06 มิถุนายน 2557 (บทความ) ภาคภูมิ ไตรพัฒน์ คนเบื้องหลัง อินเทอร์เน็ตไทย // .th มีค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 10,000 บาท ต่อชื่อโดเมน 2 แบบ รายปี 100,000 บาท ต่อโดเมน หรือตลอดอายุการใช้งาน 1,000,000 บาท ต่อโดเมน
ประเด็นหลัก
เขากล่าวว่า ล่าสุดเปิดโครงการจดทะเบียนชื่อโดเมนเฉพาะกิจ (Fast-Track) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ชื่อโดเมนระดับที่ 2” สำหรับสาธารณะครั้งแรกภายใต้ “.th” โดยไม่ต้องมีรหัสหมวดหมู่องค์กรเช่น “.co”, “.ac”, “.go”, “.or”, “.mi”, “.net” และ “.in” มาคั่นกลาง
โดยผู้สนใจสามารถสมัครขอจดทะเบียนได้ในเวลาจำกัดเพียง 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. เฟสต่อไปยังไม่มีกำหนด ตั้งเป้าว่าจะมีผู้สนใจร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ราย มีค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 10,000 บาท ต่อชื่อโดเมน เมื่อผ่านการพิจารณาสามารถเลือกใช้บริการได้ 2 แบบ รายปี 100,000 บาท ต่อโดเมน หรือตลอดอายุการใช้งาน 1,000,000 บาท ต่อโดเมน
______________________________________
ภาคภูมิ ไตรพัฒน์ คนเบื้องหลัง อินเทอร์เน็ตไทย
โดย : วริยา คำชนะ
ยอดจดทะเบียนโดเมนเนมพุ่งสวนกระแสเศรษฐกิจ หลังคนไทยหันทำธุรกิจออนไลน์เพิ่ม
แวดวงอินเทอร์เน็ตประเทศไทยเริ่มตั้งไข่ เติบโต กระทั่งวันนี้กำลังวิ่งไปข้างหน้าแบบไม่หยุดนิ่ง กระนั้นดูเหมือนพัฒนาการยังไม่มีวี่แววสิ้นสุด แน่นอนว่าผู้ที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังทำหน้าที่บริหารจัดการ "โดเมนเนม" หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าชื่อเว็บไซต์ ต้องก้าวต่อโดยไม่อาจนิ่งอยู่เฉยได้...
นายภาคภูมิ ไตรพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด ผู้ดูแลการจดทะเบียนโดเมนเนมภายใต้ดอททีเอช (.th) และดอทไทย (.ไทย) กล่าวว่า การจดชื่อโดเมนในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีเฉลี่ย 10-20% แม้ภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนทว่าแนวโน้มยังคงเพิ่มเนื่องจากคนหันมาทำธุรกิจบนโลกออนไลน์มากขึ้น
“องค์กรและบุคคลทั่วไปเริ่มหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการมีตัวตนบนโลกออนไลน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และโอกาสการทำตลาด”
สถิติชื่อโดเมน .th ที่ใช้งานเป็นประจำล่าสุดเดือนเม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 63,246 ชื่อ หมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 2 ลำดับแรก คือ .co.th จำนวน 32,785 ชื่อ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ตามมาด้วย .in.th จำนวน 16,400 ชื่อ เหตุเพราะจดทะเบียนได้ง่าย เงื่อนไขน้อยกว่าประเภทอื่นๆ
ปลอดภัย-น่าเชื่อถือ
ผู้บริหารทีเอชนิคกล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นตลาดโดเมนไทยว่า เน้นกลยุทธ์ด้านความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย ช่องทางจำหน่ายทำผ่านคู่ค้ารีเซลเลอร์ที่มีอยู่กว่า 51 ราย และพร้อมจะเพิ่มจำนวนอีกเรื่อยๆ ด้วยขั้นตอนการคัดกรองอย่างรอบคอบ
“ยอมรับว่าการจดทะเบียนชื่อภายใต้ดอททีเอชมีราคาและขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าเมื่อเทียบกับดอทคอม แต่บริษัทจะยังคงรักษานโยบายดังกล่าวไว้ เพื่อรักษาจุดยืนและจุดแข็งสำคัญด้านความน่าเชื่อถือไว้ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้บริษัทเองได้ปรับระบบหลังบ้าน พัฒนาฐานข้อมูลทำให้กระบวนการขอจดทะเบียนเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก”
สำหรับมาตรฐานค่าจดทะเบียนโดเมนเนม .th จะอยู่ที่ราว 800 บาท หรือถูกกว่านี้ตามแต่โปรโมชั่น แต่สูงกว่าโดเมนยอดนิยมอย่าง .com ที่ราคาประมาณ 400-500 บาท ทว่าระบบการบริการและคัดกรองมีความปลอดภัยสูงกว่ามาก
อย่างไรก็ดี การแข่งขันไม่อาจกล่าวได้ว่าเข้าไปชนกับดอทคอมโดยตรง เพราะแต่ละชื่อมีจุดยืนและกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน แต่ละปีบริษัทมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่าภาพรวมตลาด ล่าสุดเสริมความแข็งแกร่งทีม โดยแต่งตั้งนางสาววิไลวัลย์ พนารินทร์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ทำหน้าที่ร่วมบริหารงานภายใน บุคลากร การตลาด รวมปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 30 คน
ดีเดย์โดเมนเนมเฉพาะกิจ
เขากล่าวว่า ล่าสุดเปิดโครงการจดทะเบียนชื่อโดเมนเฉพาะกิจ (Fast-Track) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ชื่อโดเมนระดับที่ 2” สำหรับสาธารณะครั้งแรกภายใต้ “.th” โดยไม่ต้องมีรหัสหมวดหมู่องค์กรเช่น “.co”, “.ac”, “.go”, “.or”, “.mi”, “.net” และ “.in” มาคั่นกลาง
