Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

26 ตุลาคม 2555 RS ทิ้ง FREE TV เหลือเพียงรายการเมนูวันหยุดช่อง7เท่านั้น ชูทีวีดาวเทียม อนเทนต์กีฬาโต 1,050%

ประเด็นหลัก

"อาร์เอส"  ชูทีวีดาวเทียม แพลตฟอร์มหลักปั้นรายได้ระยะยาวแย่งแชร์ฟรีทีวี ประกาศถอนยวง 10 รายการรวดสิ้นปีนี้ พร้อมทุ่มงบ 200 ล้านบาท ผลิตคอนเทนต์เต็มรูปแบบ  ชิงประมูลคอนเทนต์กีฬาพรีเมียร์ลีกอังกฤษ  หลังเช็กเรตติ้งพบยอดคนดูทะลุ 50 ล้านคน ครองอันดับ 1  เผย 6 เดือนแรกโกยรายได้ 1.3 พันล้านบาท ลดลง 0.23% แต่กำไรเพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท


ในสิ้นปีนี้บริษัทจะคืนเวลาและเลิกผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเกือบทั้งหมดราว 10 รายการ อาทิ  Kamikaze Club , Asian Countdown , More Gang , สบายดีวาไรตี้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนอย่างมาก โดยเฉพาะค่าเช่าเวลาที่มีมูลค่าสูงมาก แล้วนำเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทีวีดาวเทียมที่มีอยู่ทั้ง 5 ช่อง ได้แก่ สบายดี ทีวี , YOU Channel , YAAK TV , ช่อง 8 และ RS SPORT LA LIGA  แต่บริษัทจะคงการผลิตรายการเมนูวันหยุด   ที่ออกอากาศเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เท่านั้น เพราะเป็นรายการที่อยู่มายาวนานมาก และบริษัทยังเป็นพันธมิตรร่วมกับช่อง 7 ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลลาลีกา และฟุตบอลโลก 2014  ด้วย


 โดยปัจจุบันช่องรายการของอาร์เอส สามารถรับชมผ่านจานดาวเทียมทั้งในระบบ C Band และ KU Band ซึ่งมีผู้ให้บริการกว่า 10 ราย อาทิ PSI  มีฐานสมาชิกกว่า 10 ล้านครัวเรือน  , บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH 3.5 ล้านครัวเรือน , ทรู วิชั่นส์ 2.5 ล้านครัวเรือน , IDEA SAT , DYNASAT , DTV เป็นต้น














____________________________________


'อาร์เอส'ทิ้งฟรีทีวี ชูทีวีดาวเทียม แพลตฟอร์มหลักปั้นรายได้แทนธุรกิจเพลง

"อาร์เอส"  ชูทีวีดาวเทียม แพลตฟอร์มหลักปั้นรายได้ระยะยาวแย่งแชร์ฟรีทีวี ประกาศถอนยวง 10 รายการรวดสิ้นปีนี้ พร้อมทุ่มงบ 200 ล้านบาท ผลิตคอนเทนต์เต็มรูปแบบ  ชิงประมูลคอนเทนต์กีฬาพรีเมียร์ลีกอังกฤษ  หลังเช็กเรตติ้งพบยอดคนดูทะลุ 50 ล้านคน ครองอันดับ 1  เผย 6 เดือนแรกโกยรายได้ 1.3 พันล้านบาท ลดลง 0.23% แต่กำไรเพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท

   จากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับต้นของเมืองไทย "อาร์เอส"  ภายใต้การนำของเฮียฮ้อ - นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง เทปผี ซีดีเถื่อน รวมถึงเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการดาวน์โหลดเพลงในรูปแบบต่างๆ  ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้นายสุรชัย ตัดสินใจก้าวเข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า The Entertainment Network  โดยมี 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ Entertainment & Sport Content Provider และ Media Service
   ก่อนที่จะขยายธุรกิจด้วยการนำเข้าคอนเทนต์กีฬา และโชว์บิซ (ธุรกิจจัดการแสดง)สู่ตลาดเมืองไทยเป็นรายแรกๆของประเทศ กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 ที่ทำให้อาร์เอสเริ่มแข็งแกร่ง จนปัจจุบันการเติบโตแบบก้าวกระโดดของทีวีดาวเทียมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นแรงดึงดูดให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่"อาร์เอส" จะใช้เป็นแพลตฟอร์มในการต่อยอดเครือข่ายธุรกิจในอนาคต


