Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

12 มกราคม 2558 (บทความ) ณรงค์ อิงค์ธเนศ ปั้นไทยฮับค้าส่งไอทีอินโดจีน // ปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% ที่มีรายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

ประเด็นหลัก



ปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% ที่มีรายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท มีโอกาสทำตลาดทุกส่วน การลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐต้องมีไอทีเกี่ยวข้อง รวมทั้ง 4จีที่จะประมูล การขยายตัวของดิจิทัลทีวี การลงทุนคลาวด์ขององค์กรใหญ่ หรือการที่พนักงานนำโทรศัพท์มือถือเข้าสู่ระบบ บริษัทก็ต้องลงทุนระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

_____________________________________________________













ณรงค์ อิงค์ธเนศ ปั้นไทยฮับค้าส่งไอทีอินโดจีน

โดย : มรกต รอดพึ่งครุฑ

บอสใหญ่ค้าส่งไอทีสะท้อนการปรับตัวยุควงจรสินค้าเปลี่ยน-ขาดแรงดึงดูด



สถานการณ์ค้าส่งสินค้าไอทีในประเทศถึงคราวต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดในยุคที่ไม่มีสินค้าดึงดูด-วงจรสินค้าไอทีเปลี่ยนไป ผู้บริโภคขาดแรงจูงใจ และกำลังเงินที่จะซื้อสินค้า ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็เหลือน้อยราย

การปรับตัวของผู้ค้าส่งสินค้าไอทีจะทำเช่นไร "กรุงเทพไอที" มีบทสัมภาษณ์ "นายณรงค์ อิงค์ธเนศ" ประธานบริหาร บริษัท เดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด ในเครืออีซีเอส หนึ่งในบริษัทค้าส่งสินค้าไอทีรายใหญ่ของประเทศ ถึงการปรับตัวที่เริ่มมาสักระยะ และยังดำเนินต่อไป

นายณรงค์ ย้อนความหลัง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 การประท้วงของเสื้อสีต่างๆ ส่งผลให้ประเทศไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้า การทำธุรกิจไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตลาดไอทีเองก็เกิดสถานการณ์ชะลอการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้จ่ายรายใหญ่ ส่วนเอกชนก็ไม่กล้าลงทุน

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาคคอนซูเมอร์ เผชิญการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี นับเป็น Paradigm shift ที่เปลี่ยนแปลงมาก จากโน้ตบุ๊คหันไปสู่โมบิลิตี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ธุรกิจไอทีในไทยเปลี่ยนไปมาก รวมถึงตัวเพลเยอร์ก็เปลี่ยนมากเช่นกัน คู่แข่งเดิมที่เคยทราบว่าเป็นพวกค้าส่ง และมีลูกค้าเป็นใคร

แต่ปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้ค้าส่ง 3-4 รายเดิม กลายเป็นเซอร์วิส โพรไวเดอร์, โอเปอเรเตอร์ และอื่นๆ ล้วนเป็นคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็เป็นลูกค้าด้วย เรียกว่า คู่แข่ง และคู่ค้าอยู่ในรายเดียวกัน

ส่วนตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ในโมบิลิตี้ ดีไวซ์ หากรูปแบบการขายก็หลากหลายขึ้นตาม นอกจากการขายลักษณะเดิมๆ ยังมีขายผ่านออนไลน์ โมเดิร์นเทรด ขายแถมคู่กับแพ็คเกจต่างๆ ทำให้การค้าเทรดดิชั่นนอล ไอทีเปลี่ยนไปมาก อย่างไรก็ตาม รายได้ของผู้ค้าส่งไอทีไม่ตก เพราะรายได้บางด้านอาจลด แต่บางด้านเพิ่ม เช่นผู้บริโภคหันไปซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน รายได้รวมของผู้ค้าส่งจึงไม่ตก

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเศรษฐกิจโลกก็มีปัญหา ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ปีที่แล้วดีขึ้น

