Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

08 กรกฎาคม 2557 หอการค้า.มานะ ระบุ การที่ กสทช.ไม่แจกแจงรายละเอียดของต้นทุนกล่องก่อนจะสรุปราคาที่ 1,000 บาท ทำให้มีการทักท้วง เพราะแพงกว่าราคาตั้งต้น


ประเด็นหลัก

สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการด้านการสื่อสาร มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ให้ความเห็นว่า ราคาคูปองที่ 690 บาท ที่เคยวางไว้เดิม ถือว่าสมเหตุสมผลเนื่องจากสามารถแจกแจงที่มาได้ว่าคำนวณจากราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต แต่หากเป็นราคาอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ เช่น 800 บาท ก็ต้องแสดงต้นทุนให้ได้ว่า เหตุใดจึงเป็นที่มาของราคานี้ ซึ่ง กสทช.มีรายละเอียดอยู่แล้ว

"การที่ กสทช.ไม่แจกแจงรายละเอียดของต้นทุนกล่องก่อนจะสรุปราคาที่ 1,000 บาท ทำให้มีการทักท้วง เพราะแพงกว่าราคาตั้งต้น อีกทั้งราคาคูปองที่กำหนดขึ้น เท่ากับเป็นการชี้นำตลาดให้ราคากล่องสูงขึ้นทั้งๆ ที่ต้นทุนจริงอาจไม่ถึง 1,000 บาท" มานะ กล่าว


______________________________________

วัดกึ๋นคสช.ทุบโต๊ะคูปองดิจิทัล


หากจับสัญญาณที่ส่งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในยุคคืนความสุขรายสัปดาห์ยามนี้ ดูเหมือนว่าการเดินหน้าแจกคูปองทีวีดิจิทัลให้คนไทยทั้งชาติ ในห้วงยามที่ระบบโทรทัศน์ไทยเปลี่ยนผ่านจากยุคอะนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล น่าจะอยู่ในรายการบัญชีคืนความสุขให้คนไทยอย่างแน่นอน

หลัง คสช.มีคำสั่งเข้าไปตรวจสอบ 4 โครงการยักษ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลค่า 1 แสนล้านบาท และหนึ่งในนั้น คือ การแจกคูปองทีวีดิจิทัล 1,000 บาท/ครัวเรือน เป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท

"เรื่องกล่องเราจะไปดูความคุ้มค่าไปดูวิธีการแจกไปดูตัวเลขที่เขาแจกวิเคราะห์จากอะไร ซึ่ง กสทช.ต้องส่งเอกสารมาให้เรา ซึ่งผมเห็นว่าจำนวนกล่องที่แจกเยอะเกินไปหรือไม่ ตัวเลข 22 ล้านกล่องมาจากไหน ส่วนราคากล่องก็ให้ไปทำว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร" พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้สัมภาษณ์

นอกจากนี้ พล.ท.อนันตพร ยังตอบคำถามว่ามูลค่าคูปองที่ 1,000 บาทแพงไปหรือไม่ ว่า "ราคาน่าจะลดลงมากกว่า"พร้อมทั้งระบุว่า "การนำคูปองไปแลกกล่องทีวีดาวเทียม เป็นสิ่งที่ต้องตีความกันว่าวัตถุประสงค์การแจกกล่องคืออะไร อันนี้ต้องตีความ ผมคิดว่าวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน ทบทวนเสร็จก็ต้องแจกเพราะตอนนี้ทีวีดิจิทัลก็ออกอากาศไปแล้ว คงต้องรีบ"

ประเด็นการนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) หรือเรียกได้ว่าเป็น"กองทุนสาธารณะ" มาสนับสนุนการแจกคูปองทีวีดิจิทัลว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ และประชาชนต้องแบบรับภาระจากการเปลี่ยนผ่านเพียงใด ถูก คสช.ตั้งคำถามอีกครั้งนับตั้งแต่ กสทช.ริเริ่มโครงการแจกคูปองทีวีดิจิทัลมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

"คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เสนอให้ กทปส.อนุมัติราคาคูปองที่1,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมกล่องรับสัญญาณพร้อมเสาอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไฟเลี้ยงในตัว (แอ็กทีฟ แอเทน่า) ในระดับคุณภาพมาตรฐาน เพราะหากราคาต่ำกว่านี้ จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป" สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. ระบุ จากที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอแจกคูปองมูลค่า 1,200 บาท

