Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

11 กันยายน 2557 กสทช.นที กรณีช่อง 3 จอดำ ระบุ จะให้ขอใบอนุญาตเพย์ทีวีไม่ใช่ทางที่เขาจะไปแน่ ๆ และไม่ใช่ทางที่ดีสำหรับทุกคนแน่ ๆ วิธีที่ดีที่สุดวันนี้คือทำอย่างไรให้ช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานบนระบบดิจิทัล

ประเด็นหลัก




- ที่จะให้ขอใบอนุญาตเพย์ทีวี

ไม่ใช่ทางที่เขาจะไปแน่ ๆ และไม่ใช่ทางที่ดีสำหรับทุกคนแน่ ๆ เพราะคนที่จะดูทีวีระบบดิจิทัลจะไม่สามารถรับสัญญาณช่อง 3 ได้ วิธีที่ดีที่สุดวันนี้คือทำอย่างไรให้ช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานบนระบบดิจิทัลเหมือนช่องอื่นดีกับอุตสาหกรรม และดีกับช่อง 3 เองด้วย

______________________________




คุยกับ กสท.(ช) "นที ศุกลรัตน์" ทีวีดิจิทัลสะดุดปม ช่อง 3 จอ(ไม่)ดำ



ตกอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้งสำหรับ กสท.(ช) กับประเด็นสุดฮอตที่หลายฝ่ายจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา กรณีช่อง 3 จอ (ไม่) ดำ ซึ่งความคิดเห็นของคนในสังคมต่อเรื่องนี้แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ที่เหมือนกันคือ "กสท.(ช)" โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยเฉพาะเมื่อ "คสช." ตอกกลับมาว่า ไม่ต้องมาถาม ให้ "กสทช." ทำหน้าที่ของตนเอง


"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทุกแง่มุมดังนี

- ที่มาปมปัญหาช่อง 3

กลุ่มวิทยุโทรทัศน์ไม่เคยมีประสบการณ์ในการกำกับดูแลมาก่อน พอมี กสทช. สิ่งที่ต้องทำคือปฏิรูปด้านวิทยุโทรทัศน์ ด้านวิทยุมีปัญหาการใช้คลื่นความถี่มากกว่าคลื่นที่มีต้องค่อย ๆ มูฟ ส่วนโทรทัศน์ เมื่อมีการวางกติกาจะบีบอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง กติกาสำคัญคือ ประกาศมัสต์แครี่ คือการจัดไพรออริตี้ของโทรทัศน์เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริการทั่วไป กับกลุ่มบอกรับสมาชิก

กลุ่มบริการทั่วไป หรือฟรีทีวี ที่ประชาชนทุกบ้านต้องได้รับ ตอนออกกติกา ปี 2555 บอกว่า ฟรีทีวีคือทีวีดิจิทัล เพราะจะมูฟแอนะล็อกไปดิจิทัล แต่ยังไม่มีดิจิทัลจึงให้ทีวีแอนะล็อกเป็นโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปก่อน ทุกแพลตฟอร์มต้องนำไปออก

- ในประกาศไม่ได้เขียนว่าทีวีดิจิทัล

เราเขียนว่าทีวีประเภทบริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ ซึ่งคือใบอนุญาตใหม่ที่ กสทช.ให้กับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ ให้เฉพาะระบบดิจิทัล ไม่ได้ให้กับแอนะล็อก เพราะกฎหมายถือเป็นผู้ประกอบกิจการรายเดิม และเขียนในบทเฉพาะกาลว่า ระหว่างที่ยังไม่มีทีวีดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการรายเดิมในระบบแอนะล็อกให้บริการไปก่อนจนกว่า กสท.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อมีทีวีดิจิทัลก็ต้องส่งต่อหน้าที่ให้ดิจิทัล

- แอนะล็อกเดิมไม่รู้มาก่อนว่าจะยกเลิกเร็ว

กติกาออกมาปี 2555 กสทช.บอกมาตลอดว่า ต้องมีการยุติแอนะล็อก ไม่ใช่เรื่องเร็วหรือไม่เร็ว ที่ผ่านมาอธิบายในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ พยายามหาที่ให้แอนะล็อกมาอยู่บนดิจิทัล เพื่อจะได้รับสิทธิ์ต่อ เหมือนหมากบังคับให้ต้องมาอยู่ เพื่อให้แพลตฟอร์มดิจิทัลแข็งแรง ให้คนได้รับบริการจากระบบเดิมที่เขาคุ้นเคย ซึ่งทุกช่องขึ้นมาหมด กรณีช่อง 3 คิดแต่แรกว่า ท้ายที่สุดก็จำต้องขึ้นมา แต่วิธีการทำธุรกิจเขาคิดว่า ต้องขึ้นแต่อีก 3-6 ปีข้างหน้า