ขยายออกต่างประเทศ

โดยภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ตลาดไอทีไม่โต อาจติดลบ 1-2% ตลาดโน้ตบุ๊คอาจลดลง 1-2% ตลาดราชการแทบไม่มีธุรกิจมา 2 ปี ทำให้บริษัทไอทีไทยต้องพยายามขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ขยายไประดับโลก

ขณะที่บริษัทขนาดกลางมูลค่าธุรกิจ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาทอย่างบริษัทเอง เริ่มอาศัยตลาดไทยไม่ได้แล้ว แม้มองว่าปี 2558 ยังมีโอกาสโต 15-30% นั้นเป็นไปได้ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น โน้ตบุ๊คจะเติบโตประมาณ 5% โมบาย ดีไวซ์โต 20-30% คอมเมอร์เชียล เอ็นเตอร์ไพร้ซ โต 15-20% แต่พอถึงปี 2560 จะถึงจุดอิ่มตัว เพราะอุตสาหกรรมไอทีเริ่มถึงระดับอยู่ตัวแล้ว ถ้ายังทำธุรกิจเทรดดิชันนอล ไอทีโอกาสโตได้ 3-5% ใกล้เคียงเศรษฐกิจ

ดังนั้น หากยังยึดและทำธุรกิจแง่นี้ต้องขยายไปประเทศอื่น โดยบริษัทเริ่มจับจุดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่การค้า การทำงานระหว่างอาเซียนจะง่ายขึ้น จากการที่อาเซียนเป็นตลาดเดียว กำแพงภาษี และการค้าจะลดลงเรื่อยๆ ภายใน 5 ปี จีดีพีมีโอกาสโต 3-5% ต่อเนื่อง

"วางกลยุทธ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้มองไทยเป็นฮับของอินโดจีน เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ หากจัดระบบภาษีและการเมืองได้ลงตัว จึงคุยกับบอร์ดอีซีเอส พอเดือน มี.ค. 2556 ไปพม่า ดูตลาด เป็นประเทศที่ต้องลงทุนอินฟราสตรักเจอร์อีกมาก แต่จะเข้าไปตลาดเดียวไม่ได้ เลยวางสตราทิจี้ ดูแล 3 ประเทศ มีคุณก้องเกียรติ หวังวีระมิตร รับผิดชอบ โดยมุ่งทำตลาดเอ็นเตอร์ไพร้ซ มีผลิตภัณฑ์เช่น วีเอ็มแวร์ เน็ตแอพ ไซแมนเทค"

ปี 2557 ได้เปิดบริษัทที่พม่าเป็นสำนักงานสาขา ชื่อบริษัทอีซีเอส แวลลู เมียนมาร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่กรุงย่างกุ้ง และเดือนม.ค.นี้ จะเปิดสำนักงานผู้แทนที่กัมพูชา ชื่อบริษัท อีซีเอส แวลลู (แคมโบเดีย) จำกัด หลังจากเข้าไปทำธุรกิจมา 3-4 ปีแล้ว รวมถึงทำธุรกิจกับลาวที่ไม่ได้เปิดสำนักงาน แต่ติดต่อผ่านสาขาที่หนองคายแทน

จากการเปิดบริษัทที่พม่า 8 เดือน ทำยอดขายได้ 100 ล้านบาท ส่วนกัมพูชาและลาวทำธุรกิจโดยไม่มีสำนักงานยอดขายรวมกัน 150 - 200 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดพม่าจะเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท กัมพูชาและลาวรวมกัน 400-500 ล้านบาท อีก 3 ปีประมาณการรายได้เพิ่มเป็น 1 พันล้านบาท เป็นรายได้เกือบๆ 5% ของรายได้จากประเทศไทย

ปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% ที่มีรายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท มีโอกาสทำตลาดทุกส่วน การลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐต้องมีไอทีเกี่ยวข้อง รวมทั้ง 4จีที่จะประมูล การขยายตัวของดิจิทัลทีวี การลงทุนคลาวด์ขององค์กรใหญ่ หรือการที่พนักงานนำโทรศัพท์มือถือเข้าสู่ระบบ บริษัทก็ต้องลงทุนระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ตลาดไทยอิ่มตัว

