Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

30 มกราคม 2558 สฤณี อาชวนันทกุล แนะนำ การออก พ.ร.บ.ไซเบอร์ ควรนำรูปแบบของสหรัฐอเมริกาที่มี National Security Agency (NSA) ตรวจสอบความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ แต่ไม่รวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ประเด็นหลัก



"สฤณี อาชวนันทกุล" 1 ในผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นว่า เดิม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาครัฐที่มีต่อการป้องกันการกระทำผิดที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีใหม่ มีเนื้อหาที่ค่อนข้างครอบคลุมในการใช้งาน แต่เวลาผ่านไปผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในมาตรา 14 ที่หากนำข้อมูลที่ไม่จริงเข้าระบบคอมพิวเตอร์จะผิดกฎหมายทันที ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯครั้งนี้ช่วยเพิ่มความชัดเจนต่อมาตรา 14 ให้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันในร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ กลับมีความไม่ชัดเจนในเงื่อนไขต่าง ๆ และการบังคับใช้อาจสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบมากเกินไปจึงควรตีกรอบให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเดียวกับ พ.ร.บ.คอมฯอีกครั้ง โดยนำรูปแบบของสหรัฐอเมริกาที่มี National Security Agency (NSA) ตรวจสอบความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ แต่ไม่รวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

_____________________________________________________












กฎหมายเจ้าปัญหา "พ.ร.บ.ไซเบอร์" เขย่าขวัญ "พลเมืองเน็ต-นักลงทุน"


จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลปัจจุบันส่งผลให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ และหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกฎหมายรวดเดียวถึง 10 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียล และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล จากมาตรา 35 (1) ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ระบุว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือสอบถาม หรือเรียกให้หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือส่งบัญชี, เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบ หรือให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้"

และ (3) ที่บอกว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์, โทรเลข, โทรศัพท์, โทรสาร, คอมพิวเตอร์, เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์"


    สุรางคณา วายุภาพ               เกรียงไกร ภูวณิชย์                สฤณี อาชวนันทกุล


ถึงกับมีแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าว

ร้อนถึงสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)หรือ"สพธอ." ซึ่งมีส่วนร่วมในร่างกฎหมายดังกล่าวต้องออกมาลดกระแสด้วยการเปิดเวทีให้ฝ่ายต่าง ๆ แสดงความคิดความเห็น

"สฤณี อาชวนันทกุล" 1 ในผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นว่า เดิม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาครัฐที่มีต่อการป้องกันการกระทำผิดที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีใหม่ มีเนื้อหาที่ค่อนข้างครอบคลุมในการใช้งาน แต่เวลาผ่านไปผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในมาตรา 14 ที่หากนำข้อมูลที่ไม่จริงเข้าระบบคอมพิวเตอร์จะผิดกฎหมายทันที ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯครั้งนี้ช่วยเพิ่มความชัดเจนต่อมาตรา 14 ให้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันในร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ กลับมีความไม่ชัดเจนในเงื่อนไขต่าง ๆ และการบังคับใช้อาจสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบมากเกินไปจึงควรตีกรอบให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเดียวกับ พ.ร.บ.คอมฯอีกครั้ง โดยนำรูปแบบของสหรัฐอเมริกาที่มี National Security Agency (NSA) ตรวจสอบความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ แต่ไม่รวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

"เชื่อว่าทีมผู้จัดทำ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯหวังดีที่จะให้ประชาชนและประเทศชาติปลอดจากภัยคุกคามต่าง ๆ แต่พระเจ้าและซาตานมีอยู่ในรายละเอียดข้างในถ้าไม่อ่านดี ๆ ก็คงไม่รู้ ยิ่งการที่ร่างฉบับนี้ผ่าน ครม.อย่างรวดเร็ว ถ้าเครือข่ายพลเมืองเน็ตไม่นำมาเผยแพร่ โอกาสที่ประชาชนจะโดนตรวจสอบโดยรัฐก็มีสูงถึงจะหารือบ่อยแค่ไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้"

