Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

02 ธันวาคม 2557 (บทความ) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ วิพากษ์ การมีอยู่ของ "กสทช.-TOT-CAT" // หัวใจ กสทช. สำคัญอยู่ที่ว่า ต้องตรวจสอบได้ว่า คุณตรงไปตรงมาหรือเปล่า มีความรับผิดชอบหรือเปล่า

ประเด็นหลัก



ยังไงก็ต้องมีองค์กรกำกับด้านโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ จะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องมีไม่ใช่ให้สำนักนายกฯไปกำกับทีวี ให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับโทรคมนาคมเหมือนเดิม การแยกออกเป็นองค์กรกำกับเป็นสิ่งถูกต้อง ไม่อย่างนั้นใครจะไปกำกับกิจการ ใครจะออกใบอนุญาตให้

ถ้ากลับไปอยู่รูปแบบเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะดีขึ้นตรงที่มีระบบใบอนุญาตแล้ว ไม่กลับไประบบสัมปทานแล้ว หวังว่านะเพราะยังมีระบบคล้ายสัมปทานโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้าไปอยู่ในรูปแบบกระทรวงก็มีโอกาสที่กลุ่มผลประโยชน์จะไปวิ่งเต้นกับการเมืองได้อีก หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องตรวจสอบได้ว่า คุณตรงไปตรงมาหรือเปล่า มีความรับผิดชอบหรือเปล่า

ประเด็นหนึ่งที่น่าจะแก้ไข คือ แม้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ กระบวนการจัดทำงบประมาณต้องอนุมัติโดยรัฐสภา

______________________________







ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ วิพากษ์ การมีอยู่ของ "กสทช.-ทีโอที-กสท"



เป็นที่จับตากับสถานะของ "กสทช." ว่าจะอยู่หรือจะไป รวมไปถึง 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม "ทีโอที-กสท โทรคมนาคม" ที่อยู่ในภาวะต้องเร่งฟื้นฟูด่วน "ประชาชาติธุรกิจ" พาคุยกับประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ผู้มีบทบาทอย่างมากในการยกร่าง พ.ร.บ. กสทช. ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรแก้ไขปรับปรุงหรือฉีกทิ้ง

- คิดว่ายกร่างกฎหมายพลาดตรงไหน

ถ้ามองย้อนหลังไปคือเรื่องงบประมาณและ กตป. ซูเปอร์บอร์ด กสทช.ที่ต้องไปอยู่ใต้ กสทช.อีกที คือในกฎหมายระบุว่าสำนักงาน กสทช.ต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ถ้าตีความกฎหมายแบบตรงไปตรงมา คือ เขาขอความร่วมมือมา คุณก็ต้องให้ ไม่ใช่ว่าไปขี่เขาไว้อีกที การร่างกฎหมายในประเทศที่มีศรีธนญชัยเต็มไปหมดยากนะ เจตนาเห็นชัด ๆ ยังไปอีกแบบ แต่ใน 2 จุดนี้ยอมรับว่ายังไม่รัดกุมพอ

- โครงสร้างใหม่ กสทช.ที่ควรจะเป็น

กสทช.อยู่ตรงไหนไม่สำคัญ เท่ากับองค์กรต้องมีความโปร่งใสกับความรับผิดชอบในผลงาน คือใช้เงินใช้ทองอย่างไร ถ้ามีความโปร่งใส โอกาสที่จะทำอะไรนอกลู่นอกทางจะน้อยลง เรื่องไปดูงานต่างประเทศ ตอนยกร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ ผมเสนอให้ต้องเปิดเผยว่าใครไปดูงานต่างประเทศแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง แต่กรรมาธิการคนอื่นขอให้ตัดทิ้งเพราะละเอียดเกินไป

ต้องชัดเจนว่า อิสระจากอะไร ไม่ใช่อิสระจากการโดนตรวจสอบ แต่อิสระในความหมายนี้คือ อิสระจากหน่วยงานที่คุณกำกับดูแล อิสระจากผลประโยชน์ธุรกิจ แต่คนไทยไปคิดว่าอิสระ คือต้องอิสระจากการเมือง ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ผิดเพราะกลุ่มธุรกิจเข้าไปแทรกในการเมืองตั้งแต่ รธน.ปี 2540 มาตรา 40 ให้มีองค์กรอิสระ ทำให้เกิดระบบการกำกับดูแลที่ปลอดจากการเมือง

รธน.2550 รับช่วงต่อมาว่าต้องมีองค์กรหนึ่งที่อิสระจากการเมือง แต่การอิสระจากการเมืองไม่สำคัญเท่ากับว่าอิสระจากผลประโยชน์หรือเปล่า

ความรับผิดชอบต่อผลงาน Accountability ผู้ใช้บริการโดนเอารัดเอาเปรียบ ค่าบริการแพง คุณภาพบริการดีไหม จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญเท่ากับองค์กรนี้ต้องทำ 2 ส่วนนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น 1 องค์กร มีบอร์ดกี่ชุด ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องพวกนี้

- จำเป็นต้องแก้กฎหมาย

ต้องปรับปรุงให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสามารถในการตรวจสอบได้ง่าย

- ยุบทิ้งง่ายกว่า

ยังไงก็ต้องมีองค์กรกำกับด้านโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ จะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องมีไม่ใช่ให้สำนักนายกฯไปกำกับทีวี ให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับโทรคมนาคมเหมือนเดิม การแยกออกเป็นองค์กรกำกับเป็นสิ่งถูกต้อง ไม่อย่างนั้นใครจะไปกำกับกิจการ ใครจะออกใบอนุญาตให้

ถ้ากลับไปอยู่รูปแบบเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะดีขึ้นตรงที่มีระบบใบอนุญาตแล้ว ไม่กลับไประบบสัมปทานแล้ว หวังว่านะเพราะยังมีระบบคล้ายสัมปทานโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้าไปอยู่ในรูปแบบกระทรวงก็มีโอกาสที่กลุ่มผลประโยชน์จะไปวิ่งเต้นกับการเมืองได้อีก หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องตรวจสอบได้ว่า คุณตรงไปตรงมาหรือเปล่า มีความรับผิดชอบหรือเปล่า

ประเด็นหนึ่งที่น่าจะแก้ไข คือ แม้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ กระบวนการจัดทำงบประมาณต้องอนุมัติโดยรัฐสภา

- ตอนยกร่างให้เหตุผลเพื่ออิสระทางการเงิน

ใช่ ถ้ากลไกตรวจสอบอื่น ๆ เดินไปด้วยกัน แต่เราพบว่าปัจจุบันกลายเป็นการตรวจสอบย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็น สตง. ป.ป.ช. หรือแม้แต่สภา ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ควรเป็น ทำให้ กสทช.ได้เงินก้อนมหาศาลไป และมีผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ได้

ถ้าทำกลไกตรวจสอบในส่วนอื่นให้เกิดไม่ได้ ก็ต้องกลับมาแก้ในจุดตั้งต้นว่า เงินที่นำไปใช้ได้ต้องเข้าสู่กระบวนการเข้า พ.ร.บ.งบประมาณ

- ยังยืนยันให้เป็นองค์กรอิสระ

ถ้าอยู่ใต้กระทรวง เป็นการเมือง บอร์ดเปลี่ยนได้ตลอด เหมือนบอร์ดรัฐวิสาหกิจเทียบ กสทช. องค์กรอิสระที่กำกับโทรคมนาคมกับบรอดแคสต์ ซึ่งเป็นอิสระโดยสมบูรณ์กับบอร์ดพลังงานที่อยู่ใต้กระทรวงพลังงาน มันเละทั้ง 2 แบบ เละกันไปคนละแบบ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องไปสังกัดที่ไหน

- ต้องแยก กทค.-กสทฯ

ไม่ควรแยกมาตั้งแต่แรก แต่ตั้งแต่ทำ รธน.ปี"50 ผมเสนอแนวคิดให้เป็นคอนเวอร์เจนซ์เรกูเลเตอร์ รธน.ก็ออกมาเป็นคอนเวอร์เจนซ์ แต่ฝ่ายบรอดแคสต์ไม่แฮปปี้ จึงล็อบบี้ให้เกิดบทเฉพาะกาลแปลกประหลาดคือ ให้ใน 1 คอนเวอร์เจนซ์เรกูเลเตอร์ให้มี 2 องค์กร เลยเป็นอย่างที่เห็น

สาระสำคัญขององค์กรจริง ๆ ในต่างประเทศไม่ว่าจะใช้โมเดลไหน เขาทำให้มันรอดได้ แต่เราทำสูตรไหนก็ไม่เวิร์ก

- การประมูล 4G ในอนาคต

เทคโนโลยีใหม่เป็นโอกาสที่จะได้ปฏิรูปตลาด แต่ถ้ายังไปทำแบบเดิม การเพิ่มโอเปอเรเตอร์ในตลาดทำได้ยาก การคุ้มครองผู้บริโภคก็ยิ่งยาก เห็นได้ว่าจะไปบอกให้เขาลดราคาทำได้ยาก อย่างที่บังคับให้ลดราคา 15% เขาก็ไปเอาแพ็กเกจที่ไม่ค่อยมีคนใช้มารวม

