02 มิถุนายน 2557 กสทช.เศรษฐพงค์ ระบุ การประมูล 3G เราทำเพื่อชาติ ทำด้วยความสุจริต แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นกรรมาธิการส.ว. มีการเร่งสอบใช้เวลา 2 วันทำการแล้วสรุปว่าเราผิดฮั้ว ยื่นต่อป.ป.ช.โดยเราไม่มีโอกาสชี้แจง
ประเด็นหลัก
'เราทำเพื่อชาติ ทำด้วยความสุจริต แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นกรรมาธิการส.ว. มีการเร่งสอบใช้เวลา 2 วันทำการแล้วสรุปว่าเราผิดฮั้ว ยื่นต่อป.ป.ช.โดยเราไม่มีโอกาสชี้แจง หลังจากกรรมาธิการส.ว.ชุดนี้ยื่นเรื่องร้องไปแล้ว จึงค่อยเรียกเรามาสอบย้อนหลัง ซึ่งเราโต้แย้งมาตลอดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่กสทช.กำลังปฎิบัติภารกิจใหญ่เพื่อชาติประมูล 4G กลับมีพวกบ่อนทำลายไม่ต้องการให้มีการประมูล จงใจปล่อยข่าวมาตอนนี้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่ต้องการบ่อนทำลายชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจพัง การกำหนดราคาตั้งต้นอยู่ในดุลพินิจของกสทช. ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษ ใครจะเป็นผู้ชี้ว่า จะคิดราคาตั้งต้นเป็น 82% หรือ 70 % ของมูลค่าคลื่น ในเมื่อทีมผู้วิจัยมีความเห็นสุดท้ายว่าควรกำหนดไม่น้อยกว่า 67% ของมูลค่าคลื่น แล้วเรากำหนดให้สูงกว่าคือเป็น 70% แล้วจะมาโจมตีว่าไม่ทำตามที่คณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มีความเห็น โดยไปเอาเนื้อหาบางหน้าที่อยู่ในส่วนข้อมูลประกอบการวิเคราะห์มาเพื่อโจมตี กทค. ย่อมไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม' ประธานกทค.กล่าว
______________________________________
กทค.ลั่นประมูล4G ไม่สะดุด(Cyber Weekend)
ถือเป็นช่วงหายใจเข้าไม่สะดวกของโอเปอเรเตอร์มือถือบางราย ที่ฝากอนาคตไว้กับการประมูลความถี่ 1800 MHz หรือ การประมูล 4G เพราะในช่วงอำนาจการปกครองอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจแจ็กพอต องค์กรอิสระบางแห่งอาจถูกยุบไปตามรัฐธรรมนูญ หรือ อาจเปลี่ยนแปลงจากองค์กรอิสระไปขึ้นกับสำนักนายกฯ ความอิสระที่มีอยู่ อาจหมดลงไปพร้อมกับแผนงานหลายอย่างที่เตรียมไว้อาจสะดุดลง
รวมทั้งการปล่อยข่าวคณะอนุกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลว่าการประมูลความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G ครั้งที่ผ่านมาส่อแววฮั้ว ทั้งๆที่อนุกรรมการยังไม่ได้สรุป เพื่อความมุ่งหวังบางประการ อาจจะหวังดิสเครดิต หรือ ทำให้การประมูลสะดุดเพื่อให้เข้าทางเอกชนบางราย หรือ อาจหวังล้มกสทช.ทั้งคณะ แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้โอเปอเรเตอร์บางรายเริ่มวิตกว่าการประมูลความถี่ 1800 MHz จะเกิดขึ้นหรือไม่
ในวันประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานกสทช.เปิดให้มีการประชุมรับ ฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710 - 1722.5MHz/1805 - 1817.5 MHz และ 1748 - 1760.5 MHz/1843 - 1855.5 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication -IMT) ย่านความถี่วิทยุ 1710 - 1785/1805 - 1880 MHz
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวยืนยันว่า ถึงแม้ประเทศจะอยู่ภายใต้การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็ตาม แต่เวลานี้แผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) ที่บอร์ดกทค.กำหนดการประมูลไว้ในเดือนส.ค.2557 ยังคงเดินหน้าเช่นเดิม โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว สำนักงาน กสทช.จะนำข้อเสนอและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไปวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบกับร่างประกาศฯซึ่งหากมีประเด็นที่แตกต่างจากร่างประกาศฯดังกล่าวจะมีการพิจารณาและนำไปวิเคราะห์อีกครั้ง