เขามองว่า ปีถัดไป หรือปี 2559 ตลาดไอทีจะเติบโตเพียง 5% และตลาดไทยจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2560 แต่ที่ปีนี้เติบโต 15% เพราะตลาดอั้นการซื้อขายมานานจากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งราชการ เอกชน และคอนซูเมอร์จะต้องกลับมาซื้อ

"ปีนี้ ประเทศไทยจะเติบโต เพราะหยุดไป 3 ปี ทั้งราชการ เอกชน และคอนซูเมอร์ โดยคอนซูเมอร์จะเป็นการซื้อทดแทนเครื่องเดิม แต่อีก 5 ปี ตลาดกัมพูชา ลาว พม่า จะครองสัดส่วนยอดขาย 50% ของประเทศไทย หรือก้าวไปที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากอัตราการเติบโต และความต้องการลงทุนของกลุ่มซีแอลเอ็ม"

เขา เล่าว่า บริษัททำธุรกิจค้าส่งไอทีมา 27 ปี มีผู้บริหารอายุงานเกิน 15 ปีจำนวนมาก พร้อมที่จะทำงานระดับภูมิภาค ทั้งระดับเทคนิค การขาย และอื่นๆ ฉะนั้น การขยายธุรกิจออกต่างประเทศ ใช้ไทยเป็นฮับขยายตลาดอินโดจีนจึงเป็นทางออกให้บุคลากรก้าวหน้า เป็นตลาดที่มีโอกาส คู่แข่งขันน้อย ซึ่งวางกลยุทธ์ขยายออกไปประเทศทางเหนือ เพราะทางใต้คงสู้สิงคโปร์ มาเลเซียไม่ได้ และหากไทยไม่ขยายไปประเทศอื่นก็ต้องไป

ขณะเดียวกัน เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างต้องการให้ไทยเป็นสำนักงานประจำภูมิภาคอินโดจีน เช่น แอ๊ปเปิ้ล วีเอ็มแวร์ เดลล์ ออราเคิล และเอชพี จากทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม

ส่วนกรณีเกิดเหตุการณ์ในประเทศที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์หยุดชะงักก็สามารถส่งสินค้าตรง โดยไม่ผ่านประเทศไทยได้ เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาคพื้นดิน

เน้นเอ็นเตอร์ไพร้ซ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย จะเน้นตลาดเอ็นเตอร์ไพร้ซมากขึ้น ส่วนตลาดพีซีและโน้ตบุ๊ค ไม่ขยาย จากที่มีน้อยอยู่แล้ว ทั้งพยายามทำตลาดสมาร์ทโฟน หากต้องขึ้นกับนโยบายของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วย และอาจขยายการขายผ่านออนไลน์ การป้อนสินค้าให้ตลาดออนไลน์ที่ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น และบางรายยอมขายขาดทุนเพื่อให้ได้ฐานลูกค้า

"โมบิลิตี้ จะทำให้การค้าเปลี่ยนไปเยอะ การซื้อขายทุกอย่างเปลี่ยน แต่การที่ข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้สตอเรจ และเซิร์ฟเวอร์ ต้องการใช้มาก คลาวด์ คอมพิวติ้ง จะเติบโต แต่ดิสทริบิวเตอร์ไม่เหมาะให้บริการคลาวด์ แต่จะขายอุปกรณ์ต่างๆ ให้คนนำไปสร้างคลาวด์"

เขายังมองถึงทิศทางตลาดไอที ปี 2558 ว่า อุปกรณ์สวมใส่จะมีมากขึ้น เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ อำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่ผู้ใช้ ร้านค้าปลีกไอทีจะมีสินค้าอุปกรณ์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มาวางจำหน่ายมากขึ้น ทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพ ของเล่น ของใช้ในบ้าน ที่เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นทำให้การทำงาน การใช้งานง่าย และสะดวก|||







http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20150112/628047/ณรงค์-อิงค์ธเนศ-ปั้นไทยฮับค้าส่งไอทีอินโดจีน.html

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.