++ ทีวีดาวเทียมแพลตฟอร์มหลักโกยรายได้


   โดยนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป้าหมายในปี 2556 คือการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจทีวีดาวเทียมให้เป็น 2 ใน 3  จากปัจจุบันธุรกิจ 3 กลุ่มได้แก่ เพลง, โชว์บิซ และมีเดีย มีสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 1 :1:1  โดยรายได้จากธุรกิจทีวีดาวเทียมเติบโตในหลัก 100% ต่อเนื่องทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในหลักเดียวกันต่อเนื่องต่อไปอีก ขณะเดียวกันบริษัทจะปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาในสัดส่วน 100% เนื่องจากมีฐานอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยหลักพันบาทเท่านั้น


   ส่วนภาพรวมธุรกิจทีวีดาวเทียมในอีก 3-4 ปีข้างหน้ายังมีโอกาสที่จะเติบโตในหลัก 100% เช่นกัน เห็นได้จากการขายโฆษณาที่พบว่า ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ต่างหันมาทุ่มงบประมาณผ่านทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงไป  จากปัจจุบันที่ธุรกิจทีวีดาวเทียมมีเม็ดเงินโฆษณาราว 6 พันล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของเม็ดเงินโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท


++ ถอด 10 รายการฟรีทีวี


   ในสิ้นปีนี้บริษัทจะคืนเวลาและเลิกผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเกือบทั้งหมดราว 10 รายการ อาทิ  Kamikaze Club , Asian Countdown , More Gang , สบายดีวาไรตี้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนอย่างมาก โดยเฉพาะค่าเช่าเวลาที่มีมูลค่าสูงมาก แล้วนำเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทีวีดาวเทียมที่มีอยู่ทั้ง 5 ช่อง ได้แก่ สบายดี ทีวี , YOU Channel , YAAK TV , ช่อง 8 และ RS SPORT LA LIGA  แต่บริษัทจะคงการผลิตรายการเมนูวันหยุด   ที่ออกอากาศเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เท่านั้น เพราะเป็นรายการที่อยู่มายาวนานมาก และบริษัทยังเป็นพันธมิตรร่วมกับช่อง 7 ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลลาลีกา และฟุตบอลโลก 2014  ด้วย


   "บริษัทจะถอดรายการออกจากฟรีทีวีทั้งหมด โดยทยอยคืนเวลาไปบางส่วน และปีหน้าจะนำทรัพยากรบุคคลทั้งหมดมาทุ่มเทกับแซตเทลไลต์ทีวีเต็มที่ ซึ่งปีหน้าคาดว่าจะลงทุนเพิ่มจากปีก่อนที่ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพราะสามารถประหยัดเงินจากการเช่าเวลา และนำมาลงทุนผลิตคอนเทนต์เอง" นางพรพรรณ กล่าวและว่า


บริษัทไม่มีเหตุผลที่จะไปปั้นเรตติ้งให้คนอื่น เมื่อวันนี้เรามีบ้านของเราเอง เพราะเป้าหมายหนึ่งของบริษัทคือการสร้างเรตติ้งสูงสุดเพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณา


++ ยอดคนดูทะลุ 50 ล้านคน


   จากแนวโน้มที่ทีวีดาวเทียมสามารถปรับค่าโฆษณาขึ้นได้อีกมาก และมีโอกาสที่จะขยับสูงขึ้นในระดับเดียวกับฟรีทีวี  จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  โดยในส่วนของทีวีดาวเทียม  จะมีรายได้จากโฆษณา 90% และอีก 10% มาจากการให้เช่าเวลา  ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของการสร้างรายได้ จึงตั้งอัตราค่าเช่าให้สอดคล้องกับผู้จัดเป็นหลัก ซึ่งมีส่วนดึงดูดให้ผู้จัดหลายรายหันมาผลิตคอนเทนต์ป้อนทีวีดาวเทียมมากขึ้นไม่เพียงของอาร์เอสเท่านั้น และถือเป็นภัยคุกคามต่อฟรีทีวีในอนาคตหากมีคนมาแชร์อายบอลหรือผู้ชมไปยังช่องต่างๆ ขยายตัวมากขึ้น


   "เป้าหมายบริษัทไม่ได้ต้องการเงินค่าเช่าเวลา แต่ต้องการคอนเทนต์ที่น่าสนใจเพื่อให้ผู้ผลิตรายการหันมาผลิตรายการที่หลากหลายให้กับช่อง เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการดึงเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา เพราะหากพูดถึงแซตเทลไลต์ทีวี ช่องฟรีทูแอร์ อาร์เอสถือว่าแข็งแรงที่สุดในวันนี้เพราะ จากการวัดเรตติ้งของบริษัท เอจีบี นิลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำการสำรวจผู้ชมแซตเทลไลต์ทีวี พบว่า 4 ช่องของอาร์เอส ได้แก่ สบายดี ทีวี , YOU Channel , ย๊าค ทีวี และช่อง 8 มีจำนวนผู้ชมมากกว่า  50 ล้านคน" นางพรพรรณ กล่าว


