Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

25 มิถุนายน 2557 เหตุ Cookie Run มีวิธีทางแก้ให้กับลูกหลาน!! หากจะให้ลูกหลานใช้สมาร์ทโฟน ต้องให้เป็นระบบเติมเงินเท่านั้นและ เลิกใช้บัญชีบัตรเครดิตของผู้ปกครอง นำไปผูกติดกับบัญชีใช้งานเครื่องของลูกหรือหลาน


ประเด็นหลัก

สิ่งที่แนะนำและเหมาะสมกับเรื่องนี้ได้ดี คือ

1. หากจะให้ลูกหลานใช้สมาร์ทโฟน ต้องให้เป็นระบบเติมเงินเท่านั้น
2. เลิกใช้บัญชีบัตรเครดิตของผู้ปกครอง นำไปผูกติดกับบัญชีใช้งานเครื่องของลูกหรือหลาน
3. สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ใช้กับ 1 ไลน์ ไอดี
4. ถ้าลูกอยากเล่นเกม ให้เขาศึกษาขั้นตอน และสมัครใช้บริการด้วยตัวเอง
5. หากเขาอยากซื้อแอพพลิเคชั่น ก็ให้ผู้ปกครองไปเติมเงิน ให้เขาเล่นตามวงเงินที่เรากำหนด



______________________________________


อุทาหรณ์พ่อแม่ หวิดรับหนี้แสน จากเทพทางลัด 'คุกกี้รัน'

ทำเอาช็อกกันไปทั่วหน้า กับข่าวค่าใช้บริการมือถือที่พุ่งไปถึงหลักแสนบาท เพราะลูกสุดที่รักกดซื้อไอเท็มเทพ เกม 'คุกกี้รัน' จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าพฤติกรรมที่ทำไปนั้น เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เชื่อกลโกง หรือตั้งใจซื้อกันแน่...?

กลายเป็นความบันเทิงที่ทำให้ผู้คนพากันตกตะลึง กับแอพพลิเคชั่นเกมบนมือถืออย่าง "คุกกี้รัน" (Cookie Run) เกมวิ่งตะลุยด่านเพื่อเก็บเงินและสะสมคะแนนแข่งกับเพื่อน แม้จะเพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อช่วงต้นปี 2557 แต่ผ่านมาเพียง 6 เดือน ปัจจุบัน คุกกี้รันมียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 31 ล้านครั้ง!

"ประเทศไทยมียอดดาวน์โหลดคุกกี้รันสูงเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนกว่า 12 ล้านครั้ง ขณะที่ยอดดาวน์โหลดคุกกี้รันทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 31 ล้านครั้ง" นางสาววารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย เกริ่นกับไทยรัฐออนไลน์ และบอกว่า จากเหตุการณ์ที่มีผู้เล่นคุกกี้รันถูกเรียกเก็บค่าสินค้าและบริการผ่านบิลค่าใช้บริการมือถือตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น บริษัทได้มีการหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยมีการพูดคุยกับผู้ให้บริการมือถือ (โอเปอเรเตอร์) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อไอเท็มหรืออุปกรณ์เสริมในเกม

"เราให้บริการแอพพลิเคชั่นฟรีทุกอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับไลน์ นอกจากเกมคุกกี้รัน เกมอื่นๆ ไลน์ก็เริ่มต้นจากการให้บริการฟรี การเลือกซื้อไอเท็มนั้น เป็นเพียงการเพิ่มความสนุกของผู้เล่นบางกลุ่ม ผู้เล่นส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเล่นเกมแบบฟรี โดยไม่ซื้ออุปกรณ์หรือไอเท็มต่างๆ ที่ต้องเสียเงินเพิ่ม และส่วนดังกล่าว ในฐานะผู้ให้บริการเราก็ไม่ได้บังคับให้ผู้เล่นต้องซื้อแต่อย่างใด ยอมรับว่าจากนี้ไปคงต้องมีการเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจในการใช้จ่ายเพื่อเล่นเกมมากขึ้น และโดยเฉพาะการซื้อไอเท็มในเกมด้วยช่องทางต่างๆ" นางสาววารดี กล่าว

