Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

14 สิงหาคม 2557 กสทช.นที ชี้ ปัจจุบันคนไทยกว่า 70–80% ของ 22.9 ล้านครัวเรือน ได้เข้าถึงและรับชมทีวีดิจิตอลแล้ว และรับรู้คนสับสนเรื่องเลขช่อง อย่างช่องไทยรัฐทีวีอยู่ช่อง 32 แต่หากรับชมบนช่องทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลจะอยู่ช่อง 42

ประเด็นหลัก



พ.อ.นที ศุกลรัตน์
รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ปัจจุบันคนไทยกว่า 70–80% ของ 22.9 ล้านครัวเรือน ได้เข้าถึงและรับชมทีวีดิจิตอลแล้ว โดยรับชมผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เพราะโครงข่ายทีวีดาวเทียม ต้องนำทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องมาออกอากาศด้วย ตามประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)



เรื่องเลขช่อง จึงเป็นอีกเรื่องที่ กสท.จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะคนสับสนมาก อย่างช่องไทยรัฐทีวีอยู่ช่อง 32 แต่หากรับชมบนช่องทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลจะอยู่ช่อง 42

ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการช่องดิจิตอลบางรายใช้ความสนิทสนมกับผู้ให้บริการโครงข่าย ด้วยการปรับคุณภาพการออกอากาศของตัวเอง จากประมูลได้ระบบ SD แต่กลับออกอากาศเป็นระบบ HD เรื่องนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ผมและ กสท.กำลังพิจารณาเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุมไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจแน่

ส่วนเรื่องการจัดอันดับความนิยมของรายการ (เรตติ้ง) เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการซื้อโฆษณานั้น กสท.กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งเรื่องเรตติ้งนั้นไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ต้องระมัดระวัง เป็นขั้นเป็นตอน และต้องแก้ไขประเด็นปัญหากันไป เรื่องนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรับทราบ แต่เมื่อไม่ได้อย่างที่คิดหวังไว้ก็ไม่พอใจ

ขอให้เชื่อว่า กสท. พยายามอย่างเต็มที่แล้ว เพราะตระหนักเสมอว่า เรตติ้งเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากการตรวจวัดไม่แม่นยำ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ก็จะกลายเป็นตัวการทำลายอุตสาหกรรมมากกว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น











______________________________




เสียงครวญ...จากทีวีดิจิตอล รอ คสช.กดปุ่มเดินหน้าแจกคูปอง


หลายคนอาจดีใจที่การพัฒนาเทคโนโลยีในกิจการการกระจายเสียง และ โทรทัศน์ของประเทศไทยเราในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ความเจริญอีกขั้น และมีมาตรฐานสากลเยี่ยงนานาอารยประเทศ ด้วยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในระบบเก่าจากอนาล็อก สู่ระบบใหม่ที่เรียกว่า ดิจิตอล ซึ่งมีความคมชัดทั้งภาพ และเสียงมากกว่า

แต่ความดีใจที่ได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆของวงการโทรทัศน์ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลใดๆทั้งต่อประชาชนผู้ชม และกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าไปลงทุนในกิจการนี้

เพราะหลังเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลใหม่ 24 ช่องไปเมื่อปลายเดือน ธ.ค.ปี 2556 คิดเป็นมูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท

ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์หลายช่อง โดยเฉพาะพวกที่ต้องจ่ายแพงกว่าในช่อง HD หรือประมาณ 23,700 ล้านบาท เกือบครึ่งของวงเงินที่ประมูลได้ทั้งหมด ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรกสูงถึง 50% ของราคาขั้นต่ำ กำลังประสบปัญหาการดำเนินกิจการอย่างหนัก

ปัญหาที่รุนแรงถึงขั้นกระทบต่อการจัดอันดับเรตติ้งจากจำนวนผู้ชม 22.9 ล้านครัวเรือน (ตามผลการสำรวจ) และจากรายได้ค่าโฆษณา ก็คือ การไม่สามารถเข้าถึงการออกอากาศเพื่อการแพร่ภาพ และเสียงของ ผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องได้ เนื่องเพราะ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) ไม่สามารถจะเคาะราคากล่องแปลงสัญญาณหรือ set top box จากระบบอนาล็อก สู่ระบบ ดิจิตอลได้

จากเดิมที่เคยให้สัญญาแก่ผู้ประกอบการว่า จะสามารถแจกคูปองส่วนลดให้แก่ผู้ชมอย่างน้อย 50% ของผู้ชมทั่วประเทศ หรือประมาณ 11.5 ล้านครัวเรือนได้ภายในเดือน ก.พ.-มี.ค.2557