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.และ กทค.กล่าวว่า ยังคงยืนยันเดินหน้าประมูล4G เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีของ กสทช.ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่มีผลต่อการประมูลแต่อย่างใด อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเป็นตัวผลักดันให้เดินหน้าประมูลทั้งความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz โดยเร็ว เนื่องจาก กสทช.มีการออกใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ได้ จะทำให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งขณะนี้ยังคงมั่นใจว่าไม่มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประมูลในครั้งนี้
'ส่วนในประเด็นการพิจารณาการประมูล 3G ของป.ป.ช.ที่มีการเสนอข่าวว่ามีการฮั้วหรือไม่นั้นต้องรออีกหลายตลบ เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอน คณะอนุกรรมการฯ เท่านั้น ยังไม่เข้าบอร์ด ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ส่วนจะกระทบต่อการประมูล 4G หรือไม่ ขณะนี้ กทค.ยืนยัน ว่าไม่มีอะไรหยุดรั้ง ให้หยุดการประมูลได้ ต้องเดินหน้าประมูล 4G ตามกำหนดเดิมในเดือนส.ค.นี้'
ทั้งนี้หลังจากประชาพิจารณ์จบลงสำนักงานกสทช.จะรวบรวมข้อสรุปผลข้อคิดเห็นที่ นำมาวิเคราะห์ และในช่วงเดือน มิ.ย. 2557 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ 1800 MHz เพื่อพิจารณาผลประชาพิจารณ์ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กทค. กลางเดือน มิ.ย. 2557 และที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ซึ่งในเดือนมิถุนายนจะสามารถผ่านความเห็นชอบต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ ก็จะนำไปสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป จากนั้นในเดือนก.ค. 2557 จะประกาศหนังสือเชิญชวนสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูล และราวปลายเดือนส.ค. 2557 จะสามารถเปิดประมูล 4Gได้
*** ปัดข่าวอนุฯป.ป.ช.ชี้มูลฮั้ว 3G
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกทค.กล่าวย้ำว่ากรอบการประมูล 4G นั้น เป็นไปตามนโยบายและกระบวนการดำเนินการที่ กทค.ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2556 และได้ประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบนโยบายดังกล่าวล่วงหน้าและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เร่งรีบจนผิดปกติโดยได้ใช้ระยะเวลาและมีการพิจารณาไตร่ตรอง ตลอดจนผ่านกระบวนการศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดและรอบคอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศและจากคณะทำงานชุดต่างๆ ที่ กสทช. แต่งตั้ง
รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. จนกระทั่งได้มีการยกร่างหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการนำร่างหลักเกณฑ์ไปจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการของกฎหมาย
'การที่มีการนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือนในเรื่องนี้ จึงทำให้เชื่อว่าผู้ให้ข่าวประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือของ กทค. ในกระบวนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 4G ซึ่งหาก กทค. ไม่อาจจัดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวได้อันเนื่องจากการกระทำดังกล่าว ย่อมจะส่งผลกระทบประเทศชาติอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้'
ประธานกทค.ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช.ยังมิได้มีการแจ้งให้ กทค. ทราบว่ามีการชี้มูลเรื่องการประมูลความถี่ 2.1 GHzแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นกรณีที่ กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทราบเรื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. 2557แล้วปกปิดไม่รายงานเรื่องต่อที่ประชุม กทค. ตามที่ระบุในสื่อบางฉบับ