สำหรับวิธีหรือคำแนะนำต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์หรือคลิปวิดีโอนั้น นางสาววารดี อธิบายว่า ไลน์ไม่มีนโยบายที่จะแนะนำวิธีการเล่นที่เป็นเทคนิคพิเศษเสมือนเป็นการโกงเกมต่างๆ อยู่แล้ว ปัจจุบันเรามีช่องทางการสื่อข้อมูลให้เข้าถึงผู้บริโภค ผ่าน Line Cookie Run, Line game , Line ประเทศไทย ซึ่งเป็นช่องทางบนแอพพลิเคชั่นไลน์ นอกจากนี้ก็ยังมีช่องทางอื่นๆ อย่างแฟนเพจ LINE Thailand Official เพื่อสื่อสารและแจ้งกิจกรรมต่างๆ กับผู้ใช้ไลน์และผู้เล่นเกมไลน์ ซึ่งอยากให้แฟนไลน์ได้ติดตามข้อมูล ข่าวสารผ่านช่องทางดังกล่าวมากกว่าการติดตามหรือเชื่อถือจากบุคคลอื่น ที่ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลในนามของบริษัท

ส่วนเหตุการณ์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการเล่นเกมนั้น หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าจะทำให้ผู้เล่นเกมเกิดความหวาดกลัว เพราะโอเปอเรเตอร์เองก็อยู่ระหว่างหาทางออกและป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าหากมีการจำกัดวงเงินสำหรับการใช้งานเสริม ทั้งการใช้ซื้อสินค้าออนไลน์หรือเล่นเกมออนไลน์ ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปได้ขั้นหนึ่ง
ปลายทางที่ต้องการคือ คะแนนที่สูงที่สุด


ด้าน นายณัชพล วินิจ บรรณาธิการ นิตยสารคอมเกมเมอร์นิวส์ ในฐานะผู้คร่ำหวอดวงการเกม ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า กรณีที่มีเด็กเล่นเกมไลน์ คุกกี้รันแล้วโดนโอเปอเรเตอร์เรียกเก็บค่าบริการกว่า 2 แสนบาท บางรายโดนถึง 6 แสนบาทนั้น ส่วนตัวมองว่าคนเล่นย่อมมีเจตนาจะซื้อไอเท็ม ก็คือเพชรในเกมอยู่แล้ว จะมาบอกว่าไม่รู้คงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเสียเงินผ่านบิลมือถือ ก็เลยกดซื้อเรื่อยๆ ดังนั้นเด็กอาจไม่รู้เรื่องระบบการจ่ายเงิน แต่เจตนาตั้งใจซื้อแน่ๆ

บรรณาธิการ นิตยสารคอมเกมเมอร์นิวส์ กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนไปที่สาเหตุว่าทำไมเด็กถึงต้องซื้อไอเท็มมากมายขนาดนั้นเพื่อเล่นเกม คำตอบมีง่ายๆ สั้นๆ ว่า เพราะ "เล่นสู้เพื่อนไม่ได้" เนื่องจากคุกกี้รันเป็นเกมที่ผูกโยงกับบัญชีไลน์ เมื่อเล่นจบทุกครั้งคะแนนจะโชว์ในกลุ่มเพื่อน แน่นอนว่าคนได้คะแนนน้อยๆ เมื่อไปเจอเพื่อนๆ ที่คะแนนระดับล้่านๆ ย่อมถูกหยามเหยียด ถากถาง เยาะเย้ย แน่นอน ดังนั้น การจะเปลี่ยนจากมือกระจอกๆ มาเป็นเกมเมอร์ระดับเทพได้ ก็คือใช้เงินซื้อไอเท็มปลดล็อกตัวละครพิเศษต่างๆ นั่นเอง ขณะเดียวกันยังเป็นการโชว์พลานุภาพในการเล่นว่าเทพจริง เล่นได้ มีตัวละครทุกตัว

นอกจากการซื้อเพชร หรือไอเท็มในเกมที่เอามาแลกเป็นคุกกี้ ที่เป็นทางลัดทำให้เล่นเกมได้คะแนนสูงๆ แล้ว กรณีการดูคลิปยูทูบที่โชว์การปั๊มแต้ม ปั๊มเงิน ก็เป็นอีกทางหนึ่ง โดยเวลานี้เราจะเห็นเพจรับปั๊มเงินคุกกี้รันมากมาย มาอำนวยความสะดวกสำหรับคนไม่มีเวลา แต่มีเงิน ได้เลื่อนระดับอัพเกรดขึ้นเป็นหัวตารางคะแนน แถมยังฮิตได้รับความนิยมชนิดที่ต้องจองคิวรอกันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ เลยทีเดียว

"อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนคนที่อยากเทพทางลัด ให้ระวังความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว เมื่อใช้บริการจ้างปั๊มเงินคุกกี้รัน หากไอดีที่เล่นเป็นไอดีส่วนตัวที่ใช้งานจริง ก็ไม่ควรปล่อยให้ตกไปอยู่ในมือผู้อื่น เพราะเราต้องส่งทั้ง LINE ID และพาสเวิร์ดแก่คนที่ปั๊มเงินให้เรา แล้วถ้าพาสเวิร์ดนั่นเป็นอันเดียวกับเฟซบุ๊ก อีเมล์ หรือทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ก็คงไม่เหลือแน่ๆ หากโดนแฮก ดังนั้น บริการเหล่านี้มีความเสี่ยงและอันตราย ผู้ที่จะใช้ก็ควรจะรอบคอบในเรื่องนี้ด้วย" นายณัชพล กล่าว
หลายคนบอกว่า ฟินมาก! ถ้าเอาชนะเพื่อนๆ ในไลน์ได้


นายปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทมอล แอ็คเซสพอร์ทัล จำกัด ผู้ให้บริการเติมเงินเกมออนไลน์ และเกมบนเฟซบุ๊ก กล่าวว่า ส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่า เด็กที่เล่นเกมอยู่ในวัยที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว เชื่อว่าเขารู้ดีว่านี่เป็นบริการที่ต้องจ่ายเงิน ในกรณีนี้มี 2 ด้านที่ต้องมอง 1. เยาวชนอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก กด NEXT กด OK มั่วไปจนผ่าน หรือ 2. รู้เรื่องว่าต้องมีค่าใช้จ่ายแต่อยากลอง พอเห็นว่าเล่นได้ ซื้อของได้ ก็เลยคิดว่าไม่มีอะไร เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนบัตรเครดิตมาก และผู้ใช้งานมีน้อย แล้วส่วนมากก็ไม่มั่นใจที่จะใช้บัตรเครดิตทำธุรกรรมออนไลน์ หรือผ่านมือถือ เพราะกลัวว่าจะโดนดูดข้อมูล หรือถูกขโมยเงิน บริการชำระเงินผ่านบิลค่าใช้จ่ายมือถือรายเดือน จึงเกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก แต่เมื่อเกิดปัญหาบิลช็อกจากคุกกี้ีรันขึ้นมา หลายฝ่ายพยายามเข้ามาแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและผู้ให้บริการ พวกเราที่อยู่ในวงการรู้ดีและเจอเรื่องแบบนี้มาตลอด

ซีอีโอ บ.มอล แอ็คเซสพอร์ทัลฯ อธิบายต่อว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วคือ เอไอเอส ยกเว้นค่าบริการให้ ถือเป็นทางออกในระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหา จริงๆ แล้วควรจะเก็บค่าบริการ แต่อาจมีเงื่อนไขที่กำหนด มิเช่นนั้นจะมีรายที่ 3 รายที่ 4 รายที่ 5 ที่ออกมาขอความช่วยเหลือ แต่จริงๆ แล้วตั้งใจซื้อเพชร ตั้งใจเติมไอเท็มในเกม แล้วอ้างว่าไม่ทราบ ไม่รู้แบบกรณีคุกกี้รันในไทยหมด แล้วกรณีนี้ก็ไม่เหมือนกับการที่แอปเปิลให้ผู้ปกครองร้องขอยกเลิกการซื้อแอพพลิเคชั่นผ่านแอพสโตร์ เพราะในด้านกลไกเป็นการตกลงกันระหว่างแอปเปิล และ บ.บัตรเครดิตที่ผู้ใช้งานถือ ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายสถาบันการเงิน หากผิดพลาดสามารถร้องขอคืนเงินได้ แต่กรณีเอไอเอส เขาไม่ใช่สถาบันการเงิน และบริการชำระผ่านบิลมือถือก็เป็นบริการเสริม ที่ต้องส่งผ่านต่อไปยังกูเกิลที่เป็นร้านค้าออนไลน์อีกที แล้วจะเอาเงินคืนที่ใคร ใครเป็นคนต้องชดใช้เงินให้ลูกค้า

