Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

07 กรกฎาคม 2559 TOT ระบุ โครงการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ได้กู้เงินมาลงทุนเกือบ 17,000 ล้านบาท จึงมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ราว 400 ล้านบาทเท่านั้น

ประเด็นหลัก
ซึ่งในส่วนของโครงการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ของทีโอทีที่ผ่านมา

ได้กู้เงินมาลงทุนเกือบ 17,000 ล้านบาท จึงมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ราว 400 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งหาพันธมิตร ซึ่งการเปิดรับพิจารณาข้อเสนอแต่ละรายที่ยื่นมา กลุ่มเอไอเอสดีที่สุด และคาดว่าทีโอทีจะมีรายได้เข้ามาปีละราว 3,900 ล้านบาท"
_______________________________________ "ทีโอที" สาละวนพายเรือในอ่าง รับสภาพขาดทุนบักโกรก 4 พันล้าน



เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จัดอยู่ในกลุ่มต้องเร่งฟื้นฟูโดยด่วน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปได้ในการพลิกฟื้นองค์กรตามแผนที่ "ทีโอที" วางไว้ แม้ว่าในปี 2558 ที่ผ่านมาจะขาดทุนน้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 52% หรือเหลือขาดทุนราว 5,000 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะค่อย ๆ พลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้งภายในปี 2561

ปีนี้ขาดทุนบักโกรก 4 พันล้าน

โดย "มนต์ชัย หนูสง" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยถึงผลประกอบการครึ่งปีแรกในปี 2559 ว่า ทีโอที มีรายได้ 12,900 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 13,400 ล้านบาท จึงขาดทุนในเบื้องต้นเป็นเงิน 480 ล้านบาท อีกทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่าในครึ่งปีหลังจะขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ค่าใช้จ่ายตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น เนื่องจากในปีนี้จะมีพนักงานเข้าโครงการ จำนวน 1,300 คน จึงต้องใช้งบประมาณราว 3,500 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในแง่รายได้ไม่ดีขึ้น เพราะการเพิ่มรายได้ใหม่ตามแผนการหาพันธมิตรเพื่อนำทรัพย์สินที่ "ทีโอที" มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดกลับไม่คืบหน้าแต่อย่างใด

แม้ว่าบอร์ดทีโอทีจะอนุมัติหลักการในการเป็นพันธมิตรในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบมจ.แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2558 และได้มีการลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกัน (MOU) ไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา และในการประชุมบอร์ดทีโอที วันที่ 9 มิ.ย.นี้เองยังอนุมัติให้ลงนามในสัญญาทดลองให้บริการเชิงพาณิชย์บนคลื่น 2100 MHz เป็นเวลา 6 เดือน กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือของเอไอเอสแบบมีเงื่อนไข ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาระยะยาวถึงปี 2568 ด้วยการให้ AWN เป็นผู้ลงทุนขยายโครงข่ายและเช่าความจุคลื่น 2100 MHz จากทีโอทีเพื่อนำไปให้บริการต่อกับลูกค้า



ดีล "เอไอเอส" พายเรือในอ่าง

โดยในการประชุมบอร์ดทีโอทีล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา บอร์ดทีโอทีกลับมีมติให้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าโครงการนี้เข้าข่าย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือไม่

"บอร์ดทีโอทีเห็นว่า ได้มีการสอบถามไปยังสภาพัฒน์ และ กสทช.แล้ว แต่ยังไม่ได้ถามกฤษฎีกาจึงให้ฝ่ายบริหารดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งทีโอทีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับคำตอบโดยเร็ว เพราะการเดินหน้าเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอเอสเป็นไปตามที่ คนร. เร่งให้นำทรัพย์สินที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนของโครงการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ของทีโอทีที่ผ่านมา

ได้กู้เงินมาลงทุนเกือบ 17,000 ล้านบาท จึงมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ราว 400 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งหาพันธมิตร ซึ่งการเปิดรับพิจารณาข้อเสนอแต่ละรายที่ยื่นมา กลุ่มเอไอเอสดีที่สุด และคาดว่าทีโอทีจะมีรายได้เข้ามาปีละราว 3,900 ล้านบาท"

นอกจากนี้ การทำสัญญากับเอไอเอสในส่วนของการเช่าเสาโทรคมนาคม 13,000 ต้น และอุปกรณ์และโครงข่ายบนคลื่น 900 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาสัมปทานทั้งหมด ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ทีโอที ในส่วนของการเช่าเสา 3,600 ล้านบาทต่อปี และการเช่าอุปกรณ์ 2G คลื่น 900 MHz อีก 2,000 ล้านบาทต่อปีนั้น "ซีอีโอทีโอที" ยอมรับว่ายังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

"เสาและอุปกรณ์ตามสัมปทาน เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ผ่านมามีการเรียกเจรจากันทุกสัปดาห์ มีความพยายามจะให้ระงับข้อพิพาทด้วยการตั้ง JV (บริษัทร่วมทุน) เอาทรัพย์สินที่มีการพิพาทมารวมกัน เหมือนโมเดลที่ กสท โทรคมนาคม กำลังจะทำกับดีแทค แต่ทีโอทีเห็นว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลานาน ไม่ได้เดินหน้าได้ง่าย ๆ เพราะต้องมีการประเมินทรัพย์สินใหม่ทั้งหมด และกำหนดโมเดลรายได้ใหม่ ซึ่งทางที่จะทำให้ทีโอทีมีรายได้ได้ทันที คือทำสัญญาเช่าไปก่อน แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันไม่ได้ ซึ่งในการประชุม คนร.ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เราคงต้องเสนอเรื่องการตั้ง JV เข้าไปให้พิจารณา"

ลุ้น "ซิมดับ" บีบเช่าเน็ตเวิร์ก

ซีอีโอ "ทีโอที" ย้ำว่า หากยังไม่มีการทำสัญญาเช่าโครงข่าย 2G 900 MHz ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการเยียวยาผู้ใช้บริการ 2G 900 MHz ตามสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส "ทีโอที" ก็จะต้องปิดระบบเพราะไม่มีคลื่นใช้งานแล้ว และ "ทีโอที" ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้วิทยุคมนาคมสำหรับโครงข่ายนี้จึงไม่สามารถเปิดโครงข่ายเพื่อให้บริการได้

"ก็ยังหวังว่าเงื่อนไขนี้จะทำให้เอไอเอสยอมทำสัญญาเช่าอุปกรณ์และโครงข่ายจากทีโอทีเพื่อนำไปให้บริการลูกค้าที่ยังค้างอยู่ในระบบเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องซิมดับซึ่งณ เวลานี้ ทีโอทีไม่มีอะไรจะเสีย แต่ถ้าเอไอเอสไม่ทำสัญญาเช่าก็จะเสียรายได้และลูกค้ากลุ่มนี้ไป"

แชร์ไฮสปีดเน็ตร่วงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามเมื่อการหารายได้เพิ่มจากการมีพันธมิตรในธุรกิจโทรศัพท์มือถือยังไม่มีความคืบหน้า"มนต์ชัย" กล่าวว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำโดยด่วนคือการขยายฐานลูกค้าบริการบรอดแบนด์มากขึ้น จากปัจจุบันเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งไปจำนวนไม่น้อย ทั้งกับรายเก่า และรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด เช่น เอไอเอสไฟเบอร์ เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันทีโอทีมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 3 ที่ 24% ขณะที่ทรูอินเทอร์เน็ตขึ้นเป็นอันดับ 1 ที่ 35%

และทริปเปิลทีบรอดแบนด์ ที่ 30% และแม้เอไอเอสไฟเบอร์จะยังคงมีส่วนแบ่งไม่ถึง 5% แต่ทำให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องหาทางรักษาลูกค้าตนเองไว้ให้ได้

"นอกจากมีรายใหม่เข้ามาเขย่าตลาดแล้วก่อนหน้านี้ในบางพื้นที่เราก็ขยายข่ายสายให้ลูกค้าไม่ทันทำให้เสียรังวัดไปเยอะในครึ่งปีหลังจึงจะโฟกัสพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกที่ต้องตีตื้นพลิกกลับมาชิงลูกค้าให้ได้ โดยตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าเป็น 1.4 ล้านราย จากที่มีอยู่ 1.2 ล้านราย"

ปัจจุบันรายได้จากบริการบรอดแบนด์อยู่ที่ 40% ของรายได้ หรือราว 14,000 ล้านบาทต่อปี อีก 30% มาจากบริการโทรศัพท์พื้นฐาน และ 10% จากดาต้าเซอร์วิส อาทิ คลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ ยังจะเร่งหาพันธมิตรเข้ามาให้บริการไวร์เลสบรอดแบนด์บนคลื่น 2300 MHz ที่ "ทีโอที" ถือครองอยู่ จำนวน 60 MHz ด้วย

ปรับโครงสร้างใหม่ (อีกครั้ง)

"ซีอีโอทีโอที" กล่าวด้วยว่า ทีโอทีมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง แบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่เป็นธุรกิจหลักปัจจุบัน 2.กลุ่มการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ประกอบด้วยอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ, โครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ, ท่อร้อยสาย และคอร์เน็ตเวิร์ก รวมถึงทรัพย์สินประเภทที่ดินและอาคาร 3.กลุ่มการให้บริการสื่อสารไร้สาย โมบายและบริการไร้สายอื่น ๆ 4.กลุ่มธุรกิจไอดีซีและคลาวด์ และ 5.กลุ่มบริการโซลูชั่นและงานขายลูกค้าองค์กร

โดยการปรับโครงสร้างใหม่อีกครั้งจะทำให้การทำงานกระชับขึ้นซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในองค์กรทั้งในส่วนของต้นทุนบริการที่ในช่วง 6 เดือนแรก ลดลงไปได้ 20-30% อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างทำสัญญาเช่ารถทั้งหมดที่ลดค่าใช้จ่ายไปได้กว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อให้มีจำนวนพนักงานที่เหมาะสม และเป็นการลดค่าใช้จ่ายองค์กรในระยะยาว ซึ่งทั้งหมดจะรายงานความคืบหน้าในการพลิกฟื้นองค์กรให้ที่ประชุม คนร. รับทราบในวันที่ 11 ก.ค.นี้

ไม่รู้ว่า "คนร." รับฟังรายงานข้างต้นแล้วจะว่าอย่างไร เพราะทำไปทำมา ความพยายามของ "ทีโอที" นอกจากหลายเรื่องจะเข้าทำนองพลิก แต่ (ไม่) ฟื้นแล้ว กับบางเรื่องเหมือนกับมีมือที่มองไม่เห็นคอยดึงรั้งให้ไปไม่ถึงไหนสักที

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1467366741

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.