เพราะการถกเถียงกันว่า ราคาคูปองควรเป็นเท่าไหร่ ได้ใช้ทั้งทรัพยากร และเวลาเนิ่นนานไปโดยเปล่าประโยชน์ กระทั่งถึงต้นเดือน ส.ค.2557 กสทช.เพิ่งจะมีมติให้กำหนดราคาคูปองส่วนลดที่จะแจกจ่ายสู่ประชาชนผู้ชมที่ 690 บาท สำหรับการซื้อกล่อง set top box มาตรฐานต่ำสุดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก กสทช.ว่า สามารถรับชมช่องทีวี SD และ HD ในระบบดิจิตอลได้

และแม้ว่า กสทช.จะมีมติให้แจกคูปองราคา 690 บาทแก่ประชาชนผู้ชมภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้แล้วก็ตาม แต่บรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนผู้ประกอบการในแต่ละช่อง ก็ยังรู้สึกว่า ราคาคูปองที่จะแจกแก่ประชาชนควรอยู่ที่ 1,000 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซื้อกล่องที่มีคุณภาพดี และมีความหลากหลายตามทางเลือกที่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการหลายช่อง ยังต้องลงทุนในเรื่องของเครื่องมือเพื่อการแพร่ภาพออกอากาศ ซึ่งยิ่งทันสมัยก็ยิ่งมีราคาแพง

ขณะที่การจัดหาคอนเทนท์ต์ดีมีคุณภาพ ทำให้ต้องใช้ต้นทุนการดำเนินงานสูง เพื่อนำเสนอต่อผู้ชม นับตั้งแต่วันที่กำหนดให้ต้องแพร่ภาพออกอากาศภายในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับแทบไม่มีประชาชนสามารถรับชมได้อย่างที่ควรจะเป็นสิ่งนี้ทำให้สมาพันธ์ต้องเข้าร้องทุกข์ต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายครั้งเพื่อขอให้พิจารณาให้ กสทช.กำหนดราคาคูปองส่วนลดสำหรับแจกจ่ายต่อประชาชนผู้ชมใหม่ จาก 690 บาท เป็น 1,000 บาท

กระนั้นก็ตาม ทีมเศรษฐกิจ ไม่แน่ใจว่า หลังจากที่ คณะกรรมการ กสทช.เข้าชี้แจงรายละเอียดต่อ คณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว ที่ประชุม คตร.จะสรุปผลเสนอ คสช.อย่างไร

ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงราคาคูปองใหม่ตามข้อร้องเรียนของสมาพันธ์ จะทันต่อการแจกจ่ายคูปองแก่ประชาชมผู้ชมทั้ง 11.5 ล้านครัวเรือนภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ หรือจะต้องเลื่อน และรอคอยกันต่อไปอีก

การเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือเลื่อนการตัดสินใจในเรื่องของราคาคูปองออกไปอีก ย่อมเท่ากับว่า โทรทัศน์ดิจิตอลทั้ง 24 ช่องที่ได้เงินประมูล มามากมายจากภาคเอกชน จะยังคงไม่มีคนดู หรือเข้าไม่ถึงต่อไปอีกนานเท่าใด ก็ยังไม่มีผู้ใดตอบได้

ทีมเศรษฐกิจ ยังมีความเห็นด้วยว่าทั้ง กสทช.และ คสช.ควรพิจารณาถึงการเสียโอกาสของภาคประชาชนที่จะเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอล พอๆกับการที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ในฐานะผู้เป็นเจ้าของเงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท จะต้องประสบกับปัญหาการดำเนินกิจการที่เพียงไม่กี่เดือน พวกเขาก็อาจไปไม่รอดเสียแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆในอันที่จะนำพาพวกเขาให้ก้าวไปถึงเส้นชัยที่วางไว้ไม่ใช่แค่คูปองเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่การสร้างโครงข่ายไม่ครบถ้วน หรือการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างโทรทัศน์ดาวเทียม กับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่ประมูลใบอนุญาตเท่านั้นที่ภาครัฐพึงดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

ดังนั้น หากนโยบายใดๆทั้งของ กสทช.และ คสช.ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอลในทุกเงื่อนไขแล้ว ท้ายที่สุดผู้ประกอบการจะไม่สามารถชำระค่าประมูลช่องในงวดต่อๆไปที่เหลือได้ รวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าเช่าโครงข่ายต่างๆ

เนื่องจากจะไม่มีช่องใดอยู่รอด ไม่ว่าจะมีสายป่านยาวเพียงใด นั่นเอง.

ฟังเสียงครวญจากบรรดาผู้ประกอบการช่องทีวีไปแล้ว ก็ถึงคราวที่หน่วยงานกำกับดูแลทั้งเลขาธิการ กสทช.และประธานคณะกรรมการกสท. จะได้มีโอกาสชี้แจงข้อสงสัยและข้อคับข้องใจของตนบ้าง


ฐากร ตันฑสิทธิ์
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ผมกับคณะกรรมการ กสทช.มีโอกาสไปชี้แจงกับ พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แล้ว

มีหลายเรื่องที่ คตร.ซักถาม และเรื่องสำคัญก็หนีไม่พ้นเรื่องการแจกคูปองส่วนลดเพื่อซื้อเซ็ตท็อปบ๊อกซ์ ซึ่งผู้ประกอบการร้องเรียนเข้าไปมากเรื่องมูลค่าของคูปอง ซึ่งน่าจะเป็น 1,000 บาท ไม่ใช่แค่ 690 บาท หรือทำไมเราไม่แจกกล่องเซ็ตท็อปบ๊อกซ์ไปเลย
ที่สำคัญ เหตุใดเราแจกอะไรให้ประชาชนโดยไม่ต้องมีการยืนยันสิทธิ

ผมก็ตอบไปว่า เราได้พูดกันมามาก และถกเถียงกันมายาวนานเรื่องราคาของคูปองส่วนลด แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมามีแต่เถียงกัน และไม่ได้ข้อยุติ ซ้ำยังเถียงกันทุกราคาภายใต้สมมติฐานทุกเรื่องที่ต่างก็พยายามหยิบยกกันขึ้นมา ขณะที่การจะเข้าถึง หรือรับชมทีวีในระบบดิจิตอลได้ จะต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆโดยที่ประชาชนเสียประโยชน์และผู้ประกอบการเองก็เสียประโยชน์

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยุติการถกเถียงกันเสียที แล้วแจกคูปองให้ประชาชนโดยเร็วภายในเดือนกันยายนนี้และถ้ายิ่งช้ากว่านี้ ก็จะยิ่งเกิดความเสียหายหนักต่อผู้ประกอบการเดิมทีเราคิดว่า การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจะได้เงินมาประมาณ 18,500 ล้านบาท เราก็คำนวณคร่าวๆว่า กล่องเซ็ตท็อปบ๊อกซ์ที่มีมาตรฐานต่ำสุด แต่สามารถดูช่องทีวีในระบบความคมชัดสูง หรือ HD ได้ ควรมีราคาราว 500-600 บาท

แต่โดยเหตุที่การประมูลใบอนุญาตของช่องทีวีดิจิตอลมีมากถึง 24 ช่อง และทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ต้องเสนอราคาแข่งกันจนทำให้ได้เงินเข้ามามากถึง 50,000 ล้านบาท การคำนวณหาสมมติฐานราคาคูปองส่วนลดที่แจกให้แก่ประชาชนเพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกเข้าถึงทีวีในระบบดิจิตอลได้ ก็ควรจะเป็นราคาที่เหมาะสม

สำหรับผมผมคิดว่า ราคาที่อยู่ตรงกลางๆระหว่างสมมติฐานเดิมกับผลการศึกษาของหลายสำนัก หรือแม้แต่ผลจากการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งให้ราคากลางไว้ที่ 1,019 บาทต่อ 100,000 กล่อง คือ 800 บาท จริงๆผลการศึกษาบอกไว้นะว่า ถ้าจำนวนยิ่งเพิ่มมากขึ้นราคากล่องยิ่งต้องต่ำลง ถ้าเพิ่ม 1 เท่า ราคาควรลดลง 10%

จำนวนครัวเรือนที่เราจะแจกตามโครงข่ายที่ไปถึงแล้วในปีนี้ ขณะนี้มี 11.5 ล้านครัวเรือน ถือว่าครอบคลุม 51% ของครัวเรือนแล้วจากที่มีอยู่ 22.9 ล้านครัวเรือน ฉะนั้นราคาก็ควรจะลดต่ำลง

ผมยอมรับว่า ผู้ประกอบการในตลาดแทบไม่มีกำไร แต่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าเขาทำการตลาดดีๆ และเราก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องไปวางในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้า แต่ให้เขากำหนดจุดขาย จุดวางสินค้าเอง เช่น จังหวัดละ 4 จุด ต้องมีบริการหลังการขาย มี call center และมีทีมติดตั้งถึงบ้านโดยไม่คิดเงินเพิ่ม

