Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

08 กันยายน 2554 ( บทความ ) 14 ปีแห่งการรอคอย 'กสทช.ชุดแรก' กับภารกิจหนักที่ต้องเผชิญ

( บทความ ) 14 ปีแห่งการรอคอย 'กสทช.ชุดแรก' กับภารกิจหนักที่ต้องเผชิญ

( บทความ )

14 ปีแห่งการรอคอย 'กสทช.ชุดแรก' กับภารกิจหนักที่ต้องเผชิญ

หลัง จากปล่อยให้รอมานานกว่า 14 ปี ในที่สุดประเทศไทยก็มีโอกาสต้อนรับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดแรกเสียที

หลังที่สมาชิกวุฒิสภาต่างถกเถียงกันอยู่นานว่าจะเลือกหรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบกันถ้วนหน้าว่า การเลือกครั้งนี้มีหลายๆ ประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ชอบมาพากลและดีไม่ดี อาจจะทำให้กรณีกลายเป็นโมฆะเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับการเลือกคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสช.) เมื่อหลายปีก่อนก็เป็นได้ หรือแม้แต่เรื่องโพยรายชื่อที่ถูกล็อกไว้แล้วและการเดินเกมหาเสียงของผู้มี อำนาจบางคนที่ต้องการให้คนของตัวเองเข้าไป

แต่เรื่องนี้คงไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะแม้กระบวนการจะมีปัญหาไปบ้าง แต่ก็คงสร้างความอุ่นใจให้ผู้คนได้ไม่มากไม่น้อย กว่าการที่ปล่อยให้อำนาจในการเลือกคณะกรรมการนี้รัฐบาลแทน เพราะนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่ได้จะบุคลากรที่มีความเป็นกลาง และทำหน้าที่โดยไม่อิงกับฝ่ายการเมืองนั้นคงจะเป็นศูนย์ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวและจับต้องยากไปสักหน่อย เพราะฉะนั้นเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ยกมาแค่ 2 ภารกิจหลัก คือ โทรคมนาคมเครือข่าย 3 จี, วิทยุ-โทรทัศน์ ที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแน่นอน หลังจากที่มีคณะกรรมการ กสทช.แล้ว

‘เลือกมาแล้วก็ต้องพอใจ’

อย่างไรก็ตาม จากหน้าตาของบุคคลที่ผ่านการสรรหา '5 ทหาร' '2 นักวิชการ' '1 ตำรวจ' '1 แพทย์' '1 ผู้พิพากษา' และ '1 เอ็นจีโอ' ก็ทำให้คณะกรรมการชุดประวัติศาสตร์นี้ถูกจับตาเป็นอย่างมากกว่าตอนสรรหาเสีย ที โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะสม เพราะมีคนมีสีเข้ามานั่งอยู่ถึง 6 คน ซึ่งในเรื่องนี้ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา รักษาราชการแทน อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในฐานะผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ได้ให้ความเห็นว่า หากมองเฉพาะหน้าตา ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับคณะกรรมการชุดแรก อาจจะมีผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคมและโทรทัศน์-วิทยุน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากตามกฎหมายนั้นอยากให้ในคณะกรรมการมีผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบด้าน ฉะนั้นแม้คนที่ได้รับการสรรหาอาจจะไม่ถูกใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเมื่อเลือกมาแล้วก็ต้องพอใจ

ดังนั้นสิ่งที่ต้องติดตามมากที่สุดตอนนี้ก็คือ การทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ในอนาคตต่างหากว่าจะเป็นเช่นใด เพราะต้องยอมรับว่าตลอดช่วงสุญญากาศมีภารกิจที่ค้างคาและไม่ได้ทำอะไรเลยรอ คณะกรรมการชุดนี้อยู่เต็มไปหมด

“ผมมองว่าการทำให้ กสทช.ได้เดินหน้าทำงานเร็วๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้นทุกคนที่มีความเชี่ยวชาญต้องช่วยเชียร์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวคนทำงานก็แย่ เพราะตอนนี้ปัญหาของเรามีเยอะมาก คลื่นความถี่ 3 จีก็ยังไม่มี ดาวเทียมก็ยังมีปัญหา หรือที่กระทรวงศึกษาธิการจะติดอินเทอร์เน็ตทุกโรงเรียน แต่อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ก็ยังไม่มีก็ต้องทำ หรือแม้แต่วิทยุโทรทัศน์ที่มีอยู่ ทำอย่างไรถึงจะเสมอภาค บางทีก็เก็บเงินหลัก 10 ล้าน บางทีก็เก็บเป็น 100 ล้าน หรือ 1,000 ล้านก็มี เรื่องพวกนี้ต้องจัดการ แต่การที่ กสทช.จะสามารถตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ได้หมดหรือไม่ ผมคิดว่าก็คงตอบได้บ้าง แต่จะตอบได้หมดเลยหรือเปล่านั้น ก็คงต้องเข้าทำงานดูก่อน”

โดยภารกิจแรกที่ กสทช.จะต้องทำก่อนเลยก็คือ แผนแม่บทของชาติเกี่ยวกับการทำงานเรื่องนี้ให้เรียบร้อยโดยเร็ว ซึ่งจะสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งประเทศไทยชะงักมานานก็รีบทำโดยด่วน เพราะนั่นหมายถึงผลประโยชน์อีกมหาศาลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศนี้

“แผนแม่บทถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ กสทช.ต้องคิดแล้วว่าในปีนี้ ปีหน้าหรืออีก 10 ปี แผนการสื่อสารของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ทีวีควรจะมีสักกี่ช่อง มีทีวีดิจิตอลไหม วิทยุเป็นอย่างไร วิทยุชุมชนควรเป็นแบบไหน การจะใช้ความถี่ใด สำหรับทำอะไร เช่น ดาวเทียมตอนนี้เราใช้ KU Band กับ C Band ต่อไปทหารจะใช้ S Band หรือเอกชนจะใช้ K Band หรือวายแม็กซ์ที่จะใช้ในเรื่อง 3จี ต้องใช้คลื่นความถี่ 2,100 เมกะเฮิร์ต หรือ 2.1 หรือ 2.2 กิกกะเฮิร์ต บรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ตจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้ต้องวางแผน”

แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาบ้าง และไม่ใช่ทำได้เลยทันที ต้องทำอย่างรอบคอบไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาฟ้องร้องขึ้นมาได้ ซึ่ง ศ.ดร.ถวิลมองว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการมากกว่า โดยอาจจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างครอบ คลุม ให้ทำงานพร้อมๆ กันไปเลย พอศึกษาเสร็จก็เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งแบบนี้ก็จะทำให้งานที่คั่งค้างเดินหน้าได้เร็วขึ้น และกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

“ผมมองว่าสัก 1 ปีน่าจะเข้าที่เพราะการจะเป็นกรรมการนั้นจะต้องเข้ามาจับงานใหม่ ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคืองานใหม่เอี่ยมอ๋องไปเลย กับงานเก่าซึ่งรับโอนมา เช่น สัญญาต่างๆ ที่ กสทช.จะต้องรับดูแลต่อ เพราะกฎหมายให้อำนาจแล้ว ซึ่งพวกนี้จัดการ แต่ไม่ได้หมายความไปว่ารื้อระบบ เช่น ช่อง 3 มีสัญญากับ อสมท.อยู่ 5 ปี ตอนนี้ อสมท.ก็หมดสิทธิ์แล้ว สัญญาก็ต้องย้ายมาอยู่กับ กสทช.โดย กสทช.ก็ดูแลจนหมดสัญญา แล้วหลังจากนั้นจะปรับอย่างไรก็ได้”

ฟ้าหลังฝนของ 3จี

ต้องยอมรับว่า เรื่องมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จีนั้นเป็นปัญหาคาราคาซังตั้งแต่ยุคคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้ว ที่มีปัญหาฟ้องร้องกันนัวเนีย จนประชาชนที่รอใช้ต่างอ่อนใจไปตามๆ กัน เพราะอย่างที่ทราบ แค่ยิ่งเมื่อหันไปดูประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะลาว เวียดนาม มาเลเซีย ต่างก็มีระบบนี้กันอย่างถ้วนหน้า แถมยังเดินหน้าไปใช้ระบบ 4 จีแล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการเข้ามาของคณะกรรมการ กสทช.จึงเต็มไปด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถสะสางปัญหานี้เสียที

สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ซึ่งติดตามสถานการณ์ด้านการโทรคมนาคมในประเทศไทยมาตลอด พยายามสรุปให้ฟังว่า ตอนนี้เทคโนโลยีบ้านเราถือว่ามีความพร้อมเต็มที่ แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการจัดการมากกว่าของคนที่เกี่ยวข้องมากกว่าซึ่งยังไปไม่ ถึงไหน

“ผมอยากจะให้มองเป็น 2 ประเด็นคือ อย่างแรกคนเมืองนั้นมีความพร้อมที่จะใช้ 3จีอยู่แล้ว แต่คนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะยังไม่มีความสามารถในการเข้า ถึงเทคโนโลยีส่วนนี้ เรื่องนี้ กสทช.จะต้องดูแลทรัพยากรของชาติตรงนี้ ให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประชาชน ดังนั้นนโยบายด้านโทรคมนาคมที่จะก้าวไปข้างหน้านั้น ต้องไม่ลืมมิตินี้ด้วย

“จริงๆ แล้ว อาจจะดูเหมือนมันไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. แต่ในความจริง กสทช. เป็นคนดูแลเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถกำหนดราคาเรื่องค่าบริการได้ ดังนั้นแนวทางราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้คนส่วนมากเข้าถึงเทคโนโลยีด้านนี้ก็อยู่ที่นโยบายของ กสทช.นั่นเอง ทุกวันนี้ก็มีการกำหนดค่าบริการโทรศัพท์มือถือขึ้นมาได้ การกำหนดค่าบริการ 3 จีก็น่าจะเป็นไปในตรรกะเดียวกัน คือผมไม่อยากเห็น กสทช. เร่งให้เกิดการประมูล 3จี โดยเร็ว แต่อยากให้วางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน การให้บริการด้วย ต้องทำทั้ง 2 ทาง”

อย่างไรก็ตาม เขาก็เชื่อว่า การที่มี กสทช.ออกมาเรียบร้อย ปัญหาทั้งหมดนี้น่าจะได้รับแก้ไขอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีหรือบางทีอาจจะเดินไปไกลถึงเรื่องของ 4 จีเลยก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าเทียบในเรื่องศักยภาพแล้ว ไทยสามารถเป็นผู้นำทางด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ ยาก

จับตาทีวี-วิทยุ หลังเปลี่ยนผ่าน

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าเรื่องคลื่นความถี่วิทยุ-โทรทัศน์นั้นเป็นปัญหาหลายคนมุ่งจับ จ้อง เพราะนอกจากผลประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่ม แล้วยังมีเรื่องผลประโยชน์เป็นหมื่นๆ ล้านบาทเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก เนื่องจากเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า คลื่นมีจำกัด ใครเงินหนา เส้นดีกว่าถึงจะได้ไป

แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะโทรทัศน์-วิทยุ ไม่จำเป็นต้องส่งกลับคลื่นภาคพื้นดินยังที่เคยเป็นมาแล้ว แต่สามารถส่งไปดาวเทียม ซึ่งเมื่อมากกว่าเต็มไปหมด เห็นได้จากการที่บริษัทเล็ก-ใหญ่ต่างเรียงรายต่อคิวมาดำเนินธุรกิจนี้กัน ทั่ว แถมยังไม่ต้องห่วงเรื่องการควบคุมอีกด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีกฎหมายหรือระเบียบเรื่องนี้ออกมาเฉพาะ ดังนั้นการที่ กสทช.เข้ามาจึงน่าจับตามากว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้วงการนี้บ้าง