นายปรีชา อธิบายอีกว่า การป้องกันและแก้ไข ก็มาในรูปแบบที่เอไอเอสจะมีการจำกัดวงเงิน ที่แน่นอนว่าจะต้องกระทบกับผู้ใช้งาน ที่เขาใช้เป็นและต้องทำธุรกรรมในจำนวนเงินสูงๆ ที่หากถูกจำกัดวงเงิน การทำธุรกรรมจะลำบาก ตัดโอกาสที่ผู้ให้บริการคอนเทนต์จะขายคอนเทนต์ราคาสูงๆ เรียกว่าเป็นเรื่องจุกจิกกวนใจ กรณีบิลช็อกจากคุกกี้รัน ก็น่าเห็นใจทุกฝ่ายที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ออกตัวหรือพูดอะไรก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ปกครองของเยาวชน เอไอเอส กูเกิล หรือทางไลน์เอง เพราะยังตอบไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ใครต้องรับภาระกันแน่ แต่ที่รู้คือ เด็กได้ไอเท็มไปแล้วแน่นอน

นอกจากการควบคุมวงเงินค่าใช้งานโดยโอเปอเรเตอร์แล้ว ก็ได้เห็นถึงความพยายามจากสื่อในการให้ความรู้ เกี่ยวกับการตั้งค่าสมาร์ทโฟน เพื่อป้องกันการซื้อแอพพลิเคชั่นโดยไม่ต้องใจ รวมถึงการใส่พาสเวิร์ดที่ตัวสมาร์ทโฟน แต่มันก็ไม่ใช่การแก้ที่ตรงจุด เพราะจะมีผู้ปกครองกี่คนที่ตั้งค่าเหล่านั้นเป็น

สิ่งที่แนะนำและเหมาะสมกับเรื่องนี้ได้ดี คือ

1. หากจะให้ลูกหลานใช้สมาร์ทโฟน ต้องให้เป็นระบบเติมเงินเท่านั้น
2. เลิกใช้บัญชีบัตรเครดิตของผู้ปกครอง นำไปผูกติดกับบัญชีใช้งานเครื่องของลูกหรือหลาน
3. สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ใช้กับ 1 ไลน์ ไอดี
4. ถ้าลูกอยากเล่นเกม ให้เขาศึกษาขั้นตอน และสมัครใช้บริการด้วยตัวเอง
5. หากเขาอยากซื้อแอพพลิเคชั่น ก็ให้ผู้ปกครองไปเติมเงิน ให้เขาเล่นตามวงเงินที่เรากำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นทางออกที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่ต้องควบคุมตั้งกฎกติกาให้กระทบธุรกรรมการเงิน จนเป็นเรื่องวุ่นวายของผู้ใช้งานคนอื่นๆ

เกือบจะกลายเป็นเรื่องไม่สนุก ยิ้มไม่ออก จากการที่เทพคุกกี้รันวัยกระเตาะ หวังเก่งทางลัด ใช้สกิลดรรชนีพิฆาตความ NooB! ซื้อไอเท็มอัพเลเวล ยกระดับแบบไม่บันยะบันยัง นี่ถ้าหากโอเปอเรเตอร์เจ้าของค่ายมือถือไม่หาทางออก ด้วยการยกยอดค่าใช้บริการให้! เรื่องนี้คงกลายเป็นประวัติศาสตร์แก่วงการเกม ที่มอบความบันเทิงชั่วคราวแก่ลูกๆ ได้วิ่งผจญภัยในโลกแคนดี้ แต่กลายเป็นภาระ (หนี้สิน) ระยะยาว ให้พ่อแม่ผู้ปกครองช้ำใจ ต้องวิ่งเพื่อ "ผจญภัยในโลกคนเป็นหนี้" กันไปอีกนาน...


ภาพประกอบ : LINE Thailand - Official







http://www.thairath.co.th/content/431842

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.