ 9.20% หรือมมีมูลค่าที่ 41,034 ล้านบาท โดยสื่อหลักอย่างสื่อทีวีติดลบ 7% หรือมีมูลค่าที่ 26,306 ล้านบาท สื่อวิทยุติดลบ 13.91% หรือมีมูลค่าที่ 2,110 ล้านบาท และสื่อหนังสือพิมพ์ติดลบ 14.93% ใช้ไป 5,019 ล้านบาท โดยมีเพียงสื่อทรานซิตที่ยังเติบโตอยู่ 0.57% หรือใช้ไป 1,421 ล้านบาท


http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000070558

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.