เราก็บังคับตามกติกา พอสิ้นสุดระยะเวลาในการทำหน้าที่เป็นการทั่วไป ก็บอกว่า จบแล้วนะ เมื่อคุณไม่มีสิทธิ์ คุณก็ไปออกบนดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่ได้ เมื่อการวางแผนธุรกิจไม่สอดคล้องกับกติกา จึงเกิดปัญหา อย่างช่อง 7 กับช่อง 9 ไม่มีปัญหา เดินตามกติกาเป๊ะจึงได้สิทธิ์ในการให้บริการทั่วไปผ่านระบบดิจิทัล

- ช่อง 3 คู่ขนานไม่ได้เพราะคนละนิติบุคคล

เรายกให้หมดแล้ว บอกเขามาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อให้มาพูดคุย พยายามเอาเรื่องประโยชน์สาธารณะมาแก้ไข

- ที่จะให้ขอใบอนุญาตเพย์ทีวี

ไม่ใช่ทางที่เขาจะไปแน่ ๆ และไม่ใช่ทางที่ดีสำหรับทุกคนแน่ ๆ เพราะคนที่จะดูทีวีระบบดิจิทัลจะไม่สามารถรับสัญญาณช่อง 3 ได้ วิธีที่ดีที่สุดวันนี้คือทำอย่างไรให้ช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานบนระบบดิจิทัลเหมือนช่องอื่นดีกับอุตสาหกรรม และดีกับช่อง 3 เองด้วย

- จะเกิดขึ้นได้ ?

ทางแก้ปัญหานี้จะคิดแค่ต้องบังคับใช้กติกาอย่างเข้มงวดทันทีก็ไม่ต้องมี กสทช.ใครก็ทำได้ เราต้องตั้งหลักวางกรอบ

 1.ไม่ให้ประชาชนโดนรอนสิทธิ์ ต้องได้รับบริการที่เคยได้รับอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดปัญหาจอดำ 2.ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่ถูกต้อง 3.การแก้ปัญหาต้องเกิดผลดีกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล 4.มีกระบวนการเยียวยาเอกชน ไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะ หรือการบังคับกฎหมายอย่างเข้มข้นทันที ต้องหาจุดร่วมได้จึงจะมีการแก้ปัญหาที่ไม่กระทบกับกระบวนการสาธารณะ

- ไม่ออกคำสั่งห้ามทีวีดาวเทียม-เคเบิล

ความเห็นส่วนตัวของผมเป็นแบบนั้น ไม่ต้องการใช้ไม้แข็งทันที แต่การบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก่อนถึงจุดนั้นถ้าเราหาแนวทางเยียวยาก่อนให้ได้จะดีกว่า

- ภาระของช่อง 3 ถ้าออกคู่ขนาน

ถ้าช่อง 3 แอนะล็อก มาออกในช่องดิจิทัล HD 33 เป็นดับเบิลแทร็ก คือต้องจ่ายค่าสัมปทานในแอนะล็อกอยู่แล้ว ต้องเอามาออกในช่อง 33 ที่จ่ายเงินประมูลกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ช่อง 3 คิดแบบหนึ่ง ช่อง 7 ซึ่งเป็นสัมปทานเหมือนกันคิดอีกแบบ ฉะนั้นหากปฏิบัติกับช่อง 3 อย่างไรต้องปฏิบัติกับช่อง 7 เสมอกัน

- โดนโจมตีว่าเป็นเสือกระดาษ

สมมติว่ามีโจรจับประชาชนเรียกค่าไถ่ เราเป็นตำรวจจะเข้าไปเจรจาให้ปล่อยก่อนหรือบุกชิงตัวประกันเลย โดยที่ตัวประกันได้รับอันตราย อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้า กสทช.บังคับใช้เลย มีปัญหาจอดำ คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน ถึงต้องคุยกับช่อง 3 ก่อนเรียกโครงข่ายมาสั่งไม่ให้ออกอากาศ การพูดคุยเป็นกระบวนการหาทางออกทางปกครองประเภทหนึ่ง พยายามแล้วไม่มีทาง ค่อยไปทางนั้น