ขณะที่การพิจารณามูลค่าคูปองของ กทปส.เอง ก็เห็นว่าราคาคูปองที่ 1,000 บาทเหมาะสมแล้ว โดยฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขานุการกองทุน กทปส.บอกว่า"ราคาคูปองที่ 1,000 บาท คำนวณต้นทุนจากราคากล่องรับสัญญาณ 683.07 บาท ซึ่งเป็นการอิงจากราคาทั่วโลกอยู่ที่ 10-15 เหรียญสหรัฐ รวมกับค่าบริหารจัดการต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียมการนำเข้า ต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,019.51 บาท"

แต่กระนั้นราคาคูปองที่ 1,000 บาท ถูกคัดค้านจากองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนที่เห็นว่าราคาคูปองที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 512 บาท เพราะได้สำรวจราคาในท้องตลาดพบว่าราคาไม่ถึง 1,000 บาทและหาก กสทช.แจกคูปองราคาดังกล่าว จะทำให้กองทุนสูญเงินโดยเปล่าประโยชน์ถึง 1 หมื่นล้านบาทพร้อมทั้งยืนยันว่ามูลค่ากล่อง 512 บาท สามารถรับชมแบบทีวีคมชัดสูงได้ และรับประกันนาน 5 ปี

สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการด้านการสื่อสาร มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ให้ความเห็นว่า ราคาคูปองที่ 690 บาท ที่เคยวางไว้เดิม ถือว่าสมเหตุสมผลเนื่องจากสามารถแจกแจงที่มาได้ว่าคำนวณจากราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต แต่หากเป็นราคาอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ เช่น 800 บาท ก็ต้องแสดงต้นทุนให้ได้ว่า เหตุใดจึงเป็นที่มาของราคานี้ ซึ่ง กสทช.มีรายละเอียดอยู่แล้ว

"การที่ กสทช.ไม่แจกแจงรายละเอียดของต้นทุนกล่องก่อนจะสรุปราคาที่ 1,000 บาท ทำให้มีการทักท้วง เพราะแพงกว่าราคาตั้งต้น อีกทั้งราคาคูปองที่กำหนดขึ้น เท่ากับเป็นการชี้นำตลาดให้ราคากล่องสูงขึ้นทั้งๆ ที่ต้นทุนจริงอาจไม่ถึง 1,000 บาท" มานะ กล่าว

แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากภาคเอกชน เช่น วิศรุตปิยกุลวัฒน์ อุปนายกสมาคมสื่อดิจิตอลเพื่อผู้บริโภคที่ให้ข้อมูลว่าราคาคูปองที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 2,000 บาท เพราะครอบคลุมอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลทั้งหมดคือ กล่องรับสัญญาณที่ปัจจุบันมีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท และเสาอากาศที่ราคาตลาดอยู่ที่ 300-500 บาท ดังนั้นราคาคูปองที่ 2,000 บาท ก็จะสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิทัลของประชาชนแท้จริง

การทุบโต๊ะเคาะราคาสุดท้ายคูปองทีวีดิจิทัล น่าจะทำให้ คสช.หนักใจไม่น้อย โดยเฉพาะในยามที่คนไทยต่างเฝ้ารอการรับแจกคูปอง ที่การนัดหมายการแจกคูปองถูกเลื่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจนถึงยุคคสช.

ที่สำคัญ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ติติงกรณีการแจกคูปองจะตกอยู่กับ คสช. เพราะวันนี้ กสทช.แทบไม่มีบทบาทใดๆ ในภาวะที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารในหลายหน่วยงานถูกขอให้พิจารณาตัวเองด้วยการลาออก

"ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลานี้ กสทช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ ได้เลย โครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช.ก่อน ส่วนกสทช.มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง"ฐากร ในฐานะเลขาธิการ กสทช. บอกหลังถูกถามว่า กสทช.จะถูกคสช.เข้าควบคุมอำนาจการบริหารงานทั้งหมดใช่หรือไม่

จะได้เสียงเชียร์หรือเสียงติติง คสช.คงต้องน้อมรับโดยดี แต่ที่แน่ๆ หากเร่งแจกคูปองให้เร็วทันใจเท่าใดรับรองรับเสียงเชียร์ไปเต็มๆ


http://www.posttoday.com/ดิจิตอลไลฟ์/305456/วัดกึ๋นคสช-ทุบโต๊ะคูปองดิจิทัล

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.