โดยผู้สนใจสามารถสมัครขอจดทะเบียนได้ในเวลาจำกัดเพียง 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. เฟสต่อไปยังไม่มีกำหนด ตั้งเป้าว่าจะมีผู้สนใจร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ราย มีค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 10,000 บาท ต่อชื่อโดเมน เมื่อผ่านการพิจารณาสามารถเลือกใช้บริการได้ 2 แบบ รายปี 100,000 บาท ต่อโดเมน หรือตลอดอายุการใช้งาน 1,000,000 บาท ต่อโดเมน
ก่อนหน้านี้ เปิดให้จดชื่อโดเมนสำหรับการจัดงานเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในชื่อ “asiangames.th” เป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพียงชื่อเดียว แต่มีผู้ให้ความสนใจร้องขอให้เปิดบริการมาต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดคณะอนุกรรมการเห็นชอบโดยรายได้ทั้งหมดจากโครงการจะมอบเป็นเงินบริจาคแก่มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทยโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อนำไปสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยต่อๆ ไป
เขากล่าวว่า เปิดโอกาสให้ผู้สนใจขอชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่จำกัดจำนวน โดยแยกประเภทผู้ขอจดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ขอจดชื่อที่ตรงกับชื่อโดเมนระดับ 3 ซึ่งผู้สมัครถือครองอยู่แล้ว ยกเว้นชื่อในหมวดหมู่ ".in.th"
2. กลุ่มที่ขอจดชื่อโดเมนโดยใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ 3. กลุ่มที่ขอจดชื่อโดเมนด้วยชื่ออื่นๆ เช่น ชื่อบริษัท สถานประกอบการ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และชื่อ-สกุลบุคคลทั่วไปตามบัตรประชาชนไทย รวมถึงชื่อโครงการ หรือการจัดงานต่างๆ
“เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการชื่อเว็บไซต์ที่แสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีเอกลักษณ์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการชื่อเว็บไซต์สำหรับประชาสัมพันธ์ อีเวนท์ที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน อีกหนึ่งข้อดี ชื่อเว็บไซต์จะไม่ถูกคั่นกลางด้วยรหัสหมวดหมู่ ทำให้สั้น กระชับ สะดุดตายิ่งขึ้น”
ขณะที่ ผลตอบรับจากโครงการจะถูกนำไปเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและเทรนด์ความต้องการใช้โดเมนระดับที่ 2 เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และแนวทางการเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบในอนาคต เชื่อว่าการให้บริการดังกล่าวจะตอบโจทย์ความต้องการและได้รับความสนใจอย่างมากเนื่องจากเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพิ่มโอกาสสร้างความเป็นเอกลักษณ์ชื่อเว็บไซต์เจ้าขององค์กร
ดึงเอสเอ็มอีโกออนไลน์
นายภาคภูมิกล่าวต่อว่า วิธีการเพิ่มการรับรู้จะอยู่ในลักษณะกิจกรรมส่งเสริมการขาย โรดโชว์ และโปรโมชั่นราคาพิเศษ จัดทำโดยบริษัทที่เป็นคู่ค้าเป็นหลัก ส่วนทีเอชนิคมีหน้าที่สนับสนุนงานหลังบ้านและให้การศึกษาตลาด เร็วๆ นี้เตรียมร่วมมือกับพันธมิตรหลายองค์กรเปิดตัวโครงการใหญ่ ช่วยกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ บุคลากร พร้อมส่งเสริมให้คนไทยได้ใช้อินเทอร์เน็ตราคาถูกลง ความเร็วมากขึ้น
สำหรับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีโอกาสเข้ามาขอจดทะเบียนมากที่สุดคือธุรกิจเอสเอ็มอี อีกกลุ่มที่เริ่มตื่นตัวสูงคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปี 2557 จะมีจำนวนการจดทะเบียนชื่อโดเมนทั้งหมด 6.5-7 หมื่นชื่อ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวงการอินเทอร์เน็ตประเทศไทยยังเติบโตได้อีกมาก ประเมินขณะนี้แม้ต่างประเทศไปไกลกว่ามาก แต่นับว่ามีทิศทางที่ดีเห็นได้จากที่การทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ การใช้บัตรเครดิตได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นตามลำดับ
พร้อมกับแนะว่า การเริ่มต้นของไทยอาจช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ แต่มีแรงถีบตัวดีพอสมควร หากต้องการให้พัฒนาไปได้ก้าวกระโดด ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ สร้างความรู้ ความเข้าใจต่อประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต รวมถึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลให้ภาคธุรกิจซึ่งบางครั้งจะพบว่าเข้าถึงได้ยาก
ขณะที่อนาคตในภาพรวมตลาดโดเมนจะยิ่งมีความหลากหลาย แข่งขันกันรุนแรงจากปัจจัยที่หน่วยงานกลางรับจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ หรือ "ไอแคนน์" เปิดโอกาสให้ใช้โดเมนเนมระดับบนสุด (gTLD) ชุดใหม่ ซึ่งเปิดกว้างให้ใช้ชื่อทั่วไป เช่น .sexy, .coffee หรือชื่อองค์กร นอกเหนือจากโดเมนหลักเดิมที่ใช้กันมา เช่น .com, .org และ .net ขณะเดียวกันจะได้เห็นจำนวนการจดทะเบียนที่เพิ่มมากขึ้น มีตัวเลือกให้ใช้งานได้อีกหลายภาษา
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20140602/585932/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4-%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html
ไม่มีความคิดเห็น: