Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

24 มีนาคม 2558 (บทความ) 3G - 4G จะแรงหรือล้า อยู่ที่ปริมาณการใช้งาน // AIS.ปรัธนา ระบุ ข้อมูลลูกค้า ใช้งานสัญญาณ 3จี ประมาณ 40.8 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมด 44.3 ล้านราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 1.6 กิกะไบต์/เดือน

ประเด็นหลัก




ขณะที่ ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้งานสัญญาณของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จะพบว่าการใช้งานด้านโทรศัพท์น้อยลง แต่หันมาใช้ดาต้ามากขึ้น จากข้อมูลลูกค้าของเอไอเอสที่ใช้งานสัญญาณ 3จี ประมาณ 40.8 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมด 44.3 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 20 ล้านราย และมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้งานเพียง 600 เมกะไบต์/เดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 1.6 กิกะไบต์/เดือน


_____________________________________________________













3จี-4จี จะแรงหรือล้า อยู่ที่ปริมาณการใช้งาน


โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

3จี-4จี จะแรงหรือล้า อยู่ที่ปริมาณการใช้งาน

ยังไม่ถึงช่วงของการประมูลคลื่นความถี่ 4จี อย่างเป็นทางการ แต่ภาครัฐก็ส่งสัญญาณดีให้แก่โอเปอเรเตอร์ทุกราย ว่าจะมีการประมูลในช่วงเดือน ส.ค.นี้แน่นอน ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้งสามค่ายต่างขานรับและพร้อมประมูลแน่นอน แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งประมูล 4จี และหลังจากใช้ 4จี แล้ว จะใช้ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่เรื่องนี้น่าติดตาม

“ด้านการใช้งาน ไม่มีคำว่า 3จี แท้หรือเทียม แต่อยู่ที่ผู้ให้บริการใช้งานคลื่นสัญญาณที่ได้มานั้นแบบเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ เมื่อเอา 3จี มารันบนคลื่นสัญญาณ 2100 ยิ่งทำให้ความรวดเร็วในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น “ชัยยศ จิรบวรกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทคกล่าว

กรณีที่มีข้อสงสัยว่า 3จี ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายเต็มที่ในการให้บริการหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ในแง่ของการทำงานทุกค่ายต่างก็พยายามจัดสรรระบบสัญญาณให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างครบถ้วน และรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า แต่ปริมาณความต้องการสัญญาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานดาต้า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจาก 32.7% เป็น 48% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 61% ในปี 2561

การเติบโตแบบดับเบิ้ลดิจิท หรือการใช้งานที่โตแบบก้าวกระโดดคือมากกว่า 40-50% ต่อปี เริ่มทำให้คลื่นสัญญาณที่ทุกค่ายได้มาเริ่มติดปัญหา และทุกฝ่ายต่างก็ต้องการเร่งให้มีการเปิดประมูล 4จี มากขึ้น

“ความถี่ก็เหมือนกับถนนที่มีข้อจำกัดในการรองรับจำนวนรถ หากใช้งานมากไปก็จะติดขัด ความถี่ก็เช่นกัน ยิ่งลูกค้าใช้งานเยอะ โอเปอเรเตอร์ก็ต้องการที่จะมีสเปกตรัมที่กว้างมากพอ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะสามารถใช้งานสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดกระแสความต้องการคลื่นความถี่ 3จี และโอเปอเรเตอร์ก็ร่วมกันผลักดันให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมื่อ 2 ปีก่อน เช่นเดียวกันตอนนี้ที่ต้องเร่งประมูล 4จี”

ขณะที่โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายได้คลื่นสัญญาณ 2100 เมกะเฮิรตซ์ มาในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่อยู่ที่ว่าคลื่นสัญญาณเดิมที่ถืออยู่ในมือคือ 850, 900, 1800 นั้น จะมีใครนำมาพัฒนาเป็น 3จี หรือต่อยอดไปเป็น 4จี ให้ทดลองใช้งานก่อน เพราะปัจจุบันตัวเครื่องลูกข่ายหรือสมาร์ทโฟนที่รองรับสัญญาณ 4จี เริ่มเข้ามาขายมากขึ้น

เมื่อความต้องการใช้งานเครื่องมาก การพัฒนาเครือข่ายก็ต้องรวดเร็วด้วยเช่นกัน เนื่องจากความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่นำมาใช้งานตอนเริ่มต้นในปี 2553-2554 ไม่เพียงพอที่จะรองรับสัดส่วนการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น 10% ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องค้นหาความถี่และพัฒนาช่องทางการให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เต็มความสามารถได้ในทีเดียว

ขณะที่ ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้งานสัญญาณของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จะพบว่าการใช้งานด้านโทรศัพท์น้อยลง แต่หันมาใช้ดาต้ามากขึ้น จากข้อมูลลูกค้าของเอไอเอสที่ใช้งานสัญญาณ 3จี ประมาณ 40.8 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมด 44.3 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 20 ล้านราย และมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้งานเพียง 600 เมกะไบต์/เดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 1.6 กิกะไบต์/เดือน

“หากมองย้อนหลังไปเมื่อปี 2555 ช่วงที่มีการประมูลคลื่นสัญญาณ 3จี เรามองว่าคลื่นความถี่จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล ถ้าไม่นำมาใช้งานก็จะสูญเปล่า กสทช.จึงได้นำคลื่นความถี่นี้มาประมูล 3จี เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ให้ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงคลังความรู้ต่างๆ

จนมาถึงวันที่ความสามารถในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปริมาณของคลื่นเริ่มไม่เพียงพอ การเข้าใช้งานสัญญาณเริ่มติดขัด ทุกฝ่ายจึงเร่งผลักดันให้เกิดการประมูล 4จี เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

การที่ทุกฝ่ายเร่งให้เกิดการประมูลนั้น เพราะมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ยิ่งมีสัญญาณ 4จี ให้ใช้งานเร็วเท่าไหร่ ประโยชน์ที่ได้นั้นมหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นการรองรับการใช้งานดาต้าและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังรองรับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเออีซีมีการใช้งาน 4จี กันเกือบหมดแล้ว เหลือแค่ไทยและพม่าที่ยังไม่ใช้งานอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาเอกชนได้ลงทุนโครงข่ายเพื่อเตรียมพร้อมเปลี่ยนถ่ายจาก 3จี มาเป็น 4จี เป็นเม็ดเงินก้อนโต โดยเอไอเอสใช้งบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ดีแทคใช้งบลงทุนโครงข่าย 3.4 หมื่นล้านบาท ทรูใช้งบ 4.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าสู่ยุค 4จี เต็มตัว ค่ายโอเปอเรเตอร์ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ 100% หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการใช้งานดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีและคอนเทนต์ใหม่ๆ มาเสิร์ฟนักท่องโลกออนไลน์อย่างไม่หยุดยั้ง



สุดยอดเทคโนโลยีทรงพลังที่สุด

ดีลอยท์ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐ ประเมินชัดว่า การปรับปรุงพัฒนา 4จี จะส่งผลต่อการขยายตัวรายได้ของธุรกิจและการจ้างงานในสหรัฐ โดยรายงานฉบับล่าสุด ระบุว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ 4จี ราว 2.5-3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีสหรัฐ จาก 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2012-2016 รวมทั้งจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.71-7.71 แสนตำแหน่ง

ความเร็วของ 4จี ยังส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน เพราะการเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า สามารถทำให้ประมวลผลทิศทางตลาดได้เร็วกว่า รวมถึงการยกระดับในกระบวนการผลิต เช่น แทนที่จะผลิตสินค้าขึ้นมาเก็บไว้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการเก็บรักษา 4จี จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้ทันทีที่ลูกค้าสั่ง และจัดส่งได้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี 4จี จะเป็นส่วนเสริมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบประมวลผลก้อนเมฆ (คลาวด์คอมพิวติ้ง) ที่เปิดทางให้นักพัฒนาและผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดและการตรวจสอบผลตอบรับของผู้บริโภคในตลาดหลังมีการออกแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ หรือการทดสอบการใช้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา จะเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และถูกขึ้น

นอกจากนี้ ระบบ 4จี สามารถลดช่องว่าง และทำให้การเข้าถึงกลุ่มคนบางคนในตลาดมีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คนกลุ่มน้อยของสังคม คนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และผู้ด้อยศักยภาพในด้านต่างๆ โดย ระบบ 4จี จะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงตลาดเพื่อเผยแพร่สินค้าและบริการของตนในระดับที่กว้างมากขึ้น

ฟิล อัสมุนด์สัน รองประธานและหัวหน้าฝ่ายโทรคมนาคมและสื่อแห่งสหรัฐ ของดีลอยท์ สรุปไว้ว่า เมื่อประมวลจากข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ทำให้การพัฒนาสู่การเป็นระบบ 4จี แบบเต็มตัวของสหรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและต้องเร่งลงมือทำโดยเร็ว เนื่องจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาระบบ 4จี ของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสวีเดน

ยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างท่วมท้น การมีเทคโนโลยีสื่อสารที่ทรงอำนาจและทรงประสิทธิภาพมีค่าเทียบเท่าหรือมากกว่าอิทธิพลทางการเมืองและการทหารรวมกัน

นักวิเคราะห์ของดีลอยท์ เน้นย้ำว่า ความสำเร็จของระบบ 4จี ไม่อาจเกิดขึ้นจากภาคเอกชนฝ่ายเดียว ความร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งหมายถึงการสร้างระบบที่โปร่งใส และทั่วถึงให้แก่เอกชนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากช่วยให้เอกชนมีกำลังใจและยินดีที่จะแข่งขันนวัตwกรรมใหม่ๆ ของ 4จี ให้เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับระบบ 3จี ของสหรัฐนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจโดยโอเพ่น ซิกเนล องค์กรอิสระ สหรัฐ ซึ่งติดตามตรวจสอบเครือข่ายสัญญาณสื่อสารทั่วโลก เมื่อเดือน ก.พ. 2014 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับความเร็วของสัญญาณ 4จี ในประเทศต่างๆ (วัดจากความเร็วโดยเฉลี่ยในการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลครั้งหนึ่งๆ) สหรัฐรั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบท้ายสุดของตาราง เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำและประเทศกำลังพัฒนา

อาจเรียกได้ว่า ระบบ 4จี สหรัฐยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อไขว่คว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคที่ข้อมูลข่าวสารคืออาวุธทรงพลังที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

สหรัฐถือเป็นชาติแรกๆ ที่นำระบบ 4จี มาใช้ แต่หากวัดตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคม แผนกสื่อสารวิทยุ (ไอทียู-อาร์) ที่นิยามมาตรฐาน 4จี ไว้ เมื่อเดือน มี.ค. 2008 ว่า จะต้องมีความเร็วสูงสุดที่ 100 เมกะบิต/วินาที สำหรับการสื่อสารเคลื่อนที่อัตราสูง เช่น ในรถไฟหรือรถยนต์ และความเร็วที่ 1 กิกะบิต/วินาที สำหรับการเคลื่อนที่ในอัตราต่ำ เช่น การเดินเท้า ระดับ 4จี ของสหรัฐก็ยังไม่นับว่าเป็น 4จี เพราะความเร็วสัญญาณไร้สายของสหรัฐสำหรับการดาวน์โหลดข้อมูลหนึ่งๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 Mbps

กระนั้น ต่อให้ไม่ใช่ 4จี ตามมาตรฐานไอทียู-อาร์ แต่เครือข่ายไร้สายของสหรัฐก็นับว่าใกล้เคียงกับระบบ 4จี คือเป็นระบบก่อนก้าวเข้าสู่ 4จี แท้ๆ นั่นคือ ระบบเอลทีอี (Long Term Evolution) ซึ่งเป็นหนึ่งมาตรฐานจากกลุ่ม Third Generation Partner Ship Project (3จีพีพี)

ทั้งนี้ ด้วยจุดอ่อนที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก ทำให้ในสหรัฐมีองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินของ 4จี อย่าง “4จี อเมริกา” เกิดขึ้น โดยมีหน้าที่หลักในการเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

กล่าวคือ ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณรับทราบข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของภาครัฐใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ไขกฎระเบียบ 4จี การประมูลช่วงสัญญาณ การตรวจสอบความโปร่งใส ขณะเดียวกัน 4จี อเมริกา ก็จะรวบรวมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น อุปสรรคและข้อติดขัดจากเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายไปให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการ

ขณะเดียวกัน องค์กรดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนและบุคลทั่วไปที่สนใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบ 4จี เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้ให้บริการเครือข่ายรรับทราบปัญหาผู้ใช้งานด้วย

เปรียบเทียบคุณภาพผู้ให้บริการ 4จี ในสหรัฐ

ระยะเวลาที่ใช้บนเครือข่ายแอลทีอี (%)               ความเร็วดาวน์โหลด (Mbps)

เวอริซัน (Verizon)  76.8                                        7.82

สปิรนต์ (Sprint)   50.9                                            4.32

ที-โมบาย (T-Mobile) 59.2                                       11.5

เอทีแอนด์ที (AT&T)    68.5                                      9.12

บูทส์ โมบาย (Boost Mobile) 57.2                                3.23

เวอร์จิน โมบาย (Virgin Mobile) 49.5                              4.05

เมโทร พีซีเอส (MetroPCS) 84.7                                    2.43




http://www.posttoday.com/ดิจิตอลไลฟ์/354845/3จี-4จี-จะแรงหรือล้า-อยู่ที่ปริมาณการใช้งาน

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.