แต่ด้วยจำนวนครัวเรือนที่มากขนาดนี้ เขาจึงน่าจะทำให้ตัวเองมีกำไรได้ เพราะปีหน้าก็ยังต้องแจกอีก 4-5 ล้านครัวเรือนที่โครงข่ายเข้าถึงสำหรับคูปอง เราจะแจกไปทางไปรษณีย์ เป็นคูปองชนิดพิเศษมีลายน้ำ กำหนดชื่อชัดว่าต้องเป็นเจ้าบ้านที่มีเลขบัตรประจำตัว 13 หลักตรงกัน และการจะใช้คูปองได้ต้องแนบบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย

ส่วนการที่ประชาชนไม่ต้องยืนยันสิทธิ ก็เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระแก่ประชาชนนั่นเอง ที่สำคัญเมื่อไปรษณีย์ส่งคูปองไปให้แล้ว ประชาชนมีสิทธิจะเลือกซื้อกล่องมาตรฐานที่มีสัญลักษณ์รูปตุ๊กตาที่ กสทช.แปะไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มเงิน

แต่ถ้าต้องการจะดูหนังฟังเพลงเพิ่มมากกว่านั้น ก็อาจจะต้องเพิ่มเงินอีกสัก 300 บาท เพื่อซื้อกล่องที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครบ และถ้าจะซื้อทีวีที่เป็นระบบดิจิตอลแล้ว เช่น ทีวีราคาเครื่องละ 7,000 บาท ก็ต้องเพิ่มเงินอีก 6,310 บาท เป็นต้น
นี่ก็เป็นอีกคำตอบหนึ่งว่า ทำไมเราไม่ซื้อกล่องเซ็ตท็อปบ๊อกซ์แจกไปเลย ไม่ใช่แค่ว่า กว่าจะจัดซื้อจัดจ้างได้ต้องใช้เวลานานเท่านั้น แต่ยังเป็นการจำกัดสิทธิประชาชนที่จะเลือกช่องทางเพื่อให้เข้าถึง หรือสามารถรับชมช่องทีวีใหม่ๆในระบบดิจิตอลได้ด้วย
สำหรับหน่วยงาน หรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของโครงข่ายอย่างช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และช่อง 9 อสมท น่ะ ผมคิดว่า ผู้บริหารหน่วยงานทั้งสองแห่งจะต้องผลักดันอย่างจริงจังให้การขยายโครงข่ายดำเนินไปภายในเวลาที่กำหนดด้วย เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ และประชาชน

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ผมชี้แจงไป และท่านประธาน คตร.ก็เห็นว่า เราชี้แจงได้ตรงไปตรงมา ท่านจะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง ก็อยู่ที่ คสช.ล่ะครับว่าจะเห็นควรตามนี้ หรือจะเปลี่ยนแปลง


พ.อ.นที ศุกลรัตน์
รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ผมยอมรับว่า การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ไทยจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลนั้น มีปัญหาขลุกขลักหลายประการ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาแทรกกลางในช่วงการก้าวผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล บางเรื่องแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางเรื่องก็ต้องใช้เวลา กสท.ก็พยายามอย่างที่สุดแล้วในการแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วง

แต่บางเรื่องก็เกินอำนาจหน้าที่ของ กสท. เพราะได้ส่งเรื่องให้บอร์ด กสทช.เป็นผู้พิจารณาแล้ว คือกรณีการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนทีวีดิจิตอล โดย กสท.ได้เห็นชอบและส่งให้บอร์ด กสทช.พิจารณา และบอร์ด กสทช.ก็ได้ส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคาะเป็นหน่วยงานสุดท้ายแล้ว ก่อนที่จะสามารถดำเนินการใดๆต่อไปได้

กสท.ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะช่วยผลักดันแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการทีวี ซึ่งก็ได้พูดคุยหารือกันกับทุกฝ่ายมาโดยตลอด ทั้งทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เพื่อให้อยู่ร่วมกันให้ได้

ไม่อยากให้มองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคู่กรณีทางธุรกิจ เนื่องจากจะทำให้เสียโอกาส เพราะต่างฝ่ายต่างมีต้นทุน มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้นต้องร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยให้อยู่ร่วมกัน