"เกรียงไกร ภูวณิชย์" ผู้บริหารฝ่ายนโยบายภาครัฐ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทต่างชาติจับตาและให้ความสนใจต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และกฎหมายหลากหลายฉบับที่ออกมา โดยเฉพาะกับมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เนื่องจากผลข้อกฎหมายนี้จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจล้นฟ้า จากการเข้าถึงข้อมูลทุก ๆ อย่างได้ โดยไม่ต้องใช้หมายศาล ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยลดต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะการเข้าถึงข้อมูลจากรัฐเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติ

"เข้าใจว่าภาครัฐมีความหวังดีจึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาแต่เมื่อตัวกฎหมายมีลักษณะค่อนข้างกว้างเกินไปทำให้บริษัทต่างๆ มีความกังวล เราได้รับการติดต่อจากบริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่ด้านไอทีหลายเจ้าที่มาหาไอบีเอ็มที่ประเทศไทยเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นและจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างไรบ้างซึ่งเราก็ชี้แจงกลับไปตามความจริงดังนั้นจึงขอเสนอว่าควรหาจุดบาลานซ์ในการใช้อำนาจหรือไม่ก็แบ่งเป็นสองหน่วยงาน โดยให้หน่วยงานหนึ่งเป็นฝั่งโปรโมชั่นหรือส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล และอีกฝั่งเป็นป้องกันการโจมตีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

"น.พ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์" อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ของภาครัฐอาจทำให้เกิดความไม่เป็นส่วนตัวของข้อมูลคนไข้ และถึงจะใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แค่ไหน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยังอาศัยอำนาจใน พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ในการตรวจสอบก็คงไม่มีผลอะไร ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับข้อมูลที่เปิดเผยได้ในที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในขณะนี้

"ในทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลอาจมีการส่งข้อมูลของคนไข้บ้างแต่ถ้าเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกอย่างเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลของคนไข้ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีใครอยากเปิดเผยจะปลอดภัยได้อย่างไร กลุ่มแพทย์จึงอยากให้ภาครัฐสร้างสมดุลของอำนาจในการตรวจสอบข้อมูล ไม่ใช่เปิดกว้างขนาดนี้ เพราะบางเรื่องของคนไข้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้คนนอกรู้"

ขณะที่ "สุรางคณา วายุภาพ" ผู้อำนวยการ สพธอ.ยอมรับว่า ด้วยเวลาที่รีบเร่ง เพราะต้องการให้กฎหมายและข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการทางทางกฎหมายที่จำเป็นรองรับการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทั้ง10ฉบับเสร็จก่อนเกิดมีการเลือกตั้งใหม่หรือในต้นปี 2559 เพื่อให้การบังคับใช้ต่อเนื่องไปถึงรัฐบาลชุดหน้าทำให้มีข้อผิดพลาดในข้อกฎหมาย เช่น มาตรา 35 พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ทำให้เกิดความไม่พอใจบนโลกออนไลน์ แต่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากนี้

"แม้เราจะรอบคอบขนาดไหน ด้วยเวลาที่จำกัดทำให้มีบางเรื่องหลุดออกมา แต่ยืนยันว่าประชาชนไม่ต้องตื่นตกใจ เพราะในการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย โดยระหว่างการตรวจสอบจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล สพธอ. จะนำข้อมูลความเห็นต่าง ๆ ไปให้กรรมการกฤษฎีกาทุกสัปดาห์ โดยจะจัดเสวนาทุกวันเสาร์ เพื่อเป็นอีกกระบอกเสียงในการส่งสารไปให้กฤษฎีการับรู้ ก่อนทยอยส่งเข้า สนช.และประกาศใช้ คาดว่าในสิ้นปีนี้จะผ่านทั้ง 10 ฉบับ"


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1422517874

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.