17 มิถุนายน 2557 กสทช.พีระพงษ์ ระบุ ( กรณี เงินกองทุนของ กทปส. ไม่สามารถจ่ายให้ RS ได้ ฉะนั้นกรณีนี้จึงต้องจ่ายให้ช่อง 5 และช่อง 11 ( ช่อง 5 จะได้รับค่าเช่าเวลาจากอาร์เอสฯเท่านั้น )
ประเด็นหลัก
อย่างไรก็ตาม พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เงินกองทุนของ กทปส. ไม่สามารถจ่ายให้บริษัทเอกชนได้ ฉะนั้นกรณีนี้จึงต้องจ่ายให้ช่อง 5 และช่อง 11
ขณะที่ พลโทชาตอุดม ติตถะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เปิดเผยว่า ช่อง 5 จะออกอากาศฟุตบอลโลก 38 คู่ ขณะที่ช่อง 7 ออกอากาศ 29 คู่ โดยช่อง 5 จะได้รับค่าเช่าเวลาจากอาร์เอสฯเท่านั้น โดยรายได้จากการโฆษณา อาร์เอสฯเป็นคนได้รับไปไม่เกี่ยวกับทางช่อง 5
______________________________________
ศึกบอลโลก"กสทช.-อาร์เอส" บทเรียน(คืน) ความสุข 427ล้าน เพื่อใครกันแน่
เป็นข้อพิพาทที่ยืดเยื้อกันมาพักใหญ่ กับปัญหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 เมื่อผู้ถือลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า "บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด" ยืนยันว่า จะถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีแค่ 22 คู่ อยากดูครบต้องซื้อกล่องบอลโลก หรือดูผ่านพันธมิตรที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศต่อ เช่น PSI O2, ค่ายมือถือเอไอเอส หรือเคเบิลทีวี "ทรูวิชั่นส์" เป็นต้น
ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ "ฟุตบอลโลก" เป็น 1 ใน 7 รายการที่ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้ดูผ่าน "ฟรีทีวี" โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามประกาศ กสทช.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (must have)
เมื่อความเห็นแตกต่างตกลงกันไม่ได้ "อาร์เอสฯ" ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนประกาศ must have ต่อสู้กัน 2 ศาล จนเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ "อาร์เอสฯ" ชนะคดี สั่งให้ไม่นำประกาศ must have มาใช้บังคับกับการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ระหว่างวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค.นี้ แต่ยังมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับกรณีอื่นอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอยู่เช่นเดิม
แม้ "กสทช." จะยกประเด็นประโยชน์สาธารณะขึ้นมาต่อสู้ โดยระบุว่าคนไทยดูฟุตบอลโลกฟรีมาตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบันในทวีปเอเชียมีเพียง 3 ประเทศที่เสียเงินรับชมฟุตบอลโลก คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย นอกนั้นดูฟรีทีวีได้ฟรีหมด
ฟุตบอลโลกยังเป็นการแข่งขันกีฬารายการสำคัญตามหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ที่ปกป้องสิทธิประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งเพิ่มเติมข้อมูลอีกว่า อาร์เอสฯได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์เต็มครอบคลุมวงเงินที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว
แต่เพราะได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้ ซึ่ง "กสทช." รู้อยู่แล้วแต่ไม่ได้กำหนดมาตรการเยียวยา ทั้งที่มาตรา 36 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกประกาศระบุว่า กสทช.อาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนหรือสนับสนุน หรือส่งเสริมด้วยวิธีการอื่น อันเป็นการชดเชยต่อผู้รับใบอนุญาต ที่ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไปได้
จึงถือเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกประกาศโดยมิชอบด้วยกฎหมายทันทีที่ศาลพิพากษาเสร็จ เลขาธิการ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" ได้รับแจ้งจาก พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.ว่า ได้รับการประสานงานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการหาแนวทางคืนความสุขให้ประชาชนในการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 แมตช์ผ่านฟรีทีวี
"กสทช." จึงเปิดโต๊ะเจรจากับอาร์เอสฯ เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และบอร์ด กสทช. เพื่ออนุมัติการนำเงินกองทุนมา สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวี
"อาร์เอสฯ" ระบุว่า เสียโอกาสจากนโยบายนี้ เป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ทั้งโอกาสในการขาย set-top-box บอลโลก, ค่าลิขสิทธิ์ทรูวิชั่นส์, รายได้จากตัวแทนจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กสทช.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง (กรรมการเดินออกจากที่ประชุม 3 คน งดออกเสียง 1) อนุมัติสนับสนุนภายใต้กรอบวงเงิน ไม่เกิน 427.015 ล้านบาท โดยใช้เงินในส่วนที่โอนมาจากกองทุน กทช.เดิม และค่าปรับทางปกครองที่เกิดจากการกำกับดูแลกิจการของ กสทช. ไม่เกี่ยวกับเงินประมูลช่องทีวีดิจิทัล และเงินสมทบเพื่อบริการทั่วถึงจากฝั่งโทรคมนาคม จึงไม่กระทบการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล
เลขาธิการ "กสทช." ย้ำว่า นโยบายดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งจาก คสช. แต่เป็นการเตรียมพร้อมของสำนักงาน กสทช. เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้รับผลกระทบหลัง กสทช.แพ้คดี
เป็นการคืนความสุขให้คนไทยและสำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการเสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนจาก กทปส.ได้
"มาตรา 36 และ 52 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ ให้อำนาจ กสทช.ทำได้ เห็นได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดระบุให้ กสทช. ต้องดำเนินการเยียวยาให้อาร์เอสฯ การสนับสนุนเป็นเรื่องที่ กสทช.ทำได้ คำสั่งศาลปกครองมีระบุไว้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้อาร์เอสฯ"
สำหรับวงเงินที่มีความแตกต่างกัน ฐากร กล่าวว่า แจ้งให้อาร์เอสฯทราบกรอบวงเงินที่สนับสนุนแล้ว และเป็นการอนุมัติวงเงินขั้นสูง ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสมต่อไป
โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ หาต้นทุนที่แท้จริงเพื่อรักษาผลประโยชน์รัฐด้วย คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน
"กสทช.จะทยอยจ่ายเงินให้อาร์เอสฯเป็นงวด ๆ คนไทยจะได้ดูการถ่ายทอดบอลโลกทั้ง 64 คู่ แบบ HD ผ่านช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่ กสทช.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางธุรกิจของอาร์เอสฯ ที่ทำก่อนนี้ประชาชนที่ซื้อกล่องบอลโลกจากอาร์เอสฯไปแล้ว ต้องไปเจรจากับอาร์เอสฯเอง"
เลขาธิการ กสทช.ยังบอกอีกว่า ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะประกาศ must have ยังมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป
และต่อไปผู้ที่ประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั้งฟุตบอลโลก โอลิมปิก พาราลิมปิก เอเชี่ยนเกมส์ เอเชี่ยนพาราเกมส์ ซีเกมส์ และอาเซียนพาราเกมส์ จะทราบแล้วว่าต้องนำมาออกอากาศผ่านฟรีทีวีด้วย ฉะนั้นต้องหาโมเดลธุรกิจและประเมินมูลค่าที่เหมาะสมให้ครอบคลุมไว้
อย่างไรก็ตาม พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เงินกองทุนของ กทปส. ไม่สามารถจ่ายให้บริษัทเอกชนได้ ฉะนั้นกรณีนี้จึงต้องจ่ายให้ช่อง 5 และช่อง 11
ขณะที่ พลโทชาตอุดม ติตถะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เปิดเผยว่า ช่อง 5 จะออกอากาศฟุตบอลโลก 38 คู่ ขณะที่ช่อง 7 ออกอากาศ 29 คู่ โดยช่อง 5 จะได้รับค่าเช่าเวลาจากอาร์เอสฯเท่านั้น โดยรายได้จากการโฆษณา อาร์เอสฯเป็นคนได้รับไปไม่เกี่ยวกับทางช่อง 5
ด้าน องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ทีวีดิจิทัลของ บมจ.อาร์เอส กล่าวว่า ช่อง 8 จะถ่ายทอดฟุตบอลโลก 54 คู่ เรื่องเงินสนับสนุนจาก กสทช.ที่มีมูลค่าที่น้อยกว่าที่อาร์เอสฯเสนอมานั้น ผู้บริหารอาร์เอสฯจะเป็นผู้ให้ข้อมูลในภายหลัง
สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การนำฟุตบอลโลกไปออกอากาศในช่องอื่น ๆ ย่อมมีผลประโยชน์เกิดขึ้นจากค่าโฆษณา จึงควรนำเงินส่วนนี้มาสมทบจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้อาร์เอสฯ โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุน กทปส.
นอกจากนี้ อาร์เอสฯต้องรับผิดชอบคืนเงินค่ากล่องบอลโลกให้ประชาชนที่ซื้อไป
"กสทช.ต้องหามาตรการป้องกันการทำสัญญาที่เกินเลยกฎหมายภายในประเทศ หรือส่งเสริมให้มีการจัดซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน เหมือนที่เคยให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาสำคัญมาให้คนไทยดู"
น่าคิดว่าการที่ กองทุน "กทปส." ยอมรับภาระ ตามที่เลขาธิการ "กสทช." ระบุว่า เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการที่ "กสทช." แพ้คดี เป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่
ถามว่าผิดวัตถุประสงค์ในการใช้เงินของกองทุน กทปส.หรือไม่ ? จริงอยู่ที่ "อาร์เอสฯ" เสียโอกาสในการขายกล่องเซ็ทท็อปบ็อกซ์ แต่ก็จะได้ประโยชน์จากค่าโฆษณาในช่วงเวลาที่ออกอากาศผ่านฟรีทีวีเพิ่มขึ้นมาก ใช่หรือไม่ ?
ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นการคืนความสุข หรือดูแลประชาชนให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพ้คดีของ กสทช. แต่ถ้าต้องควักเงินจ่าย (สมมติที่วงเงินสูงสุดไม่เกิน 427 ล้านบาท) จริง นับเป็นบทเรียนราคาแพงแบบจ่ายสองเด้ง ที่ทั้งแพ้คดี และเสียเงิน
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1402902809
ไม่มีความคิดเห็น: