Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

28 ตุลาคม 2555 (เกาะติดประมูล3G)(บทความ) เดินหน้าโทรศัพท์ 3G ( ผมไม่เห็นด้วยคัดค้านการประมูล 3G ว่ารัฐมีรายได้น้อย )

ประเด็นหลัก

ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการคัดค้านการประมูล 3 จีที่ผ่านพ้นไปแล้ว โดยมีพื้นฐานในการคัดค้านและกล่าวหา ว่ารัฐมีรายได้จากการประมูลครั้งนี้น้อยเกินไปทำให้รัฐเสียประโยชน์  รัฐจะเอาเงินไปทำไมทั้งที่คนของรัฐไม่เคยคิดจะเหลียวแลผู้บริโภคเลย

   สิ่งที่เราควรเน้นจากการประมูลครั้งนี้คือผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ผ่านการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้คนไทยได้บริการที่ดีและมีราคาถูกที่สุด



___________________________________




เดินหน้าโทรศัพท์ 3 จี

คงไม่ช้าเกินไปสำหรับการร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาตบน คลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ต หรือที่เรียกกันว่าคลื่น 3 จี โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

   ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการคัดค้านการประมูล 3 จีที่ผ่านพ้นไปแล้ว โดยมีพื้นฐานในการคัดค้านและกล่าวหา ว่ารัฐมีรายได้จากการประมูลครั้งนี้น้อยเกินไปทำให้รัฐเสียประโยชน์  รัฐจะเอาเงินไปทำไมทั้งที่คนของรัฐไม่เคยคิดจะเหลียวแลผู้บริโภคเลย

   สิ่งที่เราควรเน้นจากการประมูลครั้งนี้คือผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ผ่านการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้คนไทยได้บริการที่ดีและมีราคาถูกที่สุด
   ผมเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งที่รู้สึกว่าในอดีต  การที่รัฐผูกขาดบริการโทรคมนาคมโดยผ่านรัฐวิสาหกิจสองแห่งคือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย นั้นรัฐโดยองค์กรรัฐและคนของรัฐ ไม่เคยคิดถึงผู้บริโภคเลย เครื่องโทรศัพท์บ้านเครื่องแรกที่ผมได้มา ผมต้องรอคอยถึง 10 ปี หลังจากที่ทำเรื่องขอโทรศัพท์และวางเงินประกันไว้จำนวนหนึ่ง

   เมื่อองค์การโทรศัพท์ในสมัยนั้นส่งจดหมายมาแจ้งว่า ถึงคิวของผมที่จะได้รับการติดตั้งโทรศัพท์ที่บ้าน ผมต้องติดตาม ร้องขอรวมทั้งร้องเรียน หลายครั้งกว่าคนขององค์การโทรศัพท์จะยอมมาติดตั้งให้

   ขณะที่ต้องรอคอยโทรศัพท์ถึง 10 ปีนั้น ผมได้เห็นคนมากมายที่ร่ำรวยจากการขายเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งข้าราชการ นักการเมืองที่วนเวียนกันมา กินตำแหน่งใน 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ถ้ายังจำกันได้ ตำแหน่งประธานและคณะกรรมรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ในสมัยก่อนถือเป็นโบนัสอันดับต้น ๆ สำหรับผู้ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้

   และการประมูล 3 จี ครั้งนี้ในความรู้สึกของผม เป็นการเปลี่ยนจากระบบผูกขาดโดยรัฐมาให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการแก่ประชาชน โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่ายเลย  การเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี เพื่อเปลี่ยนจากการผูกขาดและให้สัมปทาน มาเป็นการเพิ่มผู้ให้บริการประชาชนโดยระบบใบอนุญาต ได้สำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการขัดขวางอย่างหนัก ทำให้การตั้ง คณะกรรมการกสทช. ชุดนี้ต้อง ล่วงเลยเวลามาเกือบ 10 ปี

   สิ่งที่รัฐบาลควรทำและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในขณะนี้คือการทำให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ราคาค่าบริการลดลงได้จริง ด้วยการปรับปรุงการบริหารงาน บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้มีศักยภาพ สามารถเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม  กับผู้ประมูลได้ใบอนุญาตทั้ง 3 รายได้

   ในส่วนของกสทช. นั้น ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ที่เสนอให้กสทช. ในฐานะเรกูเลเตอร์ ตั้งเป้าหมายให้มีการลดอัตราค่าบริการ 3 จี ในอัตราที่เทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และ ปรับปรุงค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

   ผมเชื่อว่าการดูแลให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แข่งขันกันอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการร่วมมือกันกำหนดราคาค่าบริการน่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าการที่รัฐจะได้เงินมากน้อยขนาดไหน

   คลื่นความถี่วิทยุ เป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ  ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดควรเป็นประชาชนไม่ใช่คนของรัฐหรือนักการเมือง บางกลุ่มเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=150710:-3-&catid=167:2009-03-19-04-01-42&Itemid=410

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.