    โดยปัจจุบันช่องรายการของอาร์เอส สามารถรับชมผ่านจานดาวเทียมทั้งในระบบ C Band และ KU Band ซึ่งมีผู้ให้บริการกว่า 10 ราย อาทิ PSI  มีฐานสมาชิกกว่า 10 ล้านครัวเรือน  , บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH 3.5 ล้านครัวเรือน , ทรู วิชั่นส์ 2.5 ล้านครัวเรือน , IDEA SAT , DYNASAT , DTV เป็นต้น


++ เฮียฮ้อสั่งลุยบี้ฟรีทีวี


    นายองอาจ สิงห์ลำพอง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานสถานีโทรทัศน์ ผู้ควบคุมดูแลช่อง 8   กล่าวว่า  คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า   ในอนาคตฟรีทีวีบางช่องจะสู้เราไม่ได้ รวมถึงอัตราค่าโฆษณาเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท ได้ลองสำรวจอัตราค่าโฆษณาผ่านเอเยนซีต่างๆ พบว่าปัจจุบันอัตราค่าโฆษณาของอาร์เอส จะเทียบเท่ากับฟรีทีวีบางช่องแล้ว แต่อัตราดังกล่าวนั้นยังไม่ถึงช่องระดับชั้นนำ ทั้งนี้บริษัทมองว่าภายใน 4-5 ปีอัตราค่าโฆษณาของบริษัทจะเทียบเท่าช่องฟรีทีวีชั้นนำอย่างแน่นอน


   ล่าสุดช่อง 8 ร่วมกับทรู วิชั่นส์ นำช่อง 8 ไปเผยแพร่ภาพผ่าน ทรู วิชั่นส์ ทำให้มียอดผู้ชมเพิ่มขึ้น และยังได้เซ็นสัญญากับบริษัท ไอซ์ทีวี สิงคโปร์ฯ เจ้าของลิขสิทธิ์รายการ Asia's Next Top Model มาออกอากาศในเดือนพฤศจิกายนพร้อมกันทั่วเอเชีย


++  ชูคอนเทนต์กีฬาเสริมทัพ


   อีกกลยุทธ์ที่อาร์เอส จะนำมาใช้สร้างความแข็งแกร่งและเป็นแรงดึงดูดผู้ชมทางทีวีดาวเทียมคือ การเพิ่มคอนเทนต์ด้านกีฬา ซึ่งก่อนหน้านี้คอนเทนต์กีฬาถือเป็นแพลตฟอร์มขนาดเล็ก และเลือกขายให้กับสมาชิกระดับพรีเมียมเท่านั้น แต่ด้วยเป้าหมายที่อาร์เอสต้องการเจาะตลาดแมส จึงยอมจ่ายเงินก้อนโต เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลลาลีกา สเปนมาเสริมทัพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างความโดดเด่นให้กับอาร์เอส ได้มากพอควรแต่ก็ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ชมระดับหนึ่งเท่านั้น


   เป้าหมายสำคัญของอาร์เอส คือการได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2013-2016 ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความนิยมสูงสุดและเป็นคิงส์ ออฟ คอนเทนต์ ทำให้อาร์เอสตัดสินใจเข้าร่วมประมูล แข่งกับทรู วิชั่นส์  ,  จีเอ็มเอ็มแกรมมี่  , เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ,  เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง (CTH) และ คิวบิค แอซโซซิเอทส์ กรุ๊ป มาเลเซีย  ซึ่งหากอาร์เอสได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด สิ่งที่จะตามมาคือ ตัวเลขผู้ชมและตัวเงินก้อนโต


"ในการประมูลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ บริษัทเตรียมความพร้อมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรืออื่นๆ บริษัทจึงเข้าร่วมประมูลด้วย แต่ถ้าประมูลไม่ได้เราไม่เดือดร้อน เพราะได้มีการแยกการลงทุนและผลตอบแทนออกมา ถ้าได้เราก็เดินต่อซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก ถ้าไม่ได้ก็ไม่กระทบสิ่งที่เราเดินอยู่ คอนเทนต์ทุกชิ้นมีมูลค่าของดีก็ต้องราคาแพง แพงแล้วก็ต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ การได้คิงส์ ออฟ คอนเทนส์ไม่ได้หมายความว่าจะมีกำไรเสมอไป" นางพรพรรณ กล่าว