ถ้าทำอย่างที่มาตรฐานสากลทำกัน คือ บังคับเลยว่าต้องมีแพ็กเกจพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี แล้วใช้ราคานี้เป็นราคากำกับดูแลว่ามีการลดราคาจริง การกำกับดูแลราคาเป็นเรื่องยาก ฉะนั้น วิธีที่ดีกว่าคือทำให้ผู้เล่นในตลาดเยอะ แล้วตลาดจะกำกับดูแลตนเองได้เยอะ เพราะต้องตัดราคา ต้องสู้กัน ฉะนั้น เมื่อจะเปลี่ยนเทคโนโลยีและมีเวลาเตรียมตั้งกี่ปี ถ้าให้มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจะได้บริการที่ดีในราคาถูกลง โดยที่ต่อให้มีเรกูเลเตอร์แย่ ๆ ก็ยังไปได้

- นโยบายดิจิทัลอีโคโนมี

เป็นไอเดียที่ดี ถือว่าถูกทางแต่ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลคือต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่ คือ เครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ มีการแข่งขัน ไม่ใช่ต้องทำให้บริษัทใดหรือรัฐวิสาหกิจใดอยู่รอด ต้องช่วยกันจับหลักให้ถูก รัฐบาลต้องอุ้มเศรษฐกิจไม่ได้อุ้มบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจรายใดรายหนึ่ง

- วิธีการคือ

ถ้าจะให้ตลาดแข่งขันได้ด้วยการมีผู้เล่นเพิ่มและรัฐวิสาหกิจอยู่ได้ คือ หาผู้ถือหุ้นรายใหม่ให้ทีโอทีกสทฯ จะได้โอเปอเรเตอร์ที่มีความสามารถแข่งขันอยู่รอดได้ แล้วทำให้ตลาดเปิดกว้างด้วย

จะให้มีผู้เล่นกี่บริษัทผู้ถือหุ้นกี่คนเป็นรายละเอียด แต่ต้องจับหลักให้ได้ก่อนว่า ถ้าเพิ่มโอเปอเรเตอร์รายที่ 4 หรือ 5 ได้ การประมูล 4G จะง่ายขึ้น เป็นเก้าอี้ดนตรีจริง ๆ ตลาดแข่งขันจริง ราคาค่าบริการก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ

- ต้องมี บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

ถึงได้บอกว่านี่คือสิ่งที่กังวลของนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี ถ้าคุณคิดจะทำ "แห่งชาติ" โดยรัฐวิสาหกิจ นี่คือผิดทาง ถ้าให้มีโทรคมนาคมแห่งชาติ ปัญหาจะเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป คุณจะคิดว่าตั้งบอร์ดทีโอที กสทฯได้ดีแล้ว ต่อไปบอร์ดก็จะเปลี่ยนโดยการเมืองที่เข้ามาแทน

- ถ้าควบรวมทีโอที-กสทฯ

เป็นเรื่องรายละเอียด แต่ถ้าจะให้เกิดรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็งและแข่งได้ในตลาด จะเอารัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้มแข็ง 2 รายมารวมกัน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจริงแต่ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงว่าจะได้องค์กรที่ใหญ่มาก วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน จะเกิดความขัดแย้งกันต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างองค์กรเท่าไร

- เปลี่ยนผู้ถือหุ้นก็เหมือนเพิ่มเงินใส่ให้

มันสำคัญที่ความเป็นเจ้าของกับการบริหารจัดการ ใครเป็นผู้ถือหุ้น ใครเป็นบอร์ด เหตุที่รัฐวิสาหกิจอ่อนแอ เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง คือทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของแต่

เคยมีใครไปตามเช็กไหมว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ที่ไม่ตามกันเพราะหุ้นของคุณมันเล็กเกินไป

ผมไม่ได้มองว่าจะต้องเป็นชาวต่างชาติหรือคนไทย แต่ต้องมีหุ้นใหญ่ ถ้าไปไกลได้เกิน49% ก็จะดี เพราะจะได้เป็นเอกชนจริง ๆ

การเป็นรัฐวิสาหกิจจะจัดซื้อจัดจ้างอะไรก็ต้องทำตามระเบียบ โดนมัดแข้งมัดขาอยู่ กว่าจะลงโครงข่ายสักทีจัดซื้อจัดจ้างกี่ปีกว่าจะได้ ทีโอทีจะลง 3G ก่อนเอกชนตั้ง 2 ปียังต้วมเตี้ยมอยู่ในวันที่เอกชนไปถึงไหนแล้ว ก็เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1417458909

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.