เรื่องคูปองทีวีดิจิตอล ผมและทีมงาน กสท.ทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีนโยบายชัดเจน ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับราคา 1,000-1,200 บาท เพื่อให้ได้กล่องคุณภาพที่ดีและสายอากาศนอกอาคารด้วย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่างๆ ผมในฐานะประธาน กสท.และผลักดันคูปองทีวีดิจิตอล ภายใต้หลักการประชาชนต้องได้ดูทีวีด้วยคุณภาพมาตรฐาน และจะต้องไม่ได้รับผลกระทบ หรือกระทบน้อยที่สุด

นี่คือสิ่งที่ผมคิดและทำมาตลอด เพราะฉะนั้นผมไม่มีวันเปลี่ยน ไม่ใช่เมื่อวานคิดอย่าง วันนี้คิดอีกอย่าง ผมจึงไม่เข้าร่วมพิจารณาเรื่องคูปองอีกเลย

ปัจจุบันคนไทยกว่า 70–80% ของ 22.9 ล้านครัวเรือน ได้เข้าถึงและรับชมทีวีดิจิตอลแล้ว โดยรับชมผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เพราะโครงข่ายทีวีดาวเทียม ต้องนำทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องมาออกอากาศด้วย ตามประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)

ขณะที่การรับชมผ่านระบบภาคพื้นดินมีสัดส่วน 20% ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การรับชมทีวีดิจิตอล ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคนไทยรับชมทีวีดิจิตอลได้แล้ว เพียงแต่คุณภาพการให้บริการยังไม่เป็นไปตามที่ กสทช.กำหนด คือช่องมาตรฐานความคมชัดสูง (HD) ยังไม่สามารถรับชม HD ได้

เนื่องจากโครงข่ายและอุปกรณ์กล่องดาวเทียมยังไม่มีการปรับปรุง (อัพเกรด) จึงต้องรับชมภาพและเสียงในคุณภาพมาตรฐานปกติ (SD) ไปก่อน ด้วยเพราะว่ากล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลไม่อยู่ในเงื่อนไขการแลกคูปองเงินสด จึงไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพกล่องทีวีดาวเทียมและโครงข่ายให้รองรับการถ่ายทอดภาพและเสียงในระดับคุณภาพสูง

ขณะที่หากอนุญาตให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิล เข้าร่วมกระบวนการแจกคูปอง ผู้ชมช่องทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียมก็จะได้รับชมภาพตามมาตรฐานทีวีดิจิตอล ช่อง HD ก็จะออกอากาศในคุณภาพ HD รวมทั้งจะจัดเรียงช่องให้ตรงกับเลขช่องทีวีดิจิตอลด้วย จากปัจจุบันการจัดเรียงช่อง 1-10 เป็นสิทธิของผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม

เรื่องเลขช่อง จึงเป็นอีกเรื่องที่ กสท.จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะคนสับสนมาก อย่างช่องไทยรัฐทีวีอยู่ช่อง 32 แต่หากรับชมบนช่องทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลจะอยู่ช่อง 42

ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการช่องดิจิตอลบางรายใช้ความสนิทสนมกับผู้ให้บริการโครงข่าย ด้วยการปรับคุณภาพการออกอากาศของตัวเอง จากประมูลได้ระบบ SD แต่กลับออกอากาศเป็นระบบ HD เรื่องนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ผมและ กสท.กำลังพิจารณาเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุมไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจแน่

ส่วนเรื่องการจัดอันดับความนิยมของรายการ (เรตติ้ง) เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการซื้อโฆษณานั้น กสท.กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งเรื่องเรตติ้งนั้นไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ต้องระมัดระวัง เป็นขั้นเป็นตอน และต้องแก้ไขประเด็นปัญหากันไป เรื่องนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรับทราบ แต่เมื่อไม่ได้อย่างที่คิดหวังไว้ก็ไม่พอใจ

ขอให้เชื่อว่า กสท. พยายามอย่างเต็มที่แล้ว เพราะตระหนักเสมอว่า เรตติ้งเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากการตรวจวัดไม่แม่นยำ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ก็จะกลายเป็นตัวการทำลายอุตสาหกรรมมากกว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น

สุดท้าย...ต้องรอดูข้อสรุปการแจกคูปองจาก คสช.อีกครั้ง ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายจะเป็นเช่นไร

กสท.ก็ต้องเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการกำกับดูแลให้สอดคล้อง โดยผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ประชาชนต้องได้รับชมทีวีดิจิตอลด้วยคุณภาพมาตรฐานภาพและเสียงในระบบเอชดีให้ดี

ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอก็จะมีความชัดเจน เมื่อชัดเจนแล้วการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นแน่.

ทีมเศรษฐกิจ


http://www.thairath.co.th/content/442387

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.