ซึ่งมุมของคนที่คร่ำหวอดในสื่อโทรทัศน์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มองว่า เรื่องนี้ต้องมองแยกกัน เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นทีวีที่หน่วยงานรัฐดำเนินการอยู่อย่างช่อง 5, 9 และ สทท. 11 จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะจะต้องมีการโอนคลื่นและสัมปทานต่างๆ มาให้ กสทช.เป็นผู้ดูแลทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าความเป็นเจ้าของคลื่นนั้นหมดไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในระยะยาวก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเจ้าของเดิมเหล่านี้ก็สามารถดูแลคลื่นต่อไป เพียงแต่ต้องไปขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.ก่อนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นสถานีเชิงพาณิชย์อย่าง ช่อง 3 และ 7 นั้น ระหว่างนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงปลอดภัย เพราะบทเฉพาะกาลของกฎหมายยังอนุญาตให้สัมปทานที่ทำกับหน่วยงานรัฐเดิมนั้น ยังคงอยู่ แต่เชื่อว่าหลังหมดสัมปทานอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ก็ถือว่าน่าจับตามองอย่างมาก ขณะที่ไทยพีบีเอสถือเป็นช่องที่ปลอดภัยที่สุด เพราะนอกจากมีกฎหมายของตัวเองอยู่แล้ว ยังได้รับใบอนุญาตจาก กทช.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช.ไปแล้ว

หันกลับมาดูแวดวงทางด้านวิทยุกันบ้าง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องรับผลกระทบใหญ่แน่นอน เพราะอย่างที่รู้กันแล้วว่า วิทยุส่วนใหญ่เป็นสัมปทานสั้น คือ 1-2 ปี ทำให้การแข่งขันสูงมาก เพราะฉะนั้นมีการถ่ายโอนอำนาจก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ซึ่ง ม.ล.ภาริพงศ์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คลิค วีอาร์วัน เรดิโอ จำกัด ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้คงเกิดขึ้นแน่ แต่ถ้าถามว่าเป็นปัญหาใหญ่หรือไม่ คงไม่ใช่เพราะทุกวันนี้ คลื่นวิทยุก็ต้องประมูลแข่งกับเครือข่ายเต็มไปหมดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าก็คือ ความไม่เป็นระเบียบของคลื่นวิทยุมากกว่า เพราะตอนนี้มีวิทยุชุมชนเข้ามาแทรกค่อนข้างเยอะ ทำให้ถูกรบกวน ซึ่งการเข้ามาของ กสทช.ปัญหานี้ก็คงลดลงไป เพราะมีความชัดเจนมากขึ้น

แต่สิ่งที่ถือเป็นงานหนักที่สุด ที่ กสทช.จะต้องเข้ามาดูแลและจัดการอย่างแน่นอน ก็คือโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งขยายตัวอย่างหนัก โดยครั้งหนึ่ง รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช.ได้ชี้แจงไว้ว่า เรื่องนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายๆ รายการที่มีเนื้อหาล่อลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือความชัดเจน เพราะทุกวันนี้เรื่องทีวีดาวเทียมนั้นมีความซับซ้อนทางกฎหมายสูงมาก อย่างเรื่องการตีความว่าทีวีดาวเทียมนั้นเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตใช้คลื่น ความถี่หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า ทางคณะกรรมการฯ เองก็ต้องมีมาตรการที่การดูแลที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเรียกมาตักเตือน จนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดีตามกฎหมายหากเห็นว่าไม่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับ ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ที่มองว่าปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไขโดยด่วนก็คือ ความเท่าเทียมกันสื่อแบบที่ใช้คลื่นกับไม่ใช่คลื่น โดยเฉพาะเรื่องเวลาการโฆษณาซึ่งไม่ต่างกันแบบครึ่งต่อครึ่ง เพราะตามพระราชบัญญัติองค์กรประกอบกิจการคลื่นความถี่ ให้ฟรีทีวีโฆษณาได้ถึงชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง แต่กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ให้โฆษณาได้ 6 นาที ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจ ซึ่งควรจะต้องมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
..........

ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นแค่การคาดการณ์ถึงภารกิจอันหนักหนาของ กสทช. ซึ่งต้องฝ่าฟันวิบากกรรมภายใต้การเข้ามารับเผือกร้อนที่เกี่ยวพันกับธุรกิจ มูลค่าเป็นแสนล้านบาทและการวางหมุดหมายแรกให้กับการจัดระบบระเบียบกิจการโทร คมนาคมและกิจการวิทยุโทรทัศน์ที่อนาคตกำลังไล่ล่าด้วยความเร็วและการเปลี่ยน แปลงด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านดิจิตอล ที่ทำให้โฉมหน้าของทรัพยากรเหล่านี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
CLICK

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.