++ รายได้คอนเทนต์กีฬาโต 1,050%


   การขยับปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มธุรกิจตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง โดยในปีนี้อาร์เอส ตั้งเป้าที่จะมีรายได้ราว 3.2 พันล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 19% มาจากธุรกิจเพลงและดิจิตอล 950 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อนที่มีรายได้ 930 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30%  ธุรกิจโชว์บิซ 850 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 770 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 27%  ธุรกิจกีฬา 230 ล้านบาท เติบโต 1,050% จากปีก่อนที่มีรายได้ 20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% ธุรกิจโทรทัศน์ 750 ล้านบาท เติบโต 74% จากปีก่อนที่มีรายได้ 430 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% ธุรกิจวิทยุ 340 ล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อนที่มีรายได้ 320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.5% และธุรกิจบริหารสื่อในร้านค้า หรือธุรกิจอินสโตร์มีเดีย 80 ล้านบาท ลดลง 65% จากปีก่อนที่มีรายได้ 230 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.5%


   โดยผลประกอบการของบริษัทใน 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า 1.3 พันล้านบาท ลดลง 0.23% มีกำไรเพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1.32 พันล้านบาท มีกำไร 127 ล้านบาท


++ อัดโปรโมชันขายซันบ็อกซ์


    อย่างไรก็ดี การนำเข้าคอนเทนต์ต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ยอดขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมเติบโตขึ้น  โดยปัจจุบันกลุ่มซันบ็อกซ์ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มียอดขายแล้วกว่า 2 แสนกล่อง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 แสนกล่องในสิ้นเดือนตุลาคมนี้  โดยบริษัทได้จัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทจัดชิงโชคหาผู้โชคดี ไปชมการแข่งขันฟุตบอลลาลีกา ที่ประเทศสเปนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และต้นปีหน้าจะมีโปรโมชันใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายกล่องให้เพิ่มขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะขยายฐานสมาชิกของอาร์เอส หลังจากที่บริษัทนำรายการช่อง 8 ไปอยู่บนแพลตฟอร์มของทรู มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ช่องรายการต่างๆ  ทำให้มีลูกค้าเข้ามาซื้อกล่องซันบ็อกซ์เพิ่มขึ้น


+++  ศึกษาเข้มทีวีดิจิตอล  


   นางพรพรรณ  กล่าวอีกว่า  ส่วนการก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิตอลนั้น อาร์เอสเองยังตอบไม่ได้ เพราะไม่เห็นแนวโน้มอัตราการเข้าถึงว่าจะเป็นอย่างไร การประมูลจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ คุ้มหรือไม่ที่จะเข้าประมูล เมื่อเกิดแล้วจะต้องมีกล่องรับสัญญาณหรือจะบิลต์อินในตัวเครื่อง รัฐจะออกกล่องให้ฟรีหรือไม่ อีกเงื่อนไขใหญ่คือถ้ามีไม่ถึง 50% ของครัวเรือนทั่วประเทศก็คงไม่สามารถทำธุรกิจได้ และถ้าต้องจ่ายค่าไลเซนส์สูงๆได้มาฟรีก็ยังถือว่าเหนื่อย เทียบกับทีวีดาวเทียมบริษัทเห็นว่ามีมูลค่าและศักยภาพสูงมาก หากรูปแบบและคอนเทนต์ไม่ต่างกันทำไมคนดูจะต้องเปลี่ยนมาดูทีวีดิจิตอล แล้วธุรกิจจะเติบโตด้วยปัจจัยใด เพราะทุกวันนี้ธุรกิจทีวีล้วนแข่งขันแย่งอายบอลอยู่แล้ว งัดคอนเทนต์มาเสนอว่าใครเจ๋งกว่ากัน


   "ทีวีดาวเทียมยังเป็นกลไกสำคัญของอาร์เอสที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ รวมถึงความหวังที่จะทำเพย์ทีวีแข่งกับเจ้าตลาด ซึ่งรอเพียงกฎระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) จะออกมาในแนวทางใด เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายหรือไม่ และจากการที่บริษัทไม่สามารถทำเพย์ทีวีได้ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมรายได้ปีนี้ให้เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.2 พันล้านบาท หรือหายไปประมาณ 200 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ในปี 2556 เพราะธุรกิจดาวเทียมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันรายได้และกำไรให้เติบโตในอนาคต"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=150135:2012-10-24-07-19-
44&catid=89:2009-02-08-11-24-05&Itemid=417

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.