- การได้ดูช่อง 3 เป็นประโยชน์สาธารณะ

ไม่ใช่ต้องบอกว่าประชาชนได้รับบริการนี้อยู่ ถ้าเกิดจอดำ คือรอนสิทธิ์ประชาชน ตราบใดที่ กสทช.ยังไม่สั่งยังไม่เกิดผล กระทบใด ๆ กับประชาชน แต่ถ้าช่องทีวีหายไป โดยเฉพาะช่องที่ได้รับความนิยม ประชาชนเสียสิทธิ์ ปัญหายังไม่ถึงขนาดที่จำเป็นต้องรอนสิทธิ์ประชาชน

- กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายหลังจากนี้

ไม่มีประกาศ กสทช.เป็นประกาศทางปกครอง กระบวนการบังคับใช้เป็นไปตามขั้นตอน ขั้นตอนนี้อยู่ในกระบวนการทางปกครอง คือดำเนินการหารายละเอียดให้ครบถ้วน ดูและหาวิธีแก้ไข ถ้าบังคับใช้ไปแล้วกระทบกับประชาชนจะเยียวยาอย่างไร เหมือนเวนคืนที่ดินที่ต้องจ่ายค่าเวนคืน

- ช่อง 3 ไม่ออกคู่ขนานกระทบเปลี่ยนผ่าน

คงมีบ้างแต่ระบบดิจิทัลไม่มีใครขวางได้ สิ่งที่เป็นห่วงคือ ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างที่ทุกคนในอุตสาหกรรมพร้อมใจเดินไปด้วยกัน ช่อง 3 เป็นผู้เล่นที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เข้ามาในเกมนี้บนพื้นที่เท่าเทียมกัน ค่อนข้างมั่นใจว่าท้ายที่สุด ช่อง 3 จะออกอากาศคู่ขนาน ทีวีดิจิทัลมีคนดูแล้ว 12% ไม่นับรวมที่ดูช่องแอนะล็อกที่ออกคู่ขนาน รวมทุกแพลตฟอร์มที่เอาดิจิทัลไปออกมีคนดูแล้ว 70%

- โจทย์ยากของทีวีดิจิทัล

จะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมารับช่องทางนี้ โครงข่ายมีความเสถียรภาพ ทำอย่างไรให้ผู้รับชมจากระบบดาวเทียมเปลี่ยนจาก S1 เป็น S2 เพื่อให้รับชมทีวี HD ได้ เพื่อให้ทีวีดิจิทัลช่อง HD ออกทีวีดาวเทียมเป็น HD ได้ ต้องเป็นความสมัครใจของประชาชน และต้องแสวงหาความร่วมมือกับผู้ประกอบการด้วย

- ผู้ประกอบการช่องดิจิทัลขอเยียวยาบ้าง

มีความเป็นไปได้ บอร์ดกำลังดูว่ามีตรงไหนทำได้ ไม่เกิดผลกระทบ เรื่องการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลต้องคุยกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะเงินส่งคลัง แต่ยืดอายุใบอนุญาตคงไม่ได้ พ.ร.บ.กำหนดไว้ 15 ปี

- การมี คสช.กระทบการทำงานของ กสท.

เรื่องวิทยุโทรทัศน์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองค่อนข้างสูง ถ้าประคับประคองให้เดินมาได้ถือเป็นบวก การเอาประกาศ คสช.ไปอ้างไม่ได้มีผล กระทบอะไร ใครอยากอ้างก็ยกมาอ้าง

- คิดผิดไหมมาเป็น กสทช.

เป็นหน้าที่ที่ดีกับประเทศ กิจการทีวีวิทยุ เป็นกิจการที่มีอิมแพ็กต์กับประชาชนสูงที่สุด มีผลต่อเด็กและเยาวชน คนทางบ้าน 98% รับข้อมูลข่าวสารจากทีวี เป็นการดูแลประโยชน์สาธารณะ ปัญหาการทำงานมีบ้างเป็นธรรมดา คำตำหนิต้องเอามาทบทวน ในโซเชียลเน็ตเวิร์กผมก็ใช้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งกลับไป ต้องใช้ให้เป็น รับรู้ รับฟัง ความเห็นทุกคนมีค่าเท่ากัน แต่ต้องมีจุดยืนเรื่องประโยชน์สาธารณะ



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1410328635

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.