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กทค. ก็ได้ชี้แจงเหตุผลทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3Gดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้วว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนกรณีการใช้ราคาประมูลตั้งต้น 70% ของมูลค่าความถี่ ในตอนประมูล2.1 GHzนั้น ก็ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะในการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่านความถี่ 900 MHz นั้น กสทช. ได้รับความร่วมมือจาก ITU ซึ่งได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมทำงานกับคณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงาน กสทช. โดยมีการนำข้อมูลต่างๆ จากในประเทศและระหว่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดครบถ้วนและนำมาคำนวณตามหลักการคำนวณของแนวปฏิบัติสากลจนนำไปสู่ข้อสรุปของราคาตั้งต้น ซึ่งหลังจากที่ ITU ได้รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบสภาพตลาดในปัจจุบันแล้วเห็นว่าในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะมีบริษัทที่เข้าร่วมประมูลจำนวนไม่มาก
โดยITU เสนอราคาตั้งต้นของของการประมูลความถี่ 1800 MHz และความถี่ 900 MHz อยู่ที่ 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่อยู่ดี แสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการกำหนดราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ กสทช. กำหนดเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ตามข้อเสนอของ ITU ยิ่งทำให้เห็นว่า การกำหนดราคาตั้งต้นของ กทค. เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz มีความเหมาะสม สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล และมิใช่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในคราวประมูลความถี่ 2.1 GHzเมื่อกสทช. พิจารณาความเห็นตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยฯ ที่เสนอว่า ควรกำหนดราคาตั้งต้นไม่น้อยกว่า 67% ของมูลค่าคลื่น โดยผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบมาตามลำดับจากคณะอนุกรรมการฯ คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และ กทค. แล้วจึงเห็นตรงกันว่า ราคาตั้งต้นควรปรับเป็น 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ย่านนี้ แต่มีนักวิชาการบางคน รวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มมีความเห็นแตกต่างโดยหยิบยกเนื้อหาของรายงานฯ เพียงบางส่วนมาอ้างอิง
แต่ในขณะเดียวกันในอีกมุมมองหนึ่งก็ได้มีนักวิชาการ นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งได้สนับสนุนความเห็นของ กสทช. นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องความแตกต่างในความเห็นเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดและมิใช่เรื่องที่การดำเนินงานของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากแต่เป็นเรื่องที่บุคคลบางกลุ่มมีความเห็นที่ไม่ตรงกับดุลพินิจของ กสทช. เท่านั้น
'เราทำเพื่อชาติ ทำด้วยความสุจริต แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นกรรมาธิการส.ว. มีการเร่งสอบใช้เวลา 2 วันทำการแล้วสรุปว่าเราผิดฮั้ว ยื่นต่อป.ป.ช.โดยเราไม่มีโอกาสชี้แจง หลังจากกรรมาธิการส.ว.ชุดนี้ยื่นเรื่องร้องไปแล้ว จึงค่อยเรียกเรามาสอบย้อนหลัง ซึ่งเราโต้แย้งมาตลอดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่กสทช.กำลังปฎิบัติภารกิจใหญ่เพื่อชาติประมูล 4G กลับมีพวกบ่อนทำลายไม่ต้องการให้มีการประมูล จงใจปล่อยข่าวมาตอนนี้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่ต้องการบ่อนทำลายชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจพัง การกำหนดราคาตั้งต้นอยู่ในดุลพินิจของกสทช. ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษ ใครจะเป็นผู้ชี้ว่า จะคิดราคาตั้งต้นเป็น 82% หรือ 70 % ของมูลค่าคลื่น ในเมื่อทีมผู้วิจัยมีความเห็นสุดท้ายว่าควรกำหนดไม่น้อยกว่า 67% ของมูลค่าคลื่น แล้วเรากำหนดให้สูงกว่าคือเป็น 70% แล้วจะมาโจมตีว่าไม่ทำตามที่คณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มีความเห็น โดยไปเอาเนื้อหาบางหน้าที่อยู่ในส่วนข้อมูลประกอบการวิเคราะห์มาเพื่อโจมตี กทค. ย่อมไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม' ประธานกทค.กล่าว
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000059948
ไม่มีความคิดเห็น: